ช่วงนี้เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินคำว่า‘ยั่งยืน’หรือ ‘Sustainability’ เข้าหูกันบ่อยๆ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของโลกกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต
เนื่องจากการเติบโตของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการคาดการณ์ของ UN พบว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9 พันล้านคนในปี 2050 แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากยังบริหารจัดการพลังงานด้วยวิธีและแนวคิดแบบเดิมๆ แน่นอนว่าไม่ช้าไม่นาน พลังงานก็อาจหมดไปจากโลกได้
นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ สามารถมีส่วนร่วมได้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ บ้านปูฯ ในฐานะผู้มีส่วนจัดสรรทรัพยากรด้านพลังงาน จึงต้องตระหนักถึง 3 เมกะเทรนด์สำคัญต่ออุตสาหกรรมพลังงาน คือ เทรนด์พลังงานสะอาด (Clean Energy), เทรนด์การบริหารห่วงโซ่อุปทานให้สั้นลง เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงพลังงานได้ง่ายขึ้น (Supply Chain Management) และ เทรนด์การเชื่อมโยงบูรณาการผ่านดิจิทัล (Digital Connectivity) ซึ่งเป็นเหตุผลให้บริษัทพลังงานทุกแห่งต้องมองภาพรวมยาวๆ ด้วยการหาโซลูชันของการใช้พลังงานให้มั่นคงและยั่งยืน พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ผ่านการบริหารจัดการพลังงานด้วยวิสัยทัศน์และมุมมองใหม่ๆ
ลองไปดูกันว่าภายใต้เมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากเราๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่ามากขึ้นแล้ว บริษัทพลังงานในฐานะที่เป็นผู้บริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางของการผลิต จะมีวิธีการอย่างไรในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อส่งมอบพลังงานได้ในราคาที่สมเหตุสมผล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืนต่อไปได้
เทรนด์พลังงานสะอาด (Clean Energy)
ใช้พลังงานทดแทนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
เรื่องของเทรนด์พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาสักระยะ หลังจากการลงนามในข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2016 ที่ 55 ประเทศ ลงนามให้ความร่วมมือ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยภายใต้ข้อตกลงนั้นคือการพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เพื่อให้โลกสามารถประคองตนเองให้ผ่านพ้นวิกฤตโลกร้อนไปให้ได้ ซึ่งประเทศไทยติดอันดับประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในลำดับที่ 21 ของโลกแม้จะอยู่ในระดับกลางๆ แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมวลรวมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและการเกษตร ในส่วนของการผลิตพลังงานเพื่อใช้ในการขนส่ง อุตสาหกรรม และครัวเรือน คือส่วนที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดถึง 73% ของทั้งหมด หนึ่งในทางออกที่สามารถทำได้ในทันที คือเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทน
แม้ว่าข้อตกลงปารีสจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2020 แต่ทุกบริษัทพลังงานทั่วโลกต่างก็เริ่มพัฒนานวัตกรรม เพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาดกันแล้ว จากสถิติล่าสุด Global Status Report (GSR) โดย REN21 รายงานว่า 26% ของพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก คือพลังงานที่ได้มาจากพลังงานทดแทน ประกอบไปด้วยแหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์กว่า 55% ที่ใช้ควบคู่ไปกับการใช้แหล่งพลังงานเดิมอย่างก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมัน บริษัทพลังงานชั้นนำอย่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เองก็ได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์ Greener & Smarter ที่เน้นการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีความชาญฉลาดในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นการเข้าไปลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและจีน ขยายการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศเวียดนาม รวมไปถึงการศึกษาและลงทุนในธุรกิจผู้ให้บริการด้านการวางระบบผลิตไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนแบบครบวงจร ตอบรับกับเทรนด์พลังงานสะอาดที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
เทรนด์การบริหารห่วงโซ่อุปทานให้สั้นลง (Supply Chain Management)
เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงพลังงานได้ง่ายขึ้น
ในยุคที่ผู้บริโภคต้องการความสะดวกรวดเร็วและการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ในปริมาณที่มากขึ้น ผู้ผลิตเองก็จำเป็นต้องหาทางตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ที่พัฒนาไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค จากเดิมที่เคยยุ่งยากซับซ้อนก็พัฒนาให้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น ที่สำคัญคือต้องมีราคาที่ถูกลง ตามปริมาณของความต้องการด้วย ตัวอย่างเช่นในแวดวงการค้าปลีกก็เกิดโมเดลอย่าง Omnichannel หรือการผนวกช่องทางออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี Big Data เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก ในเรื่องฐานข้อมูลของลูกค้า ด้านขนส่งเองก็มีการพัฒนาให้มีความยืดหยุ่นขึ้น ทั้งการพัฒนาศักยภาพของการขนส่ง ลดขั้นตอนยุ่งยากลง และที่สำคัญคือการนำระบบ Automation เข้ามาใช้ เพื่อความพึงพอใจของผู้บริโภคสูงสุด
ขณะเดียวกันด้านพลังงาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนของพลังงานมีราคาที่สูง มาจากการที่ห่วงโซ่อุปทานมีความซับซ้อน เนื่องจากการบริหารจัดการแบบแยกส่วนกัน โดยเฉพาะการจัดการการขนส่งในธุรกิจกลางน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของห่วงโซ่อุปทานไม่มีประสิทธิภาพมากพอ การที่บ้านปูฯ ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นบริษัทพลังงานแบบครบวงจร โดยสร้างการเติบโตครอบคลุมธุรกิจตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ คือการผลิตถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ‘กลางน้ำ’ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานรวมไปถึงการค้าถ่านหิน และ ‘ปลายน้ำ’ การผลิตไฟฟ้า พลังงานทดแทน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน ไว้ในโครงสร้างขององค์กรอย่างครบถ้วนทำให้บ้านปูฯ สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร เพื่อส่งมอบพลังงานในราคาที่สมเหตุสมผลให้กับผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
เทรนด์การเชื่อมโยงบูรณาการผ่านดิจิทัล (Digital Connectivity)
บริหารจัดการพลังงานได้แบบเรียลไทม์
การเกิดขึ้นของ Digital Disruption ไม่เพียงแต่ปฏิวัติแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมการเงิน บันเทิง และไลฟ์ไตล์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานอีกด้วย การเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ผนวกเข้ากับการเชื่อมโยงการสั่งการ อย่างเช่น IoT (Internet of Things) ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงให้ทุกอย่างสามารถสั่งการได้จากทางไกลผ่านแอปพลิเคชั่น ช่วยให้สามารถประเมินประสิทธิภาพ และปรับเปลี่ยนได้อย่างทันท่วงที การเชื่อมโยงผ่านดิจิทัลจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและขั้นตอนในการบริหารจัดการ
หนึ่งในธุรกิจของบ้านปูฯ คือการให้บริการด้านการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบครบวงจรด้วยเทคโนโลยีสะอาด และทันสมัย สะท้อนถึงพันธกิจในการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน แต่เดิมนั้นนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน มีราคาสูงและเข้าถึงได้ยาก ประกอบกับมีทางเลือกในตลาดน้อย พลังงานที่ให้ไม่เสถียรเท่าพลังงานเชื้อเพลิง บ้านปูฯ ได้ร่วมพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน โดย เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า และนำเอาเทคโนโลยีการเชื่อมโยงผ่านดิจิทัลเข้ามาใช้ ด้วยแอปพลิเคชั่น BANPU INFINERGY ที่มีฟังก์ชันในการติดตามการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์จากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้ง ว่าผลิตกำลังไฟได้เท่าไร รวมถึงยอดประหยัดไฟและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการพลังงานด้วยตนเองได้อย่างคุ้มค่า
ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของ World Energy Outlook (WEO) แสดงถึงความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกอยู่ในสัดส่วนที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2015 การใช้พลังงานของโลกอยู่ที่ 13,600 BOE (Barrel of Oil Equivalent) โดยถ่านหินเป็นสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 28 และพลังงานทดแทนอยู่ที่ร้อยละ 14 ซึ่งคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานในปี 2025 จะเพิ่มเป็น 15,200 BOE โดยสัดส่วนความต้องการของพลังงานถ่านหินอยู่ที่ร้อยละ 25 และพลังงานทดแทนอยู่ที่ร้อยละ 16 แม้สัดส่วนจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก แต่ด้วยขนาดก้อนเค้กของความต้องการนั้นเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ผู้ผลิตและพัฒนาพลังงานต้องเพิ่มความสามารถในการผลิต และพัฒนาพลังงานทั้งสองส่วน บ้านปูฯ จึงผสมผสานการผลิตพลังงานเชื้อเพลิง (Conventional energy) และพลังงานทดแทน (Unconventional energy) พร้อมพัฒนาเซอร์วิสให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิตพลังงานและหาแหล่งทรัพยากรพลังงาน) , กลางน้ำ (การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน) จนถึงปลายน้ำ (การแปรรูปพลังงานพร้อมส่งมอบและระบบเทคโนโลยีบริหารจัดการพลังงาน) เพื่อให้สามารถส่งมอบพลังงานที่มีเสถียรภาพได้แบบครบวงจรทุกด้าน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้คือ 3 เมกะเทรนด์ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของโลก บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทธุรกิจพลังงานที่เห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และยั่งยืน จึงมีการปรับวิสัยทัศน์เพื่อขับเคลื่อนองค์กร ไปในทิศทางที่สอดรับกับเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้น ด้วยการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการพลังงานแบบครบวงจร ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผ่านพันธสัญญาใหม่ขององค์กร
Our Way in Energy : พลังบ้านปูฯ สู่พลังงานที่ยั่งยืน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.azocleantech.com/article.aspx?ArticleID=754
https://www.bbc.com/thai/international-40137393
https://www.forbes.com/sites/stevebanker/2017/12/07/supply-chain-trends-to-watch-in-2018/#2573268150fc