ซีรีส์อนิเมชั่น Arcane กลับมาอีกครั้งพร้อมกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยม และคงจะยืนยันได้แล้วว่าบริษัทเกมออนไลน์ระดับโลกอย่าง Riot ที่แม้จะเป็นน้องใหม่ในแวดวงการผลิตสื่ออนิเมชั่น ก็สามารถสร้างผลงานในระดับเดียวกับสตูดิโอยักษ์ใหญ่ได้ไม่แพ้ Disney, Pixar, หรือ DreamWorks โดยเฉพาะซีซั่นแรกที่คว้ารางวัลอนิเมชั่นยอดเยี่ยมจาก Emmy Awards ปี 2022 ในขณะที่ซีซั่น 2 ก็กำลังได้รับคะแนนวิจารณ์ในแง่ดีเช่นกัน
แม้จะเป็นซีรีส์อนิเมชั่นที่หยิบเอาข้อมูลส่วนเล็กส่วนน้อยจากตัวละครในเกม League of Legends มาใช้ ทว่า Arcane ก็นำองค์ประกอบเหล่านั้นมาขยายได้อย่างมีชีวิตชีวา มีเนื้อหาเข้มข้น เส้นเรื่องของแต่ละตัวละครล้วนน่าติดตาม ฉากแอ็กชั่นดุเดือด และที่ไม่พูดถึงไปไม่ได้คืออาร์ตสไตล์ที่มีลายเซ็นเฉพาะตัว ยิ่งไปกว่านั้นตัวซีรีส์ยังช่วยแง้มให้คนดูเห็นถึงอนาคตอันล่มสลาย หากมนุษยชาติมุ่งหวังเพียงความก้าวหน้า โดยไม่แยแสถึงผลกระทบ
นับตั้งแต่ซีซั่นแรก Arcane จับจ้องไปยังชีวิตของกลุ่มคนในเมืองพิลโทเวอร์และซอน ที่ไม่มากก็น้อยต่างต้องมาพัวพันกับการใช้ประโยชน์จากเวทมนตร์ลึกลับ หรือ ‘อาร์เคน’ (arcane) ตัวต้นเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแข้งระหว่าง วาย (ไวโอเล็ต) และจิ๊งซ์ (พาวเดอร์) สองพี่น้องแห่งเมืองซอน หรือเป็นสาเหตุของความไม่ลงรอยกันทางความคิดของสองผู้สร้างเฮ็กซ์เทคอย่างเจซและวิคเตอร์ ลามไปจนถึงความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างผู้ปกครองพิลโทเวอร์และซอนสืบเนื่องจากปัญหาความเจริญที่เหลื่อมล้ำ รวมไปถึงการเข้ามายุ่มย่ามของเมืองต่างแดนเช่นน็อกซัส
อาร์เคนจึงเป็นหัวใจหลักของเรื่อง และเป็นที่มาอันสมเหตุสมผลของชื่อเรื่อง
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของอนิเมชั่นเรื่อง ARCANE*
อาร์เคนเป็นองค์ประกอบที่น่าพูดถึง เพราะในแง่หนึ่งเวทมนตร์ลึกลับนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีและการไขว่คว้าความก้าวหน้ามนุษย์ โดยเฉพาะการได้เห็นวงจรของเทคโนโลยี ตั้งแต่กระบวนการคิดค้น การประยุกต์ใช้ และจุดที่วิทยาการนั้นอาจนำมาซึ่งหายนะ
ทุกเทคโนโลยีมักเริ่มต้นด้วยความหวังดีเสมอ การนำอาร์เคนมาใช้ก็เช่นกัน ในต้นเรื่อง ทั้งเจซและวิคเตอร์ต่างมุ่งมั่นที่จะใช้อาร์เคนเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า เจซผู้เคยได้รับการช่วยเหลือจากผู้ใช้เวทมนตร์ในวัยเด็ก เชื่อว่าเทคโนโลยีจากอาร์เคนจะนำพาเมืองพิลโทเวอร์และซอนไปสู่ความรุ่งโรจน์ ด้านวิคเตอร์ก็เชื่อว่าอาร์เคนนั้นมีพลังมากพอจะรักษาอาการป่วยของเขาให้หาย และถ้ามันรักษาเขาได้ คนอีกมากมายก็ไม่จำเป็นต้องเจ็บป่วยอีก ทั้งคู่จึงร่วมมือกันสร้างความฝันนั้นให้สำเร็จจนได้ออกมาเป็นเทคโนโลยีที่ชื่อว่า เฮ็กซ์เทค เฮ็กซ์เกต และเฮ็กซ์คอร์
ผลลัพธ์จากการนำวิทยาการใหม่มาใช้นั้นเห็นได้อย่างชัดเจน เมืองพิลโทเวอร์ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เฮ็กซ์เกตช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามเมือง ส่วนเฮ็กซ์เทคสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ความสำเร็จนี้ยังแสดงให้เห็นผ่านภาพของ Progress Day วันที่ชาวเมืองพิลโทเวอร์จะออกมาเฉลิงฉลองให้กับความก้าวหน้า
กระนั้น จุดสำคัญที่ตัวเรื่องมักย้ำกับคนดูอยู่เสมอคือ อาร์เคนเป็นพลังหรือบางสิ่งบางอย่างที่แม้แต่ตัวละครในโลกของ Arcane ก็ไม่อาจเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง คือปริศนาที่ทั้งตัวละครและคนดูต่างก็พยายามหาคำตอบว่า มันคืออะไร ทำงานอย่างไร มีที่มาจากไหนกันแน่ โดยเฉพาะกับเฮ็กซ์คอร์ เทคโนโลยีที่สามารถตอบโต้กับสิ่งมีชีวิต ไหนจะการเกิดขึ้นของความผิดปกติ (Anomaly) ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้เลย อาร์เคนจึงคล้ายกับกล่องดำที่เรารู้แค่ว่า หากใส่อะไรเข้าไป จะได้ผลลัพธ์บางอย่างกลับมา แต่ไม่รู้ว่าเจ้ากล่องดำนี้ทำงานยังไงและใครเป็นคนสร้าง
จะว่าไปแล้ว อาร์เคนก็ไม่ต่างกับเทคโนโลยีในโลกความเป็นจริงที่นับวันเริ่มสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ หากจะกล่าวให้ชัดและไม่ไกลตัวมากเกินไป เทคโนโลยีเช่น AI ก็นับว่าเข้าข่ายคุณสมบัติเดียวกับอาร์เคนอยู่ไม่น้อย เรารู้เบื้องต้นว่าต้องโต้ตอบกับ AI อย่างไร และคาดหวังถึงคำตอบที่จะออกมาได้คร่าวๆ แต่ในท้ายที่สุด เราไม่รู้ถึงการทำงานเบื้องหลัง ไม่รู้ว่า AI ที่กำลังสนทนาด้วยไปดึงข้อมูลมาอย่างไร และได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือไม่
เค้าลางของผลกระทบจากการใช้อาร์เคนเริ่มเผยให้เห็นตั้งแต่ช่วงท้ายๆ ของ Arcane ซีซั่นแรก ในเหตุการณ์ที่เอ็กโกสำรวจต้นไม้แห่งเมืองซอนที่เน่าเปื่อยอย่างเป็นปริศนา จนมาถึงซีซั่นสองที่คนดูได้เห็นว่าเวทมนตร์ลึกลับนั้นอันตรายแค่ไหน มันสามารถทำให้คนดีคนหนึ่งสูญเสียความเป็นมนุษย์และกลายเป็นสัตว์ประหลาดไล่เข่นฆ่าผู้คนได้ ไปจนถึงขั้นทำลายล้างโลก
แม้ภาพของการใช้วิทยากรจนนำไปสู่หายนะจะดูโหดร้ายไปสักหน่อย ทว่าตัวเรื่องก็สอดคล้องกับเทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์บางชิ้น ที่เริ่มต้นด้วยจุดประสงค์อันหวังดี ก่อนจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่อาจคาดเดา ชวนให้นึกถึงระเบิดไดนาไมต์ ผลงานที่ อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) คิดค้นขึ้นเพื่อช่วยให้งานก่อสร้างและการทำเหมืองปลอดภัยขึ้น
แต่ในปัจจุบันกลับถูกดัดแปลงเพื่อนำไปใช้ในสงคราม หรือโซเชียลมีเดียเองก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง เพราะเริ่มจากการอยากเป็นพื้นที่ให้คนห่างไกลได้ปฏิสัมพันธ์ แต่ในตอนนี้โซเชียลมีเดียอาจกลายเป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จ และเป็นสาเหตุให้บางคนเสพติดการอยู่บนโลกออนไลน์
ความฉลาดข้อหนึ่งของตัวเรื่อง Arcane คือการวางให้ตัวละครไฮเมอร์ดิงเจอร์เป็นศาสตราจารย์ที่ระมัดระวังการประยุกต์ใช้พลังอาร์เคนเป็นพิเศษ ไฮเมอร์ดิงเจอร์มักจะมาคอยด้อมๆ มองๆ และถามไถ่ถึงการทดลองอยู่เสมอ อีกทั้งยังแสดงความกังวลและชะลอไม่ให้นำเทคโนโลยีจากอาร์เคนไปใช้จนกว่าจะทำการศึกษาอย่างถี่ถ้วน ไฮเมอร์ดิงเจอร์จึงเป็นตัวละครที่เหมือนคำเตือน เป็นตัวบอกใบ้ถึงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่รอบคอบเพียงพอ
ถ้าจะกล่าวให้ชัด หายนะจากอาร์เคนยังเป็นตัวแทนของภาวะโลกรวน (climate change) ปัญหาระดับโลกที่มนุษย์เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ Arcane อาจกำลังพาคนดูไปเห็นจุดจบของโลกอันสืบเนื่องมาจากการเผาไหม้ก๊าซเรือนกระจกและบริโภคอย่างไม่รู้จบ ต้นไม้ที่ค่อยๆ เน่าเปื่อยของเมืองซอนก็คงไม่ต่างกับต้นไม้และสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจปรับตัวได้ทันตามอุณหภูมิโลก ในทางเดียวกัน ไฮเมอร์ดิงเจอร์ก็เป็นตัวละครสำคัญที่ย้ำเตือนถึงผลกระทบด้วยท่าทีที่ไม่ไร้เดียงสา ทว่าก็ไม่เข้มงวดเกินไป แสดงถึงความหวังที่มนุษย์ยังแก้ตัวและก้าวหน้าต่อไปได้ โดยไม่ทำลายอนาคตของตัวเอง
น่าเสียดายเล็กน้อยที่ตัวเรื่องดูจะไม่มีทางออกสำหรับโลกที่มีอาร์เคนสักเท่าไหร่ และอาจจะไปไกลเกินไปด้วยการฉายภาพโลกที่สุขสงบได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอาร์เคน คล้ายกับว่าอาร์เคนนั้นเป็นภัยและควรจะขัดขวางเทคโนโลยีจากมันอย่างถึงที่สุด ซึ่งหากมองอย่างมีความหวังสักหน่อย อย่างน้อยก็น่าจะมีโลกสักใบที่การพัฒนาเทคโนโลยีอาร์เคนเป็นด้วยความระมัดระวัง ไม่ก่อให้เกิดหายนภัย และผู้คนยังได้รับประโยชน์จากอาร์เคน
สุดท้าย Arcane นับเป็นซีรีส์อนิเมชั่นที่น่าทึ่งและดูสนุกได้โดยไม่จำเป็นต้องเล่นเกม League of Legends มาก่อนเลยแม้แต่น้อย ซีรีส์อนิเมชั่นสามารถยืนอยู่ได้ด้วยศักยภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของงานภาพที่ทรงพลังและเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงดนตรีที่เข้ากับเนื้อหาได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังหลากหลายในแง่แนวเพลงและภาษา
การประสบความสำเร็จของ Arcane ทั้งก่อนหน้าและหลังจากนี้คงนับว่าคุ้มค่าสมกับการต้องแลกมาด้วยทุนสร้างมหาศาลมูลค่ากว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8,600 ล้านบาท) ที่ Riot ลงทุนไปสำหรับการผลิตซีรีส์ทั้งสองซีซั่น รวมกัน 18 ตอน ตัวเลขนี้ส่งให้ Arcane ขึ้นแท่นเป็นซีรีส์อนิเมชั่นที่มีต้นทุนแพงที่สุดเมื่อเทียบกับซีรีส์อนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ในระบบสตรีมิ่งหรือโทรทัศน์ทั่วไป แต่จะแพงแค่ไหน มาร์ก เมอร์ริล (Marc Merrill) ผู้ร่วมก่อตั้ง Riot และหัวหน้าฝ่ายผลิต ก็มองว่าเงินที่บริษัทจ่ายไปนั้นคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์เมื่อเทียบกับสิ่งที่คนดูจะได้รับ
อ้างอิงจาก
Lewens, T. (2016). The Meaning of Science: An Introduction to the Philosophy of Science. Basic Books.
Wikipedia contributors. (2024, November 27). Arcane (TV series). In Wikipedia, The Free Encyclopedia. Retrieved 15:01, November 27, 2024, from en.wikipedia.org
Wallenstein, A. (2024, November 6). Why Riot Games’ Entertainment Aims Stalled Beyond ‘Arcane,’ the Priciest Animated Series Ever (EXCLUSIVE). Variety. variety.com