หลายคนเข้าใจผิดอยู่เสมอว่า เจ้าหน้าที่เทขยะรวมกันทุกครั้งเวลาเก็บขยะขึ้นรถ
แต่ความจริงแล้วพวกเขาแยกขยะ แต่ที่เทรวมก่อนเพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา และในถุงที่เก็บมาไม่ได้แยกขยะไว้ ทำให้พวกเขาต้องเทรวมแล้วแยกกันอีกทีบนรถ
ในหนึ่งวันพวกเราคนไทยผลิตขยะเฉลี่ยคนละ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน ถ้าเอาไปคูณกับจำนวนประชากรในประเทศคงบอกได้ว่ามหาศาล ประมาณคร่าวๆ 27 ล้านตันต่อปี ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยยังถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกในทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ต้องชื่นชม(ประชด)ว่าประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกกันเลยทีเดียว
แม้เราจะรณรงค์มายาวนานตั้งแต่ยุค “อ๊ะ อ๊ะ อ๊ะ ตาวิเศษเห็นนะ” ของคุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช เมื่อปี พ.ศ. 2526 ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ประเทศไทยก็ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องการจัดการขยะอยู่ดี โดยเฉพาะพฤติกรรมการแยกขยะ
ทำไมเราต้องแยกขยะด้วย ทั้งๆ ที่คนเก็บขยะก็เอาไปรวมกันในรถ
หลายคนเข้าใจว่าพนักงานเก็บขยะมักง่าย เทกองรวมกัน แต่ความเป็นจริงพวกเขาต้องเทรวมกันก่อนเพื่อทำงานแข่งกับเวลา และเพราะแต่ละบ้านไม่ได้แยกมา พวกเขาจึงไปคัดแยกประเภทขยะอีกรอบบนรถ เพื่อกระจายขยะแต่ละประเภทไปตามโรงงานรับซื้อของเก่า หรือโรงงานจัดการขยะรีไซเคิลขยะประเภทต่างๆ แต่ก็ไม่ใช่ขยะทั้งหมดที่จะเอาไปรีไซเคิลได้
การแยกขยะของแต่ละบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราร่วมกันทำตั้งแต่ต้นทาง การจัดการขยะในปลายทางของพี่ๆ พนักงานเก็บขยะ ผู้เป็น “The real Heroes” ของสังคมก็จะง่ายและรวดเร็วขึ้น ทำให้ประเทศไทยไม่เต็มไปด้วยกองขยะทุกตารางเมตรของพื้นที่ และยังช่วยลดมลพิษที่เกิดการจากสะสมตัวของขยะด้วย
การจัดการขยะระดับไมโคร ที่ใครๆ ก็ช่วยกันได้
แม้ว่าการจัดการปัญหาขยะในระดับประเทศอาจจะดูเป็นเรื่องใหญ่และไกลตัว แต่เราทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ได้เพียงเริ่มจากตัวเราเองก่อน เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการลดการสร้างขยะ เช่น การลดการใช้บรรจุภัณฑ์ (Reduce) อาทิ Single-use plastic อย่างถุงก๊อบแก๊บ หลอดพลาสติก แม้ว่าร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าจะหยิบยื่นให้เรามากมายขนาดไหนก็ตาม แต่เราสามารถปฏิเสธได้
การนำวัสดุหรือสิ่งของกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดปริมาณขยะ อย่างการเลือกใช้หรือพกพาภาชนะต่างๆ เช่น กระบอกน้ำ แก้วน้ำ หรือแก้วกาแฟส่วนตัว การนำกล่องบรรจุอาหารไปใช้ซื้ออาหารสดตามตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือการพกกล่องข้าวไปซื้ออาหารตามสั่งเลยก็ได้เพื่อช่วยลดการใช้กล่องโฟมหรือกล่องกระดาษ
และขั้นตอนสุดท้าย คือ “การคัดแยกขยะ” ก่อนปล่อยลงถังก็ถือเป็นวิธีการง่ายๆ ที่เราสามารถช่วยลดปริมาณปัญหาขยะล้นเมืองได้ เพราะการแยกประเภทขยะก่อนทิ้งช่วยเพิ่มโอกาสและปริมาณในการนำขยะกลับมารีไซเคิล (Recycle) เพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ ไม่ว่าจะทิ้งผ่านรถเก็บขยะของเทศบาล ก็ช่วยทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น หรือจะนำไปขายให้กับซาเล้งหรือรถรับซื้อของเก่าที่เราเห็นจนชินตาตั้งแต่เด็ก ก็สามารถสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย
Like Comment Share อาจช่วยให้รู้ปัญหา แต่ไม่ช่วยลด
เวลามีข่าวเต่ากินถุงพลาสติกเพราะคิดว่าเป็นแมงกระพรุน วาฬเกยตื้นที่ในท้องมีแต่ขยะ หรือแพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับพื้นที่ประเทศไทย การแชร์และคอมเมนต์ด่าคนทิ้งขยะอาจทำให้หลายคนรับรู้ปัญหานี้มากขึ้น แต่ขยะก็ไม่ลดลงหากเราไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง ทุกคนสามารถช่วยกันได้เพียงเริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ อย่างการคัดแยกขยะแต่ละประเภทแล้วนำกลับเข้าสู่วงจรรีไซเคิลอย่างเป็นระบบผ่านรถซาเล้งหรือรถเก็บขยะ แค่นี้ก็ช่วยให้ปัญหาขยะลดลงอย่างมาก
ถึงแม้เราจะไม่สามารถใช้ชีวิตแบบ ZERO WASTE คือ ไม่สร้างขยะเลย แต่ถ้าเพียงหันมาคิดและวางแผนก่อนใช้ ลดความสบายลงนิดหน่อย และช่วยกันคนละไม้คนละมือในการแยกขยะก่อนทิ้ง ประเทศไทยที่สวยงามจะกลับคืนมา
บทความนี้สนับสนุนโดย Pepsi ที่ต้องการส่งเสริมให้ทุกคนแยกขยะก่อนทิ้ง…เพื่อให้โลกเราน่าอยู่ขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
รายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี 2559 (กุมภาพันธ์ 2560) สํานักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ
แผนแม่บท การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 – 2564 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม