เดิมทีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ถือเป็นมาตรการที่ดีที่สุดเพื่อให้คนสูบบุหรี่ลดน้อยลง และรัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้น
แต่จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ ในปี 2560 ที่ผ่านมา กลับทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจำหน่ายบุหรี่ถึงปีละ 10,000-14,000 ล้านบาท และที่สำคัญคือคนหันมาสูบบุหรี่ต่างประเทศมากขึ้น เพราะมีราคาถูกลง สวนทางกับบุหรี่ไทยที่ราคาแพงขึ้น ยังไม่นับรวมถึงชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ต่างประเทศที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดบุหรี่ไทย ทำให้การยาสูบแห่งประเทศไทยรับซื้อยาสูบจากชาวไร่ลดลง
จากปัญหาที่เกิดขึ้นและช่องว่างเรื่องภาษี ทำให้สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่และเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงมีการเรียกร้องให้กระทรวงการคลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ผลประโยชน์กลับมาที่สุขภาพของคนไทยและชาวไร่ยาสูบ รวมไปถึงรายได้ของรัฐจากการเก็บภาษีที่จะนำไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น
The MATTER ชวนไปพูดคุยถึงประเด็นข้อเรียกร้องดังกล่าวกับ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ และรองประธานเครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ถึงแนวทางโครงสร้างภาษีใหม่ที่กระทรวงการคลังต้องเร่งปรับเปลี่ยน และทางออกระยะยาวในการลดปัญหาสุขภาพของคนไทยที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ให้เกิดขึ้นจริง
จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ ตามพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ในปี 2560 ได้สร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง
การปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนั้นภาษีบุหรี่มี 2 ส่วน คือการเก็บภาษีตามสภาพหรือตามปริมาณ กับการเก็บตามมูลค่าหรือราคาขายปลีก การเก็บตามปริมาณได้กำหนดให้บุหรี่ทุกยี่ห้อเสียภาษีตามปริมาณมวนละ 1.20 บาท สำหรับการเสียภาษีตามมูลค่าได้แบ่งเป็น 2 ระดับคือ บุหรี่ที่มีราคาขายปลีกไม่เกินซองละ 60 บาท ต้องเสียภาษี 20% ส่วนบุหรี่ที่ตั้งราคาขายปลีกเกิน 60 บาท ต้องเสียภาษี 40%
เป็นผลให้บริษัทบุหรี่ต่างประเทศสามารถกดราคาขายปลีกให้ลงต่ำได้ มีตัวเลขรายงานออกมาว่าหลังปรับภาษี บุหรี่ไทยราคาขึ้นหมด ภาษีที่เสียก็ขึ้นหมด แต่บุหรี่ต่างประเทศจำนวนมากราคาต่ำลง ซึ่งปกติจะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าบุหรี่ต่างประเทศนอกจากเสียภาษีที่ว่าแล้ว ยังต้องเสียภาษีศุลกากรอีก ซึ่งไม่น่าจะทำให้ราคาบุหรี่ต่างประเทศต่ำกว่าบุหรี่ในประเทศไทยได้
ก่อนหน้าที่จะมีการปรับในครั้งที่แล้ว รูปแบบโครงสร้างภาษีเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมาโดยตลอดมันไม่เป็นแบบนี้ คือไม่มีภาษี 2 ระดับ เรียกว่าเสียภาษีแค่ระดับเดียว ไม่ว่าบุหรี่จะราคาเท่าไรคือเสียภาษีสรรพสามิต 90% ที่สำคัญคือกระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค ได้มีส่วนร่วมในการหารือร่วมกันมาตลอด แต่การปรับภาษีครั้งที่ผ่านมา ทางฝั่งสาธารณสุขไม่ได้รับทราบมาก่อนเลย เมื่อขึ้นภาษีแล้วแต่บุหรี่ถูกลง ทำให้จำนวนคนสูบเพิ่มขึ้น ซึ่งผิดหลักการหมดเลยเพราะฉะนั้นจะมีการป่วยและตายจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นอีก บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่ทำงานหนักอยู่แล้วคงต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้นจากนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีที่ผิดพลาดเช่นนี้
การที่ราคาบุหรี่ต่างประเทศต่ำลง ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
เกิดผลเสียโดยตรง โดยเฉพาะวัยรุ่นหรือคนที่สูบบุหรี่ ก็หันมาสูบบุหรี่ต่างประเทศมากขึ้นเพราะบุหรี่ไทยไม่สามารถกดราคาขายปลีกให้ต่ำกว่า 60 บาทได้ ทำให้ต้องเสียภาษีสูงคือ 40% และราคาบุหรี่ก็สูง ยอดขายก็ไม่ดี พอขายไม่ดีการยาสูบแห่งประเทศไทยก็ซื้อใบยาสูบจากชาวไร่ยาสูบน้อยลง ส่งผลกระทบต่อรายได้โดยตรง ชาวไร่ยาสูบก็เดือดร้อนแล้วพอรวมรายได้ที่รัฐควรจะได้จากภาษี กลับได้น้อยลงกว่าก่อนปี 2560 ซึ่งหลักการการขึ้นภาษีมันต้องได้รายได้เข้ารัฐมากขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทบุหรี่นอกทะยานขึ้นสูงเลย เพราะว่าคนสูบบุหรี่โดยเฉพาะวัยรุ่น ก็อยากสูบบุหรี่นอก แถมราคาถูกอีก ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเลยว่า การขึ้นภาษีบุหรี่ ต้องทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น แล้วรายได้เข้ารัฐมากขึ้นด้วย
จากการแถลงข่าวประเด็น ‘ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่…ใครได้ ใครเสีย? ปรับครั้งใหม่ ต้องไม่พลาดซ้ำสอง’ ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายมีข้อเสนอแนะทางออกร่วมกันอย่างไร
เราได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าสิ่งแรกที่ต้องปรับ คือต้องปรับทั้งภาษีตามสภาพและตามมูลค่า สำหรับภาษีตามสภาพต้องสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อด้วย เราเสนอว่าต้องปรับภาษีร้อยละ 5 ทุก 2 ปี สำหรับการปรับภาษีตามมูลค่าที่จะปรับใหม่ ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราเดิม แล้วก็ให้ยกเลิกการเก็บแบบ 2 ระดับ เปลี่ยนให้เป็นระดับเดียวกำหนดเป็นอัตราเดียวอย่างน้อยร้อยละ 40 ของราคาขายปลีกก่อนปี 2560 แล้วก็ให้กำหนดราคาขายปลีกขั้นต่ำอยู่ที่ 75 บาท หรืออาจจะต้องเป็น 80 บาทด้วย ถ้าเอาค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับเรื่องสุขภาพมารวมด้วยที่สำคัญมากกว่านั้น เวลาปฏิรูปภาษี เราอยากให้มีผู้แทนจากคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษีเข้าร่วมกำหนดด้วยหรือผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมยาสูบไม่ใช่หารือกันเฉพาะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตเท่านั้น
ในระยะยาว ต้องวางแผนเรื่องภาษีบุหรี่อย่างไร เพื่อไม่ให้มีปัญหาขึ้นเกิดขึ้นซ้ำๆ
ต้องมีการพูดคุยกันใกล้ชิด เรามีคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบ และฝ่ายอื่นๆ ที่ต้องมาหารือคุยกันอย่างใกล้ชิด เพราะบริษัทบุหรี่หรืออุตสาหกรรมยาสูบต่างประเทศ เขาก็พยายามที่จะทำกำไรสูงสุด พยายามเข้ามาแทรกแซงในอุตสาหกรรมยาสูบของไทย และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบเพราะฉะนั้นนโยบายการควบคุมยาสูบของไทยก็ต้องเร่งปรับเรื่องนี้
ในประเด็นของชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้จากการขึ้นภาษีบุหรี่ ปัญหานี้ควรแก้ไขระยะยาวอย่างไร
มีการพูดว่าขึ้นภาษีทีไร บุหรี่แพงขึ้น ทำให้คนซื้อบุหรี่น้อยลง ชาวไร่ก็เดือดร้อน ซึ่งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอาจแก้ยาก จึงต้องแก้ทั้งระบบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างจริงจัง ในหลายๆ ประเทศ ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และคนตระหนักถึงพิษภัยยาสูบมากขึ้น อาชีพชาวไร่ยาสูบลดน้อยลงในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน ถ้าหากรัฐบาล กรมสรรพสามิตที่ขึ้นภาษีบุหรี่แล้วส่งผลกระทบต่อชาวไร่ก็ควรนำเงินภาษีที่ได้ส่วนหนึ่งมาจัดทำโครงการเกษตรทดแทน ทั้งการปลูกพืชทดแทน การเลี้ยงสุกร เป็ด ไก่หรือปลา เป็นการสร้างระบบที่จะช่วยเหลือชาวไร่เพื่อสร้างรายได้ทางอื่นอย่างจริงจัง ซึ่งการสนับสนุนให้ทำเกษตรทดแทน กระทรวงสาธารณสุขก็ทำเองไม่ได้ ต้องมีทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กระทั่งรัฐบาลต้องมีแผนเรื่องนี้อยากจริงจัง เพื่อช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ ที่สำคัญคือการสนับสนุนให้ลดการสูบบุหรี่ เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมันเพิ่มขึ้นทุกปีๆ
แล้วในด้านของผู้บริโภคทั่วไป ทำไมการขึ้นภาษีจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดปริมาณการสูบ
องค์การอนามัยโลกมีการศึกษามาตรการการควบคุมยาสูบหลายมาตรการ อย่างเช่น ง่ายที่สุดคือรณรงค์ให้ความรู้ อีกอย่างคือการออกกฎหมาย เช่น กำหนดว่าห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ต่างๆ ห้ามขายบุหรี่ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามโฆษณาส่งเสริมการขาย ตรงนี้ก็เป็นมาตรการที่ดี แล้วถ้าคนติดบุหรี่ ก็ต้องมีบริการให้เขาเลิกบุหรี่ได้ ทั้งให้คำปรึกษาและยาช่วยเลิกแต่องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกบอกว่า ทางออกที่ดีที่สุดในการควบคุมยาสูบ คือการขึ้นภาษี เพราะลงทุนน้อยแต่ผลกระทบด้านดีเยอะ ถ้าเราไปดูอัตราการสูบบุหรี่จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบว่าคนที่ติดบุหรี่ คือคนที่การศึกษาน้อย รายได้ค่อนข้างน้อย ปานกลางถึงระดับต่ำ จะสูบบุหรี่มากกว่าคนรายได้สูง เพราะฉะนั้นการขึ้นภาษีบุหรี่ ให้มีราคาสูงเกินกำลังซื้อ จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมยาสูบ แต่ในขณะเดียวกันบุหรี่ชนิดใหม่กลับมีราคาต่ำมาก เพราะฉะนั้นเราต้องร่วมมือกัน เพราะภาษีที่รัฐบาลได้ มันกลับได้ไม่คุ้มเสีย กับรายจ่ายที่ต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วย
อยากให้อธิบายถึงมาตรการ Win-Win ที่ธนาคารโลกได้ให้นิยามไว้
ปกติเวลาขึ้นภาษีบุหรี่ สิ่งที่ต้องได้คือรายได้เข้าประเทศต้องมากขึ้น เพราะฉะนั้นนี่คือ Win ของกระทรวงการคลัง ส่วนอีก Win คือเมื่อขึ้นภาษีบุหรี่แล้ว จะทำให้คนสูบน้อยลง คนสูบน้อยลงหมายถึงอะไร หมายถึงคนป่วยและตายจากการสูบบุหรี่ต้องน้อยลงด้วย ประเทศชาติก็เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยก็น้อยลงด้วยเรียกว่า Win ทั้งประเทศนี่คือ Win-Win อย่างแท้จริงเลย
เมื่อภาษีบุหรี่ขึ้น คนก็จะไปหาทางเลือกอื่นในการสูบ อย่างเช่นบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น มองปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาตรงนี้อย่างไร
เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า จริงๆ เรียกว่าเป็นเทคนิคของบริษัทบุหรี่ต่างประเทศ เพราะว่าการยาสูบผลิตบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ เนื่องจากมีกฎหมายห้าม และกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้า ห้ามผลิต บริษัทบุหรี่ต่างประเทศเขาก็เอาตัวรอด คือหมายถึงในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เขาทำการตลาด ผลิตบุหรี่ใหม่โดยใช้วาทกรรมว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ปกติ ซึ่งไม่เป็นความจริง อาจจะจริงเรื่องเดียวคือไม่มีทาร์หรือน้ำมันดินที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่ไม่ได้บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ทำให้เกิดมะเร็งปอดนะ ขนาดเราสูดควันท่อไอเสีย PM 2.5 ควันต่างๆ เข้าไป ยังทำให้เกิดปัญหาโรคปอด บุหรี่ไฟฟ้าก็เหมือนกัน มันมีละอองเล็กๆ แล้วยิ่งมีการผสมไม่ว่าน้ำมันอะไรก็ตามเวลาเราสูบเข้าไปมันจะไปฝังอยู่ในปอด ร่างกายไม่สามารถทำลายได้ เรามีข้อมูลว่าวัยรุ่นในสหรัฐอเมริการอายุแค่ 16 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่สักสองสามปี ก็เกิดอาการปอดอักเสบอย่างรุนแรงโคม่าต้องเข้าโรงพยาบาล ฉะนั้นบุหรี่ไฟฟ้าถึงจะดูเท่ ดูเก๋แต่จริงๆ ไม่ปลอดภัย ซึ่งที่จริงกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2557 ออกเป็นประกาศว่าห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว สคบ. ก็กำหนดเลยว่าห้ามครอบครองและห้ามให้บริการ เป็นกฎหมายเลย แต่พอเอาเข้าจริง ก็ตามจับกันไม่ไหว คือเมืองไทยมีกฎหมายเยอะ แต่เวลาบังคับใช้จริง มักจะหย่อนยาน เพราะฉะนั้นอยากเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังมากขึ้น
นอกจากเรื่องการขึ้นภาษีแล้วในฐานะประชาชนทั่วไป จะมีส่วนร่วมในการทำให้ปัญหาด้านบุหรี่กับสุขภาพหมดไปได้อย่างไรบ้าง
เหตุผลที่คนติดบุหรี่เพราะว่ามีสารนิโคตินที่มีอำนาจเสพติดสูง แล้วการติดบุหรี่ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในวัยรุ่นเพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากส่งเสริมคือรณรงค์ไม่ให้ลูกหลานเราลองสูบบุหรี่ มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่า บุหรี่นำไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่นๆ รวมทั้งเหล้า และมีงานวิจัยว่าคนสูบบุหรี่ทำให้มีภาวะเสี่ยงอื่นๆ อีกเยอะ มันเป็นธุรกิจก็จริง แต่เป็นธุรกิจที่ทำลายสุขภาพ ก็ไม่ควรส่งเสริม ในระดับบุคคลและครอบครัวคือต้องดูแลลูกหลานเราไม่ให้ลองสิ่งเหล่านี้ขณะเดียวกันเมื่อเข้าใจว่ามาตรการสำคัญๆ ของประเทศมีมาตรการใดบ้าง ในฐานะที่เป็น Active Citizen ไม่ใช่แค่ให้ความรู้อย่างเดียว แต่ต้องช่วยกันหนุนเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมดีๆ ทั้งสิ่งแวดล้อมสังคมและสิ่งแวดล้อมทางกฎหมาย เอื้อให้คนไม่อยากสูบบุหรี่มากขึ้น