ยังจำกันได้ไหม เมื่อกลางปี 2022 ที่ผ่านมา โลกออนไลน์สะพัดไปด้วยความคิดเห็นว่า “สิ่งที่ควรทำก่อนอายุ 30” มีอะไรบ้าง
ชาวเน็ตเมืองไทยทุกเพศ ทุกวัย ทุกวงการ ต่างออกมานำเสนอแง่มุมของตัวเองกันอย่างเต็มที่ ทั้งสร้างความตระหนักให้กับคนวัย 20 ปลายๆ และสร้างความตระหนกให้แก่คนที่เข้าสู่วัย 30 แล้ว แต่ยังไม่ได้ทำอะไรอย่างที่ใครต่อใครเขาว่ากัน โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งถูกสังคมกดดันว่าควรจะต้องมีอะไร และไม่ควรมีอะไร เมื่อวัยเข้าสู่เขตแดนของวัยที่ขึ้นต้นด้วยเลขสาม
วาทกรรมพันธนาการผู้หญิงวัย 30+
มายาคติที่สังคมส่วนใหญ่มีต่อผู้หญิงวัย 30+ มักจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ดูอย่างเพลง 30 ยังแจ๋วของยอดรัก สลักใจ ที่ถูกนำมาใช้ชื่นชมหญิงสาววัย 30 ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาหลายทศวรรษ เพลงนี้ตั้งคำถามสั้นๆ ที่น่าสนใจในท่อนหนึ่งว่า “สามสิบทำไมยังสวย” — ก็แล้วทำไมจะสวยไม่ได้ล่ะ ในเมื่องานวิจัยจากอังกฤษในปี 2557 จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 คน ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงต่างให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า 31 ปี คือช่วงวัยที่ค้นพบความรู้สึกสบายใจต่อร่างกายของตัวเองและมีความสุขกับความสัมพันธ์ทางเพศมากที่สุด
แต่จนแล้วจนรอด สังคมก็ยังไม่ยอมปล่อยให้ผู้หญิงใช้ชีวิตได้อย่างง่ายๆ สักที วาทกรรมทั้งหลายที่พูดกันซ้ำไปซ้ำมาจนกลายเป็นมายาคติที่ไหลเวียนอยู่ในสำนึกคิดของทุกคนอย่างยากจะแกะออก
“30 แล้ว ระวังริ้วรอยถามหา” แต่ต่อให้ระมัดระวังมากแค่ไหน กลไกของร่างกายก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา พญ.พรภุชงค์ เลาห์เกริกเกรียติ หัวหน้าศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลพญาไท 3 ให้ข้อมูลว่า เมื่ออายุมากขึ้น ชั้นผิวหนังบางลง เพราะหลอดเลือดที่ส่งสารอาหารให้ผิวหนังลดลง บวกกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่น้อยลงทำให้การสร้างคอลลาเจนลดลงตามไปด้วย
“30 แล้วเผาผลาญไม่ดี” แน่นอนว่าเมื่ออายุมากขึ้น ทุกคนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารในแต่ละวันมากขึ้น เพราะมวลกระดูก มวลกล้ามเนื้อเริ่มลดน้อยลงเรื่อย ส่งผลต่ออัตราการเผาผลาญในร่างกาย (Metabolic Rate) รวมถึงปริมาณฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้ร่างกายสะสมไขมันไว้มากขึ้น
“30 แล้วกลายเป็นเจ๊จอมวีน” การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งผลทำให้มีอาการหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน หรือมองอีกมุมเจ๊จอมวีน อาจเป็นผลจากวาทกรรมที่สังคมสร้างขึ้นจากความขัดใจ เมื่อผู้หญิงก้าวออกนอกขนบความอ่อนหวาน นอบน้อม แต่ลุกขึ้นมายืนหยัดเพื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการ
จะเห็นได้ว่าถ้อยคำเหล่านี้ล้วนแต่ขีดเส้น จำกัด ควบคุมการใช้ชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน
ลองค้นหาคำว่า “30 แล้ว” ใน Search Engine ที่คุณคุ้นเคย รับรองว่ามีอีกหลายสิบข้อควรทำและหลายร้อยข้อห้าม ที่เข้ามายุ่มย่ามวุ่นวายกับเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงวัย 30+ ดังที่หนังสือ The Beauty Myth: How Images of Beauty Are Used Against Women ของ Naomi Wolf ได้ชี้ให้เห็นถึงความหมกมุ่นของสังคมที่มีต่อความสมบูรณ์แบบของร่างกายผู้หญิงในยุคสมัยใหม่ ที่ต้องยื้อยุดระหว่างสำนึกของตัวตนกับความคาดหวังอันไร้ที่สิ้นสุดของสังคม ผ่านวาทกรรมความงามที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
Aging Gracefully โอบรับความงามตามวัย
Mashable อ้างอิงว่า แท็ก “anti-aging” ในแอปพลิเคชัน TikTok มียอดเข้าชม 3.1 พันล้านวิว ทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มของคนเจน Z บ่งบอกถึงเทรนด์การชะลอวัยที่เข้ามาสู่คนอายุน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยความเชื่อว่าการคงความอ่อนเยาว์ไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้คือชัยชนะ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปี 2022 ที่ผ่านมา ยูทูบเบอร์วัย 60 ปีอย่าง Gadgetlily ทำให้โซเชียลมีเดียแทบลุกเป็นไฟ หลังจากที่เธอออกมาเปิดเผยเทคนิคการดูแลผิวหน้าให้อ่อนเยาว์ราวกับสาวแรกรุ่น จนมีการตามหาลิสต์สกินแคร์มาใช้ตามลิลี่กันจนของเกลี้ยงสต็อก
แต่ในขณะเดียวกันก็มีครีเอเตอร์สาย Pro-aging อย่าง Ting Ma เจ้าของอินสตาแกรม @tingmystyle วัย 52 ปี ที่ชวนให้ทุกคนโอบรับร่องรอยแห่งความสุขความเศร้าที่เคยปรากฏบนใบหน้า ปฏิเสธที่จะลบเลือนความทรงจำเหล่านี้ออกไป “ฉันไม่ต้องการดูเหมือนคนอายุ 30 ในวัย 52 ในเมื่อฉันมาถึงวัยนี้ด้วยความภาคภูมิใจ สำหรับฉัน ริ้วรอยบนใบหน้าและเส้นผมสีเทาคือการเฉลิมฉลอง”
Jessica DeFino คอลัมนิสต์ผู้วิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมความงามอย่างเต็มที่ เธอให้สัมภาษณ์กับ Mashable ว่า “เราไม่ได้ต้องการทำให้ความแก่กลายเป็นเทรนด์ใหม่ แต่เราต้องการให้ทุกคนเป็นตัวเองได้ โดยไม่ต้องกังวลกับเทรนด์ความงาม เพราะอายุที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่เทรนด์ แต่มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” สอดคล้องกับแนวทางของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประกาศอย่างเป็นทางการให้ช่วงเวลาระหว่างปี 2564-2573 เป็นทศวรรษแห่งสูงวัยสุขภาวะดี (Decade of Healthy Aging) ที่สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อให้ทุกช่วงวัยเรียนรู้ที่จะมีความสุขไปกับอายุที่เพิ่มขึ้น
ไม่ว่าในวัย 30 จะยังแจ๋ว หรือจะยังจ๋อย ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องปฏิเสธความงามตามมาตรฐาน เพราะมาตรฐานนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เราควรเป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือความงามในแบบที่ใช่ เลือกรับมาดูแลร่างกายตัวเองด้วยความพึงพอใจและสบายใจ ไม่ใช่เลือกเพราะความกลัวว่าจะแปลกแยกแตกต่างจากมาตรฐานลวงที่อุตสาหกรรมความงามสร้างขึ้น
เราคงไม่ต้องลงรายละเอียดเป็นสูตรสำเร็จว่าแต่ละคนควรจะทำอะไร เพื่อให้คุณสามารถ Aging Gracefully ได้ เราเชื่อว่าผู้หญิงในวัย 30+ ส่วนใหญ่พยายามที่จะศึกษาข้อมูลการดูแลสุขภาพมาแล้วเป็นอย่างดี เรียนรู้ ลองผิดลองถูกทีจะเลือกรับปรับใช้แนวทางดูแลสุขภาพร่างกายที่เหมาะกับชีวิตของแต่ละคนมากที่สุด ไม่ต้องรู้สึกผิดที่เราไม่อาจหาเวลาออกกำลังกายได้มากพอในแต่ละสัปดาห์ หรือชีวิตคนเมืองที่ไม่อาจกินผักผลไม้ได้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการทุกมื้อ การใช้ตัวช่วยบ้างก็ไม่เสียหาย วิตามินบำรุงโลหิต สมอง สายตา กระดูก เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ประกอบกับการออกกำลังกายก็เป็นอีกทางเลือกที่เพิ่มความมั่นใจในการดูแลตัวเองได้เช่นกัน
เพราะความสามารถที่จะเลือกและยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการได้อย่างเต็มที่นี่แหละที่ทำให้ผู้หญิงทุกช่วงวัย ทุกสไตล์เปล่งประกายได้อย่างงดงามไม่ซ้ำกัน