ชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ภารกิจ 20 เดือนในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน … พร้อมผลักดันคนรุ่นใหม่สู่อนาคตที่ยั่งยืน
หลังจากเข้าทำงานที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผ่านการทำงานมากว่า 19 ตำแหน่ง โดยเคยเป็นกรรมการและผู้บริหารมา 16 บริษัท รวมถึงเป็นประธานบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 5 บริษัท รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 36 ปีเต็ม ก่อนที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่มีภารกิจและหน้าที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
The MATTER ได้มีโอกาสนั่งคุยกันถึงเรื่องราวภายหลังการเข้ามารับตำแหน่งอันสำคัญ รวมถึงเป้าหมายและนโยบายที่ตั้งใจไว้ และการทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่จะต้องก้าวขึ้นไปเป็นกำลังสำคัญของกลุ่ม ปตท. โดยมีความมุ่งมั่น และทิศทางที่ชัดเจนของ ปตท. ในอีก 20 เดือนข้างหน้าที่เขาจะเป็นผู้กำหนด
คุณเริ่มต้นเข้ามาทำงานที่นี่ได้อย่างไร
คือ ที่จริงแล้วการที่เข้ามาทำงาน ปตท. เพราะตอนนั้นยังหางานที่อื่นทำไม่ได้ (หัวเราะ) คือผมเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่งด้วย พอได้รับโอกาสก็เลยกลายเป็นว่าเราตั้งใจทำทุกอย่างที่ได้รับมอบหมาย ผมทำหน้าที่ก่อนหน้ามารับตำแหน่งนี้อยู่หลายอย่างเหมือนกัน จนตอนนี้ก็เข้าปีที่ 36 แล้ว
รู้สึกอย่างไรหลังเข้ามารับตำแหน่งนี้
ต้องบอกว่ารู้สึกเป็นเกียรติมาก เป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็น CEO ในบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งพลังงานถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ผม และทุกคนในองค์กรจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องนี้ให้กับประเทศ
เรื่องที่คุณให้ความสำคัญเป็นพิเศษหลังเข้ามารับตำแหน่งนี้คืออะไร
การทำงานที่นี่ เราทำกันเป็นทีม องค์กรมีการทำกลยุทธ์ทุกปี ในระดับ Top-Down และระดับ Bottom-Up จากกรรมการของบริษัท ผู้บริหารระดับสูงและจากพนักงานทุกคน ที่จะมีการทำงานในลักษณะอย่างนี้ทุกปี และจะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ เรื่องการเกษียณของผู้บริหารระดับสูง รวมถึงพนักงานที่จะออกไปจำนวนมาก ปตท. ต้องรับคนรุ่นใหม่เข้ามาเพิ่มเสริมทัพ และคอยมองหาคนที่พร้อมสำหรับการที่จะก้าวขึ้นมาแทนที่คนก่อนหน้านี้ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อที่จะทำให้คนทุกรุ่นที่อยู่ในองค์กรทำงานร่วมกันได้
ส่วนเรื่องของระบบของ Digitalization เป็นอีกสิ่งที่ ปตท. ให้ความสำคัญ เพราะผู้บริโภคสมัยนี้ใช้ดิจิทัล ใช้สมาร์ทโฟนในการทำ Transaction กันหมด ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน การจองสิทธิต่างๆ รวมไปถึงการใช้บริการอื่นอีกมากมาย ถ้าองค์กรไม่สามารถปรับตัวได้ ก็จะเกิดปัญหากับธุรกิจขึ้นในท้ายที่สุด
นอกเหนือจากนั้น ยังมีเรื่องอื่นอีกเช่น การแข่งขันในภาคของธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการแข่งขัน การเปิดสัมปทานในการประมูลการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมทั้งเรื่องการหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการแสวงหาโอกาสในทางธุรกิจใหม่ๆ หรือพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งถึงแม้ว่าพลังงานทดแทนต่างๆ เหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้ำมัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญเพื่อให้สังคมและคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับเรื่องการปรับตัวเข้าหาโลกดิจิทัล คุณมีแนวทางจัดการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
การทำงานจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ การไปร่วมมือกับคนอื่น เช่น เรื่องของธนาคาร ได้มีการเซ็นสัญญา MOU (เอกสารหรือหนังสือที่เก็บบันทึกข้อตกลง ความเข้าใจที่ตรงกัน หรือ ข้อตกลงที่จะร่วมมือระหว่างสองฝ่าย) ร่วมกับ 9 ธนาคาร เพื่อร่วมกันวางแผนและพัฒนานวัตกรรมด้านการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกรรมทางการเงิน
ส่วนที่สองคือ การสร้างให้ผู้บริโภคเห็นปรากฏการณ์ในการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการ เช่น มีการนำ Data Analytics มาใช้เพื่อที่จะสามารถดูแลลูกค้าได้อย่างตรงใจเขามากขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น ความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อการทำ Predictive Maintenance ตรวจสอบให้รู้ก่อนว่าอุปกรณ์ส่วนใดในระบบกำลังจะเสีย เพื่อสามารถหาทางวางแผนซ่อมแซมก่อนที่มันจะเสีย เริ่มทำเอาหุ่นยนต์มาดูแลระบบต่างๆ ในท่อน้ำมัน เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ เป็นส่วนที่ ปตท. เปิดโอกาสทำงานร่วมกับทุกบริษัทเพื่อหาทางแก้และปรับปรุงให้ระบบและกระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีหลายบริษัทที่กำลังคิดค้นพัฒนาสิ่งเหล่านี้อยู่ ขอเพียงแต่เรามีความต้องการที่ชัดเจนเท่านั้น
นโยบาย CHANGE คืออะไร
ผมตั้งใจบอกกับทุกคนว่าตลอด 20 เดือนที่ดำรงตำแหน่ง ผมจะให้คำว่า CHANGE ไว้กับทุกคน
- Continuity สานต่อเพื่อความต่อเนื่อง เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินธุรกิจแบบ 3D คือ Design now, Decide now และ Do now
- Honesty ความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรม ผู้บริหารและพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และดำเนินการอย่างมีจริยธรรมนำธุรกิจ คำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล
- Alignment ขยายความร่วมมือ เพิ่มความมั่นคงและยั่งยืน ใช้ความเข้มแข็งจากภายใน ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. สร้างพลังร่วมเพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญ กระจายโอกาสการเติบโตออกสู่สังคมภายนอก
- New Innovation Solution สร้างสรรค์สิ่งดีและสิ่งใหม่ หาธุรกิจที่เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จใหม่ (New S-Curve) ของ ปตท. โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนว ความคิดใหม่ มาสรรค์สร้างให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ
- Good Governance กำกับดูแลดี มีประสิทธิภาพ ยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เน้นความโปร่งใส เที่ยงตรง เป็นธรรม และตรวจสอบได้ โดยปรับปรุงบทบาทในการกำกับดูแลบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมให้มีประสิทธิผลมากขึ้นและคำนึงถึงผลประโยชน์ภาพรวมของกลุ่ม ปตท. ตลอดทั้งสายโซ่ธุรกิจ เพื่อรักษาความมั่นคงและมั่งคั่งทั้งในเรื่องของธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมีที่สำคัญกับประเทศต่อไป
- Excellence Team Work สร้างคนรุ่นใหม่ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มุ่งพัฒนาพนักงานทุกรุ่นให้สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม มีศักยภาพ ความกล้า และพร้อมรับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังต้องเป็นคนกล้าที่จะก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ
คนรุ่นใหม่สำหรับคุณคือคนแบบไหน
คนรุ่นใหม่เติบโตมาจากการเรียนการสอนที่มาพร้อมกับโลกดิจิทัล แต่กับคนรุ่นผมต้องบอกว่า กว่าที่จะรู้จักคอมพิวเตอร์ก็เกือบจะถึงวัยทำงานแล้ว ในจุดนี้มันค่อนข้างแตกต่างกันมาก แต่ทีนี้ความต่างมันนำไปสู่อะไรล่ะ
คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้อะไรได้เอง มีความเชื่อมั่นตัวเองสูง อยากทำงานอิสระมากกว่าที่จะมาอยู่ในออฟฟิศ หน้าที่ของคนรุ่นผมจึงต้องทำให้ทั้งคนรุ่นใหม่เข้าใจถึงคำว่า Core Value ขององค์กร ว่าถ้าเขาอยู่ที่นี่กับเรา เขาจะได้รับอะไรบ้าง เขาจะเห็นอนาคตของตัวเองเป็นแบบไหน
ดังนั้น ในเรื่องโอกาส ปตท. จึงได้ส่งเสริมให้มีการประกวดเรื่อง TECH-SAVVY ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมถึงเรื่อง D-NEXT (by PTT Digital x RISE) ที่เป็นการประกวดเพื่อชิงทุนในการทำ Startup ทั้งในประเทศ และแถบประเทศ AEC เพื่อไปทำ Venture Capital แบบ Silicon Valley สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่พวกเรากำลังดำเนินการอยู่ ถามว่าจะออกดอกผลบ้างหรือยัง ก็พอจะตอบได้บ้างว่าเริ่มที่จะพอมองเห็นบ้าง แต่ก็ยังต้องใช้เวลาพอสมควร
สำหรับกับคนรุ่นใหม่ ถ้าหากว่าเราให้โอกาสและส่งเสริม ยอมรับฟังและให้เขาทดลอง ไม่แน่นะครับ วันหนึ่งเราอาจจะเจอช้างเผือกใน ปตท. ก็ได้นะ ผมเชื่อมั่นอย่างนั้น
ณ วันนี้ ปตท. เปิดกว้างสำหรับการรับคนเข้ามา เพราะเราจำเป็นต้องมีคนรุ่นใหม่ วันนี้มีคน Gen Y เกือบครึ่งหนึ่ง ส่วน Gen Z ก็เริ่มมีเข้ามาแล้ว การทำงานในองค์กร เราต้องการคนที่หลากหลายมาผสมผสานกัน เพราะเราเชื่อว่าการจะไปสู่เป้าหมายเพื่อความสำเร็จต้องใช้ความรู้ความสามารถของคนหลายๆ คนร่วมมือกัน เพราะว่าคนรุ่นอย่างผมไม่รู้ความต้องการของคนรุ่นอย่างคุณหรอกดังนั้น จึงเป็นเรื่องดีที่ในองค์กรมีคนหลายๆ แบบเข้ามาทำงานอยู่ด้วยกัน
เป้าหมายต่อไปของ ปตท. สู่ความยั่งยืนที่ตั้งใจไว้คืออะไร
ปตท. จะเติบโตอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน เพราะทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยหรือคนที่เราไปติดต่อทำงานด้วย ล้วนแล้วแต่มีส่วนในการสนับสนุนร่วมกัน หลายคนอาจจะเป็นผู้ผลิต ในขณะที่หลายคนอาจจะเป็นลูกค้า และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือพนักงาน เพราะถ้าองค์กรมีพนักงานที่เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง องค์กรก็จะสามารถปรับตัวไปข้างหน้าได้ ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะพนักงานที่ทำเพื่อองค์กรที่มีภารกิจในการทำงานเพื่อประเทศชาติ อยากจะบอกว่าสิ่งนี้คือความยั่งยืนที่แท้จริง
ในฐานะที่คุณเป็น CEO อยากให้ ปตท. เป็นที่จดจำของคนไทยเวลานึกถึงอย่างไร
เป็นเวลา 40 ปีแล้ว ที่ ปตท. ได้ดำเนินงานมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ผ่านมามีผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งนี้ก่อนหน้าผมถึง 8 ท่านด้วยกัน
ปตท. เกิดมาจากปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน หน้าที่ที่ได้รับผิดชอบคือการไปเสาะแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานเพื่อคนในชาติ ซึ่งพันธกิจนี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่องค์กรจะต้องดำเนินการพัฒนาต่อไป แม้ทุกวันนี้ และอนาคตที่กำลังจะมาถึง พลังงานทดแทนก็ได้ก้าวเข้ามา ดังนั้น จึงต้องเตรียมรับมือกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้
ซึ่งถ้าคุณถามว่าเราทำไปเพื่ออะไร ขอตอบว่า เพื่อความมั่นคงและหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลประชาชน ซึ่งภารกิจนี้ไม่ใช่ผมคิดเองคนเดียว แต่คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนต่างก็เป็นส่วนสำคัญที่พร้อมที่จะทำสิ่งนี้ให้กับประเทศชาติและคนไทย