ซีเซียม-137 คืออะไร หายไปแล้วร้ายแรงแค่ไหน?
ถือเป็นข่าวสำคัญที่เราควรจับตามอง และไม่ปล่อยให้เรื่องนี้จางหายไป เมื่อสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำที่จังหวัดปราจีนบุรี เพราะเจ้าสารกัมมันตรังสีนี้ ถือเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
ซึ่งวัสดุดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่ใช้เวลานานกว่าสัปดาห์เพื่อตามหาซีเซียม-137 ที่หายไป จนวันนี้ถึงมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า พบสารซีเซียม-137 แล้วและมีข้อกังวลว่า มันอาจถูกหลอมไปแล้วด้วยเช่นกัน
แล้วซีเซียม-137 คืออะไร ทำไมมันถึงอันตราย? เราขอเอาข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีนี้มาเปิดให้ทุกคนชมกัน
ซีเซียม-137 คืออะไร?
เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ที่เป็นโลหะอ่อนสีขาวเงิน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส แต่มักจะจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก สามารถฟุ้งกระจายและเปื้อนได้ง่ายหากแตกออกจากแคปซูลที่ห่อหุ้มไว้
นอกจากนี้ ซีเซียม-137 ยังมีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้นจะใช้เวลาในธรรมาชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด ซึ่งซีเซียม-137 สลายตัวโดยปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมาที่มีพลังงานสูงพอสมควร
กัมมันตรังสีตัวนี้มักถูกใช้สำหรับปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสีแกมมาในห้องปฏิบัติการวิจัยทางรังสี และใช้เป็นเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความหนาของวัสดุ เครื่องวัดการไหลของของเหลวเครื่องวัดความชื้น รวมถึงใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง
ถ้าซีเซียม-137 ถูกหลอมแล้ว จะกระทบเรายังไง?
ซีเซียม-137 ที่ถูกหลอมแล้วจะกระจายจากปล่องหลอมสู่บรรยากาศ และเข้าสู่แหล่งน้ำ-ดินที่อยู่รอบๆ และปนเปื้อนเข้าสู่วงจรอาหารได้แก่ ผัก ผลไม้ อาหารจากแหล่งน้ำใกล้เคียง และอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร รวมทั้งอาจมีบางส่วนที่ประชาชนหายใจเข้าไปด้วย
ขณะที่ นพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา โพสต์เฟซบุ๊กว่า ถ้าซีเซียม-137 ถูกหลอมเผาไหม้ และกลายเป็นไอ สามารถกระจายออกไปได้เป็นหลักร้อยถึงพันกิโลเมตร โดยมีลมเป็นปัจจัยร่วม อย่างเหตุการณ์ที่ Chernobyl พบว่า ซีเซียม-137 ปลิวไปถึงสวีเดน 1,000 กิโลเมตร
ซีเซียม-137 น่ากลัวอย่างไร?
เข้าสู่ร่างกายได้ยังไง?
- ผิวหนังที่มีบาดแผล
- สูดหายใจรับสารเข้าไป
- การกินผงซีเซียม-137 เข้าไป
และเมื่อซีเซียม-137 เข้าไปสะสมอยู่ในเนื้ออ่อนของอวัยวะต่างๆ และแผ่รังสีให้แก่อวัยวะเหล่านี้ จะทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะที่ซีเซียม-137 นั้นเข้าไปสะสมอยู่ ซึ่งจะมีคนที่จะได้รับผลกระทบน่าจะหลายแสนและเป็น 100 ปี จะมีคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไทรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่เสี่ยง
หากโดน ซีเซียม-137 จะมีอาการยังไง?
- คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
- ปวดท้อง ถ่ายเหลว
- อ่อนเพลีย ขาดน้ำ
- ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสรังสีเกิดการอักเสบ แดง ไหม้ มีการหลุดลอก เกิดเป็นแผล ผิวหนังตาย
- ผมและขนหลุดร่วง ปากเปื่อย
- อาการจากไขกระดูกถูกกด ทำให้เป็นไข้ ติดเชื้อแทรกซ้อน มีเลือดออกง่าย
- ซึม สับสน ชัก โคม่า
ถ้าคนรับประทานซีเซียม-137 เข้าไป จะกระจายไปทั่วร่างกาย แม้บางส่วนจะถูกขับออกทางเหงื่อและปัสสาวะได้ แต่ยังมีบางส่วนตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก
หากสัมผัสกับซีเซียม-137 เข้าไป ต้องทำยังไง?
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุถึงแนวปฏิบัติกรณีที่ซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกายไว้ ดังนี้
- ล้างตาด้วยน้ำสะอาด โดยให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตา
- ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีถ้าสามารถทำได้ เก็บเสื้อผ้าใส่ถุงปิดปากให้สนิทเพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่
- หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวมากเกินกว่า 2 ครั้ง มีไข้ หนาวสั่น ชักเกร็ง มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่งภายใน 1 สัปดาห์ หลังโดนรังสี ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งประวัติสัมผัสสารกัมมันตรังสี
คงต้องจับตาดูกันต่อว่า สารซีเซียม-137 นี้จะเป็นยังไงต่อ อนาคตจะมีแนวทางป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยไหม แล้วประชาชนอย่างเราจะปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสีอย่างที่เขาว่าไว้จริงหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก