ด้วยความผันผวนของเทคโนโลยีที่พลิกโฉมโลก ทำให้จินตนาการต่อ“สื่อ”เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่จำกัดวงอยู่เพียงวงการสื่อมวลชน กลับกลายมาเป็น “ทุกคน” ที่เป็นสื่อเข้าถึงพื้นที่และช่องทางการสื่อสารได้อย่างเสมอหน้า
แม้ว่า ‘สื่อพลเมือง’ ซึ่งถ่ายทอดพลังการสื่อสารจากประสบการณ์ตรงของประชาชนและชุมชน อันเป็นอีกกลไกของการสร้างเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารผ่านการมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ แต่ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง และภายใต้พลังการสื่อสารสมัยใหม่ที่เป็นยุคแห่งการแบ่งปันข้อมูล แนวคิด ‘ปัญญารวมหมู่ หรือ CI (Collective Intelligence Media for change)’ จึงถูกพัฒนาขึ้นเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยพลังของการผสาน คน ข้อมูล และเทคโนโลยีการสื่อสารเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างการสื่อสารที่ส่งผลกระทบต่อสังคมได้ตรงประเด็น
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS ถึงเบื้องหลังการทำงานของ Thai PBS ในบทบาทของสื่อสาธารณะ ที่ช่วยผลักดันการทำงานของสื่อพลเมืองด้วยการใช้เครื่องมือ CI ผสานกับแนวคิด “โลคัล” ประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ เพื่อเสริมพลังของการสื่อสารของประชาชน เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตของสังคมให้สำเร็จ
การสื่อสารที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ผมคิดว่า ทุกวันนี้บทบาทของนักสื่อสารไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักวิชาชีพสื่อหรือองค์กรสื่อมวลชนเท่านั้น แต่เป็นการสื่อสารในความหมายที่กว้างขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องมือและช่องทางในการสื่อสารได้ง่ายขึ้น แม้กระทั่งเด็ก เยาวชน ก็สามารถสร้างสื่อของตัวเองได้ หากมองในเชิงสังคม เพียงแต่การสื่อสารนั้นจะมีนัยสำคัญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า ได้สร้างพื้นที่ของการลงมือกระทำและสร้างความหมายของสิ่งที่สื่อ ซึ่งส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบตัวหรือไม่
ทุกวันนี้ สังคมไม่ต้องรอให้นักข่าวมาทำข่าวเหมือนแต่ก่อน ตื่นขึ้นมาเราเปิดสื่อสังคมออนไลน์ เพื่ออ่านเรื่องเกี่ยวกับแรงงานผู้หญิงที่ถูกเลิกจ้างไปประท้วงขอความเป็นธรรมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพราะว่า นายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทน (มีเรื่องสำคัญจำนวนมากที่สื่อกระแสหลักไม่ได้นำเสนอ) เพียงเพราะอยากให้สังคมได้ข้อมูลเข้าถึงข้อเท็จจริงอีกมุม (ของผู้เดือดร้อน) หรือเพื่อสร้างพื้นที่ในการสื่อความหมายจากความทุกข์ร้อนของพวกเขา โดยหวังว่า เมื่อสังคมวงกว้างรับรู้ถึงเหตุการณ์ คนจะเข้าใจและมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนั้น และจะช่วยผลักดัน(ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง)ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
ผมคิดว่า นี่เป็นสิ่งสำคัญของการสื่อสารในมิติสื่อพลเมืองคือ การมุ่งสร้างเสรีภาพของข่าวสารข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อเท็จจริง อะไรก็ตามที่ไม่ได้มีเจตจำนงหรือเจตนาที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงดังกล่าว อาจจะไม่ได้นับว่าเป็นการสื่อสารของพลเมือง หรือเป็นเจตนาใช้สื่อในเชิงสร้างสรรค์ นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเรายังต้องทำงานเรื่องนี้อยู่ คือทำให้เกิดการสื่อสารพลเมืองในมิติของสื่อสาธารณะ
สื่อมวลชนและสื่อพลเมือง หนุนเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน
“ในยุคที่ทุกคนเป็นสื่อได้ วารสารศาสตร์กระแสหลัก (หรือกระแสรอง) จะประสบความสำเร็จในการสื่อสารสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ จำเป็นต้องทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับวารสารศาสตร์พลเมือง ให้นักข่าวกับชุมชนต้นเรื่องร่วมกันทำงานเพื่อทำความจริงให้ปรากฎควบคู่ไปกับการสร้างเสรีภาพทางการสื่อสาร”
ยุคที่ทุกคนเป็นสื่อได้ (User Generated Content หรือ UGC) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ใช้สื่อกลายมาเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้เสพเนื้อหา ขณะที่สื่อมวลชนถูกลดบทบาทลงไม่ได้มีอำนาจกำหนดวาระของสังคมได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนในยุคก่อน แต่ยังถูกคาดหวังจากสังคมว่า มีหลักคิด จริยธรรม จรรยาบรรณเป็นที่พึ่งให้กับสังคมได้ โดยเฉพาะในยามวิกฤตใหญ่
สองส่วนนี้มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน จากที่ผมเคยเป็นสื่อวิ่งทำข่าวภาคสนามมาก่อน เดิมไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้นัก เรามองว่าถ้าสังคมขาดข้อมูลด้านหนึ่ง จะทำอย่างไรให้มีข้อมูลเพิ่มเติม หากนักข่าวทำไม่ได้ คนทั่วไปจะทำได้ไหม ถ้าคนทั่วไปทำได้ ก็ต้องนำแนวคิดและวิธีการของสื่อหลักมาปรับใช้ไหม คือ หลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อ
แต่พอเป็นประชาชน เป็นนักข่าวพลเมือง (วารสารศาสตร์พลเมือง) เราพบว่า พวกเขาอยากพูดถึงปัญหาของตน อย่างสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่พวกเขาทำได้คือ การเล่าสิ่งที่พบเจอจริงๆ จากประสบ การณ์ของตนเอง ซึ่งหลายครั้งข้อเท็จจริงเหล่านี้ช่วยผลักให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้ ผมเชื่อว่า ต้องเกิดแนวคิดวารสารศาสตร์การมีส่วนร่วม คือ “ประชาชนต้องมีโอกาสให้นักข่าวเข้าร่วมศึกษาความจริงและสื่อสารออกมา” ซึ่งที่ Thai PBS เราทำงานเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักข่าว ไม่ใช่ให้นักข่าวทำงานแทน แต่ช่วยให้นักข่าวทำงานได้ดีขึ้นด้วยข้อมูลและทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น
พลังของสื่อพลเมือง เสริมพลังความเปลี่ยนแปลง
บทเรียนของการทำงานด้านสื่อมากว่า 30 ปี ได้ข้อสรุปว่า สื่อเป็นเครื่องมือเสริมพลัง (Empower) ประชาชน เราพบว่า หลายปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น สามารถแก้ไขให้จบได้ในพื้นที่เองโดยไม่ต้องมาแก้กันที่ทำเนียบรัฐบาล แต่เพราะนโยบายการรวมศูนย์อำนาจรัฐส่วนกลาง ทำให้มีหลายเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่กล้าตัดสินใจ เนื่องจากเกรงว่า จะขัดแย้งกับความเห็นของอำนาจรัฐส่วนกลาง ดังนั้นเมื่อผู้ว่าราชการบอกว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ชาวบ้านก็ต้องยกขบวนมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ ให้รัฐบาลแก้ปัญหา
อย่างไรก็ดี มีหลายกรณีที่สื่อพลเมืองเป็นเครื่องมือเสริมพลัง สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ เช่น การชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจน ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งใช้สื่อบอกเล่าเรื่องราวของชาวบ้านที่มาชุมนุมที่หัวเขื่อนทั้งสื่อสารโดยตรงกับรัฐ และสื่อสารสาธารณะผ่านช่องทางของ Thai PBS กระทั่งรัฐยอมเปิดใจพูดคุยหารือกระทั่งมีทางออกจากปัญหาได้โดยเป็นที่พอใจ
ชาวบ้านตัวแทนผู้ชุมนุม ในนามของ “กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน” ทำคลิป “ข่าวพลเมือง” ออกมากว่า 100 ชิ้น มีทั้งถูกนำมาออกฉายอากาศ บ้างก็ฉายให้ชาวบ้านที่ร่วมชุมนุมได้ดูและมีหลายชิ้นที่ถูกนำไปฉายบนโต๊ะเจรจาก่อนเริ่มหารือ
หลังการชุมนุมฯ กลุ่มสื่อเสียงคนอีสานยังมีผลงานบอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตของคนอีสานผ่านการหาอยู่หากิน อย่างต่อเนื่อง
แต่บางครั้ง เรื่องราวก็ไม่ได้จบด้วยข่าวดีเสมอไป กรณีการสื่อสารเพื่อสร้างเข้าใจในกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ชัยภูมิ ป่าแส” นักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ นักข่าวพลเมืองและทีมผลิตสารคดีกลุ่มรักษ์ลาหู่ รายการสื่อพลเมือง “บ้านเธอก็บ้านฉัน” มีบทบาทสำคัญในใช้สื่อสร้างความเข้าใจให้กับรัฐท้องถิ่นและสังคมไทย โดยหวังว่า จะช่วยแก้ปัญหาไร้สัญชาติของพี่น้องชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานในประเทศไทย
ชัยภูมิ เสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่ทหารขณะถูกตรวจค้นที่ด่าน ในปี 2560 คดีของชัยภูมิเป็นที่สนใจของสังคมและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างต่อการทำหน้าที่ของรัฐ แต่ท้ายที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่า เป็นการกระทำโดยประมาทและให้กองทัพชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2 ล้านบาท
ปัญญารวมหมู่ Collective Intelligence เครื่องมือการทำงานของสังคม
งานนักข่าวพลเมืองโดยปรกติ เป็นงานที่มีลักษณะแบบ personalize กล่าวคือ เป็นการเรื่องเล่า (Narrative) รายงานเดี่ยวหรือบุคคล แต่หลังจากที่ Thai PBS พัฒนาแอปพลิเคชัน C-Site ซึ่งมีคุณสมบัติด้านการแสดงพิกัดที่เกิดเหตุ (Location based) เริ่มมีการร่วมกันในลักษณะของการทำงานกลุ่ม (collective) คล้ายๆ การรายงานสภาพการจราจรตามถนนสายต่างๆ
ซึ่งการร่วมกันรายงานสถานการณ์ ผ่านการปักหมุดใน C-site ทำให้เรามองเห็นสถานการณ์ที่ขัดเจนขึ้น ตัวอย่างเช่น กรณีเหตุระเบิดและไฟไหม้ในโรงงานหมิงตี้เคมีคอล พื้นที่ตำบลราชาเทวะ รอยต่ออำบลบางพลี สมุทรปราการกับกรุงเทพฯ เมื่อกลางปี 2021 ซึ่งไฟนอกจากจะเผาพลาญโรงงานให้เสียหายแล้ว ยังทำให้เกิดควันพิษจากสารเคมีที่ถูกพัดลอยขึ้นและตกลงมาพร้อมฝน ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้างด้วย
นักข่าวพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมรายงานสถานการณ์ โดยส่วนหนึ่งบอกเล่าถึงสถานการณ์ของแรงงานไทยและจากประเทศเพื่อนบ้านที่สูญเสียทรัพย์จากเหตุการณ์ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ อีกส่วนมีการประสานในเชิงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อย่างง่ายกับนักวิชาการ เพื่อระดมอาสาสมัครนักวิทยาศาสตร์พลเมืองช่วยเก็บตัวอย่างน้ำและน้ำฝน ในพื้นที่ที่คาดว่า ได้รับผลกระทบโดยมีอาสาสมัครฯ ร่วมเก็บบันทึกข้อมูล (C-Site) พร้อมส่งพิกัดที่เกิดเหตุและตัวอย่างน้ำไปทีผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวิเคราะห์ แม้ในท้ายที่สุดผลการวิเคราะห์ดังกล่าวจะไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่ด้วยเหตุผลบางประการ แต่ถือเป็นครั้งแรกที่มีความร่วมมือระหว่างสื่อสาธารณะ นักวิทยาศาสตร์ และอาสาสมัครนักวิทยาศาสตร์พลเมืองในการเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านมลภาวะและสิ่งแวดล้อม
เป็นการทำงานร่วมกันของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่า กรณีดังกล่าว รวมถึงอีกหลายปัญหาในสังคมที่ไม่สามารถอธิบายได้โดยคนเพียงคนเดียว แต่หากเราสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือฯร่วมกันอธิบายโดยใช้ข้อเท็จจริงภายใต้องค์ความรู้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพบปะกันก็สามารถสร้างชุดความรู้ใหม่ให้กับสังคมได้
เช่น กรณีการระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งทำให้เราเห็นพลังของอาสาสมัครนักวิทยาศาสตร์พลเมือง ที่เป็นนักตกปลา นักท่องเที่ยวธรรมชาติ นักอนุรักษ์นิยมธรรมชาติ ตลอดจนชาวบ้านและชาวประมงที่พบเห็นปลาหมอคางดำ แล้วช่วยกันบันทึกภาพ ส่งข้อมูลและตำแหน่งกลับมาในระบบ C-Site ถือเป็นชุดข้อมูลที่เกิดขึ้นจาก “ปัญญารวมหมู่” อย่างแท้จริง แต่การที่จะทำให้งานนี้สำเร็จต้องใช้เวลา มีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบและมีขั้นตอนที่ชัดเจน
เมื่อสองปีที่แล้วเรื่องปลาหมอคางดำ เป็นแค่ข่าวเล็กๆ ที่ผู้สื่อข่าวภูมิภาค Thai PBS รายงาน เนื้อหาระบุเพียงมีปลาหมอ (สี) คางดำระบาดเข้าไปในบ่อกุ้งในพื้นที่สมุทรสงคราม ทำให้กุ้งและสัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้เสียหายหมด กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราตั้งทีมค้นคว้าหาข้อมูลว่า เหตุใดประเทศไทยถึงมีปลาที่นำเข้าจากต่างประเทศรวมถึงเอเลี่ยนสปีชีส์รวมแล้วมากมายหลายประเภท
จากนั้นเราพยายามหาคำอธิบายว่า ปลาหมอสีคางดำ แตกต่างจากปลานิลและปลาหมอทั่วไปยังไง และทำไมควรเรียกว่า ปลาหมอคางดำแทนที่จะเรียกเหมือนกรมประมงว่าเป็นปลาหมอสีคางดำ ขณะเดียวกันข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและชาวบ้านที่เผชิญปัญหาปลาหมอคางดำตรงกันคือ มันอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า GMOs หรือปลาซักเกอร์ที่กินปลาตัวอื่น เราเริ่มต้นหาข้อมูลและพูดคุยกับตัวแทนสภาเกษตรกรฯ และแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ (คุณปัญญา โตกทอง) ในพื้นที่ที่พบการระบาดทำให้ทราบว่า ปัญหาเริ่มต้นแถวสมุทรสงครามตามข่าวรายงาน แต่ไม่ทราบถึงความรุนแรงจากการระบาด (ซึ่งขณะนั้นคาดว่า น่าจะกระจายออกไปในบริเวณพื้นที่อ่าวตัวก.)
ส่วนงานที่เกาะติดข้อมูลและสร้างการมีส่วนร่วมมาตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี คือ หน่วยงานที่ชื่อ CI (Collective Intelligence) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีม PI (Public Intelligence) กับทีม C-Site โดยPI เป็นทีมที่รับผิดชอบในการเก็บรวบรวมข้อมูลและประมวลผลเพื่อนำเสนอต่อชาวประมง และสมาชิกสภาเกษตรกรฯ ซึ่งเป็นเครือข่ายของC-Site Reporter (นักข่าวพลเมือง) ประกอบกับทีมที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มแพปลาที่มหาชัยฯ ตั้งแต่ทำงานร่วมกันในยุคโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเราสำรวจแล้วพบว่า ปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในลำคลองหรืออ่าวไทย แต่ขยายไปทั่วทุกพื้นที่ ทำให้เราตระหนักว่าปัญหานี้รุนแรงมากกว่าที่ปรากฎ
เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริง Thai PBS ก็นำข้อมูลปลาหมอคางดำมาทำสื่อที่เข้าใจง่าย รวมถึงเปิดรับอาสาสมัครนักวิทยาศาสตร์พลเมือง ร่วมกันรายงานการพบปลาหมอคางดำในพื้นที่ต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น C-Site ซึ่งช่วงแรกไม่ง่ายเนื่องจากปลาหมอคางดำมีลักษณะคล้ายปลานิลกับปลาหมอ ทำให้การจำแนกไม่ง่าย กระทั่งสังคมตอบรับช่วยกันกระจายข้อมูลทำให้เราได้ข้อมูลปักหมุดผ่าน C-Site เข้ามาเรื่อย ๆ จนเห็นภาพการระบาดชัดเจนขึ้น
หลังจากดำเนินการประมาณ 3-4 เดือน ได้สร้างแผนที่ที่แสดงให้เห็นว่าทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จ.จันทบุรีลงมาอ่าวไทยและยาวลงมาจนถึง อ.ระโนดมีการพบปลาหมอคางดำ แต่มีบางพื้นที่ อาทิ ปากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และบริเวณทะเลสาบสงขลา ที่ยังไม่พบการระบาด ซึ่งข้อมูลจากแผนที่ฝีมือนักวิทยาศาสตร์พลเมืองใกล้เคียงกับข้อมูลของกรมประมง ทำให้เรามั่นใจในคุณภาพของข้อมูล
ที่ได้มาจากนักธรรมชาติวิทยา นักตกปลา และผู้ที่ชื่นชอบเที่ยวทะเลและถ่ายภาพ จนได้รับการยอม รับอย่างรวดเร็วในสังคม แม้ว่าปัจจุบัน สังคมยังไม่ได้รับคำตอบจากผู้สร้างผลกระทบแต่ผู้บริหารระดับกระทรวงจนถึงนายกรัฐมนตรี ยังต้องตอบคำถามว่า จะจัดการกับปัญหาอย่างไร
ดังนั้นเครื่องมือ CI ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือของสื่อมวลชน แต่ยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานของสังคมอีกด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อน เช่น change.org ซึ่งคุณต้องรวบรวมผู้สนับสนุน 5,000 คน แต่เครื่องมือ CI มีความหลากหลายและครอบคลุมมากกว่า นอกจากนี้ CI ยังสามารถลงไปทำงานภาคสนามได้อย่างเช่น เมื่อทราบว่าปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ระโนด เราได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและพบว่า หากปลาหมอคางดำเข้ามาในทะเลสาบสงขลา จะส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง และอาจกระทบถึงประเทศมาเลเซีย ซึ่งอาจเกิดคดีความระหว่างประเทศ ทางเราได้จัดทำ hackathon ที่จังหวัดสงขลา เพื่อระดมสมองจากคนในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหานี้ ข้อมูลที่ได้ถูกนำเสนอเข้าสู่สภา พร้อมทั้งตั้งงบประมาณวิจัยผ่าน สกสว. เพื่อดำเนินการวิจัยในด้านนี้ งานนี้ครอบคลุมทั้งการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
ปัจจุบันนี้ Thai PBS พัฒนาเครือมือ CI จนกลายเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ “นักวิทยาศาสตร์พลเมือง” สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้สามารถเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองและชุมชนผ่านแพลทฟอร์ม C-Site ควบคู่ไปกับการผลิตสื่อเพื่อสื่อสารกับสังคมอย่างง่าย กลายเป็นหลักสูตรนำร่องสำหรับโรงเรียนประถมขยายโอกาสและชุมชนในพื้นที่น่านตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากมลภาวะที่สูง รวมถึงมีแผนจะไปทดลองในพื้นที่ที่ชุมชนหรือสถาบันการศึกษาสนใจร่วมเป็นนักวิทยาศาสตร์พลเมืองด้วย
เมื่อประเทศไทย ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ สู่การทำงานแบบไม่รวมศูนย์
ท้องถิ่น (local) ของไทย เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 6 – 8 ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่เหลือชนบทแบบเดิมที่เราคุ้นตา คนรุ่นใหม่ที่ครั้งหนึ่งออกไปเรียนและหางานทำในเมืองใหญ่ ต่างทยอยกลับมาหางานทำที่บ้านเกิด โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19 ผู้คนเริ่มโหยหาความเป็นชนบท เนื่องจากชีวิตในเมืองใหญ่ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการดำรงชีวิต
ในอดีตเรายังเห็นว่า มีพื้นที่ชนบทอยู่บ้าง แต่ทุกวันนี้ เทคโนโลยีและข้อมูลได้เข้าถึงทุกพื้นที่ ทำให้ทุกแห่งมีความเท่าเทียมกันในการรับรู้ข้อมูลเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาศูนย์กลางในการกระจายข้อมูลข่าวสารอีกต่อไป ทั้งแนวคิดการมีองค์กรขนาดใหญ่ ผู้คนจำนวนมากและรวมศูนย์เริ่มไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่นคือ บางองค์กรสื่อที่เคยรวมศูนย์การตัดสินใจอยู่ส่วนกลาง ตอนนี้กำลังถูกแทนที่ด้วย Influencer หรือ Creator ที่ทวีบทบาทสำคัญทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก กลุ่มนักสื่อสารหน้าใหม่เป็นผู้นำเนื้อหา คุณค่าจากท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ผลิตภัณฑ์ ธรรมชาติ วัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลายออกสู่สังคมโลก ขณะเดียวกันโลกก็อ้าแขนรับชุมชน สังคมเหล่านั้นเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “ท้องถิ่นโลกาภิวัฒน์”
“แม้กระทั่งการสื่อสารและการยอมรับภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมที่ภาษาและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ถูกมองว่าเป็นมาตรฐาน ตอนนี้การใช้ภาษาท้องถิ่นอย่างเช่นภาษาอีสาน หรือวัฒนธรรมอีสานอย่างหมอลำกลับได้รับความนิยมถึงระดับโลก และกลายเป็นสิ่งที่สร้างความน่าสนใจในตัวเอง”
อย่างไรก็ดี แม้เทคโนโลยีและการสื่อสารจะช่วยยกระดับความสามารถในการสร้างชุมชนเสมือนจริง ช่วยให้ผู้คนสามารถสร้างวงจรการสื่อสารของกลุ่มชุมชนของตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ ทำให้กรุงเทพฯ ไม่ใช่ศูนย์กลางของประเทศไทยอีกต่อไปก็ตาม แต่กระแสโลกาภิวัฒน์ก็ยังนำพาซึ่งการพัฒนาและครอบงำโดยทุนและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตก ซึ่งมองวัฒนธรรม ความเชื่อหรือประเพณีของประเทศกำลังพัฒนาว่า เป็นเพียงสินค้า ดังนั้นเพือให้การก้าวไปข้างหน้าของท้องถิ่นนำมาซึ่งความร่วมมือและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่และเป็นประโยชน์โดยตรงกับชุมชนท้องถิ่น Thai PBS จึงริเริ่มงานอีกขาหนึ่งขึนมาก็คือ Local (โลคัล)
หน้าที่ของโลคัล มีอยู่ 4 เรื่องหลักคือ 1.การนำคุณค่าของท้องถิ่นออกสู่ประเทศและโลก ผ่านการผลิตและจัดหารายการตามแนวทาง มาตรฐานของสื่อสาธารณะ 2.นำสื่อสารเรื่องราวที่น่าสนใจมีความสำคัญกับท้องถิ่น ด้วยบริบท ภาษา ช่องทางที่สอดคล้องกับพื้นที่ 3. สร้างเสริมวัฒนธรรมของการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมด้วยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่มีอคติและมีส่วนร่วมในการผลิตเนื้อหา และ 4.ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสื่อสาธารณะของท้องถิ่นที่มีคุณภาพ สะท้อนอัตลักษณ์และยั่งยืน โดยพื้นที่เป็นผู้กำหนด พัฒนาเนื้อหา ออกแบบวิธีการสื่อสารเองและได้รับประโยชน์
กระบวนการทำงานของเราได้ถูกออกแบบมาในลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากระบบปกติของกองบรรณาธิการข่าวทั่วไป กล่าวคือ โดยปกติแล้ว กองบรรณาธิการจะเริ่มต้นด้วยการประชุม แต่สำหรับเราจะเป็นการประชุมระดมสมอง(Think Tank) เพื่อพิจารณาแผนความต้องการในการเสริมศักยภาพเครือข่ายฯและระบบนิเวศสื่อฯ และประเด็นวาระสำคัญของแต่ละพื้นที่ กระจายไปตามศูนย์สร้าง สรรค์สื่อฯ (ซึ่งปรกติจะมีการประชุมเฉลี่ย 1-2 เดือนต่อครั้ง)
นอกจากการทำงานกับศูนย์สร้างสรรค์สื่อฯแล้ว Thai PBS เรายังร่วมงานกับเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ผู้ผลิตอิสระระดับชุมชน พัฒนาฐานข้อมูลแบบมีส่วนร่วม ซึ่งประเด็นวาระหลักที่กำหนดในแต่ละปี ที่เรียกว่า Longform Interactive Journal พร้อมๆกับพัฒนางานในลักษณะPremium Content อาจเป็นงานเขียน งานวิดีโอ หรืองานสารคดี บางครั้งมีการจัดเวที หรือบางครั้งเราลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำงาน on-site เพื่อนำเรื่องราวในท้องถิ่นสื่อสารกับสังคมหรือระดับโลกไปพร้อมๆ กัน
“เรามี Locals เป็นเลเยอร์แรก เลเยอร์สอง จะมีเพจที่เป็นภาคๆ ภาคเหนือใช้ชื่อ ‘The North องศาเหนือ’ ภาคอีสานใช้ชื่อ ‘อยู่ดีมีแฮง’ ส่วนภาคใต้ยังอยู่ในระหว่างการจัดทำ ขณะที่ภาคกลาง ตะวัน ออก และตะวันตก ยังเพจตัวเอง เนื่องจากเราเน้นทำงานภาคมากกว่าส่วนกลาง ทำให้กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลางยังมีช่องโหว่ แต่คาดว่า ภายในปีนี้น่าจะขยายการทำงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ได้”
ปัจจุบันเรามีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ 9 แห่ง และในเดือนพฤษภาคม ศกนี้ Thai PBS จะมีความร่วมมือเพิ่มเติมอีก 1 แห่งคือ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ในการริเริ่มศูนย์สร้างสรรค์สือเพื่อสาธารณะระดับภูมิภาค ซึ่งภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ศูนย์สร้างสรรค์สื่อฯ จะทำหน้าที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงร่วมกับสื่อสาธารณะระดับประเทศ คอยบ่มเพาะเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น เครือข่ายนักข่าวพลเมือง สื่อพลเมือง ทำหน้าที่สร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการเกิดและเติบโตของเครือข่ายฯ ทำให้เกิดระบบนิเวศการสื่อสารสาธารณะที่ตอบโจทย์ความเป็นท้องถิ่น (Local)
จากLocal สู่ CI ร่วมสร้างสังคมเรียนรู้และไตร่ตรอง
แม้ขอบเขตงานของสำนักฯ ยุคที่ท้องถิ่นทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จะกว้างขวาง หลายหลาย แต่สมเกียรติเห็นว่า ไม่สามารถแยกส่วนได้
แนวคิดเรื่องปัญญารวมหมู่หรือ CI ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ คน (people), ข้อมูล (data), และเทคโนโลยี (technology) ซึ่งส่วนเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกันอย่างเกื้อหนุนกัน ตัวคนในที่นี้หมายถึงเครือข่าย ข้อมูลเปรียบเสมือนองค์ความรู้ ส่วนเทคโนโลยีคือเครื่องมือที่ช่วยในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและแพลตฟอร์มที่กลุ่มเป้าหมายใช้งาน
สามส่วนนี้มีความสำคัญและไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมี stakeholder ที่เป็นเจ้าของประเด็น เพราะเขาจะมีแรงจูงใจในการผลักดันและขับเคลื่อนประเด็นนั้นๆ ข้อมูลและเทคโนโลยีจะช่วยให้เราสามารถมีส่วนร่วมหรือ engage กับผู้คนได้ เช่น การสร้างความเข้าใจกับคนทั่วไปเพื่อให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เช่น หากเราอยากได้รัฐบาลที่ดี ไม่สามารถเพียงแค่รออยู่ที่บ้าน แต่ต้องมีกระบวนการที่ทำให้เห็นว่าสังคมดี จะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และมีการกระตุ้นให้ประชาชนเลือกตั้งหรือติดตามนโยบายของรัฐ พร้อมกับมีช่องทางการสื่อสารที่เชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง
และที่สำคัญการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือกลุ่มอื่นๆ เราต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ เช่น ในกรณีของปลาหมอคางดำ เราเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถาม จากนั้นพยายามหาผู้ที่สามารถตอบคำถามนี้ได้ และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เมื่อเกิดการปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกัน ข้อมูลความรู้จะถ่ายทอดออกมา ซึ่งเราจะนำกลับมาปรับปรุงและสื่อสารต่อไปอีกครั้งเพื่อยกระดับทั้งคนทำงาน สื่อมวลชน และสังคมไปพร้อมๆ กัน ทั้งหมดนี้ถูกควบคุมด้วยการมีเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน
ตอนผมทำงานที่ภาคใต้ ก่อนที่จะมาทำที่ Thai PBS ผมเคยทำงานที่ศูนย์ข่าวอิศรา ช่วงที่มีความรุนแรงนั้น เราทำงานใน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายสื่อ และฝ่ายเครือข่ายฯ ฝ่ายเครือข่ายคือเจ้าของเรื่อง ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีการเชื่อมต่อที่ดี คนที่เป็น stakeholde ควรบอกได้ว่าต้องการอะไร และสิ่งที่ได้นั้นตอบโจทย์หรือไม่ บางเรื่องพวกเขาต้องทำเอง ภาควิชาการมีหน้าที่อธิบายเพื่อสร้างชุดความรู้ที่จะผลักดันปัญหา และอธิบายให้สังคมเข้าใจ ชุดความรู้อาจจะซับซ้อน จึงต้องใช้การสื่อสารในการเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน เราพยายามคิดให้เห็นภาพว่าโจทย์คือการลดสนามรบ เพราะมันเกิดขึ้นเมื่อคนรู้สึกว่าไม่มีทางออก แต่เมื่อมีการสื่อสาร ก็มีโอกาสที่จะหาทางออกและแก้ไขปัญหาได้
ทั้งนี้ สำนักฯ ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “Local Voice” และการออกแบบนโยบายแบบประชาชนมีส่วนร่วม(Deliberative Processes) ที่เรียกว่า “ฟังเสียงประเทศไทย” โดยเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อทำงานร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น เชิญผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมคิดและรับฟังข้อมูลความคิดเห็นอย่างไม่ด่วนตัดสิน ซึ่งในปีที่ 3 (พ.ศ. 2568) มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการให้ตอบโจทย์ความต้องการสื่อสาร และทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นให้มากขึ้น
ปัญญารวมหมู่สู่วิทยาศาสตร์พลเมือง การรวมพลังของประชาชน
ภาพอนาคต สมเกียรติเห็นว่า วิทยาศาสตร์พลเมืองที่เกิดขึ้นจากการร่วมสร้างปัญญารวมหมู่ของประชาชนผนวกกับแนวคิดการสร้างประชาธิปไตยทางการสื่อสารจะเป็นก้าวที่สำคัญที่จะยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลตนเองและชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างกรณีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายผลการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล C-site และวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเพื่อการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน : กรณีมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาใน สปป.ลาว ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สำนักฯ ทำร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งด้านสุขภาพ วิทยาศาสตร์ ด้านเกษตร และสังคมศาสตร์ ทำให้เห็นว่า แม้จะเป็นเยาวชนหรือเด็กนักเรียนโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ก็สามารถร่วมเป็นนักสื่อสาร เป็นนักวิทยาศาสตร์พลเมือง ร่วมกับผู้ใหญ่ในการติดตามและเฝ้าระวังมลพิษที่เกิดขึ้น รวมถึงสามารถสื่อสารข้อมูลที่น่าเชื่อถือสู่ชุมชนและสังคมได้ด้วย
อีกทั้งข้อมูลที่เยาวชนและชุมชนช่วยกันรวบรวมมานั้น จะกลายเป็นฐานข้อมูลสำหรับชุมชนในการนำไปใช้อธิบายสภาพปัญหาของตนต่อรัฐท้องถิ่นและผู้ก่อมลภาวะ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า มีปัญหาจริงๆ นอกจากนั้นฐานข้อมูลดังกล่าว ยังช่วยให้ชุมชนสามารถติดตามภาครัฐหรือผู้ก่อนมลภาวะได้อย่างต่อเนื่องว่า ได้ลงมือแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตามผลของการดำเนินโครงการวิจัยโรงไฟฟ้าหงสาฯ แม้ไม่มีข้อยุติเรื่องผู้สร้างมลภาวะรวมถึงเรื่องมลภาวะยังไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด แต่ได้กระตุ้นให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มลงมือเก็บข้อมูลและพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ขณะที่ภาคประชาชนตระหนักในสถานการณ์ของปัญหาและพยายามค้นหาข้อมูล ข้อเท็จจริงของพื้นที่
อนาคตของสื่อพลเมือง ที่ต้องเข้มแข็งและมีมาตรฐาน
เครื่องมือและข้อมูลที่เรามี ช่วยเสริมความน่าเชื่อถือของสื่อพลเมืองได้ระดับหนึ่ง แต่หากคาดหวังให้สื่อพลเมืองสามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับสื่อมวลชนกระแสหลักได้ จำเป็นต้องปรับปรุงมาตร ฐานของการสื่อสารของสื่อพลเมืองให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา Thai PBS ได้ร่วมมือกับศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะทั้ง 9 แห่ง สร้างหลักสูตรออนไลน์สำหรับสื่อพลเมือง ซึ่งจะช่วยยกระดับความรู้และทักษะของเครือข่ายสื่อพลเมือง นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะนำชุดข้อมูล( data )มาใช้ในการทำงาน เพื่อสนับสนุนการรายงานข่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่เพียงใช้ความรู้สึกหรือความคิดเห็น แต่เป็นการใช้ชุดข้อมูลขนาดใหญ่อธิบายประเด็นต่างๆ รวมถึงข้อมูลจากภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อเพิ่มความลึกและความแม่นยำในการรายงานข่าวด้วย
“การสื่อสารเชื่อมโยงเราเข้าด้วยกัน แม้บางครั้งเราอาจจะมองไม่เห็น แต่นี่คือ ความจริง งานของผมคือพยายามเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป โดยเฉพาะส่วนของท้องถิ่น เราหวังว่า การทำให้คนในท้องถิ่นได้รับการมองเห็น(ว่าดำรงอยู่) จะช่วยให้เรามีจินตนาการในการออกแบบสังคมที่รวมคนหลากหลายกลุ่มให้อยู่ร่วมกันได้ ผมเชื่อว่าถ้าเรามีความพยายาม คนจะเห็นเจตนาเราและเข้าใจ ซึ่งอาจช่วยทำให้สังคมเกิดการยกระดับ หรืออย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า มีความคิดเห็นหลากหลายในสังคม สิ่งนี้ทำให้คนรู้สึกว่ายังมีความหวังเพราะมีคนกลุ่มเล็กๆ พยายามเปลี่ยนแปลง อย่างภาพของคนช่วยแมวบนนถนนก็ทำให้เรารู้สึกว่าสังคมยังโอเค ยังน่าอยู่ ในแง่ของสื่อสาธารณะ เราต้องเข้าใจรากของปัญหา สื่อสารให้สังคมเข้าใจรากของปัญหา เพราะการแก้ปัญหาที่รากนั้นจะช่วยให้ปัญหาได้รับการแก้ไขจริงๆ”