การฝันจะมีบ้านของคน Gen Z ดูเหมือนจะเป็นฝันที่ไม่ง่ายเท่าไหร่นัก ด้วยฐานเงินเดือน ค่าครองชีพ ไปจนถึงราคาค่าที่อยู่อาศัย
วันนี้ (22 เมษายน) ที่งานเสวนา “Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน GEN Z” วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101PUB ให้ข้อมูลในประเด็นที่อยู่อาศัยไว้น่าสนใจว่า บ้านที่เป็นปัจจัยพื้นฐานยังเป็นสิ่งที่ใครหลายคนเข้าไม่ถึง ซึ่งนั่นก็จะทำให้การเข้าถึงความฝันของคนรุ่นใหม่ยากตามไปด้วย
นักวิจัยนโยบายสาธารณะเผยว่า คน Gen Z โดยเฉพาะในเมืองกำลังเผชิญปัญหาการเข้าถึงบ้านที่ดี และมั่นคง ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดที่ต้องเผชิญด้วย เช่น คนบ้านไกลต้องเสียต้นทุนทั้งค่าเดินทางและเวลาเมื่อเข้าเมือง ส่วนคนบ้านใกล้ก็ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยที่แพงขึ้นและความแออัดคับแคบ เป็นต้น
“เงินเดือนประมาณ 20,000 กว่าบาทต่อเดือน คือระดับรายได้ต่อหัวของครัวเรือน 30% ที่รวยที่สุดในกรุงเทพฯ ถ้าเกิดว่าคนในกลุ่มที่อยู่ในระดับรายได้ 30% แรกของกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถที่จะมีบ้านใกล้ที่ทำงาน เดินทางสะดวก คนรุ่นใหม่อีก 70% ที่มาจากครัวเรือนที่รายได้น้อยกว่านั้น ก็ต้องเผชิญทางเลือกที่จำกัดยิ่งกว่า บีบคั้นยิ่งกว่า และเผชิญสถานการณ์ที่ย่ำแย่กว่าอีก” วรดร กล่าว
วรดร อธิบายต่อว่า จากการสำรวจของ UN บ่งชี้ว่า ประชากรเมืองเกือบ 3 ล้านครัวเรือนยังอาศัยในที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้มาตรฐาน กล่าวคือ เข้าไม่ถึงน้ำสะอาด ขาดระบบส้วมที่ดี แออัด ไม่แข็งแรง และเสี่ยงถูกไล่รื้อ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่วนนึงเกิดจากค่าใช้จ่ายบ้านที่สูงมาก
“กระทรวง พม. เคยตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ระดับค่าใช้จ่ายบ้านไม่ควรเกิน 15-20% ของรายได้ครัวเรือน แต่ทุกวันนี้ระดับค่าใช้จ่ายบาทในกรุงเทพฯ สูงเกินไป กินรายได้ 80% ของครัวเรือน และค่าใช้จ่ายเรื่องบ้านโตเร็วกว่าค่าจ้างมาก” วรดร กล่าว
ท้ายที่สุด วรดรเสนอว่า รัฐควรให้ความสำคัญและสนับสนุนให้คนเข้าถึงบ้านที่ดี ไม่ใช่สนับสนุนให้คนมีโฉนดบ้าน เพราะบ้านคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี เพราะที่ผ่านมา รัฐไทยมักสนับสนุนนโยบายเรื่องบ้านเพียงแค่เรื่องของ ‘กรรมสิทธิ์’ หรือก็คือ การทำให้คนมีกรรมสิทธิ์บ้านของตัวเอง ที่อาจไม่พอและไม่ตอบโจทย์กับโลกปัจจุบันแล้ว
“บ้านที่ดีไม่จำเป็นต้องเปนบ้านที่เรามีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของเสมอไป และการตีโจทย์บ้านกรรมสิทก็ไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่”
ตามไปดูเวทีเสวนา “Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน GEN Z” จัดขึ้นโดย The MATTER และ The Active ฉบับเต็มกันได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=2xTcSHGMA_E