ในวันที่ความรักใส่ฟิลเตอร์ให้โลกใบนี้เป็นสีพาสเทล เขาคนนั้นในใจจะทำอะไร เราก็มองว่าน่ารักไปเสียหมด ชื่อของเขาวนเวียนอยู่ในหัวไม่รู้หาย เราจำรายละเอียดของเขาได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ช่วงเวลาที่เหล่านั้น มอบแต่ความอิ่มเอมใจให้เราเสมอมา จนเราแทบนึกไม่ออกเลยว่า คนแสนดีตรงหน้าจะมีข้อบกพร่องตรงไหนที่ทำให้เราเลิกรักเขาได้ แต่เมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ เรากลับนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าเราเคยรักเขาขนาดนั้นได้ยังไง?
ถ้าแค่หมดรักแล้วจบเรื่องราวกันไปก็คงไม่ติดใจอะไร แต่ความรู้สึกในใจไม่ได้หายไปง่ายๆ แบบนั้น ความรักที่มีไม่ได้เจือจาง แต่กลับเปลี่ยนรูปร่างหน้าตากลายเป็นความเกลียดเคียดแค้น จากที่เคยมองเห็นแต่ข้อดีของกันและกัน กลายเป็นสารพัดข้อเสียเท่านั้นที่พอจะนึกได้ น้ำหนักของความรักที่เคยทุ่มเทลงไป กลายเป็นความรู้สึกอันหนักอึ้งในใจ
ความรักที่แปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนรักเท่านั้น แต่หมายถึงในความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่น้อง ครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน คงเหมือนที่เขาว่าไว้ไม่มีผิด เมื่อยิ่งรักมากก็ยิ่งเกลียดมาก แต่อะไรกันที่เปลี่ยนรักอันมากมายในนั้น กลายมาเป็นความเกลียดชังในวันนี้
โดนทำร้าย หักหลัง จนเจ็บช้ำน้ำใจ เคยทำอะไรร้ายๆ กับเราไว้บ้าง เหตุผลเหล่านี้คงโผล่เป็นคำตอบแรกๆ ในใจหลายคน ต่างคนต่างถือป้ายคำตอบพร้อมพลิกแบบเกมโชว์ แต่เราอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบในมุมมองประสาทวิทยา ว่าเกิดอะไรขึ้นในสมอง(จริงๆ)ของเราบ้าง ความรักถึงได้พลิกเป็นความเกลียดได้อย่างง่ายดาย
สมองเล่นกล จนรักกลายเป็นเกลียด
ยิ่งรักยิ่งเกลียดน่ะ เข้าใจ แล้วสงสัยกันไหมว่า ทำไมความรักที่เคยมากมาย ถึงกลายเป็นความเกลียดได้ ราวกับหลงลืมวันคืนดีๆ ไปเสียหมด เราลองมาดูงานวิจัยจาก Wellcome Laboratory of Neurobiology นี้กัน พวกเขาได้ให้อาสาสมัครเข้าร่วมทดลอง เลือกคนที่เกลียดที่สุดมาสักคนที่อยู่ในใจ เป็นไปตามคาด ส่วนใหญ่เลือกเป้าหมายที่เกลียดเป็นแฟนเก่า บางคนเลือกคู่แข่งในหน้าที่การงาน บ้างก็เลือกคนมีชื่อเสียง แล้วทีนี้ ก็พาอาสาสมัครเหล่านั้น มานั่งดูรูปคนที่เขาเกลียดที่สุด แล้วลองสแกนของพวกเขาดูว่าเกิดอะไรขึ้นขณะที่มองรูปภาพคนเหล่านั้น (นี่เป็นการทดลองกึ่งทรมานหรือเปล่านะ?)
ผลออกมาว่า เมื่อเกิดความเกลียดในสมองเนี่ย วงจรของมันประกอบด้วยสมองสองส่วน ในเซลล์เนื้อสีขาวใต้เปลือกสมอง (sub-cortex) ซึ่งก็คือ putamen เป็นชื่อที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วว่ามันเกี่ยวข้องกับความรู้สึกขยะแขยง รังเกียจ หรือดูถูก ซึ่งในบางส่วนก็เกี่ยวข้องกับการควบคุมการเคลื่อนไหวหรือการกระทำด้วย และ insula ที่มักตอบสนองต่อเหตุการณ์น่าวิตกกังวล แต่ที่น่าสนใจคือ มันทำงานในพื้นที่เดียวกับความรู้สึกรักหรือหลงใหล กล่าวก็คือ สำหรับสมองแล้ว สองสิ่งนี้ทำงานคล้ายกัน
เมื่อเหล่าอาสาสมัครได้เห็นภาพคนที่เขาเกลียดแล้ว เปลือกสมองใหญ่ (Cerebral Cortex) ส่วนที่ควบคุมการใช้เหตุผล การตัดสิน ได้ปิดการทำงานลงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน เมื่อให้ดูภาพคนที่พวกเขารัก สมองส่วนเดียวกันนี้ปิดการทำงานมากขึ้น หากใครพอจะจับทางจากคำใบ้เรื่องการใช้เหตุผลได้ ขอบอกว่ามาถูกทางแล้ว เพราะความสามารถในการใช้ตรรกะและเหตุผลของเราจะถูกปิดลงเมื่อคุณรักใครสักคน แต่หากเป็นคนที่เกลียดล่ะก็ สมองในส่วนนั้นจะทำงานมากกว่า แปลว่าเราสามารถใช้วิจารณญาณได้มากขึ้น เมื่อมีความเกลียดชัง
หากพูดถึงเรื่องนามธรรมในชีวิต รักกับเกลียด มักจะเป็นสิ่งตรงข้าม เป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันมาบรรจบกัน แต่หากพูดถึงตามหลักสรีรวิทยาแล้ว ความรักและความเกลียดชังก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แล้วสิ่งนี้บ่งบอกว่าความรักเปลี่ยนเป็นความเกลียดได้ยังไง? เซเมียร์ เซกิ (Semir Zeki) นักประสาทวิทยา หัวหน้านักวิจัยในเรื่องนี้ ได้กล่าวถึงผลลัพธ์ไว้ว่า “ความเกลียดเป็นสิ่งที่ต้องใช้แพสชั่นพอๆ กับความรัก เมื่อเป็นความรักแบบโรแมนติก เรามักจะไตร่ตรอง วิพากย์วิจารณ์คนรักของเราน้อย แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นความเกลียด เราจะเริ่มใช้วิจารณญาณมากขึ้น เพื่อคำนวณการเคลื่อนไหวของอีกฝ่าย เพื่อหวังทำร้ายหรือการแก้แค้น”
สรุปให้ฟังง่ายๆ เป็นภาษามักเกิ้ลอีกสักครั้ง ก็คือในตอนที่เรารักเนี่ย สมองส่วนเหตุผลเราทำงานน้อยไปหน่อย เราเลยลุ่มหลงไปกับความรักแบบหน้ามืดตามัว แต่พอมันเกิดจุดแตกหักที่เปลี่ยนรักเป็นเกลียดขึ้นมา ไอ้เจ้าน้ำหนักความลุ่มหลงที่มีมันมีเท่าเดิม แต่มันเปลี่ยนฝั่งเป็นความเกลียด พอเราเริ่มจุดประกายความเกลียดแล้ว สมองส่วนเหตุผลทำงานมากขึ้น เราก็จะเริ่มประเมินเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง ฟีลว่าเพิ่งตาสว่างเอาตอนนี้ ความโกรธที่ควรโกรธตั้งแต่ตอนยังรักเลยเพิ่งได้ทำงานเอาตอนที่แตกหักกันไปแล้วนี่แหละ
ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีแค่เหตุผลจากทางฝั่งประสาทวิทยาเพียงอย่างเดียว เหตุผลทางจิตวิทยาก็น่าสนใจเช่นกัน ดร.เจอร์รี่ ไฮส์เลอร์ (Gerry Heisler) นักจิตวิทยาคลินิกอาวุโส ได้กล่าวถึงเหตุผลทางใจบางส่วน ว่าทำไมเราถึงเกลียดคนที่เราเคยรักได้ แบ่งเป็น 4 ข้อ ดังนี้
- ความรักกลายเป็นจุดอ่อน
เมื่อมีความรัก เรารู้สึกว่าเรามีจุดอ่อนเพิ่มขึ้นมากมาย เรายอมให้อีกฝ่ายเข้ามาทำร้าย ยอมให้อีกฝ่ายเข้ามาควบคุมชีวิต เมื่อเกิดความขัดแย้ง เราจึงพุ่งเป้าความเกลียดไปที่ความรัก ต้นเหตุที่ทำให้ตัวเรายอมถูกทำร้าย - เราเลือกคนรักที่มักทำร้าย
ปัญหาเรื่องมุมมองความรักจากวัยเด็ก ที่อาจเจอกับความรุนแรงแต่เข้าใจว่านั่นคือความรักจากพ่อแม่ จึงมีมุมมองว่าถ้ารักก็ต้องเจ็บแบบนี้แหละ ร้ายแบบนี้แหละ เมื่อถึงวัยที่มีความรักจึงมักเลือกความรักที่มีพื้นฐานอยู่บนความรุนแรงและนำไปสู่ความเกลียดชังได้ง่าย - ต้องพึ่งพากันมากเกินไป
พอมีคนรัก การใช้ชีวิตของเราย่อมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง อิสระที่เคยมีก็ไม่อาจเปิดใช้ได้เต็มที่อย่างเคย กลับกัน จากที่เคยทำอะไรเองได้ก็ต้องหันมาพึ่งพากันและกัน เหมือนทั้งคู่เป็นเจ้าของขาคนละข้างที่ต้องการเดินไปด้วยกันให้ได้ อิสระในการใช้ชีวิตที่หายไป อาจทำให้เราเกลียดความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพากันและกันนี้ - ไม่อาจรักกันได้ในทุกด้าน
ในช่วงหนึ่งเรารักสิ่งดีๆ ที่เขาหยิบยื่นให้ แต่ช่วงต่อไปเราก็ไม่อาจทนกับข้อเสียที่เราเพิ่งได้เห็นเช่นกัน เขาช่างเอาอกเอาใจ ให้คะแนนเต็มสิบ แต่เขาไม่ช่วยงานบ้านสักอย่าง เขาช่างพูดสรรหาคำพูดให้เราสบายใจ แต่เขาไม่ยกฝารองชักโครก สารพัดข้อเสียที่เราจะพบเจอได้ในช่วงที่ความสัมพันธ์จริงจังไปแล้วระดับหนึ่งเท่านั้น ช่วงที่เราต้องวัดใจตัวเองแล้วว่าจะเลือกมองข้อดีของเขามากกว่า หรือจะไม่ทนกับข้อเสียของเขาอีกต่อไป
จากเหตุผลทั้งฝั่งประสาทวิทยาและฝั่งจิตวิทยา ดูเหมือนว่า “ยิ่งรักยิ่งเกลียด” จะไม่ใช่แค่คำประชดด้วยความช้ำใจ แต่เป็นเรื่องจริงที่เรามีความรู้สึกในตอนรักมากเท่าไหร่ เมื่อวันหนึ่งมันแปรเปลี่ยนเป็นความเกลียด มันก็จะมากเท่าในตอนที่เรารู้สึกรัก
แต่ไม่ว่าความรู้สึกจะเปลี่ยนด้วยเหตุผลอะไร อย่าขังตัวเองไว้กับความเกลียดให้นานเกินไป อย่างน้อยปล่อยให้ตัวเราเองเป็นอิสระจากความรู้สึกด้านลบนี้กันเถอะ
อ้างอิงจาก