ขึ้นชื่อว่าโรงพยาบาลศิริราช คุณภาพของแพทย์และการรักษาคือสิ่งที่คนทั่วทั้งประเทศทราบดีว่าไม่เป็นสองรองใคร
ทุกวันนี้โรงพยาบาลเก่าแก่ที่มากไปด้วยประสบการณ์แห่งนี้กำลังปลุกปั้น ‘ศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล’ ศูนย์การรักษาสำหรับโรคที่มีความซับซ้อนหรือต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเช่น ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะตับ เป็นต้น
หน้าบ้านของศูนย์ความเป็นเลิศคือการบริการทางการแพทย์และรักษาคนไข้อย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงสุด ส่วนหลังบ้านศูนย์ฯ มุ่งมั่นที่จะทำงาน บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีแบบแผน และยั่งยืน
นี่หมายความว่า ‘ความเป็นเลิศ’ ในความตั้งใจของศิริราชจึงไม่ใช่ความเป็นเลิศเพียงชื่อ แต่เป็นเลิศในระดับที่เป็นต้นแบบให้โรงพยาบาลหรือสถานบริการทางการแพทย์อื่นๆ มาศึกษาดูงานแล้วนำไปต่อยอดร่วมพัฒนาคุณภาพสาธารณสุขไทยไปด้วยกัน และต้องการให้ศูนย์ความเป็นเลิศเหล่านั้นเติบโตดูแลผู้มาใช้บริการได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์ความเป็นเลิศศิริราชมีแนวคิดในการทำงานอย่างไร ปัจจุบันครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยด้านไหน และมีแผนต่อยอดต่อไปอย่างไร The MATTER ไปหาคำตอบผ่านการพูดคุยกับรศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชที่บริหารและดูแลด้านนี้โดยตรง
ที่มาที่ไปของศูนย์ความเป็นเลิศคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลคืออะไร
ทางคณะฯ มีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศแบบบูรณาการตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะลงมือปลุกปั้น เรามาพูดคุยกันว่าศูนย์ความเป็นเลิศแบบบูรณาการที่แท้จริงมันควรเป็นอย่างไร ทางคณะก็ตระหนักได้ว่าควรจะสร้างอะไรที่เป็นศูนย์กลางเป็นต้นแบบ มีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าการรักษาผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานระดับนานาชาติ และยั่งยืน
ศูนย์ความเป็นเลิศต้องเป็นศูนย์ที่มีวิสัยทัศน์ (Vision) มีเป้าหมายชัดเจน มีกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน มีกระบวนการจัดการที่เป็นเลิศ เช่น ถ้ามีคนมารับบริการที่ศูนย์แห่งนี้ เขาจะมั่นใจได้ว่าจะได้รับความแม่นยำ ถูกต้อง ปลอดภัย เสียเวลาน้อย และได้ผลคุ้มค่าที่สุด
นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศยังมุ่งในเรื่องการเป็นสื่อทางการแพทย์ ให้ความรู้ต้นแบบต่อบุคลากรแพทย์และประชาชน ศูนย์ฯ สามารถให้ความรู้ อบรมและให้ผู้อื่นมาเรียนรู้งานได้
การบูรณาการของศูนย์ฯ เป็นการรวมงานทั้ง 3 พันธกิจอันได้แก่ การบริการที่ดี งานวิจัย และงานการศึกษาวิชาการที่ดีเข้าด้วยกัน การที่จะทำให้ศูนย์ๆ หนึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้ศูนย์ความเป็นเลิศแบบบูรณาการควรจะมีลักษณะที่เป็นคุณลักษณะพิเศษที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1. ความเป็นเลิศ (Excellence) ในพันธกิจทั้ง 3 ด้าน 2. ความโดดเด่น (Extraordinary) ของศูนย์ฯ เมื่อเปรียบเทียบกับงานในลักษณะเดียวกัน 3. ความสุดขั้ว (Extreme) ของศูนย์ที่มีขีดความสามารถในการให้บริการขั้นสูงสุด ระดับสากล และ 4. ความพุ่งทะยานไปข้างหน้า (Exaurare) ที่บ่งชี้ว่าศูนย์ขับเคลื่อน ปรับตัวในทิศทางที่รวดเร็ว ทันกับยุคสมัย
ปัจจุบันมีศูนย์การรักษาด้านใดบ้างที่อยู่ในศูนย์ความเป็นเลิศแบบบูรณาการ
มีทั้งหมด 14 ศูนย์ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศเหล่านี้ต่อยอดจากสิ่งที่โรงพยาบาลศิริราชมีอยู่แล้วเพื่อให้ยั่งยืน เป็นต้นแบบ และเทียบเท่าสากล
ศูนย์ความเป็นเลิศในปัจจุบันประกอบด้วย ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะตับ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง ศูนย์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ศูนย์การรักษารังสีร่วมรักษา ศูนย์รักษาทารกในครรภ์ ศูนย์ธาลัสซีเมีย ศูนย์เบาหวาน ศูนย์โรคลมพิษ ศูนย์โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็นเพื่อการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ศูนย์ดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อของเด็ก และศูนย์โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน
หากผู้เข้ารับการรักษาต้องการใช้บริการศูนย์ความเป็นเลิศจะต้องผ่านกระบวนการอย่างไรบ้าง
การจัดระบบเพื่อให้ผู้เข้ารับการรักษาสามารถเข้าถึงศูนย์ฯ ได้โดยง่ายเพื่อให้รับการรักษาได้ทันท่วงที เป็นภารกิจหนึ่งของทุกศูนย์ ผู้ป่วยบางรายอาจติดต่อนัดหมายศูนย์ฯ โดยตรง หรืออาจถูกส่งต่อมาจากแพทย์ที่ดูแลเบื้องต้น โดยการสร้างเครือข่ายของการรักษาจากโรงพยาบาลต่างๆ ศูนย์ความเป็นเลิศเน้นการรักษาที่ได้มาตรฐานชั้นเลิศแก่ผู้ป่วยทุกคน ไม่ใช่บริการที่เน้นด้านธุรกิจหรือการพาณิชย์ และผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะใช้สิทธิการรักษาแบบใด ก็จะสามารถเข้าถึงการรับบริการของศูนย์ฯ ต่างๆ ได้ง่ายเท่าเทียมกัน
ทางศิริราชจัดลำดับความสำคัญว่าศูนย์ใดจะเข้ามาเป็นศูนย์ความเป็นเลิศก่อน
การเติบโตของศูนย์ต่างๆ ไม่เท่ากัน บางศูนย์ได้มีการวางแผนและการดำเนินงานมาระยะหนึ่งแล้ว ในขณะที่บางศูนย์ยังเพิ่งเริ่มต้น หน้าที่ของทีมเราคือเข้าไปร่วมพัฒนากระบวนการทำงานของศูนย์ เช่น การจัดทำให้มี service blueprint ตั้งแต่การเริ่มต้นเข้ารับการรักษาของผู้ป่วย การผ่าตัดหรือการให้ยารักษา จนถึงระยะการตรวจติดตาม โดยเป็นขั้นตอนที่ผ่าน lean process ให้แน่ใจว่าเป็นขั้นตอนที่กระชับ ให้การรักษาอย่างทันท่วงที service blueprint ยังสามารถทำให้ศูนย์ฯ วิเคราะห์และเตรียมความพร้อมในด้านทรัพยากร บุคลากร และการสนับสนุนทุกๆ ด้าน นอกจากนี้การสร้างสื่อ เนื้อหาความรู้ที่จะเผยแพร่ คำถามงานวิจัยทั้งระดับงานประจำ (routine to research) หรืองานวิจัยระดับสูง ก็ยังเกิดจากการพิจารณาได้จาก service blueprint อีกด้วย
ผลลัพธ์ของศูนย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการประเมิน โดยจะต้องเป็นผลลัพธ์ที่เป็นเลิศ มีแนวโน้มของผลลัพธ์ที่ดีขึ้นและเทียบเคียงกับสถาบันชั้นนำของนานาชาติได้ จะเห็นได้ว่าศูนย์ใดที่จะถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศแบบบูรณาการ ควรจะมีระบบและผลลัพธ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้วบ้าง และคณะฯ วิเคราะห์แล้วว่าเหมาะที่จะเป็นต้นแบบของศูนย์สุขภาพของประเทศได้ ผู้ที่มาศึกษาดูงานจะได้เห็นตั้งแต่ว่าศูนย์มีกระบวนการทำงานอย่างไร ใช้ทีม ใช้งบประมาณเท่าไหร่ มีระบบการติดตาม ดูแล วางแผนและผลลัพธ์อย่างไร ซึ่งผมมองว่าถ้าสถาบันทางการแพทย์อื่นนำระบบไปพัฒนาใช้จะเป็นการดำเนินการที่คุ้มค่า มีเป้าหมายอย่างชัดเจน
นอกจาก 14 ศูนย์ข้างต้น ศิริราชมีแผนขยายศูนย์ความเป็นเลิศ เพิ่มเติมอีกไหม
การเติบโตของศูนย์ฯ เปรียบเปรยเหมือนกับต้นไม้ หมายถึงว่าต้นไม้แต่ละต้นที่เติบโตในพื้นที่ศิริราชนั้นมีหลากหลายมาก บางต้นเป็นไม้ยืนต้น บางต้นเป็นไม้ดอก แต่ละศูนย์จึงมีบริบทที่ต่างกัน การเติบโตของแต่ละศูนย์จึงไม่สามารถมาเปรียบเทียบกัน แต่เราจะเข้าไปดูว่าศูนย์แต่ละศูนย์มีอะไรดีและต้องมีอะไรเสริมตามระบบการจัดการแบบ Thailand Quality Awards (TQA) ที่ประกอบด้วย การนำองค์กร (Leadership) กลยุทธ์ (Strategy) ลูกค้า (Customers) การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis, and Knowledge Management) บุคลากร (Workforce) การปฏิบัติการ (Operations) และผลลัพธ์ (Results)
ศูนย์บางศูนย์อาจจะบริการดีมาก แต่อาจลืมเรื่องการวางแผนกลยุทธ์ การสืบทอดผู้นำ เราก็จะเข้าไปแนะนำตรงนี้ สุดท้ายถ้าศูนย์ไหนดำเนินการได้ดีก็จะยกระดับเป็นศูนย์เป็นเลิศแบบบูรณาการได้
ทราบมาว่าศูนย์ความเป็นเลิศ ให้ความสำคัญกับการบูรณาการ การบูรณาการที่ว่าเป็นในแง่มุมไหน
เราทำงานภายใต้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นอกจากงานด้านบริการแล้ว คณะแพทย์ฯ มีอีกสองพันธกิจที่เกี่ยวข้อง คือเรื่องการวิจัยและการศึกษา ศูนย์ความเป็นเลิศแบบบูรณาการที่แท้จริง ควรจะเป็นศูนย์ที่สามารถต่อยอดงานวิจัยและแหล่งการเรียนรู้ที่ฝึกปรือหมอที่จะนำความรู้ความสามารถไปรับใช้ประชาชน ฝึกปรือทีมงานอื่นที่อยากจะมาดูงานเป็นต้นแบบ หรือจัดการวิชาการที่จะเผยแผ่ความรู้ เป็นงานบริการที่ยอดเยี่ยม
นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการการแพทย์แบบสหสาขา หากคนไข้มีอาการโรคร่วม ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญหลายด้านมาร่วมมือกัน ถ้าหากเราแยกกันทำงาน ความเชื่อมโยงของการรักษาก็จะเป็นไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร และยังทำให้เวลาการให้การรักษาไม่ทันท่วงที เช่น คนไข้ก็หาหมอหัวใจ 3 เดือน หาหมอโรคอื่น 3 เดือน คนไข้ก็ต้องมาหาหมอบ่อยครั้งมากขึ้น ดังนั้นเราจึงพยายามจัดให้เป็น One Stop Service เท่าที่จะทำได้ โดยการรักษาในศูนย์ฯ จะมีระบบประสานงานเรื่องการนัดหมายให้ราบรื่นขึ้นด้วย
เทคโนโลยีการแพทย์มีบทบาทอย่างไรในศูนย์ความเป็นเลิศ
เราพยายามผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้มค่า ทั่วถึงในทุกระดับของผู้ป่วย รวมทั้งผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราเลือกใช้เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การรักษามากที่สุด
นอกจากนี้เรายังกระตุ้นให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ พัฒนาเทคโนโลยีเป็นนวัตกรรม ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์ผ่าตัดทารกในครรภ์ ที่มีนวัตกรรมเป็นโมเดลให้แพทย์ได้ทดลองผ่าตัดทารกในครรภ์ให้ได้เสมือนจริง และเรายังได้รับการร่วมมือกับทางวิศวกรรมด้วย เช่น ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการมองเห็นฯ ก็ได้ทำงานร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อผลิตเทคโนโลยีการสร้างที่อำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ในการดำรงชีพ แล้วก็ยังมีการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่คิดค้นออกมาได้ให้กับสังคมด้วย
ศูนย์ความเป็นเลิศ ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยมากพอควร ด้านประชาชนและผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากศูนย์ฯ บ้าง
ในอดีตคนไข้บางรายที่ต้องการได้รับการรักษาระดับสูงอาจต้องส่งตัวไปรักษาที่ต่างประเทศ แต่ปัจจุบันผมมั่นใจว่าเราสามารถรองรับการรักษาโรคยากๆ และโรคที่พบน้อยได้ในระดับมาตรฐานเทียบเท่านานาชาติ ผมคิดว่าเรื่องการแพทย์เราไม่ค่อยมีข้อกังขาแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และได้รับการรักษาพยาบาลดังกล่าวอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความไม่รู้ ผมเชื่อว่ามีผู้ป่วยเกินครึ่งที่เขาไม่รู้ว่าโรคที่เขาประสบอยู่สามารถรักษาได้ ซึ่งผมมองว่ามันไม่ยุติธรรมต่อชีวิตเขา เพราะการให้ความรู้และสื่อสารให้ถึงผู้ป่วยนั้นยังไม่กว้างขวางมากนัก จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องให้ความรู้ผ่านภารกิจของศูนย์ที่เรียกว่า Social Interaction มีการวางแผนทำสื่อสังคมออนไลน์ให้ผู้คนทั่วไปเรียนรู้และรับรู้ข่าวสารทางการแพทย์ที่ไม่บิดเบือนและอยู่ในรูปแบบที่ตอบโจทย์กับยุคสมัย
ในฐานะที่เป็นหัวเรือของศูนย์ฯ อะไรคือความคาดหวังของคุณที่มีต่อศูนย์ความเป็นเลิศ
ผมต้องการให้แต่ละศูนย์ปรับกระบวนการตามมาตรฐานที่เราตั้งไว้ได้สำเร็จลุล่วง ความคาดหวังในระยะสั้นภายในปีหน้าเราอยากบรรลุศูนย์ความเป็นเลิศแบบบูรณาการศิริราชได้อย่างน้อย 2 ศูนย์ กล่าวคือ ยกระดับ Center of Excellence (COE) 14 ศูนย์ สู่ระดับ Siriraj Integrated Center of Excellence (SiCOE) ในระยะยาวก็คือทุกศูนย์ได้รับการยกระดับขึ้นมาทั้งหมด มีการพัฒนาศูนย์ใหม่ๆ มากขึ้น ระบบใหม่ๆ ของศิริราชได้รับการยอมรับเป็นระดับสากลที่เป็นเลิศจริงๆ เป็นโมเดลต้นแบบที่จะให้ที่อื่นนำไปเป็นต้นแบบ อยากเป็น roadmap ของการดูแลสุขภาพประเทศ อันนี้เป็นความใฝ่ฝันของทีม เราอยากให้ใช้ทรัพยากรทุกอย่างได้อย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นกำลังคน เงินทุน และท้ายที่สุดคนที่จะได้ผลประโยชน์สูงสุดก็คือคนไข้นั่นเอง