ชื่อของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ อาจคุ้นเคยในฐานะของศิลปินเซรามิก ทายาทรุ่นที่ 3 ของ เถ้า ฮง ไถ่ โรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาแห่งจังหวัดราชบุรี ผู้ที่บุกเบิกให้ราชบุรีเป็นที่รู้จักมากกว่าเมืองโอ่งด้วยการนำศิลปะให้เข้าถึงชุมชน และยังเป็นเจ้าของผลงาน ไอ้จุด ประติมากรรมรูปสุนัขที่มักไปปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่
ในขณะที่อีกมุมหนึ่งของวศินบุรียังเป็นช่างภาพ ที่เลือกถ่ายทอดภาพมุมต่างๆ ของราชบุรีออกมาในเฟซบุ๊กของตัวเองอยู่เสมอ และเร็วๆ เขากำลังมีนิทรรศการภาพถ่ายที่ชื่อว่า ‘Lastburi เลือนลาง กระจ่างชัด’ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงงานเถ้า ฮง ไถ่ ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่เขาบอกเล่าถึงความทรงจำและความรู้สึกที่มีต่อราชบุรีอย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก
ความน่าสนใจของนิทรรศการครั้งนี้ คือวิธีคิดในการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายที่ไม่ต่างกับผลงานเซรามิก และเบื้องหลังการสร้างสรรค์ภาพถ่ายชุดนี้ ในฐานะของคนในพื้นที่ที่นำเสนอมุมมองของราชบุรีที่คนนอกพื้นที่อาจยังไม่เคยเห็น ซึ่งสะท้อนสิ่งที่กำลังหายไปและยังคงอยู่ของราชบุรี
ความสัมพันธ์ระหว่างวศินบุรีกับราชบุรีเป็นอย่างไร
ความสัมพันธ์เหมือนกับว่าเราไม่สามารถเลือกที่เกิดได้ แต่สามารถเลือกที่อยู่ที่สุดท้ายได้ เหมือนกับชื่องาน Lastburi จริงๆ ซึ่งมันเป็นความโชคดีระดับหนึ่ง เพราะเป็นพื้นที่ที่เราเคยรู้สึกว่าไม่คุ้นเคยกับสถานที่นี้ตอนเด็กๆ เราเคยมองข้าม ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นถึงความสวยงาม ไม่เห็นถึงสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว เพราะไม่เคยมีสปอร์ตไลท์ส่องเข้าไปให้เห็นชัดเจนขึ้น แต่พอเรายิ่งไปไกล เรียนจบกลับมา ยิ่งทำให้รู้สึกเกิดคำถามว่า อัตลักษณ์ของตัวเองคืออะไร สิ่งที่ตัวเองมีคืออะไร สิ่งที่ตัวเองเป็นคืออะไร สิ่งที่เราเคยพยายามตามหาคืออะไร สิ่งที่เป็นตัวเชื่อมโยงและยึดเหนี่ยวคืออะไร
การที่จากไปเรียนที่เยอรมันแล้วกลับมา ทำให้มองเห็นราชบุรีเปลี่ยนไปจากเดิมไหม
พอเรากลับมา เราก็เจอหลายสิ่งหลายอย่างที่เรามองข้ามไปมาตลอด แล้วจุดนี้เราคิดว่ามันเป็นความสัมพันธ์ที่ช่วงแรกอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันมากนัก แต่พอหลังๆ เริ่มสนิทกัน มันก็มีความรู้สึกเหมือนเราต้องสร้างบางสิ่งบางอย่าง ที่เป็นตัวเชื่อมต่อไปในอนาคต เราพยายามทำสิ่งที่ไม่ชัดเจนในสมัยก่อนให้ชัดเจนมากขึ้น จริงๆ ราชบุรีไม่เคยเปลี่ยน ตั้งแต่เกิดมาจนตอนนี้ไม่เปลี่ยนเลย อย่างบ้านที่ซื้อมาทำหอศิลป์ d Kunst มีมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่ตอนเด็กๆ เราจำบ้านหลังนี้ไม่เคยได้เลย เหมือนบางอย่างมันหลบอยู่ในซอกหลืบที่ไม่เคยถูกฉายสปอร์ตไลท์ไป แต่ว่าพอวันหนึ่ง ประสบการณ์หรือความชอบที่เสริมเติมเพิ่มขึ้นมา ทำให้บางสิ่งที่เราไม่เคยเห็นกลับมองเห็นได้อย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้านี้ ราชบุรีถูกมองว่าเป็นเมืองทางผ่านมาตลอด ทั้งคนทั่วไป ราชการ หรือว่าหน่วยงานท่องเที่ยวต่างๆ มองว่าเป็นเมืองทางเลือก จนถึงยุคนี้ในปัจจุบัน เราถึงบอกได้ว่ามันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
ตอนนั้นมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำให้ศิลปะเข้าใกล้วิถีชีวิตของคนราชบุรีได้อย่างไร
บางครั้งศิลปินที่สร้างงานศิลปะร่วมสมัยในช่วงเวลานี้ มักนำเสนองานในรูปแบบที่ล้ำยุค อลังการ เป็น conceptual สมัยนิยม ทำให้คนทั่วไปไม่คุ้นเคย ซึ่งจริงๆ แล้ว ชาวบ้านเขาอยู่กับศิลปะมาตั้งนานแล้ว เพียงแค่เขาไม่มีตัวเชื่อม แล้วตัวเชื่อมเหล่านี้คือสิ่งที่เราพยายามสร้างขึ้น อย่างงาน ‘ปกติศิลป์ Art Normal’ ที่ทำทุกบ้านให้เป็นแกลอรี่ ทุกที่คือหอศิลป์ ก่อนหน้านี้ชาวบ้านทุกบ้านทุกคนพูดประโยคเดียวกัน ปฏิเสธว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับศิลปะ เขาไม่ได้รับรู้เรื่องศิลปะอะไรเลย เราก็ถามว่าทำไมเอาปฏิทินมาแขวนอย่างนี้ ทำไมเอารูปแขวนตรงนี้ เขาบอกว่ามันสวยดี เราก็บอกว่านี่คือ composition มันคือรูปแบบหนึ่งของการทำงานศิลปะ แล้วศิลปะที่เราพูดมาตลอด ไม่ได้แปลว่าศิลปินต้องสร้างงานขึ้นมา แต่เป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกดีกับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมัน เราก็ต้องทำยังไงให้เขาเชื่อมกันได้ ว่าสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวที่เขามองข้ามตลอดเวลา เป็นรูปแบบหนึ่งของความเป็นไปได้หรือเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำงานศิลปะ
ทำไมถึงมองว่าศิลปะกับชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นหรือต้องสร้างขึ้นมาด้วยกัน
ทุกอย่างมันต้องอิงกับชุมชนหมด แต่เผอิญเราเป็นศิลปินไง เราทำงานศิลปะ แต่ถ้าเราเป็นหมอก็อาจจะเป็นหมอเพื่อชุมชน ถ้าเป็นทนายก็อาจจะเป็นทนายเพื่อชุมชน ถ้าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็อาจเป็นนักเศรษฐศาสตร์เพื่อชุมชน เพราะฉะนั้นคือเราเลือกสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุดและทำได้ดีที่สุด เพราะทุกอย่างต้องอิงกับชุมชนอยู่แล้ว เราจึงนำความถนัดของตัวเองมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนของเราแค่นั้นเอง
วิธีคิดในการสร้างงานระหว่างงานปั้นกับภาพถ่าย แตกต่างหรือเหมือนกันยังไง
มันคือการลงมือทำทั้งสองอย่าง คือต้องเห็นของจริงเหมือนกัน อย่างการสเก็ตช์เซรามิก ยังไงก็ต้องปั้นออกมาให้เห็นเป็นสามมิติ ภาพถ่ายก็เหมือนกัน มันคือการปั้นในรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นการปั้นด้วยแสง ปั้นด้วยความคิด ปั้นด้วยจินตนาการ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ออกมา ก็ต้องมาดูว่ามันสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เราต้องการได้ตรงกับความรู้สึกของเราหรือเปล่า แต่งานเซรามิก ข้อแตกต่างที่ชัดๆ อย่างหนึ่งคือต้องใช้เวลาในการรอผล แต่ภาพถ่ายไม่ต้องรอขนาดนั้น กระทั่งสมัยก่อนที่ใช้ฟิล์ม ถ่ายเสร็จก็สามารถเร่งได้ด้วยการรีบเข้าห้องมืด ล้างฟิล์มเลย อาจเป็น process ที่ต้องใช้เวลาถ้าเทียบกับดิจิทัลในปัจจุบัน แต่เป็น process ที่เรามีความรู้สึกว่ายังไงก็เร็วกว่าการทำเซรามิก เพราะเซรามิกพอปั้นเสร็จต้องรออีกวันหนึ่ง ให้ดินเซ็ตตัว ถ้าต่อชิ้นที่ 2 ชิ้นที่ 3 4 5 อาจต้องรออีกกว่าสองอาทิตย์กว่าดินจะแห้ง รออีกสามวันกว่าจะเผาครั้งแรก รออีกสามวันค่อยเผาเคลือบ เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกทำสิ่งที่สนุกระหว่างรออีกสิ่งหนึ่งควบคู่กันไปได้ด้วย
เหมือนกับว่าระหว่างทาง วิธีการอาจจะต่างกัน แต่ปลายทางก็ออกมาเป็นผลงานเหมือนกัน
วิธีการอาจจะเหมือนกัน อย่างที่บอกว่าต้องลงมือทำให้เห็น แต่ถ้าไม่เห็น จินตนาการที่อยู่ในหัวและเคยคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องมาตลอด แต่พอทำจริงอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ จินตนาการจึงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเราไม่เห็นของจริง แต่ของจริงเราสามารถจะบอกได้เลยว่าสิ่งที่เราคิดมา มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง สิ่งที่สำคัญก็คือเราจะทำยังไงให้จินตนาการเป็นจริงขึ้นมาให้ได้ก่อน การถ่ายภาพมันก็คือปั้นด้วยแสง แม้กระทั่งปัจจุบันการทำ Photoshop คุณระบายเงาเพิ่มขึ้นไป อีกนิดหนึ่ง หรือฟิล์มสมัยก่อนก็ใช้การเจาะกระดาษ เบิร์นตรงนั้นตรงนี้ มันคือการเล่นกับแสงกับเงา หรือทำเป็นสามมิติให้เกิดขึ้นเหมือนงานปั้น ภาพถ่ายจึงไม่ใช่แค่สองมิติ ขณะเดียวกันภาพที่สวยก็ไม่จำเป็นต้องปั้นเป็นสามมิติก็ได้ มันอาจจะ flat อาจจะบาง อาจจะมีแค่ contrast ขาวกับดำ แต่ว่าภาพนั้นมันสื่ออารมณ์ที่เราต้องการได้
จะมีโอกาสเป็นไปได้ไหม ถ้าวัตถุที่ถ่ายเหมือนกัน ผลงานจะออกมาคล้ายๆ กัน
กล้องถ่ายรูปมันคือกรอบสี่เหลี่ยมกรอบหนึ่ง กรอบที่เราสามารถกำหนดบางสิ่งที่เราคิดไว้ได้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วการถ่ายภาพไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นเหมือนกัน เหมือนกับความคิดที่ตัดสินโลก ตัดสินคน ตัดสินมุมมองที่แตกต่างกัน ถึงจะเป็นมุมเดียวกัน ถ้าคุณยกกล้องขึ้นมา คุณจะตีกรอบมุมหนึ่ง เราก็ตีกรอบอีกมุมหนึ่ง แต่นั่นคือมุมที่เราเลือก คืองานที่เราอยากจะทำขึ้นมาให้คนเห็นแล้วก็เรียนรู้กับมัน
แล้วพอมีโอกาสได้ทำนิทรรศการภาพถ่ายร่วมกับ Panasonic Lumix G ทำไมถึงเลือกนำเสนอความเป็นราชบุรีผ่านชุมชน
โปรเจกต์นี้เราต้องเลือกทำในสิ่งที่คุ้นเคยที่สุด นั่นเรื่องของชุมชน แล้วเรามองว่ากล้องถ่ายภาพคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกล้องรูเข็มในสมัยเมื่อร้อยปีก่อน กล้องดิจิทัลในปัจจุบัน หรือกล้องอะไรก็แล้วแต่ หน้าที่สำคัญของมันคือการบันทึกความทรงจำ นี่คือ main point ของการถ่ายภาพ เทคนิคหรือเทคโนโลยีอะไรต่างๆ คือสิ่งที่มาเสริม และทำให้เราสร้างจินตนาการให้มันง่ายขึ้นแค่นั้นเอง เราก็คุยกับทาง Panasonic ว่า เราอยากจะทำเรื่องของราชบุรี เพราะหลายสิ่งหลายอย่างกำลังเปลี่ยนแปลง กำลังเริ่มจะเปลี่ยนแปลง หรือกำลังจะหายไป ซึ่งจริงๆ ก่อนหน้านี้เราก็ไม่เคยทำเรื่องราชบุรีจริงจังมาก่อนด้วย เราก็อยากจะบันทึกความทรงจำเหล่านี้ผ่านภาพถ่าย
ทำไมถึงเลือกเล่าความเป็นชุมชนของราชบุรี มากกว่าสถานที่สวยๆ อย่างภาพถ่ายแนวท่องเที่ยวทั่วไป
ถ้าสมมติมีออแกไนซ์มาทำงานเกี่ยวกับราชบุรี เขาก็ต้องเลือกอะไรชัวร์ๆ ก่อน อะไรที่เห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นราชบุรี อย่างตลาดน้ำดำเนินสะดวก หนังใหญ่วัดขนอน มันชัวร์กว่าสำหรับคนข้างนอกมองราชบุรีเข้ามา แต่มันก็เป็นกรอบที่ถูกตีขึ้นมา แล้วไม่ยอมยืดหดหรือขยายกรอบเลย เหมือนผลงานชุดหนึ่งที่ล้อกับคำขวัญ มันคือตลาดน้ำ มีปลายี่สก มีโอ่งมังกร มีคนสวยโพธาราม มีคนงามบ้านโป่ง แล้วอย่างอื่นล่ะ มันไม่ใช่ราชบุรีเหรอ เพราะฉะนั้นจริงๆ เราเองก็มีกรอบเหมือนกัน แต่กรอบของเราไม่ใช่แค่สี่เหลี่ยมจัตุรัส มันอาจจะกลายเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นวงกลม หรือเป็น freeform ก็ได้ ขึ้นอยู่กับอะไรที่เราส่องสปอร์ตไลท์เข้าไป กรอบของเราจึงควรจะยืดหดขยายได้ตามสถานการณ์ความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลาของการทำงาน
แล้วกรอบที่ว่า ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
พอเราได้ทำเรื่องราชบุรี เราก็ไม่ได้มองแค่เรื่องของสิ่งที่มันมีหรือสิ่งที่ยึดติดอยู่ในคำขวัญที่ท่องจำ ซึ่งหลายคนไปยึดติดกับคำขวัญ อย่างปลายี่สกยังพูดถึงกันอยู่ทุกวันเลย แต่ถามว่าปัจจุบันมีปลายี่สกไหม ไม่มีแล้ว หรืออย่างเรื่องโอ่ง ปัจจุบันไม่มีเด็กคนไหนมาหัดปั้นโอ่งแล้ว ถ้าอีกห้าปีสิบปี ไม่มีโรงโอ่งเหลือแล้ว เราก็เหลือแต่บางสิ่งบางอย่างไว้แค่ในคำขวัญ ถ้าไปยึดติด แล้วไม่สร้างสิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกเลย สุดท้ายแล้วเราไม่เหลืออะไรเลยนะ ซึ่งจริงๆ ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ควรมองข้าม เป็นสิ่งที่ควรจะฉายให้ชัดเจน เราจะทำยังไงให้เรื่องเหล่านี้ถูกเล่าออกไป ซึ่งพอเราเป็นคนราชบุรี เล่ายังไงมันก็เป็นราชบุรี เรามีความรู้สึกที่เข้าใจในรสชาติ เข้าใจในบางสิ่งบางอย่างที่มากกว่าคนข้างนอก เราก็ต้องทำสิ่งที่เราคุ้นเคย ซึ่งการถ่ายภาพไม่ได้บอกความจริงหรือความเท็จทั้งหมด แต่ภาพถ่ายเป็นการบอกเล่าส่วนหนึ่งของความเป็นไปได้ของความจริงที่เกิดในช่วงเวลานั้น
ด้วยความที่เป็นคนในหรือเปล่า ทำให้มองเห็นมุมมองที่คนนอกมองไม่เห็น
ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือกระทรวงวัฒนธรรม มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่กระทรวงวัฒนธรรมจะช่วยคนใดคนหนึ่งหรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งตลอดไป แต่สุดท้ายแล้วทุกสิ่งอย่างจะขับเคลื่อนได้ มันต้องเกิดจากคนใน คนนอกมาแค่ชั่วครั้งชั่วคราว สุดท้ายแล้วต้องมีอะไรที่เป็นแก่นของเรา เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คนเขารักเรา แต่เราจะทำยังไงให้เขาสนใจและมาหาเราเพราะสิ่งที่เราเป็น เหมือนกับเรื่องกรอบที่พูดตลอดเวลา แทนที่เราจะฉีกกรอบออกไปหาเขา ไปทำเหมือนจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ แต่จริงๆ ไม่มีคนที่ออกนอกกรอบได้ เพราะสุดท้ายคุณออกจากกรอบนี้ไป มันก็ต้องไปเจออีกกรอบหนึ่งอยู่ดี ทำไมเราไม่เอาสิ่งที่อยู่ในกรอบของเราดึงให้เขาเข้ามาหาเรา ซึ่งจุดนี้เราคิดว่าคนในชุมชนทำได้ดีกว่าคนที่มาจากข้างนอก เพราะสามารถเลือกสิ่งที่คิดว่าเหมาะสมกับบ้านเราได้มากกว่า
ชื่อนิทรรศการว่า ‘Lastburi เลือนลาง กระจ่างชัด’ มีที่มาจากอะไร
คำว่า Lastburi อาจหมายถึงเมืองสุดท้ายก็ได้หรือเป็นเมืองสุดท้ายที่เราจะเลือกตายก็ได้ อาจจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ แต่มันอาจจะหายไปเมื่อไรก็ได้ อย่างแต่ก่อนเราชื่อ บุรี เฉยๆ คำว่า วศิน มาจากแม่ที่เชื่อเรื่องชื่อ เราก็เปลี่ยนตามใจแม่ แต่ก็บอกให้คงคำว่าบุรีไว้ เพราะฉะนั้นราชบุรีกับศิลปะ ถ้าไม่มีคนมาทำต่อหรือไม่มีคนสนใจต่อไปแล้ว เราอาจจะเป็นบุรีสุดท้าย ที่มาบ้าบอคอแตกเรื่องของศิลปะในชุมชนราชบุรี ส่วน เลือนลาง กระจ่างชัด หมายถึงสองสิ่งที่แย้งกัน มันคือภาพลวงตากับความจริง เลือนลาง อาจหมายถึงเรื่องของคำขวัญที่มันหายไปหรือหลายสิ่งที่เลือนลางไป กระจ่างชัด อาจหมายถึงความ positive หรือความ negative ที่มันกระจ่างชัดอยู่ก็ได้ แต่วันหนึ่งมันก็อาจจะเลือนลางก็ได้ เพราะฉะนั้นเลือนลางไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เป็น negative อย่างเดียว หรือกระจ่างชัดเป็นสิ่งที่ positive อย่างเดียว จึงเป็นเหตุผลให้คนในชุมชนต้องเป็นคนเลือกว่า จะทำให้สิ่งไหนเลือนลางหรือทำให้สิ่งไหนกระจ่างชัด
มีภาพไหนในนิทรรศการที่พอจะบอกเล่าถึงที่มาและแนวคิดได้บ้าง
นิทรรศการแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ ไอ้จุดพาเที่ยว ซึ่งไอ้จุดมีนัยยะหลายๆ อย่างที่เริ่มมาจากการทำผลงานศิลปะร่วมสมัยขึ้นมา ตอนสมัยที่กทม. เพิ่งเริ่มสร้างหอศิลป์แห่งแรกหรือ BACC ขึ้นมา ไอ้จุดก็ได้ไปตั้งที่นั่น แล้วไอ้จุดก็ต้องกลับบ้านที่ราชบุรี เหมือนคล้ายๆ เป็น symbolic ของศิลปะที่ต้องกลับบ้าน เพราะทุกที่ต้องการศิลปะ
ภาพคนปักป้ายนี้มีที่มาอย่างไร
อย่างภาพนี้หลายคนคงคุ้นๆ ที่เป็นทหารอเมริกันกำลังช่วยกันปักธง ในสงครามโลกครั้งที่สอง ถ้าใครรู้จักภาพนี้อยู่แล้วก็จะรู้ว่าภาพนี้มันเป็นภาพถ่ายครั้งที่ 2 ของการปักธง คือมันถูกเซ็ตขึ้นมาเพื่อถ่าย สะท้อนว่าเรื่องของประวัติศาสตร์อาจถูกเขียนโดยอะไรก็ได้ เหมือนกับคำขวัญที่เราไปตีกรอบประวัติศาสตร์ว่า คำขวัญของราชบุรีมันคือแค่นี้ ประวัติศาสตร์มันมีอยู่แค่นี้ จริงๆ มันไม่ใช่ อย่างป้ายปลายี่สกในภาพ เป็นป้ายถนนสมัยหนึ่ง เพราะสมัยก่อนเราพูดถึงปลายี่สกกันมาก แต่ตั้งแต่เมืองกาญจน์สร้างเขื่อน ปลายี่สกก็ไม่มีแล้ว เหลือแต่ปลายี่สกบนป้ายถนน ถึงพูดว่านี่คือประวัติศาสตร์ที่มันถูกเซ็ตขึ้นมา แล้วอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับปลายี่สกเหมือนกัน คือตอนเด็กๆ ที่ร้านอาหารในราชบุรี จะมีป้ายเขียนว่าวันนี้มีปลายี่สก แปลว่าวันนี้มีอาหารเด็ด ทุกคนก็มารอกิน ยิ่งตัวใหญ่ ยิ่งอร่อย ยิ่งแพง แต่ว่าวันนี้มันไม่มีแล้ว เราก็เลยทำป้ายขึ้นมาใหม่เขียนว่า วันนี้ไม่มีปลายี่สก คือมันไม่เหลืออยู่จริงๆ เหมือนเวลาเราไปยึดติดกับบางสิ่งบางอย่าง แต่วันนี้มันไม่มีแล้ว เราจะทำยังไง
ภาพคนที่ถูกราดด้วยดินมีนัยยะอะไร
ภาพราดดินชุดนี้จะเป็นภาพชุดที่ทำมาต่อเนื่อง ใช้คนราชบุรีเป็นแบบ แล้วก็ใช้ดินราชบุรีเป็นตัวทำ คอนเซปต์ของภาพนี้ ไม่ได้กล่าวถึงการสาดโคลนที่เป็น negative อย่างเดียว แต่โดยรวมคือเรื่องของการอยู่รู้ การมีสติ การเผชิญกับการที่มีสิ่งต่างๆ มากระทบเหมือนดินที่ราดใส่ ทั้งความรู้สึก ตัวตน ความเป็นเมือง หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราไม่สามารถเผชิญหน้ากับมัน เราอาจจะสูญเสียตัวตนของเราตลอดไป
คาดหวังให้ภาพถ่ายเหล่านี้ กระทบกับความความรู้สึกของคนในพื้นที่หรือว่าคนนอกที่มาชมมากกว่ากัน
จริงๆ เราอาจจะเป็นแค่คนกระตุ้น น่าจะช่วยให้เกิดคำถามที่ย้อนกลับมาในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก หน้าที่งานศิลปะทั่วไปคือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความคิด ที่อาจจะสอดคล้อง อาจจะขัดแย้ง หรืออาจจะมีมุมมองของตัวเองเกิดขึ้นมาบ้าง อย่างการที่เราพูดถึงเรื่องชุมชนแล้วคนจากสุไหงโก-ลกมาดู เขาก็จะเกิดคำถามว่าอะไรคือชุมชนของเขา แล้วชุมชนของเขากำลังเกิดอะไรขึ้น ต้องรีบรักษามากขึ้นหรือเปล่า เพราะหลายๆ ครั้งสิ่งที่เราสูญเสียไป ไม่ใช่เราไม่ได้ชอบมัน แต่เราลืมไปว่ามันอยู่กับเรามาตลอด แล้วเราไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของมัน จนวันหนึ่งที่มันหายไป เราถึงจะเสียดาย ไปแล้วเหรอๆ ทำไมรื้อไป ทำไมมันพังไป ทำไมไม่รักษามัน ทำไมไม่ดูแลมัน ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เราต้องดูแลและให้คุณค่ากับมันก่อนที่จะสายไป ซึ่งสิ่งนี้ถ้ามันเกิดขึ้นกับใครสักคนหนึ่ง แม้แต่แค่คนเดียว เราก็มีความรู้สึกว่ามันคุ้มสำหรับนิทรรศการในครั้งนี้แล้ว
การใช้ Lumix G9 ตอบโจทย์ในแง่การสร้างงานของนิทรรศการนี้ยังไงบ้าง
บางครั้งเรามีจินตนาการแล้วอยากจะทำให้มันจริงขึ้นมา อุปกรณ์ก็ช่วยได้ สมมติยกตัวอย่างง่ายที่สุดเลย รูปราดดินมันเป็นรูปที่ถ้าสมัยก่อนเป็นกล้องฟิล์ม 1 วินาทีถ่ายได้ 2-3 รูป นางแบบก็ต้องยืนนานหน่อย ต้องโดนดินกระแทกหน้าเยอะหน่อย เพราะว่ากว่าจะจับจังหวะได้ก็น่าจะหลายรูป กว่าจะล้างเสร็จ ต้องมาดูอีกต้องถ่ายซ้ำไหม แต่ตอนนี้พอเป็นดิจิทัลมันเห็นเลย จังหวะของการที่ดินปะทะหน้าหรือความรู้สึกของนางแบบ มันใช่กับสิ่งที่เราคิดไหม 1 วินาทีมันได้ 60 รูป ทำให้สามารถเลือกโฟกัสสิ่งที่ต้องการได้ เรามองว่าจะทำยังไงให้เราใช้อุปกรณ์ที่เรามีอยู่ในมือ สามารถสร้างจินตนาการ ความทรงจำของเรา หรือสิ่งที่อยากจะเล่าให้กระจ่างชัดที่สุดได้
แล้วมีฟังก์ชันไหนที่ชอบที่สุด
ฟังก์ชันที่ชอบคือ 80 MP High-Res Mode สมมติเซ็ตภาพของไอ้จุดเป็นเรื่องของการบันทึกความทรงจำในหลายๆ พื้นที่ ในขณะที่หลายสิ่งหลายอย่างอาจจะหายไปหรือมันอาจจะไม่มีอย่างนี้แล้ว เราก็เลือกใช้โหมดนี้บันทึก เพราะว่าอยากให้ความทรงจำมันใหญ่ อยากจะเก็บไว้ให้กว้างที่สุด ต่อไปถ้าอีกหน่อยเราจะมา crop ให้เห็นเฉพาะบางสิ่งที่มันยังสวยงามอยู่ แต่มันถูกกลืนไปในความเป็นจริงแล้ว เราก็สามารถ crop รูปภาพขนาด 80 MP ได้ด้วยคุณภาพของไฟล์ที่ดีกว่า เราเลือกใช้สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีที่กล้องตัวนี้ให้มา ซึ่งมันทำหน้าที่ในการบันทึกความทรงจำของเราได้ดีเยี่ยม และทำให้จินตนาการของเราออกมาเป็นภาพได้อย่างถูกต้อง
ถ้าเปรียบเป็นกล้องเป็นเครื่องมือในการสร้างงานศิลปะ คิดว่าอุปกรณ์ที่ดีจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
การถ่ายภาพมันเป็นเรื่องการบันทึกความทรงจำ แล้วความทรงจำบางครั้งก็ไม่ได้อาจจะมีเหตุผลเรื่องคุณภาพ สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่ความพอใจหรือความชอบของแต่ละบุคคล ถ้าอุปกรณ์บางอย่างทำให้รู้สึกดีในการเดินทางไปกับสิ่งนั้น มันอาจจะเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับเขา แต่บางคนมันอาจจะไม่ได้จำเป็น เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราว่ามันไม่ถูกไม่ผิดหรอก อุปกรณ์อาจจะไม่ได้สำคัญในเรื่องของเทคนิค แต่อาจจะสำคัญกับจิตใจของคนที่ใช้แล้วรู้สึกว่าผูกพัน สุดท้ายอยู่ที่เรามองอุปกรณ์ว่าเป็นนายเราหรือเราเป็นคนใช้มัน เพื่อตอบให้ตรงกับความรู้สึกที่ต้องการ
นิทรรศการ ‘Lastburi เลือนลาง กระจ่างชัด’ เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2561 – 17 มีนาคม 2562 ณ พื้นที่แสดงงาน โรงงานเซรามิค เถ้า ฮง ไถ่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
ขอบคุณโรงแรม Le Meridien Bangkok สำหรับสถานที่ในการสัมภาษณ์