ในช่วงไม่กี่วันมานี้ ข่าวที่ได้รับการพูดถึงไปทั่วทุกมุมโลกคงหนีไม่พ้นการสังหารชาวฝรั่งเศสจำนวน 3 รายด้วยอาวุธมีดในมหาวิหารนอทเทรอดามแห่งนีซ ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวถูกเชื่อมโยงกับสิ่งที่ทางการฝรั่งเศสเรียกว่า ‘การก่อการร้าย’
ปัญหาการใช้ความรุนแรงดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเพียงโดดๆ แต่มันถูกผูกโยงเข้ากับการตีความว่าเป็นปฏิกิริยาโต้กลับจากปัญหาการแยกรัฐออกจากศาสนาซึ่งเป็นนโยบายที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
ด้วยเหตุนี้ ข้อถกเถียงเรื่องการแยกรัฐออกจากศาสนาในฝรั่งเศสจึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง ทั้งนี้ The MATTER จะมาสรุปต้นสายปลายเหตุของเหตุการทั้งหมดให้ได้ฟังกันว่า เกิดอะไรขึ้นในฝรั่งเศสกันแน่
1. ย้อนกลับไปก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สังหาร 3 เหยื่อในมหาวิหารนอทเทรอดามแห่งนีซ โลกได้รับรู้ถึงเหตุสลดในวันที่ 16 ตุลาคม เมื่อซามูเอล ปาตี (Samuel Paty) ครูในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งของปารีสถูกวัยรุ่นชาวเชเชนสังหารด้วยการฆ่าปาดคอและตัดศีรษะของเขา เนื่องจากเขานำภาพการ์ตูนล้อเลียนนบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลามขึ้นมาใช้ประกอบการเรียนการสอนบนชั้นเรียนเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้ ผู้ก่อเหตุได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมในท้ายที่สุด
2. อย่างไรก็ดี Reuters ได้รายงานว่า ก่อนการเรียนการสอนนั้น ปาตีได้อนุญาตให้เด็กที่นับถือศาสนาอิสลามเดินออกจากชั้นเรียนเพื่อไม่ให้เด็กเหล่านั้นรู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจ เรื่องการสอนเสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นเรื่องปรกติในฝรั่งเศสที่มาคู่กับคุณค่าที่ฝรั่งเศสเชื่อในวิถีการใช้สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน
3. แนวคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกถูกเชื่อมโยงกับคุณค่าในเรื่องสิทธิเสรีภาพของฝรั่งเศสที่มีนโยบายแยกรัฐออกจากศาสนามาโดยตลอด โดยหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ได้ออกแถลงแผนการว่าตนจะปกป้องคุณค่าของรัฐฆราวาส (secular values) อย่างฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง’ โดยเขาวิจารณ์ศาสนาอิสลามว่าเป็นศาสนาที่อยู่ในขั้นวิกฤติของโลก เขากล่าวเสริมอีกว่า “การดำรงแนวคิดรัฐฆราวาสจะหลอมรวมฝรั่งเศสให้เป็นปึกแผ่น”
4. มาครงได้เสนอนโยบายของการลบหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับศาสนาออกจากโรงเรียนและพื้นที่สาธารณะ เขายังได้เสนอแนวคิดที่จะเสริมความเข้มแข็งให้แก่กฎหมายการแยกศาสนจักรออกจากอาณาจักรในฝรั่งเศสที่ออกไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1905 ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝรั่งเศสได้ดำเนินนโยบายการแยกรัฐออกจากศาสนามาโดยตลอด เช่น การออกกฎหมายห้ามการห่มผ้าคลุมฮิญาบใน ค.ศ.2010 รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมายเรื่องการถือครองคู่ชีวิตคนเดียว
5. ปฏิกิริยาโต้กลับเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่มาครงได้เสนอนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น นักกิจกรรมชาวมุสลิมที่วิจารณ์ท่าทีของมาครงว่าเป็น “แนวคิดที่ตีกรอบและกดขี่ศาสนาอิสลาม” รวมไปถึงท่าทีของอิหม่ามสูงสุดแห่งบอร์โดที่ออกมาต่อต้านมาครงว่าเขา “ไม่แยกแยะระหว่างลัทธิอิสลามสุดโต่งกับประชากรมุสลิมทั่วไป”
6. การวิพากษ์วิจารณ์การสังหารปาตีถูกยกระดับขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงฟากฝั่งของชุมชนมุสลิมในฝรั่งเศส หลังจากการสังหารดังกล่าวได้ 4 วัน ทางการฝรั่งเศสได้สั่งปิดมัสยิดในป็องแต็งเนื่องจากเพจเฟซบุ๊กของมัสยิดได้แชร์วิดีโอวิพากษ์วิจารณ์ปาตี โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้เหตุผลของการสั่งปิดว่า ‘เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการยั่วยุในการใช้ความรุนแรง’
7. จนเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม มาครงได้เดินทางไปร่วมพิธีไว้อาลัยในงานศพของปาตีในมหาวิทยาลัยซอร์บอน มาครงกล่าวยกย่องปาตีว่าเป็น ‘ผู้กล้า’ ที่ส่งเสริมคุณค่าของประชาธิปไตยฝรั่งเศสต่อเด็กๆ ในชั้นเรียนของพวกเขา “เราจะไม่ยอมหยุดการวาดการ์ตูน” เขากล่าวในพิธี “เขา (ปาตี) ถูกฆ่าเพราะพวกอิสลามสุดโต่งที่ต้องการอนาคตของพวกเรา… พวกเขาจะไม่มีวันได้สิ่งนั้น” ทั้งนี้ มาครงยังได้เรียกผู้สังหารปาตีว่าเป็น ‘พวกขี้ขลาด’
8. เรื่องราวดูจะร้อนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ไตยิป แอร์โดกัน (Recep Tayyip Erdoğan) ได้ออกมาแถลงโจมตีมาครงว่า “ต้องเข้ารับการบำบัดอาการทางจิต” โดยเขาวิจารณ์มาครงอีกว่า มาครงไม่มีความเข้าใจในเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้คำวิจารณ์ของแอร์โดกันว่า “การกล่าวมากเกินไปและความหยาบคายไม่ใช่วิธีการที่ถูก” และ “เราไม่ยอมรับคำผรุสวาทดังกล่าว”
9. ในวันรุ่งขึ้น ฝรั่งเศสได้เรียกคณะทูตจากตุรกีเข้าพบเพื่อชี้แจงท่าทีต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของแอร์โดกันที่มีต่อมาครงว่าเป็นคำพูดที่ ‘รับไม่ได้’ ทั้งนี้ ABC News ได้วิเคราะห์ว่าท่าทีของทั้งฝรั่งเศสกับตุรกีดังกล่าวว่า เป็นการปะทะกันระหว่างพันธมิตรนาโต้ (NATO) รวมถึงกรณีความขัดแย้งในซีเรีย ลิเบีย และดินแดนบริเวณนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นดินแดนของอาเซอร์ไบจานซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม แต่ถูกอาร์เมเนียที่นับถือศาสนาคริสต์เข้าครอบครอง ที่ทั้งสองเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
10. ในวันเดียวกันกับที่แอร์โดกันยังชวนให้ชาวมุสลิมแบนสินค้าฝรั่งเศส จนกระแสการต่อต้านสินค้าฝรั่งเศสในประเทศมุสลิมเกิดขึ้นทั่วทั้งเอเชีย ทั้งใน คูเวต กาตาร์ ปากีสถาน บังคลาเทศ ฯลฯ รวมไปถึงท่าทีของผู้นำรัฐมุสลิมต่างๆ เช่น ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน ปากีสถาน อียิปต์ และอิหร่าน ที่ออกมาโจมตีมาครงว่า ขาดความเข้าใจในหลักการของอิสลาม แต่อย่างไรก็ดี ผู้นำในฝั่งตะวันตกอย่างอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ได้ออกมาโจมตีแอร์โดกันต่อท่าทีของเขาที่มีให้มาครง รวมไปถึงผู้นำของกรีซ และออสเตรียที่ออกมาสนับสนุนท่าทีของฝรั่งเศส
11. จนกระทั่งวันที่ 28 ต.ค. นิตยสารชาร์ลีแอบโด (Charlie Hebdo) ซึ่งเคยเกิดเหตุถูกกราดยิงหลังวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนนบีมูฮัมหมัดเมื่อ ค.ศ.2015 ได้ตีพิมพ์ภาพวาดล้อเลียนแอร์โดกันถลกกระโปรงหญิงมุสลิมที่กำลังห่มผ้าคลุม โดยทางตุรกีได้ออกมาประณามการล้อเลียนประธานาธิบดีของตนว่าเป็น ‘สิ่งที่น่าเกลียด’ ความขัดแย้งจึงกลายเป็นไฟลามทุ่งที่ยากเกินกว่าจะหยุดได้
12. ในขณะที่เรื่องความขัดแย้งได้ลุกลามไปเกินกว่าแค่ในฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุสลดฆ่าปาดคอขึ้นในมหาวิหารนอเทรอดามแห่งนีซ เมืองนีซ ในฝรั่งเศสโดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง อีกทั้งในวันเดียวกันนั้นเอง ยังมีการวิสามัญชายในเมืองอาวีญง ที่หยิบปืนขึ้นมาขู่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา รวมไปถึงรายงานเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานกงสุลฝรั่งเศสถูกทำร้ายร่างกายในซาอุดิอาระเบีย
13. ทั้งนี้ ทางการฝรั่งเศสได้เปิดเผยว่าคนร้ายเป็นชายชาวตูนีเซียวัย 21 ปี ซึ่ง AFP ได้รายงานว่า เขาเพิ่งเดินทางเข้ายุโรปมาทางเกาะลัมเปดูซาของอิตาลี ในช่วงกันยายนที่ผ่านมา ก่อนจะถูกกักกันโรค และเดินทางเข้าสู่ฝรั่งเศสในช่วงต้นเดือน ต.ค. โดยคนร้ายได้ถูกกระสุนจากเจ้าหน้าที่ ก่อนจะถูกจับกุมตัวและนำส่งโรงพยาบาลในท้ายที่สุด
14. ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจพบหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ที่บันทึกภาพชายผู้ลงมือสังหารว่า ได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อกับครอบครัวของตนในตูนิเซีย โดย The Guardian เปิดเผยว่า ญาติของเขาให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาได้รับสายจากชายคนดังกล่าวในช่วงวันพุธที่ผ่านมา (28 ต.ค.) ระบุว่าตนได้เดินทางถึงฝรั่งเศสเแล้ว
15. โดยวันรุ่งขึ้น หลังจากเหตุการณ์สังหารในเมืองนีซ มาครงได้เดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุ และออกแถลงต่อหน้าสื่อมวลชนประณามเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นโจมตีโดย ‘ผู้ก่อการร้ายอิสลาม’ เขายังกล่าวอีกว่า “หากเราถูกโจมตีอีกครั้ง ด้วยคุณค่าที่เรายึดถือไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพบนแผ่นดินเรา เราจะไม่ยอมจำนนต่อการก่อการร้ายทั้งปวง” “ผมขอกล่าวย้ำอย่างชัดเจนอีกครั้งในวันนี้ว่า เราจะไม่ยอมแพ้ใดๆ ทั้งสิ้น”
16. ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติมได้อีก 4 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเขามีการติดต่อกันกับผู้ลงมือสังหารเหยื่อทั้ง 3 ราย ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้มีที่อยู่อาศัยร่วมกันกับชายผู้ลงมือก่อเหตุระทึกขวัญดังกล่าว
17. หลังเหตุสลดในฝรั่งเศสดังกล่าว ผู้นำทั่วโลกต่างออกแถลงการณ์ประณามและแสดงความเสียใจต่อเหตุการโจมตีครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป วาติกัน สเปน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ รวมไปถึงตุรกีด้วยเช่นกัน
18. แต่ก็ไม่พ้นเป็นข้อวิจารณ์ เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ได้ออกมากล่าวว่า “ในประวัติศาสตร์นั้น ฝรั่งเศสได้ฆ่าคนไปนับล้าน หลายคนเป็นมุสลิม คนมุสลิมมีสิทธิที่จะโกรธ และฆ่าคนฝรั่งเศสนับล้านสำหรับการสังหารหมู่ที่ฝรั่งเศสได้เคยทำมา” คำพูดดังกล่าวได้ถูกวิจารณ์เป็นวงกว้างก่อนที่เขาจะออกมาแก้ต่างว่า เขาต่อต้านเหตุสลดในนีซ และกล่าวอีกว่า ผู้อ่านอ่านข้อความของเขาไม่ครบ เนื่องจากเขาได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “แต่คนมุสลิมจะไม่ตอบโต้ด้วยกฎหมายแบบ ‘ตาต่อตา’ ฝรั่งเศสก็ไม่ควรเช่นกัน ฝรั่งเศสจึงควรจะเรียนรู้ที่จะสอนให้ผู้คนของตนเคารพความรู้สึกของผู้อื่นบ้าง”
19. ในขณะเดียว รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศยกมาตรการการรักษาความปลอดภัยตั้งแต่ช่วงวันหลังวันเกิดเหตุ (30 ต.ค.) เป็นต้นมา โดยถือได้ว่าเป็นการยกระดับความปลอดภัยขั้นสุงสุด ซึ่งได้มีการเพิ่มกองกำลังทหารกว่า 4,000 นาย ภายใต้ชื่อปฏิบัติการณ์ซองติแนลล์ (Operation Sentinelle) โดยทำให้มีกองกำลังที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดรวม 7,000 นาย โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยส่วนหนึ่งได้ทำหน้าที่ดูแลตามโบสถ์ต่างๆ ในวันนักบุญต่างๆ ของวันอาทิตย์
ฝรั่งเศสยังคงตกอยู่ในความวุ่นวายจากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ประเด็นการโจมตีตั้งแต่ การสังหารครูผู้สอนหลักการเสรีภาพในการแสดงออก ไปจนถึงการโจมตีในมหาวิหารจากคนร้ายที่ฝรั่งเศสอ้างว่าเป็นชาวมุสลิม ได้จุดชนวนการถกเถียงในสังคมฝรั่งเศสอีกครั้งบนเรื่องของการแยกรัฐออกจากศาสนา ซึ่งเป็นหลักการและคุณค่าที่ฝรั่งเศสยึดถือ ในขณะที่ผู้นำในโลกมุสลิมตลอดจนผู้เชี่ยวชาญต่างวิเคราะห์วิจารณ์ว่า หลักการดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อผู้นับถือศาสนาอิสลามในฝรั่งเศส
อ้างอิงจาก
https://www.aljazeera.com/…/macron-announces-new-plan…
https://www.aljazeera.com/…/timeline-how-muslim-anger…
https://foreignpolicy.com/…/macron-wants-to-start-an…/
https://www.reuters.com/…/france-security-school…
https://edition.cnn.com/…/france-free-speech…/index.html
https://www.aljazeera.com/…/france-closes-mosque-in…
https://www.france24.com/…/20201021-we-will-not-give-up…
https://www.theguardian.com/…/france-recalls-ambassador…
https://abcnews.go.com/…/france-reacts-erdogan…
https://edition.cnn.com/…/france-boycott…/index.html
https://www.bbc.com/pidgin/world-54722182
https://www.aljazeera.com/…/turkey-condemns-charlie…
https://www.bbc.com/news/world-europe-54742403
https://www.nytimes.com/…/nice-knife-attack-arrest.html…
https://edition.cnn.com/…/france-nice…/index.html
https://edition.cnn.com/…/france-secularism…/index.html
https://www.theguardian.com/…/nice-church-attacker…
https://www.theguardian.com/…/nice-terror-attack-french…
https://www.aljazeera.com/…/muslims-have-right-to…
#Recap #TheMATTER