Social Enterprise (SE) หรือ กิจการเพื่อสังคม คือรูปแบบของธุรกิจประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมในด้านต่างๆ โดยขับเคลื่อนด้วยโมเดลธุรกิจ ที่ช่วยให้กิจการสามารถสร้างรายได้และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปพร้อมๆ กัน
โครงการ Banpu Champions for Change หรือ BC4C โดย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายในการปั้นผู้ประกอบการ SE รุ่นใหม่ ให้มาร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวก ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ผู้คน และเศรษฐกิจของประเทศในองค์รวม และผลักดัน SE Ecosystem หรือระบบนิเวศของกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยให้เข้มแข็ง BC4C จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 โดยได้สนับสนุนทั้งองค์ความรู้และงบประมาณให้กับผู้ประกอบการกว่า 130 กิจการ สู่การสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและองค์กรต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 187 แห่ง และครอบคลุมผู้ได้รับผลประโยชน์กว่า 2.5 ล้านคน
ในปีล่าสุด BC4C มาพร้อมกับแนวคิด ‘Impactful Locals, National Boost: ชุมชนแกร่ง ไทยแกร่ง’ เปิดโอกาสให้ SE หน้าใหม่ที่ตั้งใจจะพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนตัวเองได้เข้าร่วมโครงการผ่านโปรแกรมบ่มเพาะระยะเริ่มต้น พร้อมสนับสนุนเงินทุนสำหรับดำเนินกิจการสำหรับทีมผู้เข้ารอบสุดท้าย ทีมละ 250,000 บาท และต่อไปนี้คือ 3 ธุรกิจผู้ชนะสุดยอดโมเดลธุรกิจจากโครงการ BC4C ปีที่ 13 ที่สามารถสร้าง Impact ให้กับชุมชนของตัวเองได้จริง
ฟาร์มผึ้งชันโรงตาหวาน
คน ผึ้ง ป่า ธุรกิจแห่งการพึ่งพิง
บ่าว กรานต์ มาศโอสถ และ นา โสรยา คลองรั้ว ตั้งใจก่อตั้งกิจการ “ชันโรงตาหวาน ” ที่สร้างรายได้จากการเพาะเลี้ยง “ผึ้งจิ๋วชันโรง” สัตว์เศรษฐกิจของชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ป่าชายเลน จ.กระบี่ และนำความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงมาเผยแพร่ให้แก่เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้แต่ละครัวเรือนสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเองได้ ผ่านการจำหน่ายทั้งน้ำผึ้ง รังชันโรง ไปจนถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ
ความน่าสนใจของโมเดลธุรกิจนี้ คือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างอาชีพในชุมชนไปพร้อมๆ กับการสร้างกำไรให้กับธุรกิจ ด้วยการนำกำไรจากการเลี้ยงผึ้งชันโรงมาพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนให้เกิดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการปลูกป่าชายเลน การปล่อยปูดำ และการเลี้ยงผึ้งชันโรงที่อาศัยความเชี่ยวชาญของสมาชิกเครือข่ายในการสร้างเอกลักษณ์ของการท่องเที่ยวชุมชนให้เกิดเป็นเสน่ห์ให้นักท่องเที่ยวได้ประทับใจ ทั้งนี้ผึ้งชันโรงเองก็มีส่วนช่วยในการขยายพื้นที่ป่าชายเลน โดยทำหน้าที่ผสมเกสร และเมื่อเกสรเหล่านั้นกลายเป็นเมล็ดพืชก็จะเติบโตงอกเงยเพิ่มจำนวนป่าให้เพิ่มขึ้น
คนทะเล
ทะเลยั่งยืน ธุรกิจยืนได้
กิตติเดช และ ธันวา เทศแย้ม สองพี่น้องชาวประมงนักอนุรักษ์ สร้าง “คนทะเล” กิจการท่องเที่ยวชุมชนจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่โดดเด่นในการสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีเป้าหมายในการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยดึงเอาเอกลักษณ์ของวิถีชุมชนอย่างการทำประมงและการเลี้ยงปูม้า มาให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวประมงแบบแท้ๆ ตั้งแต่การล่องเรือออกหาปลา การสร้างธนาคารปูม้าและบ้านปลา การทำอาหารแบบชาวเล และ “คนทะเล” ยังเป็นที่แรกของไทยที่สามารถสร้างซั้งกอ (บ้านปลา) แบบออร์แกนิก เพื่อลดผลกระทบจากการทำประมงได้สำเร็จ
นอกจากโมเดลการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งแล้ว ยังมีการต่อยอดนำผลผลิตจากการประมง มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากทะเลสดๆ ในรูปแบบแพคเกจจิ้งที่พร้อมออกวางจำหน่ายจริงในตลาด เพื่อสร้างรายได้อีกช่องทาง
Karen Design
ลดเผาป่า เพิ่มมูลค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น
กิจการเพื่อสังคมที่ตั้งต้นจากการพยายามแก้ไขปัญหาการเผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพดของชาวบ้านในชุมชน อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งนอกจากรายได้จะไม่มั่นคงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก
จีรพันธ์ และ ชุณวัณ บุญมา ผู้ก่อตั้ง Karen Design จึงได้นำภูมิปัญญาการทอผ้าแบบกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของผู้คนในชุมชนมาต่อยอดและพัฒนาใหม่ ให้สามารถเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถวางจำหน่ายได้จริง ทั้งชุดเดรส เสื้อ กระเป๋าย่าม ที่มีดีไซน์ร่วมสมัยและสวยงาม
ที่สำคัญคือการผลิต โคมไฟ งานคราฟต์สุดประณีต ที่นำซังข้าวโพดไร้ค่ามาเพิ่มมูลค่าใหม่ จนสามารถออกวางจำหน่ายได้จริง จนทำให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถสร้างอาชีพใหม่ ที่มีรายได้มากกว่าการเผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพด
ทั้ง 3 กิจการ คือตัวอย่างของการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมของโครงการ Banpu Champions for Change เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจที่เข้มแข็ง สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้ ภายใต้เป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่สามารถดำเนินควบคู่ไปได้กันอย่างยั่งยืน