จากรายงานของ World Economic Forum บอกว่า ภายในปี 2022 งานการบนโลกนี้จะมีตำแหน่งเกิดขึ้นใหม่ราวๆ 133 ล้านตำแหน่ง
แต่อย่าเพิ่งอุ่นใจ ว่าชีวิตการทำงานในอนาคตจะสดใส เพราะตำแหน่งงานเหล่านั้น คุณอาจจะไม่คุ้นชื่อหรือนึกภาพการทำงานไม่ออกเลย เช่น กลุ่มอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่น นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data หรืออย่างโซเชียลมีเดียก็สามารถเป็นงานเป็นการให้คุณได้ถ้าคุณเชี่ยวชาญพอ
ส่วนข่าวร้ายก็คือ จากรายงานยังบอกอีกว่าในช่วงปีเดียวกันนั้น งานอีก 75 ล้านตำแหน่ง อาจจะหายไปจากสารบบ ด้วยผลพวงจากการพัฒนาของเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ โดยที่ตำแหน่งเหล่านั้นก็อาจเป็นตำแหน่งที่คุณกำลังทำอยู่ทุกวันนี้ เช่น นักบัญชีและผู้ตรวจบัญชี พนักงานกรอกข้อมูล ฝ่ายบริการลูกค้า เจ้าหน้าที่ตรวจรับสินค้า พนักงานทั่วไป หรือแม้แต่พนักงานไปรษณีย์
เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นแล้วเมื่อศตวรรษที่ 20 ที่คนจากภาคเกษตรต้องย้ายไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม
โอเค ในความเป็นจริงสิ่งที่กล่าวมันอาจจะยังไม่เกิดขึ้นฉับพลัน (แต่เร็วกว่าตอนศควรรษที่ 20 แน่ๆ) แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ดีที่คุณจะไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง ทางที่ดีคุณควรจะใช้ข้อได้เปรียบ ที่มนุษย์มีความสามารถบางอย่างที่ระบบอัตโนมัติทำไม่ได้ เช่น ทักษะการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ การถ่ายทอดความรู้ การสร้างปฏิสัมพันธ์ และที่สำคัญคือความรู้และทักษะเดิมของคุณนั้นก็ใช่ว่าจะไร้ค่า เพียงแต่คุณต้องรื้อมันออกมาปัดฝุ่น เคาะสนิม พร้อมเติมความรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการทำงานต่อไป
สัญญาณเตือนครั้งสุดท้ายดังขึ้น ถึงเวลาที่คุณจะต้องปรับตัวด้วย Reskilling แล้วล่ะ
ในตอนเด็กเราจำเป็นต้องทำความรู้จักตัวอักษร วิธีประสมคำ ความหมายของคำศัพท์ สัญลักษณ์ ตัวเลข การคำนวณ เพื่อที่เราจะได้มีกุญแจไขเข้าไปสู่องค์ความรู้แขนงอื่นๆ
ทว่าเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน—วัยที่เราต้องพบกับความเปลี่ยนแปลง พบกับสิ่งใหม่ๆ ที่มากกว่าการคว้าคะแนนจากข้อสอบ ทั้งการบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การรับมือกับเหตุการณ์วิกฤติ ความเป็นผู้นำ รวมถึงความสามารถในการทำให้ตัวเราเองเรียนรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด (สังเกตไหมว่าพอเราทำงานแล้ว เราก็มักจะเหนื่อยล้าจนละเลยที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ) ยังไม่นับว่าเทคโนโลยีบนโลกใบนี้รุดหน้าไปมากขนาดไหน ความรู้ที่คุณพกพามาจากรั้วมหาวิทยาลัยมันไม่เพียงพออีกแล้ว อย่าว่าแต่ระดับคนทำงานเลย ระดับองค์กรยังต้องต่อสู้กันเลือดตาแทบกระเด็นเพื่อจะอยู่รอด ต่อสู้กับคู่แข่ง ต่อสู้กับพฤติกรรมมนุษย์ที่ไม่เหมือนเดิม และต่อสู้กับระบบอัตโนมัติที่ทำงานได้ไม่รู้จักเหนื่อย
แล้วกุญแจที่จะทำให้เรารับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ คืออะไร?
ถ้าคุณใช้โซเชียลมีเดียอยู่เป็นประจำ คงจะมีสักครั้งที่คำว่า Reskilling ผ่านสายตาของคุณไป มันคืออะไร?
Reskilling คือ การนำทักษะที่คุณมีอยู่เดิม มาปรับปรุงและพัฒนาให้เหมือนใหม่ เพราะทักษะที่คุณมีนั้นยังใช้งานได้ เพียงแค่ต้องทำให้มันเข้ากับยุคสมัย อย่างน้อยก็ควรที่จะเข้าใจและควบคุมระบบอัตโนมัติต่างๆ ได้ ซึ่งไม่ว่าอาชีพอะไรก็สามารถ Reskill ได้ เช่น แพทย์ควรจะบังคับหุ่นยนต์ผ่าตัดได้ หรือเกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีหรือการออกแบบ ผสมผสานกับความรู้เดิมในการทำการเกษตรยุคใหม่
ทิ้งความคิดว่าหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ หรือระบบอัตโนมัติจะมาแย่งงานของเราไป แล้วคิดเสียใหม่ว่าให้ระบบเหล่านั้นทำงานแทนเรา เพื่อที่เราจะได้ก้าวหน้าไปทำอย่างอื่น
แล้ว Reskilling มันต่างจากการอบรมทั่วๆ ไป (Training) ยังไง?
เหมือนในแง่ที่ทั้งสองวิธีพยายามพัฒนาขีดจำกัดของมนุษย์ และไม่เหมือน เพราะการ Reskilling นั้น เกิดขึ้นบนวิธีคิดแบบ ‘Lifelong Learning Ecosystem’ ว่าง่ายๆ ก็คือคาดหวังให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต เรียนรู้ทักษะการทำงาน เช่น การสื่อสารระหว่างผู้ร่วมงานให้ราบรื่น การรู้จักสไตล์การทำงานของตัวเองเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ภาวะการเป็นผู้นำ รวมถึงเรียนรู้ภาษาแห่งยุคใหม่—ภาษาที่จะทำให้คุณเข้าใจและควบคุมเทคโนโลยีได้—ซึ่งต่างจากการอบรมที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทีละจุดๆ ตามที่องค์กรต้องการ
ปัจจุบันหลายๆ ประเทศหันมาให้ความสนใจกับการสร้าง Lifelong Learning Ecosystem มากขึ้น อย่างสิงคโปร์ก็มีนโยบายสนับสนุนเงินให้ประชาชนวัยทำงานได้ Reskill ผ่านคอร์สอบรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือที่เยอรมันก็ปรับทิศทางนโยบาย จากการประกันการว่างงาน (Employment Insurance) มาเป็นการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาทักษะตลอดชีวิตแก่พลเมือง
ในประเทศไทยก็เช่นกัน หลายๆ องค์กรที่เล็งเห็นแล้วว่าความขยันเพียงอย่างเดียวไม่พออีกแล้วสำหรับการทำงาน จึงเริ่ม Reskill บุคลากรกันยกใหญ่ เช่น เมืองไทยประกันชีวิต PTG AIS กลุ่มมิตรผล อิตัลไทย และ SCG ผ่านโมเดลการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และออกแบบให้ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของโลก รูปแบบการใช้ชีวิต และสไตล์การเรียนรู้ของคนทุกเพศทุกวัย ที่มีชื่อว่า YourNextU
YourNextU คือโมเดลการเรียนรู้ของ SEAC (Southeast Asia Center) หรือ ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ที่ได้คิดค้น ‘4Line Learning’ รูปแบบการเรียนรู้ที่ผสมผสานหลากวิธีเข้าด้วยกัน ยืดหยุ่น รองรับความแตกต่างเฉพาะตัวของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนไม่เบื่อหน่าย และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ที่ว่ายืดหยุ่นเพราะ 4Line Learning นั้น เปิดโอกาสให้คุณได้เรียนรู้ผ่าน 4 รูปแบบ ได้แก่ Classroom การอบรมในห้องเรียนกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งใช้เวลาในการเรียนเท่าที่เหมาะสม, Social Learning การเรียนรู้ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูล หรือเรื่องราวจากผู้เชี่ยวชาญ วิทยากร นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ, Online เรียนผ่านวิดีโอคลิปที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ และ Library คลังความรู้ที่คุณสามารถดาวน์โหลดได้ไม่จำกัด นอกจากนั้นก็ยังมีกิจกรรม อีเวนท์ เช่น การเรียนรู้ผ่านการเล่นเกม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เรียนที่มาจากหลายสาขาอาชีพ
ปัจจุบัน YourNextU มีหลักสูตร Online กว่า 200 หลักสูตร Classroom กว่า 40 หลักสูตร Social Learning กว่า 70 โปรแกรม แต่หลักสูตรที่เหมาะกับพนักงานออฟฟิศก็เห็นจะเป็น ‘The Four Houses of DISC’ ที่จะทำให้ผู้เรียนรู้จักสไตล์การทำงานของตัวเอง และรู้จักสังเกตสไตล์การทำงานของคนอื่น เพื่อการสื่อสารและการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น ‘The Power Growth of Mindset’ คอร์สที่จะทำให้คุณปลดล็อกขีดจำกัดของตัวเอง ปรับทัศนคติให้พร้อมกับความท้าทายต่างๆ (จากหนังสือ best-seller เรื่อง Mindset: ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา) หรือจะเป็น ‘Self-Leadership Series’ หลักสูตรที่จะช่วยฝึกฝนศิลปะการเป็นผู้นำ หนึ่งในทักษะที่คนไทยยังมีไม่มากพอ และที่สำคัญหลักสูตรที่กำลังเป็นที่นิยมอย่าง ‘Design Thinking’ ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจแก่นแท้ของปัญหาและสามารถออกแบบวิธีแก้ไข จนอาจเกิดเป็นโปรเจกต์ใหม่ๆ ได้ สร้างความก้าวหน้าในอาชีพได้เป็นอย่างดี
อนาคตไม่หยุดนิ่งรอให้ใครเดินไปหาง่ายๆ อีกต่อไป คุณต้องเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต
ร่วมเปิดโลกแห่งการเรียนรู้และค้นหาทักษะเพื่อพัฒนาตนเองได้แล้วกับ YourNextU by SEAC พร้อมสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้ ที่ www.yournextu.com