วันนี้ (18 กรกฎาคม 2567) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมในประเด็นการพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 รวมถึงคดีที่มีความรุนแรง มาตรา 289
อีกทั้งก่อนการประชุม เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน และผู้ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 และนักกิจกรรมทางการเมือง อย่างมายด์—ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ใบปอ—ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และ ตะวัน—ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้เดินทางไปยังรัฐสภาและยื่นเอกสารต่อ กมธ.เพื่อเรียกร้องให้นิรโทษกรรมทุกคดี รวมถึงมาตรา 112
เอกสารดังกล่าวเป็นการเสนอเหตุผลและข้อเท็จจริง จากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน พร้อมกับระบุสาเหตุที่เครือข่ายฯ มองว่าควรรวมมาตรา 112 ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ว่าจะเป็นการตีความกฎหมายที่กว้างเกินไป สัดส่วนโทษที่ไม่สัมพันธ์กับการกระทําความผิด หรือความไม่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
อ่านเอกสารเพิ่มเติมที่: หนังสือถึง กมธ. โดยเครือข่ายนิรโทษกรรมปชช..
“ถ้าคุณสามารถนิรโทษกรรมไอ่พวกแม่งที่ทำรัฐประหารได้ เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องสามารถนิรโทษกรรมนักโทษทางความคิดได้เหมือนกัน” ตะวันกล่าว
หลังจากการประชุมดังกล่าว นิกร จำนง เลขานุการ กมธ.พร้อมกับคณะ กมธ.ระบุว่าการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีแถลงการณ์เกี่ยวกับข้อสรุปของแนวทางเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ดังนี้
- กมธ.มีความเห็นเอกฉันท์ ว่าควรมีการนิรโทษกรรมการกระทำที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยได้กำหนดชัดเจนว่าครอบคลุมความผิดฐานใดบ้าง
- มาตรา 288 และมาตรา 289 ตามประมวลกฎหมายอาญา ‘ไม่รวม’ ใน
พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากเป็นการประทุษร้ายร้ายต่อชีวิต และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
- ส่วนคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองคือ มาตรา 110 และมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา กมธ.มีมติร่วมกันว่าจะ ‘ไม่มาโหวตกัน’ ว่าควรดำเนินการอย่างไร เนื่องจากแนวทางการทำงานของ กมธ. จำกัดเพียงการศึกษา เพื่อหาแนวทางในการตรากฎหมาย
อย่างไรก็ตาม กมธ.จะส่งรายงานความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รวบรวมจากหลายฝ่าย โดยแยกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ไม่ควรรวมมาตราทั้งสองใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
- ควรรวมมาตราทั้งสองใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยไม่มีเงื่อนไข
- ควรรวมมาตราทั้งสองใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมีเงื่อนไข เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละคดี หรือการระบุลักษณะความคิดที่ครอบคลุมอย่างชัดเจน เป็นต้น
ภายในสัปดาห์หน้า กมธ.จะส่งรายงาน ที่มีรายละเอียดครอบคลุมความคิดเห็นของหลายฝ่าย โดยไม่ปิดกั้นฝ่ายใด ไปที่รัฐสภา เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว ตามแนวทางของแต่ละพรรค เพื่อเสนอต่อรัฐสภา และดำเนินการจัดทำกฎหมายต่อไป
อ้างอิงจาก