คงไม่แปลกนัก หากจะมีใครสงสัยในความสามารถหรือทักษะของเราในวันที่ผลงานยังไม่เป็นที่ประจักษ์ แต่เมื่อถึงวันที่เราได้โชว์ศักยภาพ งัดไม้เด็ดออกมาให้ทุกคนได้เห็น หรือผลักดันตัวเองจนได้ขึ้นเป็นหัวหน้าแล้ว ก็ยังถูกสงสัยแบบเดิมอยู่ดี ทั้งที่ตำแหน่งที่เราไต่เต้าขึ้นมาได้ควรเป็นสิ่งที่ตอบคำถามนั้นแล้ว แต่สิ่งนี้ยังเกิดขึ้นเพราะอะไรกันนะ?
แม้จะขึ้นเป็นหัวหน้า แต่ก็ยังไม่ได้ขึ้นจุดสูงสุด ‘หัวหน้าระดับกลาง’ (Middle Manager) เป็นตำแหน่งตรงกลางระหว่างฝั่งบริหารกับพนักงาน ทำหน้าที่รับสารจากฝั่งบริหารมาแจ้งให้พนักงานเข้าใจ และรับหน้าที่แจกแจงความต้องการของฝั่งพนักงานให้ฝั่งบริหารรับรู้ด้วยเช่นกัน
หากมองเป็นภาพแผนผังองค์กรแล้ว เหล่าหัวหน้าระดับกลางอยู่สูงกว่าเหล่าพนักงานแค่ 1-2 ขั้นเท่านั้น ดังนั้น เรื่องตำแหน่งที่ไม่ได้ใหญ่โตไปกว่ากันมาก เรื่องความอาวุโสก็อาจไล่เลี่ยกันด้วย จึงทำให้มักเผชิญกับปัญหาเรื่องความไม่ไว้ใจในความสามารถ “แก่กว่าแค่นิดหน่อยจะเบ่งอะไรนัก” “ตำแหน่งสูงกว่าแค่นิดเดียว คงไม่ได้เก่งไปกว่ากันมาก” เกิดเป็นคำถามไล่หลังตามมาบ่อยครั้ง จนเริ่มสงสัยแล้วว่า ตำแหน่งที่สูงกว่านี้ต้องแลกมาด้วยความสงสัยในตัวเราตามไปด้วยเป็นปกติหรือเปล่านะ?
เหล่าหัวหน้าระดับกลางอาจรู้สึกว่า การขึ้นมายืนในตำแหน่งสูงขึ้นได้เป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถที่มี “นี่ไง ฉันก้าวมาจุดนี้ได้ เพราะฉันทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี” แต่กลายเป็นว่า ยิ่งอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น กลับเป็นที่เพ่งเล็งมากยิ่งขึ้น
ปัญหานี้ขยายจากความสงสัยในความสามารถ สู่เรื่องของการมองข้าม จนส่งผลกับเหล่าหัวหน้าระดับกลางในจำนวนไม่น้อยเลย ซึ่งผลสำรวจจาก Fast Company พบว่า 82% ของหัวหน้าระดับกลางรู้สึกว่า ตนเองถูกมองข้ามและท้อแท้เป็นอย่างมาก โดยเหตุผลหลักนั้นมาจากเหล่าพนักงานมักจะพิจารณาให้ความสำคัญกับหัวหน้า จากวุฒิภาวะของความเป็นผู้นำมากกว่าความอาวุโสในตำแหน่ง และอีก 37% พบว่าตนเองรู้สึกเครียดกับทีมมากขึ้น
ทีมก็ทีมเดียวกับที่เคยอยู่แท้ๆ แต่พอก้าวมาเป็นหัวหน้าก็เครียดขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เพื่อนที่เคยร่วมงานกันดีในตอนนั้น ก็เกิดจับตามองเป็นพิเศษในตอนนี้ เรื่องนี้แก้ที่ตัวเราเองก็อาจช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่องค์กรเองก็สามารถช่วยสะสางปัญหานี้ได้เหมือนกัน
อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า พอก้าวรับมงนี้มาก็เหมือนมีแพ็กเกจความเครียดพ่วงด้วยความกดดัน ไหนจะงานที่เพิ่มขึ้น ไหนจะดูแลคนในทีมทั้งที่ไม่เคยทำมาก่อน อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจจาก Gartner บริษัทให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี พบว่า 75% ของเหล่าหัวหน้านั้นรู้สึกว่า ขอบเขตของงานและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมันท่วมท้นล้นมือไปหมด
ไหนจะดูแลทีม ไหนจะหน้าที่ตัวเอง งานเก่ายังไม่ทันคลาย งานใหม่ต่อคิวรอแล้ว เมื่อรับผิดชอบทุกอย่างให้ดีไปพร้อมกันทั้งหมดไม่ได้ ก็ไม่พ้นถูกหมายหัวอีกว่าทำงานแบบนี้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้ยังไง วนเป็นงูกินหางแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ดังนั้น องค์กรเองจึงควรประเมินขอบเขตสิ่งที่หัวหน้าระดับกลางต้องรับผิดชอบให้ดี หากทีมมีรายละเอียดให้ต้องดูแลมากอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องเพิ่มงานอื่นเข้าไปเพียงเพราะชื่อตำแหน่งที่สูงขึ้น และอย่าลืมว่าการขยับให้ใครสักคนขึ้นเป็นหัวหน้า เป็นเพราะต้องการให้เขาทำหน้าที่ดูแลทีม ไม่ใช่เพราะอยากได้คนมาหย่อนในหน้าที่ใหม่ที่โผล่ขึ้นมา
แล้วหากเป็นหัวหน้าระดับกลางที่ยังสั่งสมอายุงานและบารมีได้ไม่มากพอ (ก็เพิ่งขึ้นมาเป็นนี่) เราจะพอกู้ศรัทธาให้ในคนในทีมกลับมาเชื่อในตัวเราอีกครั้งยังไงดีนะ?
- ยอมรับข้อผิดพลาด – แม้จะรู้สึกไม่โอเคกับการถูกเพ่งเล็งเกี่ยวกับความสามารถแบบนี้ แต่ในแง่หนึ่ง เราอาจจะต้องยอมรับว่า สิ่งนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไรบางอย่าง ให้ลองประเมินดูก่อนว่าสิ่งที่พนักงานหรือคนในทีมไม่เชื่อในตัวเรานั้นคืออะไร อาจเป็นความสามารถ ความอาวุโส วุฒิภาวะ ภาวะผู้นำ เพื่อให้เราแก้ไขได้ถูกจุด หากปิดประตูตั้งแต่แรกว่าเขาอคติกับเรา อาจยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายยิ่งขึ้น
- ทำในสิ่งที่รับปากไว้ให้ได้ – หากปัญหาคือความเชื่อใจ เราสามารถใช้ความสม่ำเสมอเข้าสู้ได้ หากรับปากสิ่งไหนไว้ พยายามทำให้ได้เสมอแบบนั้นซ้ำๆ อยู่เรื่อยๆ อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่นี่จะช่วยพิสูจน์ว่า เมื่อเรารับปากหรือบอกกล่าวว่าจะทำสิ่งไหนแล้วจะเกิดสิ่งนั้นขึ้นจริงๆ จนเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน นั่นจะช่วยให้ในทีมวางใจมากขึ้นสำหรับการทำงานในวันข้างหน้า
- ติดตามได้ในทุกขั้นตอน – งานคืบหน้าไปถึงไหน เรามีแผนทำอะไรต่อบ้าง สิ่งต่างๆ ที่คนในทีมควรรู้ เราควรเป็นคนบอกกล่าวกับคนในทีมด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องรอให้ทีมมาถามถึงความคืบหน้า เพราะแผนทุกอย่างอยู่ในการดูแลของเรา เรามีข้อมูลทุกอย่างแล้ว การเปิดเผยสิ่งที่ทีมจำเป็นต้องรู้จะช่วยให้ทีมรู้ความเคลื่อนไหวการทำงานของเราและทีมได้เป็นอย่างดี
นี่อาจเป็นอีกหนึ่งด่านที่หัวหน้ามือใหม่ต้องผ่านไปให้ได้ เพื่อก้าวไปจุดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในหน้าที่การงาน เหมือนในตอนที่เราก้าวขึ้นมาถึงตรงนี้ได้ไงล่ะ
อ้างอิงจาก