หากเอ่ยถึงกีฬา ‘เทเบิลเทนนิส’ หรือปิงปอง ในบ้านเราเองถือว่าเป็นกีฬาที่ไม่ได้เป็นที่นิยมในวงกว้างเทียบเท่ากับกีฬาชนิดอื่นๆ
แต่เมื่อการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว ภาพของ หญิง – สุธาสินี เสวตรบุตร นักกีฬาเทเบิลเทนนิสหญิงทีมชาติไทย ก้าวเข้าไปสู่รอบ 16 คนสุดท้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นการจุดกระแสให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่จับตาในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี ไบรท์ – ภาดาศักดิ์ ตันติวิริยะเวชกุล นักกีฬาเทเบิลเทนนิสชายทีมชาติไทย ปัจจุบันเป็นกีฬาเทเบิลเทนนิสอาชีพอยู่ในลีกของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งประสบความสำเร็จ เคยคว้าเหรียญจากการแข่งขันซีเกมส์มาแล้วไม่ต่างกัน
แน่นอนว่าความสำเร็จดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นจากความพยายามและความสามารถของทั้งคู่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากแรงสนับสนุนจากครอบครัว โค้ชผู้ฝึกสอน และที่สำคัญคือการสนับสนุนจากสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่คอยสนับสนุนตั้งแต่เรื่องค่าใช้จ่ายในการเก็บตัวฝึกซ้อม ค่าเดินทางไปแข่งขัน ไปจนถึงการสมัครเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ
ลองไปสำรวจเบื้องหลังเส้นทางชีวิตของสองนักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติไทย ที่ใช้ทั้งความพยายามของตัวเอง ผสานกับโอกาสและแรงผลักดัน เพื่อไปสู่ความสำเร็จ
หญิง – สุธาสินี เสวตรบุตร
นักกีฬาเทเบิลเทนนิสหญิงทีมชาติไทย ที่เริ่มเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบ จากการได้เห็นพี่ชายเล่นอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่โค้ชของพี่ชายจะเห็นแวว จึงชักชวนให้ฝึกซ้อมลงเพื่อแข่งขันอย่างจริงจัง ทำให้ก้าวเข้าสู่วงการเทเบิลเทนนิสอย่างเต็มตัว คว้าเหรียญทองจากรายการต่างๆ ในประเทศกว่า 30 รายการ แชมป์ประเทศไทย 7 สมัย เหรียญทองซีเกมส์ 5 เหรียญ และไปได้ไกลสุดที่รอบ 16 คนสุดท้าย โอลิมปิกเกมส์ 2020 สร้างประวัติศาสตร์นักกีฬาเทเบิลเทนนิสไทยคนแรกที่ทำได้ ปัจจุบันเล่นเทเบิลเทนนิสอาชีพ อยู่ในลีกของประเทศออสเตรีย
Seek
ความพยายาม
เริ่มต้นจับไม้ปิงปองครั้งแรกตอนไหน
ตอนเด็กๆ ประมาณ 6 ขวบ เห็นพี่ชายเล่นปิงปองอยู่ก่อนหน้านี้ ญาติๆ ก็ติดทีมชาติมาแล้ว ทำให้อยากซ้อมอยากเล่นบ้าง ก็ตามพี่ชายไปเล่น ตอนเด็กๆ ร่างกายเราก็ไม่ค่อยแข็งแรง คุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้เราไปเล่นปิงปอง เพื่อความสนุกและสุขภาพมากกว่า โค้ชที่สอนพี่ชายมาตั้งแต่เด็ก เห็นแววแล้วก็บอกว่า ถ้าฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ พัฒนาอยู่ตลอด ก็สามารถขึ้นไปเป็นเยาวชนทีมชาติได้
อะไรที่ทำให้มั่นใจว่าอยากจะเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นอาชีพ
ตอนอายุ 12 ปี หญิงก็ได้อันดับที่ 3 ในรุ่น 15 ปีของเอเชีย แล้วก็ได้ทุนจาก ITTF (International Table Tennis Federation สมาพันธ์กีฬาเทเบิลเทนนิสสากล) เพื่อที่จะไปแข่งขันในระดับ World Cadet (การแข่งขันกีฬาเทเบิลเทนนิสรุ่นเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี) ตรงนี้เองที่ทำให้เราได้เห็นว่ามีนักกีฬามากมายที่เขามาถึงจุดนี้ได้ ช่วงที่อายุประมาณ 24 หญิงได้รับโอกาสจากทางญี่ปุ่น เพื่อเข้าไปแข่งขันในลีกของประเทศเขา ทำให้มีโอกาสได้เจอคู่แข่งที่หลากหลาย ทำให้หญิงคิดว่า เราก็สามารถเล่นกีฬาปิงปองเป็นอาชีพได้ สามารถสร้างรายได้ให้เราได้พอสมควร ตอนนั้นรู้สึกว่าเราต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น เพื่อที่ก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน บางคนก็อาจจะเรียนเก่ง ไปสอบเป็นหมอได้ เป็นวิศวกรได้ แต่ว่าสำหรับตัวหญิง เราเล่นปิงปองมาค่อนข้างนาน แล้วก็ทุ่มเทให้กับปิงปองมาตลอด
ช่วงแรกซ้อมวันละกี่ชั่วโมง เคยท้อไหม
ประมาณ 6-7 ชั่วโมง ตั้งแต่อายุ 13 ปี จริงๆ คืออยากซ้อมอยู่แล้ว เพราะว่าหญิงออกมาเรียน กศน. นอกระบบ เพราะจะได้ซ้อมเต็มที่ เหมือนกับเราเลือกทางเดินนี้แล้ว เลยต้องมุ่งมั่นกับสิ่งที่เราเลือก ถ้าเราซ้อมเยอะ มีความมุ่งมั่น เราก็จะพัฒนาตัวเองขึ้นไปสู่ระดับสูงได้ ก็มีบางช่วงที่เหมือนกับว่าเราก็มุ่งมั่น ทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมตลอด แล้วพอไปแข่งก็ผิดหวังกับผลการแข่งขัน มีท้อบ้าง เพราะว่าเรามุ่งมั่นมากแล้วเราไม่สำเร็จ เราก็ต้องให้เวลากับตัวเอง ไปพักผ่อนร่างกายตัวเอง แล้วก็ค่อยกลับมาฝึกซ้อมใหม่ พยายามเรียนรู้ หาประสบการณ์ไปเรื่อยๆ แต่ว่าแมทช์ช่วงหลังๆ ก็อาจจะมีความกดดันมากขึ้น คาดหวังกับผลการแข่งขันมากขึ้น ทำให้เราต้องมุ่งมั่นมากขึ้นกับการแข่งขันมากขึ้นตาม
“ถ้าเราซ้อมเยอะ มีความมุ่งมั่น เราก็จะพัฒนาตัวเองขึ้นไปสู่ระดับสูงได้”
หญิง สุธาสินี
อะไรเป็นอุปสรรคสำคัญของนักกีฬาเทเบิลเทนนิส รับมือยังไง
กีฬาปิงปองจะไม่ค่อยมีอุปสรรคเรื่องร่างกายมาก เพราะว่าเป็นกีฬาที่ไม่ได้ใช้ร่างกายปะทะกับคู่ต่อสู้ อาจจะยืนระยะได้ยาว ถ้ารู้จักดูแลตัวเอง หลักๆ จะเป็นเรื่องของงบประมาณการไปแข่งขันมากกว่า ถ้าเราต้องการที่จะออกไปสู่ระดับโลก เราก็ต้องมี ranking ที่สูง ต้องส่งตัวเองไปแข่งต่างประเทศเพื่อทำ ranking ซึ่งงบประมาณก็ค่อนข้างสูงพอสมควร
SET
แรงผลักดัน
ใครที่คอยซัพพอร์ตเรา ตั้งแต่วันแรกๆ จนถึงทุกวันนี้
อันดับแรกก็คือครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ แล้วก็พี่น้องที่เป็นญาติกัน ทุกคนคอยสนับสนุนและส่งเสริมมาตลอดตั้งแต่เด็ก มีโค้ชที่คอยสอนเรื่องการใช้ชีวิต สอนเรื่องการฝึกซ้อม แล้วก็มีทางสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย ที่คอยซัพพอร์ตเรื่องค่าใช้จ่ายตอนไปแข่ง หญิงคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก รวมถึงทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เข้ามาซัพพอร์ตในเรื่องของงบประมาณ ทำให้เราได้ออกไปแข่งขัน ได้ออกไปเก็บตัวฝึกซ้อมในต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เราได้ประสบการณ์ในการแข่งขันกับมือระดับโลกมากขึ้นด้วย อย่างรายการซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิก
ประทับใจอะไรโครงการ SET Star Table Tennis
สำหรับโครงการ SET Star Table Tennis เข้ามาช่วยเหลือนักกีฬาเทเบิลเทนนิสออกสู่เวทีระดับโลกได้ หญิงก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการเลย ตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนจนติดทีมชาติชุดใหญ่ หญิงรู้สึกดีใจที่ได้เป็นตัวแทนของ SET ไปให้ความรู้กับนักเรียนนักศึกษาในโรงเรียนต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์กีฬาเทเบิลเทนนิสให้กับเยาวชนได้รู้จัก
“โครงการ SET Star Table Tennis เข้ามาช่วยเหลือนักกีฬาเทเบิลเทนนิสให้ออกสู่เวทีระดับโลกได้”
หญิง สุธาสินี
มีคำไหนของโค้ชหรือพ่อแม่ที่เคยบอก แล้วจำมาใช้จนถึงทุกวันนี้ไหม
ส่วนใหญ่โค้ชจะเป็นคำพูดมากกว่าว่า เวลาเราลงแข่งขันก็ดี เราก็พยายามเรียนรู้กับเกมการแข่งขัน มากกว่าที่จะไปนึกถึงผลแพ้ชนะ เพราะว่าถ้าเราแพ้หรือชนะ ยังไงเราต้องกลับมาซ้อมใหม่อยู่ดี ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็จะบอกว่าให้อดทน พยายามมุ่งมั่นกับสิ่งที่เราเลือกเดินมาแล้ว ทำให้เต็มที่ที่สุด ถึงจะแพ้ชนะก็ไม่เป็นไร
Succeed
สู่ความสำเร็จ
อะไรคือเป้าหมายสูงสุดของการเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิส
เป้าหมายสูงสุดอยากจะได้เหรียญเอเชียนเกมส์และเหรียญโอลิมปิกสักครั้งหนึ่ง ถือว่าค่อนข้างยาก หญิงคิดว่ามันคือเป้าหมายของนักกีฬาอาชีพทุกๆ คน อยากตั้งเป้าหมายสูงไว้ก่อน ครั้งแรกที่แข่งโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ คือหญิงเข้ารอบ 32 คน แล้วก็มาที่โอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวล่าสุด เข้ารอบ 16 คน เป็นการทำลายสถิติของตัวเองได้ไปอีกหนึ่งรอบ รู้สึกดีใจที่ทำลายสถิติของตัวเองได้ แต่ก็เสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้เหรียญ เพราะว่ากว่าจะเข้ามาถึงรอบนี้ยากพอสมควร ยังไงเราต้องพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ให้ก้าวไปสู่ระดับที่สูงยิ่งขึ้น ตอนที่ได้เหรียญซีเกมส์ ได้เห็นธงชาติไทยติดอยู่บนยอดเสาที่สูงที่สุด แล้วได้ยินเสียงเพลงชาติไทย รู้สึกตื้นตันและภูมิใจมาก
“ตอนที่ได้เห็นธงชาติไทยติดอยู่บนยอดเสาที่สูงที่สุด แล้วได้ยินเสียงเพลงชาติไทย รู้สึกตื้นตันและภูมิใจมาก”
หญิง สุธาสินี
คิดว่าโอกาสและความพยายามสำคัญกับตัวเองมากขนาดไหน
หญิงน่าจะแบ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ ให้กับความพยายาม เพราะว่าความพยายามส่วนใหญ่มันเกิดจากตัวเองที่เราต้องมุ่งมั่นกับการฝึกซ้อม ต้องมีความอดทน มีระเบียบวินัยทุกๆ อย่างเลย แต่แรงผลักดันหญิงให้ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามันเป็นแรงผลักดันที่คนรอบข้างที่จะผลักดันเรา ด้วยคำพูดหรือให้กำลังใจ แต่ทั้งสองอย่างก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะโอกาสค่อนข้างสำคัญมาก ถ้าโอกาสมาแล้ว เราสามารถคว้ามันได้ เป็นอะไรที่ดีมาก แต่เราต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของการฝึกซ้อมและร่างกายด้วย เพราะว่าถ้าเราไม่มีความพร้อม แต่โอกาสมาแล้ว เราก็อาจจะพลาดโอกาสนั้นได้
อยากฝากอะไรถึงน้องรุ่นใหม่ที่กำลังอยากจะเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสอาชีพ
อยากจะฝากถึงน้องๆ ถ้ามีความฝันที่อยากเป็นนักกีฬาอาชีพ อยากให้มีความเชื่อและศรัทธาในตัวเอง ว่าเราสามารถก้าวไปถึงจุดนั้นได้ พยายามมีวินัย มีความอดทน มีความมุ่งมั่น หญิงคิดว่าน้องๆ น่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ก็ขอให้พยายามให้สุดๆ ก่อน ก่อนที่เราจะบอกว่าทำไม่ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ
ไบรท์ – ภาดาศักดิ์ ตันติวิริยะเวชกุล
นักกีฬาเทเบิลเทนนิสชายทีมชาติไทย เริ่มเล่นเทเบิลเทนนิสตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ด้วยการเป็นคู่ซ้อมของพี่ชาย ทำให้พ่อแม่เห็นจุดเปลี่ยน จากเด็กที่เรียนไม่เก่ง สู่นักกีฬาพรสวรรค์ ที่ทุ่มเทให้เทเบิลเทนนิสอย่างเต็มตัว โดยสามารถคว้าเหรียญทองจากรายการต่างๆ ในประเทศกว่า 13 รายการ แชมป์ชายเดี่ยว ชิงแชมป์ประเทศไทย 2020 แชมป์ทีมชาย ชิงแชมป์ประเทศไทย 2020-2022 และคว้าเหรียญทองซีเกมส์ได้ถึง 2 เหรียญ ปัจจุบันเล่นเทเบิลเทนนิสอาชีพ อยู่ในลีกของประเทศฝรั่งเศส
Seek
ความพยายาม
จำครั้งแรกที่จับไม้ปิงปองได้ไหม
ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนที่เรียนไม่เก่งเลย คุณแม่ก็ให้ไปลองเล่นกีฬาอื่นๆ ให้ไปลองทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนดู แต่ก็ไม่ได้เป็นผลดีเท่าไร พี่ชายของผมเองก็ตีปิงปองอยู่แล้ว เขาก็หาคนที่จะมาตีด้วย นาทีแรกที่จับไม้ คือผมจับไม้มือซ้าย พ่อแม่ผมก็ตกใจมาก เพราะว่าปกติผมจะทำอะไรด้วยมือขวาตลอดเลย พอได้ตีไปเรื่อยๆ เหมือนเรามีสมาธิมากขึ้น แล้วพ่อแม่ก็เห็นผลดีจากการตีปิงปอง เลยรู้สึกชอบปิงปองขึ้นมา
อะไรที่ทำให้มั่นใจว่าอยากจะเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสอาชีพ
ต้องบอกก่อนว่า เรื่องกีฬาเป็นเรื่องรองสำหรับผมในตอนแรก เพราะว่าพ่อแม่ก็ต้องการที่จะให้ทำงาน หรือว่าเรียนไปก่อนแต่พอการเรียนของผมเริ่มดีขึ้นจากการตีปิงปอง เขาก็เลยสนับสนุน คือเริ่มเรียนตอนเช้า เลิกบ่ายสามสี่โมง แล้วก็ไปซ้อมต่อ แม่ก็จะให้รับผิดชอบตัวเองด้วยการกลับมาตามงานเรียนให้ได้ ถ้าอยากจะตีปิงปองต่อ คนที่ปลุกปั้นผมตั้งแต่แรก ก็คือโค้ชอดีตทีมชาติ ซึ่งตอนนี้เขาได้ส่งต่อให้กับโค้ชปัจจุบันไปแล้ว แต่ว่าช่วงแรกๆ คือเขาปั้นผมตั้งแต่เด็กจนถึงโตเลย พ่อแม่ผมจะเชื่อมั่นในตัวของโค้ชคนนี้มาก เลยตัดสินใจว่าให้เลือกไปเดินเส้นทางของนักกีฬาสายอาชีพดู ถ้าไม่สำเร็จก็สามารถที่จะกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยต่อได้ปกติ ความทรงจำครั้งสุดท้ายของผม ที่ได้เล่นกับเพื่อนน่าจะประมาณสัก ป.3 บ่ายสามแม่ก็จะมารับ อาจจะได้เล่นกับเพื่อนแค่ครึ่งชั่วโมง แล้วก็ต้องไปที่สนามฝึกซ้อมเลย ผมคิดอยู่ตลอดว่าเหมือนมีอะไรบางอย่างที่มันขาดหายไป แต่ผมก็มาคิดได้ว่า “ถ้าเราเลือกเส้นทางนี้แล้ว ต้องยอมให้ปิงปองเข้ามาเป็นทุกอย่างของชีวิต และต้องสละบางอย่างไป
“ถ้าเราเลือกเส้นทางนี้แล้ว ก็ต้องยอมให้ปิงปองเข้ามาเป็นทุกอย่างของชีวิต และต้องสละบางอย่างไป”
ไบรท์ ภาดาศักดิ์
เคยมีช่วงที่ท้อๆ แล้วอยากเปลี่ยนไปเส้นทางอื่นไหม
น่าจะเป็นแบบช่วงแรกๆ เลย ตอนที่เข้ามาในสายอาชีพแล้ว ช่วงม.ปลายที่เรียน กศน. ตอนนั้นก็คือซ้อมอย่างเดียวเลย แล้วได้มีโอกาสไปฝึกซ้อมที่สวีเดน ประมาณ 3 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้พ่อแม่จะพยายามดูแลทุกๆ อย่าง แต่ตอนนี้ผมต้องมาทำเองหมดทุกอย่าง ตอนนั้นคิดว่าคงไม่ไหวที่จะต้องห่างพ่อแม่ขนาดนี้ ผมก็คุยกับโค้ชส่วนตัวว่าไม่ไหวแล้ว แต่แม่บอกว่าไหนๆ ก็มีโอกาสแล้ว คนอื่นแบบไม่ได้มีโอกาสเหมือนเรา ก็อยากให้ทำให้เต็มที่ดูก่อน แต่พอหลังๆ มา เหมือนเราเริ่มโตขึ้น เราเริ่มใช้ชีวิตด้วยตัวเองมากขึ้น จัดการตัวเองได้ ทำให้ได้เลือกตีปิงปองต่อในเส้นทางจนถึงทุกวันนี้
อยากให้เล่าถึงความรู้สึกตอนที่ได้แชมป์หรือได้รับเหรียญครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง
ได้แชมป์แรกดีใจมาก เหมือนดีใจมากที่ได้เงินเยอะด้วย ได้ห้าพันถือว่าเยอะมากสำหรับเด็ก ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็เลยให้แม่ไป จนถึงตอนนี้พอได้แชมป์ใหญ่ๆ ก็รู้สึกตื้นตันจนเราร้องไห้ออกมา ซึ่งปกติผมไม่ได้เป็นคนร้องไห้ง่าย แต่มันเป็นความตื้นตันแบบดีใจที่เราทำได้ ล่าสุดที่ได้แชมป์ซีเกมส์ กระโดดกอดกับเพื่อนแล้วก็ร้องไห้เลย ซึ่งจริงๆ ความรู้สึกของผมก่อนแข่ง จะมีความตื่นเต้น มีความกังวล แบบว่าเราจะตีได้ไหม แต่พออยู่ในสนาม พอเริ่มได้จับไม้ ได้เริ่มวอร์ม ผมจะลืมทุกอย่างเลยว่ามีความกดดันอะไรบ้าง แล้วโฟกัสกับตรงนั้น นั่นเป็นข้อดีที่ทำให้ผมมีสมาธิกับการแข่งมาก
SET
แรงผลักดัน
คิดว่าใครเป็นคนที่สำคัญที่สุดในชีวิต ที่ทำให้เรามาถึงทุกวันนี้ได้
เป็นพ่อแม่ก่อนเลย ที่สนับสนุนผมทุกๆ อย่าง ในทุกๆ ด้าน แล้วก็ไม่ได้มีปัญหากับการที่ผมเลือกเส้นทางนี้ สองก็ต้องเป็นโค้ช โชคดีที่ผมเจอโค้ชดีตั้งแต่แรกเลย คือเขาเห็นแววผมตั้งแต่แรกเลย แล้วเขาก็พาให้ผมมาถึงจุดนี้ได้ แล้วต่อมาคือสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย ที่สนับสนุนและผลักดันผมในช่วงแรกๆ จนถึงตอนนี้ ถ้าไม่มีสมาคมในตอนนั้นก็ไม่มีผมแน่นอน และที่สำคัญคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในด้านค่าใช้จ่ายทุกแมทช์ ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผมเป็นที่ประจักษ์ของนานาชาติได้ ถ้าไม่มีสปอนเซอร์รายนี้ ก็จะไม่มีผมที่ได้ออกไปแข่งในนามทีมชาติไทยแน่นอน ที่จริงนักกีฬาของไทยเก่งเยอะ แต่การจะออกไปต่างประเทศได้มีน้อย เพราะมีค่าใช้จ่ายเยอะ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็สนับสนุนในด้านนี้ให้
“ตลาดหลักทรัพย์สนับสนุนในด้านค่าใช้จ่ายทุกแมทช์ ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผมเป็นที่ประจักษ์ของนานาชาติได้”
ไบรท์ ภาดาศักดิ์
มองว่าโครงการ SET Star Table Tennis ได้สร้างจุดเปลี่ยนให้กับตัวเองยังไง
ส่วนตัวผมคิดว่าโครงการนี้สำคัญมาก เพราะว่าในช่วงเริ่มแรกของเด็กๆ ที่มีฝีไม้ลายมือที่ดีในไทย จะไม่สามารถต่อยอดไปถึงระดับชุดใหญ่หรือระดับนานาชาติได้ เพราะว่าการแข่งแค่ในประเทศ ทำให้ไม่ได้เปิดโลกทัศน์ในระดับนานาชาติ ซึ่งอาจจะมีอะไรที่ให้เขาได้เรียนรู้อีกมากมาย ซึ่งทาง SET Star Table Tennis ก็สามารถที่จะส่งเสริม ผลักดันในเรื่องโครงการหรือว่าส่งนักกีฬาดาวรุ่งไปแข่งในนานาชาติได้ เรื่องนี้ผมว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเด็กๆ ได้รับโอกาสแบบที่ผมได้รับเยอะขึ้น ประเทศไทยก็จะมีนักกีฬาเก่งๆ มากขึ้น
คิดว่าโอกาสและความพยายามสำคัญกับตัวเองมากขนาดไหน
สำหรับผมในตอนนี้มองว่า โอกาส 60-70 เปอร์เซ็นต์เลย แต่ว่า 30 เปอร์เซ็นต์นั้นไม่ใช่ไม่สำคัญ เพราะถ้าไม่มีความพยายามของเราเลย โอกาสที่เขาให้มา ก็จะลดลงไป ไม่มีใครอยากสนับสนุนคนที่ไม่พยายาม อย่างแรกจึงต้องพยายามก่อนถึงจะประสบความสำเร็จ โอกาสเป็นสิ่งสำคัญที่จะเปิดทางให้คนที่พยายามต่อไป ผมมองว่าโอกาสของผมมันมากกว่าความสามารถของผมอีกนะ เพราะว่าถึงจะตั้งใจพยายามแค่ไหน แต่ไม่ได้รับโอกาสที่ดี ถ้าผมตีอยู่ในไทย ไม่ได้รับโอกาสไปแข่งอาชีพที่ต่างประเทศ สุดท้ายผมก็ต้องเลิกตี ผมก็คงต้องกลับไปเรียน
Succeed
สู่ความสำเร็จ
อะไรคือเป้าหมายสูงสุดในการเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิส
ผมจะรู้ฐานะทางบ้านตั้งแต่เด็ก ผมเลยอยากให้คุณพ่อคุณแม่สบายในตอนแรก แต่ในตอนนี้คือบรรลุเป้าหมายที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายแล้ว ซึ่งผมจะไม่ได้มองไกลมากแบบเป็นแชมป์โลก ผมจะฝันใกล้ๆ ตัวก่อน จากเยาวชนทีมชาติ แล้วติดทีมชาติชุดใหญ่ ได้แข่งซีเกมส์ ได้เหรียญทองซีเกมส์ ได้แข่งโอลิมปิก ได้เหรียญโอลิมปิก มันเป็นสเต็ปในแต่ละวัยของผมด้วย ตอนนี้ผมรู้สึกว่ามาไกลพอสมควรแล้ว แต่ก็จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ ผมจะหาเป้าหมายที่มันยากขึ้นเรื่อยๆ
“ตอนนี้ผมรู้สึกว่ามาไกลพอสมควรแล้ว แต่ก็จะไม่หยุดอยู่แค่นี้”
ไบรท์ ภาดาศักดิ์
อยากฝากอะไรถึงน้องรุ่นใหม่ที่กำลังอยากจะเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสอาชีพ
อยากจะให้นักกีฬารุ่นน้องๆ มีความทุ่มเท มีความมุ่งมั่น แล้วผมเน้นย้ำว่าต้องเป็นระยะยาวๆ หัวใจของการที่จะประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน คือการที่เราอดทนทำอะไรในระยะเวลานานๆ ซึ่งในตอนนี้สมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมที่จะสนับสนุนเด็กๆ ที่มีฝีไม้ลายมือดีอยู่แล้ว
ก็อยากจะให้น้องๆ พยายามทุ่มเทและมุ่งมั่น ผลงานก็จะเป็นที่ประจักษ์ ผมเชื่อว่าน้องๆ จะได้รับโอกาสเหมือนที่ผมได้รับครับ