“แบบนี้จะดีมั้ยนะ?”
“เราจะทำได้หรือเปล่า?”
“คนอื่นจะต้องไม่ชอบเราแน่ๆ เลย”
มีเสียงมากมายผุดขึ้นในหัวเวลาเราเริ่มทำอะไรใหม่ๆ หรือลองทำตามใจของตัวเอง แน่นอนว่าบางครั้ง ความกลัวหรือความกังวลก็ถือเป็นกลไกทางจิตวิทยาที่ช่วยให้เรารู้จักระมัดระวังในการใช้ชีวิต แต่ถ้ามากจนเกินไป ก็ไม่ต่างอะไรกับการขับรถโดยที่เท้าคอยแตะเบรกอยู่เรื่อยๆ
แล้วเมื่อไหร่กันนะที่เราจะได้ใช้ชีวิตในแบบอยากเป็น?
The MATTER ได้คุยเรื่องนี้กับ ‘โยชิ—รินรดา ธุระพันธ์’ เน็ตไอดอล นักแสดง Miss Tiffany’s Universe 2017 และที่มาของวลียอดฮิต “โยชิมาทำไม?” ซึ่งหากมองผิวเผิน เราอาจจะคิดว่าเธอใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ไร้ความกังวลใดๆ และเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ภายใต้กรอบมากมายของสังคม แต่หลังจากได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ของเธอจึงได้รู้ว่า กว่าจะมาเป็นโยชิในเวอร์ชันที่ภูมิใจในตัวเองได้ขนาดนี้ เธอต้องอาศัยความกล้าที่จะทำและกล้าที่จะลบบางอย่างเช่นกัน
เราในวันนั้นคือส่วนผสมของเราในวันนี้
ตัวตนของเราในปัจจุบันมักประกอบสร้างจากเราในอดีต ทุกเรื่องราวและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนหล่อหลอมความคิดและทัศนคติของเราไม่มากก็น้อย The MATTER จึงถามถึงตัวตนโยชิในวัยเด็ก ทั้งนิสัย ความคิด ความชอบ ไปจนถึงการพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้าง
“เราเป็นเด็กผู้ชายเรียบร้อยคนหนึ่งที่พูดจานุ่มๆ ไม่พูดคำหยาบเลย แต่จะไม่มีหางเสียง เพราะตอนนั้นเรารู้สึกเคอะเขินที่จะพูดค่ะหรือครับ และชอบเล่นทุกอย่างกับเพื่อนผู้หญิง ทั้งหมากเก็บ กระโดดยาง อะไรที่เป็นกิจกรรมที่ผู้หญิงทำ เราทำหมด ซึ่งเพื่อนผู้ชายก็รู้
“เราว่าเราแตกต่างจากคนอื่นๆ แต่ถามว่าเรารู้สึกแปลกแยกหรือไม่ได้รับการยอมรับมั้ย เราไม่ได้รู้สึกถึงตรงนั้น เพราะเราก็มีสังคมของเรา เวลาไปกินข้าว หรือจับกลุ่มทำงาน เพื่อนๆ จะปฏิบัติกับเราเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง
“โยเริ่มพิสูจน์ตัวเองตอนอยู่มัธยมแล้ว พอเริ่มโตขึ้นก็เลือกทางได้ว่าอยากจะเป็นผู้หญิง แล้วเราก็หาลู่ทางว่าทำยังไงเราถึงจะให้ที่บ้านยอมรับได้ เพราะโยแคร์คนในบ้านมาก พอรู้ว่าคุณพ่อชอบคนเรียนเก่ง เราเลยตั้งใจเรียน และพยายามอยู่ Top 5 มาโดยตลอด และอีกอย่างหนึ่งคือพ่อกลัวสังคมจะไม่ยอมรับในสิ่งที่โยเป็น โยเลยพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงานหาเงิน ทำให้พ่อเห็นว่าแม้เราจะเป็นแบบนี้ แต่สังคมก็ให้โอกาสนะ เราสามารถอยู่ในสังคมได้ เรียนเก่งด้วย เรามาแลกกันมั้ยล่ะ ซึ่งโชคดีมากที่พ่อยอมแลกสิ่งนี้กับเราค่ะ”
เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็เลือกที่จะโฟกัส
แม้จะอยู่ในยุคที่การเป็น LGBTQ+ กลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการกลั่นแกล้งและการตีตรายังคงวนเวียนอยู่ในสังคมไม่จบสิ้น คำพูดและความคิดของผู้คนนับว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม ซึ่งโยชิรู้สึกว่าเธอไม่สามารถเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้ได้ จึงเลือกวิธีอื่นในการรับมือแทน
“ถ้าถามถึงการบูลลี่ในวัยเด็ก ยุคของโยก็ต้องโดนกันเกือบทุกคนแหละ ตัวโยเองก็โดนล้อว่า “อีตุ๊ด” เราก็ไม่ยอม ก็วิ่งไล่ จับได้เราก็ตีแบบสนุกๆ (หัวเราะ) พอโตขึ้น เวลาไปสัมภาษณ์เราจะโดนด่าว่า “แอ๊บ ตัวจริงไม่ได้เรียบร้อย ไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นหรอก” หรือตอนประกวดนางงามก็จะโดนกล่าวหาว่า “ไม่เหมาะสม กลับไปขายครีมเถอะ” เวลาเราปรับลุคของเราให้ดูโต ก็จะโดนบอกว่า “เหมือนเอาเครื่องสำอางแม่มาแต่งเล่นเลย” คือต่อให้ทำดีแทบตาย เราก็โดนอยู่ดี
“เราแก้ไม่ได้ เพราะเราอยากจะวางตัวแบบนี้ เราอยากนำเสนอมุมนี้ของเราออกไปสู่หน้าจอ เพราะถ้าให้เราตอบแบบบ้งๆ ออกทีวี ก็จะถูกหาว่าพูดจาแรงจัง ถ้าพูดจาดีก็จะโดนหาว่าแอ๊บ ซึ่งต่อให้เราทำแบบไหน ก็จะมีคนคอมเมนต์อยู่ดี โยคิดว่าโยอาจจะแก้ไม่ได้ ถ้ามองว่าแอ๊บก็ไม่เป็นไร เพราะว่าแอ๊บจริงๆ นั่นแหละค่ะ (หัวเราะ)
“โยคิดว่าพอโดนซ้ำๆ บ่อยๆ เหมือนเรามีภูมิคุ้มกันกับตัวเองขึ้นมาว่า แล้วยังไงต่อ? ก็ฉันเป็นแบบนี้ เราก็แค่อยู่กับมัน อีกอย่างคือเราไม่ได้อยู่กับคนที่ล้อเราไปตลอด เพราะเราก็มีเพื่อนที่เปิดรับเรา เห็นเราเป็นเพื่อนที่ดี รู้สึกว่าควรไปโฟกัสตรงนั้นมากกว่า โยคิดว่าชีวิตเราเลือกได้ เราก็เลือกสิ่งที่เราอยู่แล้วสบายใจดีกว่า”
หน้าที่ที่ตีกรอบและจุดที่ปลดล็อกเพื่อเป็นตัวเอง
การชนะ Miss Tiffany’s Universe 2017 นับว่าเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญในชีวิตของโยชิ เพราะเธอกลายเป็นที่จับตามองของคนในสังคมและกลุ่ม LGBTQ+ แน่นอนว่าการได้มาซึ่งตำแหน่งหรือสปอตไลต์ มักตามมาด้วยความคาดหวังหรือความรับผิดชอบมากมาย แต่เราจะแบกรับความคาดหวังเหล่านั้น โดยไม่ทอดทิ้งการเป็นตัวของตัวเองได้อย่างไร
“ช่วงที่โยได้มงกุฎคือวัย 19-20 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่โยอยากใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไป แต่ตอนนั้นมีมงกุฎมาตีกรอบว่าโยจะต้องเป็นนางงาม เป็นต้นแบบที่ดี ซึ่งเราก็เป็นมาโดยตลอด แต่เราแค่กลัวว่าถ้าเขามาเห็นเราในพาร์ตที่เราอยากเป็น เขาจะผิดหวังและยอมรับในตัวเราไม่ได้
“ช่วงที่เราปลดล็อกตัวเองจากความคาดหวังนี้คือช่วงโควิด เพราะเป็นช่วงที่อยู่แต่บ้าน ไม่ได้ไปไหน ซึ่งเราคิดว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก เราควรจะได้ใช้ชีวิตวัยรุ่น ถ้าเราผ่านช่วงเวลานั้นไป เราจะไม่เสียดายหรอ เรารู้สึกว่าต่อไปนี้เราจะเป็นตัวเอง ทำให้ทุกคนเห็นว่าการเป็นนางงามก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่อยากจะสนุก พอได้ออกไปใช้ชีวิตก็รู้สึกแฮปปี้มาก อยากใช้ชีวิตที่มีความสุข ทำทุกวันให้เต็มที่ พอเป็นตัวเองในเวอร์ชันของเราจริงๆ ทำให้โยรู้สึกได้รับการเติมเต็ม และไม่เสียดายที่ช่วงวัยรุ่นเราผ่านจุดๆ นั้นมา”
จากวลี “โยชิมาทำไม” สู่ความตั้งใจที่อยากให้ทุกคนเป็นที่ยอมรับ
หลายคนน่าจะเคยเห็นวลีที่แซวกันขำๆ บนโซเชียลมีเดีย นั่นก็คือ “โยชิมาทำไม?” เวลาเห็นเธอลงคอนเทนต์หรือไปออกงานสังคมต่างๆ เมื่อถามถึงที่มาของวลีที่แท้จริง กลับได้เห็นอีกประเด็นที่น่าสนใจที่สอดแทรกอยู่ในนั้น
“วลีนี้เริ่มจากการที่เราไปเที่ยวต่างจังหวัด แล้วไปหาพี่ๆ ที่เขาอยู่ในร้าน วันนั้นเราก็แต่งตัวไปเต็มที่ ต้องสวยที่สุด ก็เลยโบ๊ะผิวฉ่ำ ลอนผม แต่งหน้าแต่งตาแน่นมาก พอไปถึงพี่ๆ เขาก็แซวว่า “โยชิมาทำไม โยชิกลับไป โยชิกลับไป” แล้วก็กลายเป็นวลีแมสใน TikTok คนอื่นเขาก็เริ่มแซวคำนี้ทุกครั้งที่เราแต่งตัวสวยๆ ลงคอนเทนต์ ซึ่งโยก็แฮปปี้นะ เพราะเราก็ชอบประโยคนี้เหมือนกัน แซวจนมีแฮชแท็กเป็นของตัวเอง เราก็ดีใจค่ะ
“แต่บางทีเวลาเราไปถ่ายรูปรวม วลีก็จะเป็นการชมเชิงเปรียบเทียบกับคนนั้นคนนี้ โยชิมาทำไม มาแล้วอีกคนหมองเลย ซึ่งโยมองว่าเราเองก็ไม่สบายใจที่การชมเราคือการไปกดอีกคนหนึ่ง ถ้ามองกลับกันเราก็รู้สึกไม่โอเคถ้ามีคนชมคนอื่น แต่มากดเราเหมือนกัน เราไม่อยากให้เป็นประเด็นอะไร จนคนเริ่มถกเถียงกันว่าเราไม่จำเป็นต้องชมด้วยการกดคนอื่น ซึ่งโยก็เห็นด้วย เราอยากให้คำนี้เป็นคำที่แซวกันเล่นๆ ไม่กระทบคนอื่นมากกว่าค่ะ”
มากกว่าความกล้าที่จะทำ คือความกล้าที่จะลบ
ความกล้าคือแรงฮึดที่จะทำอะไรใหม่ๆ หรือเดินต่อไปข้างหน้า แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะรวบรวมแรงนั้นและเริ่มลงมือทำได้ทันที เพราะบางครั้งอาจมีอะไรคอยฉุดรั้งเราไว้ เช่น ความกลัว ความกังวล ไม่ว่าจะมาจากสังคมหรือตัวเราเองก็ตาม ทำให้เดินไปข้างหน้าไม่ได้อาศัยแค่ความกล้าที่จะลงมือทำเท่านั้น แต่เรายังต้องอาศัยความกล้าที่จะลบบางอย่างออกไปจากจิตใจ เพื่อปลดปล่อยตัวเองด้วยเช่นกัน
“โยลบความคาดหวังของคนอื่น ฟังเสียงของตัวเองให้มากขึ้น และกลับมาโฟกัสกับตัวเอง เช่น ตอนที่โยประกวดมิสทิฟฟานี โยอ่านคอมเมนต์ที่เป็นลบเยอะมาก ทั้งที่จริงๆ มีคอมเมนต์ที่เป็นบวก แต่ตอนนั้นเราไปใจจดใจจ่อว่า เขาเกลียดเราเพราะอะไร เขาคาดหวังอะไรในตัวเราหรือเปล่า มันทำให้จิตใจโยกลัวทุกอย่างไปหมดเลย ไม่ว่าจะกลัวการออกไปเจอผู้คนข้างนอก อย่างเวลาเรามาทำงาน เราก็คิดในใจว่าคนนี้หรือเปล่าที่ไม่ชอบเรา ทำให้โยไม่กล้าคุย ไม่กล้าสบตา จนเรามาคิดกับตัวเองว่าเราจะกลัวไปถึงไหน รู้สึกไม่เป็นตัวเองเลย
“พอเราเป็นตัวเองได้ เรารู้สึกว่าชีวิตแบบนี้มีความสุขจัง ได้กินอาหารอร่อยๆ หรือตื่นมาแต่งหน้าสวยจังเลย กลับบ้านมารถไม่ติด โชคดีจังเลย วันนี้ได้นอนไว พรุ่งนี้จะได้ตื่นมาหน้าสวย นี่คือเรื่องราวดีๆ ในชีวิตแล้ว คืออยู่กับปัจจุบันเยอะๆ เป็นตัวของตัวเองให้แฮปปี้ ไม่ต้องสนใจคนอื่นมาก เพราะเขาไม่ได้สนใจเราตลอดเวลา เราโฟกัสกับตัวเองดีกว่า
“เวลามันผ่านไปเรื่อยๆ อยากให้ทุกคนทำทุกวันให้เต็มที่แล้วมีความสุข ดังนั้นอยากทำอะไร ถ้ามันไม่เดือดร้อนใครและเรามีความสุขกับตัวเอง ก็ทำเลย ลองทำก่อน โยก็ไม่คิดว่าโยจะทำได้ทุกอย่าง แต่โยแค่อยากทำ เพื่อที่จะได้เห็นและได้รู้ผลลัพธ์ของมัน แล้วเราจะไม่เสียดายทีหลังค่ะ”