หากถามว่าอะไรคือหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ ตามหลักทุนนิยมจากการคลาสเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นบอกเราว่า ‘กำไร’ คือมาตรวัดของความสำเร็จทางธุรกิจ
แต่ทั้งหมดที่ว่ามาอาจจะใช้กับ ‘หัวใจ’ อันเป็นอวัยวะหลักในการสูบฉีดเลือดเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ของ Tetra Pak ทำงานอย่างแข็งขันไม่ได้ เพราะ เบิร์ท ยาน โพสท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บอกกับเราว่า กราฟความสำเร็จของธุรกิจสำหรับเขาไม่อาจดูแต่เพียงรายได้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่มันยังหมายรวมถึงความยั่งยืนมวลรวมที่ผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อมจะได้ร่วมเดินไปข้างหน้าพร้อมกับเต็ดตรา แพ้ค ด้วย
“เพราะสิ่งที่ เต็ดตรา แพ้ค ทำ ไม่ใช้การกู้โลก เราแค่ใส่ใจกับทุกกระบวนการเพื่อให้โปรดักต์ของเรามีวงจรชีวิตเป็นวงกลม”
สร้างผลิตภัณฑ์ไม่ให้เป็นขยะ สร้างวงจรชีวิตของทุกอย่างให้เป็นวงกลม
‘วงจรชีวิตที่เป็นวงกลม’ เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งส่ายหน้าไม่เข้าใจเพราะเจ้าวงจรที่เป็น ‘วงกลม’ นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักในทุกกระบวนการโดยคุณเบิร์ท ยาน โพสต์ ค่อยๆ เรียบเรียงให้เห็นว่า แม้ว่าบรรจุภัณฑ์ต่างๆ อย่างกล่องเครื่องดื่มที่ผลิตโดยเต็ดตรา แพ้ค จะมีปลายทางของชีวิตเป็นขยะ แต่พวกเขาพามันไปได้ไกลกว่าอย่างไรบ้าง
“เดี๋ยวนี้การทำธุรกิจไม่ใช่แค่หวังแต่กำไรอย่างเดียวแล้ว ยิ่งเป็นธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์ที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลกในระยะยาว นั่นทำให้เกิดเป็นแนวคิดที่เรียกว่า ‘Circular Economy’ ซึ่งกระบวนการรีไซเคิลมันเข้ามาเสริมการทำงานของธุรกิจเราตรงนี้นี่แหละ เพราะเราไม่เชื่อว่าการผลิตบรรจุภัณฑ์ออกไปนั้นจะต้องสร้างแต่ขยะให้โลกเท่านั้น ในเมื่อเราสามารถนำวัสดุเหล่านั้นกลับมาผ่านกระบวนการแล้วแปลงมันให้เป็นสิ่งของต่างๆ ที่ยั่งยืนได้”
ดังนั้น แทนที่จะผลิตบรรจุภัณฑ์ให้คนใช้แล้วทิ้ง เต็ดตรา แพ้ค จึงยอมลงทุนเพิ่มเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ของพวกเขาให้รอบคอบที่สุด เพื่อที่สุดท้ายแล้วพวกเขาจะได้นำกล่องเครื่องดื่มที่ดูไม่มีค่าเหล่านั้นกลับมารีไซเคิลซึ่งนั่นคือการมอบชีวิตที่สองสามสี่ให้กลับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นต่อไป และนี่ก็คือการทำให้วงจรทุกอย่างเป็นวงกลมที่ไม่มีสิ่งใดกลายเป็นขยะ เพราะทุกอย่างสามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นอายุขัยของมันจริงๆ
“นั่นจึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราไม่ใช่ขยะ เพราะเราพยายามต่อยอดให้เกิดการใช้งานหลายๆ ครั้ง จากตอนแรกที่เราตั้งเป้าหมายการทำงานว่าอยากทำธุรกิจให้ยั่งยืนด้วยการลดการผลิตขยะให้น้อยที่สุด เราจึงขยับความคาดหวังมาเป็นว่า ทุกอย่างจะต้องไม่เป็นขยะ เพราะมันสามารถนำกลับมารีไซเคิลให้เป็นสิ่งของต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งธุรกิจและสังคม”
เต็ดตรา แพ้ค จึงซีเรียสกระทั่งการเลือกป่าที่มีการจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ ที่ผ่านการรับรองจากองค์การจัดการด้านป่าไม้ (Forest Stewardship CouncilTM) ที่ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดในการ ‘ปกป้องทุกคุณค่า’ หรือ Protects what’s good ของเต็ดตรา แพ้ค ที่เป็นทั้งสโลแกน คำสัญญา และการลงมือทำเพื่อส่งต่อสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่อาศัยอยู่ด้วยกัน
หลังคาเขียว ชีวิตใหม่ของกล่องเครื่องดื่ม บ้านใหม่หลังประสบภัยน้ำท่วม
จากแนวคิดการไม่ทิ้งกล่องเครื่องดื่มกล่องใดไว้ข้างหลัง นำมาสู่การต่อยอดโครงการหลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ที่เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2553 จากนั้นจึงค่อยๆ สะสมพาร์ทเนอร์ในการดำเนินโครงการเรื่อยมา จนปัจจุบันกลายเป็นความร่วมมือระหว่างหลายองค์กรที่จะร่วมด้วยช่วยกันทำทั้งการประชาสัมพันธ์โครงการ ตั้งจุดรับบริจาคกล่อง และต่างๆ นานา เพื่อร่วมกันทำหลังคาเขียวให้เป็นจริง
“ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างกับกล่องเครื่องดื่มที่เราผลิตไป มันก็จะกลายเป็นขยะ ถึงแม้ตอนนี้จะเป็นขั้นเริ่มต้นมากๆ แต่พวกเราก็อยากทำให้ทุกผลิตภัณฑ์มีวงจรชีวิตที่ไม่สิ้นสุดไปเรื่อยๆ นำกลับมาใช้ใหม่ มารีไซเคิลและมีชีวิตใหม่เป็นวัสดุอย่างอื่นไปเรื่อยๆ อย่างเช่นหลังคาเขียวที่เราทำงานกับศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มช่วยแนะนำเทคโนโลยีการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม ด้วยการแยกเยื่อไปทำกระดาษและเอาฟอยล์กับพลาสติกมาแปรรูปเป็นหลังคาเหล่านี้”
พอพูดถึงการนำกล่องเครื่องดื่มมาทำเป็นหลังคาสักแผ่น มองแล้วอาจไกลตัว ไม่เห็นว่ามันจะช่วยใครหรืออะไรได้ตรงไหน ซึ่งตอนแรกฉันก็คิดอย่างนั้น แต่เมื่อได้ตามคุณเบิร์ท ยาน โพสท์ และเต็ดตรา แพ้ค ไปลงพื้นที่จริง ณ จ.อุบลราชธานี ที่เพิ่งประสบภัยน้ำท่วมฉับพลันนั่นแหละ จึงได้เห็นว่า น้ำท่วมที่ว่ามันท่วมถึงหลังคาบ้าน ปรากฏรอยน้องน้ำกันชัดๆ ผ่านผนังและข้าวของทั้งหลายที่พังเกลื่อนพื้น
ถึงตรงนี้ คุณเบิร์ท ยาน โพสท์ ขอเลี่ยงที่จะตอบคำถามเองว่าหลังคาเขียวประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง เพราะประโยชน์ของหลังคาที่สร้างมาจากการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มนั้นต้องให้ผู้ใช้จริงเป็นคนตอบเอง
แล้ว มณเฑียล จุปะมะตังค์ ประธานชุมชนท่ากอไผ่ เทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานีก็ทำหน้าแปลกใจเมื่อได้รู้ว่าแผ่นหลังคาที่กำลังระดมทีมช่วยกันปูเป็นหลังคาบ้านให้ชาวชุมชนจากผลกระทบของน้ำท่วมนั้น ทำมาจากกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ง่ายๆ ที่เราดื่มกันทุกวันนี่แหละ
“ไม่รู้มาก่อนเลยว่ามาจากกล่องนม เพราะส่วนกลางประสานมาว่าจะมีหลังคามาส่งให้ แต่ไม่ได้บอกว่ามาจากไหน จากใคร ทำมาจากอะไร ผมก็เห็นมันแปลกๆ ดี แต่มันเบา ลองยกดูสิ เบามาก แต่ว่าแข็งแรง กันฝนได้ แล้วงานปูหลังคาซ่อมบ้านมันต้องรีบเนาะ ชาวบ้านรอไม่ได้หรอกครับ ต้องรีบทำ มีบ้านอีกหลายหลังต้องไปทำ หลังคานี่มันก็ช่วยมากตรงที่มันจะจับขึ้นมามุมไหนก็ได้ ไม่ต้องกลัวบาดแบบสังกะสี เพราะมันไม่มีเหลี่ยมคมเลย หยิบขึ้นมาได้เลย ทำงานกันไวขึ้นนะผมว่า”
ไม่ได้อวยกันเกินไป เพราะชาวบ้านผู้อยู่อาศัยก็คอนเฟิร์มมาจริงๆ ว่า หลังคาเขียวนั้นมันเย็นสมชื่อความเขียว เนื่องจากวัสดุนั้นไม่ดูดซับความร้อน ที่สำคัญคือประหยัดเงินส่วนที่ต้องซื้ออุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านไปได้เยอะ เพราะรายจ่ายสำหรับความเสียหายนั้นมีทดยาวเป็นหางว่าวจริงๆ
ประธานชุมชนท่าก่อไผ่ยังเสริมหลังรู้ว่าหลังคาเขียวที่ตนอยู่ด้วยมาหลายวันนั้นทำมาจากกล่องเครื่องดื่มยูเอชที
“เดี๋ยวผมจะบอกชาวบ้านว่าเวลากินนมแล้วก็เก็บกล่องไว้ จะบอกให้เขาเอากล่องนมมารวมกันที่บ้านผมก็ได้ จะได้เอาไปส่งต่อให้ทีเดียว”
และความยั่งยืนอย่างที่เต็ดตรา แพ้ค จินตนาการถึงอาจเป็นสิ่งนี้ เพราะการเก็บกล่องนมเล็กๆ ผสมความใส่ใจต่อการรีไซเคิลแบบค่อยเป็นค่อยไป แบบนี้นี่แหละที่จะช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้ขยะ รวมถึงความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุดของความยั่งยืนทางธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ไม่กู้โลก แต่อยากทำทุกวันให้ดีที่สุด
อย่างที่บอก เต็ดตรา แพ้ค ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่คือการกู้โลกอะไรทั้งนั้น เพราะหลักการทุกอย่างมาจากแนวคิดง่ายๆ อย่างการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากที่สุด นั่นหมายถึงรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดผ่านกระบวนการผลิต และส่งต่อความยั่งยืนให้มากที่สุดผ่านผลิตภัณฑ์และการรีไซเคิลที่พวกเขาเชื่อมั่น
คุณเบิร์ท ยาน โพสต์ เสริมว่า “แน่นอนทำธุรกิจต้องคำนึงถึงกำไร แต่มันมีอะไรมากกว่านั้นได้ อย่างที่ผมบอกไปว่าเราต้องการ ‘Protects what’s good’ เราดูแลและปกป้องทุกอย่างที่มีผลต่อชีวิตคนทุกคน เพราะเราเชื่อว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อม จะบอกให้พวกเราไม่แคร์ไม่ได้ แล้วมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องของอนาคตอย่างเดียว เพราะอนาคตมันคือเรื่องของวันนี้ เราอยู่กันเป็นชุมชน เป็นครอบครัว เราหลายคนมีลูก มีครอบครัว มีพ่อแม่ มีเพื่อนที่เรารัก เพราะอย่างนั้นจะทำธุรกิจอย่างเดียวแล้วโกยเงินกลับไปผมว่ามันไม่แฟร์กับทุกคนที่อยู่ร่วมกันไปหน่อย แล้วก็น่าจะเป็นการทำธุรกิจที่ไม่ฉลาดเท่าไหร่ด้วย เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมแย่ คนในสังคมก็แย่ แล้วคนในสังคมคือใคร ก็คือลูกค้าของเรา คือเราเอง คือเราทุกคน”
นอกจากนั้น กรรมการผู้จัดการ เต็ดตรา แพ้ค ประจำประเทศไทยคนนี้ยังย้ำว่า สิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นไม่ใช่โครงการ CSR ไม่ใช่การทำเพื่อสร้างภาพใดๆ เท่านั้น
“แม้มันจะฟังแล้วเชื่อได้ยาก ว่าธุรกิจที่ไหนไม่อยากสร้างภาพ ไม่อยากรวยเอาๆ แต่ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่สำคัญ เราทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในทุกวันผ่านกระบวนการผลิต กระบวนการขาย การรีไซเคิลเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ของเรา แน่นอน เราทำสิ่งนี้เพื่อโปรโมทแบรนด์ของเราด้วย แต่มากไปกว่านั้น มันคือการบอกทุกคนว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมแบบที่พวกเรากำลังทำอยู่นี้ ทุกคนก็ร่วมกันทำได้ เพราะเราทำมันคนเดียวไม่ได้หรอก ทุกคนทำในส่วนของตนให้ดีที่สุด”
“และสุดท้ายการร่วมมือกันแบบนี้แหละที่เป็นความยั่งยืนทั้งในวันนี้ พรุ่งนี้ และวันต่อๆ ไป”
โครงการหลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก หรือ Green Roof Project คือโครงการที่สนับสนุนการคัดแยกและจัดเก็บขยะอย่างกล่องเครื่องดื่ม เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคา มอบให้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นำไปใช้ประโยชน์และยังส่งไปต่อชุมชนที่ขาดแคลนที่ประสบภัยต่างๆ โดยทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมผ่านการนำส่งกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว อาทิ กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ กล่องกะทิ กล่องยูเอชที่ต่างๆ ให้กับโครงการหลังคาเขียวฯ ได้ที่จุดรับกล่องที่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ทั่วประเทศ
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามได้ที่ https://www.tetrapak.com/th/thaigreenroof