“แนะนำคนไข้พักผ่อนให้เพียงพอ แต่หมอทำงานยันสว่าง” ผู้ใช้คนหนึ่งได้โพสต์ในทวิตเตอร์ หลังเหล่านักเรียนแพทย์แห่ติดแฮชแท็ก #นักศึกษาแพทย์เลว จนขึ้นเทรนด์อันดับ 4 ของประเทศ โดยเหล่านักศึกษาแพทย์ได้ออกมาแชร์ปัญหาต่างๆ ทั้งการทำงานถวายชีวิตแต่ได้รับเงินเดือนไม่สมกับชั่วโมงทำงาน อำนาจนิยมในการวงการหมอ กฎระเบียบต่างๆ รวมถึงค่านิยมที่ปลูกฝังให้อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละเกินจริง
สำหรับแฮชแท็กดังกล่าวสืบเนื่องจาก นพ.มาโนช โชคแจ่มใส ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ใน Facebook ส่วนตัวว่า ‘ขอเสียงนักศึกษาแพทย์เลว พูดในสิ่งที่คณะแพทย์ไม่อยากฟัง’ เพื่อเชิญชวนให้เหล่าแพทย์ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงปัญหาต่างๆ ในวงการแพทย์หมอ จนมีเหล่านักเรียนแพทย์รวมถึงแพทย์ปัจจุบันออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านแฮชแท็ก #นักศึกษาแพทย์เลว ในประเด็นความอยุติธรรมที่ถูกซุกซ่อนไว้ภายในวาทธรรม ‘ความเสียสละ’
ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์หลายคนได้พูดถึงปัญหาการมองเด็กนักศึกษาแพทย์เป็นเครื่องจักร ต้องรองรับอารมณ์ของเหล่าอาจารย์ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของโครงสร้างอำนาจทางอำนาจที่อำนวยให้ผู้ใหญ่ถูกเสมอ โดยนักศึกษาแพทย์ต้องถูกด่าทอ และตำหนิอย่างรุนแรงโดยไม่จำเป็น
หลายๆ คนยังมาแชร์ประสบการณ์เรื่องการเหยียดเพศในคณะแพทย์ฯ ไปจนถึงความคิดแบบปิตาธิปไตย และบางวิชายังเลือกเฉพาะผู้ชายเข้าศึกษา ซึ่งเป็นการตัดโอกาสผู้หญิง และเหล่า LGBTQ ทำให้หลายคนไม่พอใจอย่างมาก เพราะถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
เหล่านักศึกษาแพทย์ยังออกมาพูดถึงการไม่ได้รับเงินเดือนระหว่างฝึกงาน ทั้งที่ทำงานหนักเช่นเดียวกับแพทย์อาวุโส และยังโดนแลกเวรโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเป็นผลมาจากระบบอาวุโสในวงการที่สืบต่อกันมา จนเป็นที่มาของคำว่า ‘เวรเยิน’ ที่หลายๆ คนพูดกัน
อีกหนึ่งประเด็นที่มีคนพูดถึงอย่างมากคือ กฎระเบียบของเหล่านักศึกษาแพทย์ มีคนมาแชร์ประสบการณ์ว่าระหว่างศึกษา ถูกบับคับให้ทำผมสุภาพ ห้ามไว้เล็บยาว และทำสีเล็บ รวมถึงกฎระเบียบเรื่องการแต่งกายที่เคร่งครัด ในขณะที่หลายคนมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นในการพัฒนาทักษะทางการแพทย์ และยังเป็นการโซตัสในรูปแบบที่สังคมยอมรับได้เพียงเพราะอยู่ใน ‘คณะแพทยศาสตร์’
นักศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์หลายๆ ได้เรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมในอาชีพแพทย์ และให้เลิกวาทกรรม ‘แพทย์=เสียสละ’ เพราะแพทย์ยังเป็นอาชีพหนึ่ง ซึ่งควรได้รับการดูแลรวมถึงสวัสดิการที่ดีดังเช่นอาชีพอื่น มีการเสนอให้ตั้งสหภาพแรงงานแพทย์ เพื่อให้อาชีพหมอได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเช่นเดียวกับอาชีพอื่น โดยเฉพาะด้านเวลาการทำงาน ไม่ใช่ปฏิบัติราวกับแพทย์เป็นเครื่องจักร ที่ทำงานหนักแต่ไม่ได้การดูแลที่คู่ควร
อ้างอิงจาก
https://www.matichon.co.th/social/news_2454007
https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-560705
#BRIEF #TheMATTER