เมื่อเข้าสู่ช่วงสิ้นปี อีกกิจกรรมที่ขาดไม่ได้คือการเคา ‘…ประจำปี’ ต่างๆ รวมถึงคำศัพท์ประจำปีก็เช่นกัน ที่จะช่วยสะท้อนถึงความนิยมของคน รวมถึงสภาพสังคมในปีนั้นๆ ด้วย ซึ่งศัพท์ประจำปี 2024 นี้ที่คัดเลือกมาโดย Oxford Dictionary คือคำว่า ‘brain-rot’ หรือ สมองเน่า
ซึ่งกว่าจะได้คำนี้มา brain-rot ได้เอาชนะคู่แข่ง ซึ่งเป็นคำยอดนิยมในปีนี้อีกหลายคำ เช่น lore, demure, romantasy, dynamic pricing และ slop
ตามข้อมูลของ Oxford คำว่า brain-rot ปรากฏครั้งแรกในปี 1854 ในหนังสือเรื่อง ‘Walden’ เขียนโดยเฮนรี เดวิด ทอโร (Henry David Thoreau) นักเขียนชาวอเมริกัน เรื่อบราวว่าด้วยการย้ายไปอยู่กระท่อมกลางป่าเพียงลำพัง
ธอโรคร่ำครวญว่า “ในขณะที่อังกฤษพยายามรักษาโรคเน่าที่เกิดจากมันฝรั่ง (tomato-rot) จะไม่มีใครพยายามรักษาโรคสมองเน่า (brain-rot) ซึ่งแพร่หลายและร้ายแรงกว่ามากนี้เลยหรือ”
ซึ่งคำตอบต่อคำอ้อนวอนของธอโร ก็คือ ไม่มี โดยในปัจจุบันนี้ วัยรุ่นมักจะใช้คำนี้บนโซเชียลมีเดีย เพื่ออธิบายถึง ‘ความเสื่อมถอยทางสภาพจิตใจหรือสติปัญญาของบุคคล’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ เป็นสภาวะที่เกิดจากการบริโภค ‘เนื้อหาออนไลน์’ ที่ไม่มีสาระหรือไม่มีคุณภาพมากเกินไป โดยเฉพาะกับเนื้อหาบนแอปพลิเคชัน TikTok
การใช้งานคำคำนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 230% ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งแคสเปอร์ กราธโวล (Casper Grathwohl) ประธานบริษัท Oxford Languages ซึ่งเป็นแผนกพจนานุกรมของบริษัท กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงทางภาษาที่เกิดบนโซเชียลมีเดีย
นอกจากคำที่เป็นผู้ชนะ ผู้ท้าชิงที่เหลอก็มักจะเป็นคำศัพท์ใหม่ที่ดูฉูดฉาน และพวกคำผสมต่างๆ เช่น คำฮิตอื่นๆ ที่ฮิตในปีนี้อย่าง broflake, lumbersexual, romantasy
กราธโวล กล่าวว่า คำที่มีโอกาสเข้ารอบสุดท้ายได้นั้น จะเน้นหนักไปที่คำศัพท์โบราณที่คนหนุ่มสาวนำมาใช้ใหม่ในลักษณะประชดประชันเล็กน้อย หรือเทียบได้กับเทรนด์กางเกงขาบาน ที่เคยฮิตในอดีต และกลับมาเป็นเทรนด์แฟชั่นในปัจจุบันอีกครั้ง อย่างคำว่า ‘demure’ ที่ฮิตไม่แพ้กัน ก็เป็นคำที่พบการใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1377
ในกระบวนการคัดเลือกคำแห่งปีนั้น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้อ้างอิงจากหลักฐานการใช้งานที่รวบรวมจากคลังคำศัพท์กว่า 26,000 ล้านคำที่อัปเดตอยู่ตลอดเวลา จากแหล่งข่าวต่างๆ ทั่วโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษ โดยมีแนวคิดในการเลือกคือ จะต้องเป็นคำที่สะท้อนอารมณ์และบทสนทนาที่มีส่วนหล่อหลอมปี 2024 และก่อนหน้านี้ยังมีการเปิดโหวตจากผู้คนกว่า 37,000 เสียงอีกด้วย
คำแห่งปี ไม่เพียงแต่จะสะท้อนคำที่ฮิตมาก่อนแล้วเท่านั้น เพราะคำที่ถูกเลือกอาจจะกลับไปกระทบกับการใช้ภาษาด้วยได้เช่นกัน อย่างในปี 2023 ที่ Oxford เลือกคำว่า ‘rizz’ ซึ่งเป็นคำแสลงของคนรุ่น Gen Z หรือ Gen Alpha ที่หมายถึง สไตล์ เสน่ห์ หรือความน่าดึงดูดใจ หลังจากนั้นก็มีการใช้คำพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 1,500%
อย่างไรก็ดี Oxford ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทางภาษาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เพราะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมายังมีที่อื่นๆ ที่ประกาศคำแห่งปีมาแล้วเช่นกัน อย่างสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ให้ ‘manifest’ และ Dictionary.com ที่ให้คำว่า ‘demure’ เป็นผู้ชนะ
อ้างอิงจาก