เรามักเข้าใจว่า ฟอสซิลส่วนใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ มักเป็นฟอสซิลของไดโนเสาร์ แต่เมื่อไม่กี่วันก่อน ทีมนักล่าฟอสซิลในไต้หวันเพิ่งค้นพบฟอสซิลหนอนทะเลยักษ์ ซึ่งมีอายุย้อนไปได้ถึง 20 ล้านปี
ทีมนักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาแห่งชาติไต้หวัน ในกรุงไทเป เพิ่งค้นพบหนอนทะเลยักษ์ โดยพวกเขาเรียกชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้มันว่า Pennichnus formosae ซึ่งคาดว่าอาจเป็นบรรพบุรุษของหนอนบ๊อบบิท หนอนทะเลที่จะฝังตัวเองลงไปในพื้นทรายก้นมหาสมุทร หนอนชนิดนี้ใช้วิธีการล่าเหยื่อโดยการรอให้เหยื่อของมันว่ายน้ำผ่านรังที่มันอาศัยอยู่ ก่อนจะกัดและลากเหยื่อของมันลงไปในรูใต้พื้น
ฟอสซิลหนอนทะเลยักษ์ที่ถูกค้นพบในบริเวณโพรงน้ำตื้นจำนวน 319 โพรง แถบหินทรายในพื้นที่เยอหลิว และแหลมปาตัวซือของไต้หวันตัวนี้ มีความยาวกว่า 2 เมตร ฟันของมันมีความแหลมคมมาก เพราะสามารถตัดลำตัวของเหยื่อเป็นสองส่วนออกจากกันได้ง่ายๆ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า มันน่าจะมีชีวิตอยู่ราวๆ 20 ล้านปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลของมัน จากการที่พวกเขาเห็นลักษณะพื้นผิวของหินด้านบนที่ดูแปลกตา ก่อนที่พวกเขาจะใช้เครื่องตัดหินค่อยๆ ตัดพื้นที่บริเวณนั้นลงไป โดยพวกเขาเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในการค้นพบฟอสซิลส่วนใหญ่ มักจะพบฟอสซิลที่เป็นส่วนอวัยวะเป็นชิ้นๆ ของสัตว์โบราณต่างๆ เนื่องจากมันมีขนาดใหญ่มาก อย่างไรก็ดี การค้นพบหนอนทะเลยักษ์ตัวนี้ถือว่าโชคดี ที่พวกเขาพบมันในขนาดเต็มทั้งตัว
จากรายงานระบุว่า นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าหนอนยักษ์ดึกดำบรรพ์ตัวนี้ น่าจะใช้วิธีการล่าเหยื่อคล้ายกับหนอนบ๊อบบิทในปัจจุบัน เพียงแค่มันมีขนาดลำตัวยาวกว่าหนอนบ๊อบบิทในปัจจุบันกว่า 2-3 เท่าตัว ทั้งนี้ หนอนทะเลยักษ์เหล่านี้รับเอาออกซิเจนจากใต้น้ำผ่านผิวหนังของพวกมัน จึงทำให้มันอยู่ใต้ทะเลได้ไม่ต่างจากสัตว์น้ำตัวอื่นๆ
การค้นพบฟอสซิลหนอนทะเลยักษ์ตัวนี้ อาจทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจพื้นที่เยอหลิว และแหลมปาตัวซือของไต้หวัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ค้นพบฟอสซิลของมัน ว่าอาจมีความหลากหลายทางชีวภาพ และอาจทำการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนอนทะเลยักษ์เหล่านี้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำเข้าใจพฤติกรรมของหนอนบ๊อบบิทในปัจจุบันให้มากกว่าที่เคยมีมา
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER