“SME กำลังจะตาย” คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งบนโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมา
ความกังวลที่ว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ กำลังซื้อที่ลดลง การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมแรงกดดันจากต่างประเทศ ทำให้เหล่าเจ้าของธุรกิจ SME ต่างออกมาบอกเล่าประสบการณ์ที่จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงาน หรือต้องปิดกิจการไป เพราะสู้ต่อไปไม่ไหวในวันที่อะไรๆ ก็ไม่เป็นใจให้กับธุรกิจรายเล็กเช่นนี้
แต่จริงๆ แล้วสถานการณ์ตอนนี้แย่ถึงเพียงนั้นจริงหรือ ในปัจจุบัน SME มีบทบาทสำคัญกับเศรษฐกิจไทยมากแค่ไหน และโจทย์สำคัญอะไรที่ภาครัฐควรคำนึงถึง?
จากคำถามสำคัญเหล่านี้ The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เพื่อร่วมหาทางออกให้ SME ไทยไปต่อได้ พร้อมเศรษฐกิจไทยที่จะเติบโตได้มากยิ่งขึ้น

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย (ภาพจาก กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร)
SME ช่วยดัน GDP ไทยถึง 1 ใน 3 แต่กลับกำลังเผชิญปัญหาหนัก
จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ระบุว่า ในประเทศไทย ปี 2565 มีจำนวนผู้ประกอบการ MSME (หรือ SME ที่เราคุ้นหูกัน) จำนวนทั้งหมด 3,202,002 ราย ซึ่งสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของ MSME ในปี 2565 มีมูลค่าถึง 6,105,604 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 32.5% หรือกว่า 1 ใน 3 ของ GDP รวม
การมีผลมากต่อ GDP รวมนี้ พิพัฒน์อธิบายว่าเป็นเพราะ SME ในไทยนั้นมีจำนวนมาก เพราะความหมายของ SME คือธุรกิจที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่ คือมีจำนวนคนงานไม่เกิน 200 คน และ/หรือมีรายได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท SME จึงมีจำนวนรวมกันมีจำนวนมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่อย่างแน่นอนอยู่แล้ว จึงตามมาด้วยตัวเลขการจ้างงานที่สูงอีกด้วย
“ขณะนี้มันเป็นคลื่นลูกหนึ่งของปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าคลื่นลูกก่อนๆ” คือคำอธิบายถึงสถานการณ์ของ SME ในตอนนี้ เพราะแม้ว่าธุรกิจจะมีขึ้นลงบ้าง รอดบ้างล้มบ้างตามสถานการณ์เศรษฐกิจรวมในประเทศและตามวัฏจักรของธุรกิจเอง แต่โดยปกติ แม้จะมี SME ที่ล้มหายตายจากไปบ้าง แต่ภาพปัจจุบันคือการที่เศรษฐกิจโตช้าลงมาเรื่อยๆ
“ถ้าเกิดใครล้มช่วงนี้ โอกาสที่จะลุกขึ้นมาใหม่มันก็จะมีไม่เยอะเท่าสมัยก่อน จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สําคัญ” พิพัฒน์สรุป โดยปัจจัยสำคัญคือธรรมชาติของ SME เองที่เข้าถึงทรัพยากรได้จํากัด และปรับตัวได้น้อย แถมยังเจอแรงกดดันจากกลุ่มทุนใหญ่ เปรียบเทียบได้กับภาพของชิ้นพายที่ถ้าหากยังขยายตัว ธุรกิจเล็กๆ ก็คงได้รับแบ่งชิ้นมาบ้าง แต่เมื่อพายชิ้นใหญ่หดลง คนที่ยังได้รับพายชิ้นใหญ่อยู่ ก็กัดกินโอกาสของคนพายชิ้นเล็กๆ เข้าไปด้วย
พิพัฒน์ขยายเพิ่มเติมถึงภาพใหญ่ว่า ดูเศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวมก็ค่อนข้างหนืด เพราะแรงส่งของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเจอปัญหาค่อนข้างเยอะ ประกอบกับกำลังซื้อภายในประเทศอ่อนแรง ยิ่งทำให้ SME เผชิญความท้าทายมากยิ่งขึ้น
ปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ความท้าทายที่ SME ต้องเผชิญ
SME ยังเผชิญกับ 3 ปัญหาใหญ่จากธรรมชาติของความเป็น SME นั่นก็คือ
- ด้วยขนาดที่เล็ก จึงสู้ธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ได้ ทั้งในด้านการสเกล และความคล่องตัว
- มีสายป่านที่สั้น เช่น เปรียบเทียบระหว่างร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่ทำในบ้านหรือห้องตึกแถว กับร้านวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ SME จะมีต้นทุนในการสต็อกของที่น้อยกว่า เมื่อพบปัญหาจึงได้รับผลกระทบเยอะกว่า
- ความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่า เพราะมีทรัพยากรที่ด้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างที่เห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อมีเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง SME จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และมีผลกระทบที่กระจายไปในวงกว้างเนื่องจากมีการจ้างงานสูง
ซึ่งในระยะหลังนี้ มีปัญหา 3 คลื่นลูกใหญ่ด้วยกันที่กระทบต่อ SME
คลื่นลูกที่ 1 SME จำนวนมากเป็นธุรกิจประเภทซื้อมาขายไป (dealer) ดังนั้น สำหรับ SME ที่เป็นดีลเลอร์สินค้าทางการเกษตร จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรขึ้นๆ ลงๆ
คลื่นลูกที่ 2 คือ โมเดิร์นเทรด (modern trade) ที่เข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งร้านสะดวกซื้อ หรือแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มาทำธุรกิจขายปลีกและขายส่ง แตกต่างจากในอดีตที่มีร้านขายปลีกเป็นเพียงร้านโชห่วยใกล้บ้าน ซึ่งถือเป็นกลุ่ม SME จำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ในไทย แต่ภายหลังปรับตัวเป็นร้านสะดวกซื้อแบรนด์แฟรนไชส์ต่างๆ ทำให้มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สำหรับคนทำธุรกิจค้าปลีกที่ปรับตัวไม่ทันก็จะต้องล้มเลิกไป
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคลื่นต่อเนื่องกัน คือกระแสของ e-commerce ซึ่งผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้าได้โดยตรงจากต้นทาง จึงเป็นการขจัดตัวกลางร้านค้าปลีกออกไป โดยในมุมผู้บริโภคย่อมชอบมากกว่าเพราะสะดวกในการไม่ต้องเดินหา และในแพลตฟอร์มออนไลน์ยังมีคูปองส่วนลดต่างๆ ทำให้ราคาถูกกว่าหน้าร้าน
คลื่นลูกที่ 3 ความสามารถในการแข่งขัน SME ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ช้า แล้วก็เรื่องของความสามารถในการแข่งขัน โดยพิพัฒน์เห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในจุดเปลี่ยนที่สําคัญว่า จากเดิมที่เศรษฐกิจไทยเดินไปได้ด้วยสินค้าธุรกิจที่ใช้แรงงานสูง แต่มีมูลค่าเพิ่ม (value added) ต่ํา เช่น งานตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ตอนนี้ไทยดำเนินไปด้วยธุรกิจที่มีการสร้างมูล value added สูงขึ้น และใช้แรงงานน้อยลง
ซึ่งในด้านความสามารถในการแข่งขันนี้ ยังขยายได้เป็น 3 ประการย่อย คือ
- การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ไทยตามไม่ทัน เช่น รถยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยเคยมีความโดดเด่น มีการจ้างงานมากในระดับแสนคน ในอดีตน่าจะมีผลถึงประมาณ 10% ของ GDP แต่ในปัจจุบันนี้เมื่อเทคโนโลยีรถไฟฟ้าเข้ามา แม้แต่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างญี่ปุ่นยังมีการปิดโรงงาน ทำให้ยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงกระทบไปถึง SME ไทยที่อยู่ใน supply chain ด้วย
- ต้นทุนแรงงานไทยแพงขึ้น ในอดีตไทยอาจมีคู่แข่งไม่มาก แต่ปัจจุบันมีคู่แข่งเป็นแรงงานทั้งจากจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และอื่นๆ ซึ่งมีแรงงานถูกกว่าไทย ทำให้หลายอุตสาหกรรมอยู่ในไทยต่อไปไม่ไหว
- การทุ่มตลาด (dumping – การกำหนดราคาเพื่อขจัดคู่แข่งขัน โดยผู้ผลิตส่งออกผลิตภัณฑ์ไปขายยังต่างประเทศในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ตั้งในตลาดของประเทศนั้น) ทำให้ต้นทุนสินค้าจากต่างประเทศ อย่างประเทศจีน มีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทยเอง
COVID-19 – ต่างประเทศ – การเมือง ปัจจัยสำคัญต่ออุปสรรค SME ไทย
พิพัฒน์ได้สรุปถึงปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อสถานการณ์ของ SME ในปัจจุบันไว้ ดังนี้
- ‘COVID-19’ แม้จะผ่านช่วงของสถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่มาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ผลของมันกลับยังคงทิ้งร่องรอยแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจไทยมาจนถึงตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการย้ายแรงงาน และความสามารถในการแข่งขัน และสถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดเป็นวงกว้าง ทำให้ภาพของการลงทุนและภาพการค้าเปลี่ยนไป ในยุคนี้ SME จึงต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะไม่ได้แข่งอยู่ในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่โดนแรงกดดันจากประเทศอื่นเข้ามาด้วย
- ‘การแข่งขันกับต่างประเทศ’ แน่นอนว่าระบบการค้าเสรี (free trade) นั้นก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ในการจะได้มีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้า แต่ผู้ประกอบการจะเหนื่อยในการแข่งขันจากผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ํากว่า ในที่นี้คือผู้ผลิตจากต่างประเทศ ดังนั้น การใช้เครื่องมือทางการค้าจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา ควรตั้งโจทย์ว่าปัจจัยหรือแรงกดดันที่มากระทบต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการในประเทศในขณะนี้ เราควรต้องทําอะไรบ้าง หรือเราควรเชื่อในการค้าเสรีต่อไปแม้อาจจะเสี่ยงทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระที่หนักขึ้น อันเป็นเรื่องที่ต้องหาจุดสมดุล
- ‘โครงสร้างสังคม’ ประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ค่าแรงสูงขึ้น แรงงานขาดแคลน และความสามารถในการแข่งขันของเราก็ค่อยๆ ด้อยลงไป ในขณะที่ประเทศอื่นเริ่มลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ มีการสร้างฐานที่แข็งแรงหรือขยับขยายมากขึ้น
- ‘การเมือง’ ควรมีการตั้งโจทย์ขึ้นมาถกเถียงถึงการออกนโยบายที่เหมาะสม ว่าควรจะมีนโยบายเพื่อปกป้องผู้ประกอบการ SME หรือไม่ ซึ่งอาจยังไม่มีคำตอบว่าทางไหนเป็นทางที่ดีที่สุด เพราะส่วนหนึ่งมันก็เป็นกลไกทางการเมืองเช่นกัน ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่มีคนกลุ่มนึงกําลังได้รับผลกระทบ ทางการเมืองควรจะทำอะไร จะปกป้องหรือไม่ปกป้องคนเหล่านั้น และถ้าไม่ปกป้องจะมีมาตรการในการให้ปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ และสุดท้ายคือจะหากลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (engine of growth) ใหม่ให้คนเหล่านี้อย่างไรบ้าง
SME ไทย จะฝากความหวังไว้กับการ ‘ลดดอกเบี้ย’ และ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ได้หรือไม่?
บนโซเชียลมีเดียจะปรากฏข้อเรียกร้องหนึ่งจากกลุ่ม SME คือการขอให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ แต่นโยบายนี้จะมีส่วนช่วย SME ได้จริงหรือ? พิพัฒน์เห็นว่าอาจช่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะเป็นต้นทุนที่ SME อาจนำไปใช้ในการพิจารณาลงทุนเพิ่มการขยายกิจการได้ ดังนั้นดอกเบี้ยต่ําย่อมดีกว่าดอกเบี้ยสูง แต่ถ้าลดดอกเบี้ยโดยไม่แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างก็อาจจะกลายเป็นปัญหาใหม่ เช่น ธนาคารไม่ปล่อยกู้ ซึ่งในช่วงระยะหลังมานี้ ประเด็นการปล่อยกู้อาจเป็นปัญหามากกว่า เพราะธนาคารเห็นว่า SME มีปัญหาเรื่องการจ่ายคืนหนี้ จึงระมัดระวังอะไรที่เกี่ยวข้องกับ SME มากขึ้น ดังนั้นการลดดอกเบี้ยจึงอาจจะช่วยแก้ปัญหาในตอนนี้ได้บ้าง แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาทั้งหมดที่ SME กำลังเผชิญ
นอกจากนั้น ยังมีคำถามที่ว่า หากเริ่มใช้งานดิจิทัลวอลเล็ต จะเข้ามาช่วยให้การจับจ่ายใน SME คึกคักมากขึ้นหรือไม่ พิพัฒน์เห็นว่า สุดท้ายแล้วนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการแจกเงินให้ใช้จ่าย ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-off) คืออาจมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการทำให้คนมีกําลังซื้อดีขึ้นในระยะสั้น และอาจช่วย SME ได้บ้าง แต่ไม่มีอะไรมาบอกได้ว่า 6 เดือนหลังจบโปรแกรมแล้วจะมีผลที่ยั่งยืนต่อไปได้
แน่นอนว่าการกระตุ้นระยะสั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจํากัด พิพัฒน์เห็นว่าภาครัฐควรพิจารณาว่าจะสามารถนำเงินก้อนเดียวกันนี้ไปทำอะไรที่มีผลตอบแทนในระยะยาวได้หรือไม่ เพราะจะต้องไม่มองแค่ต้นทุนที่เกิดขึ้นกับภาครัฐเท่านั้น แต่ยังมีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่อาจนำเงินก้อนนี้ไปทําอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่าได้
และยังมีปัญหาที่ควรแก้ในระยะยาว อย่างเรื่องความสามารถในการแข่งขัน อุตสาหกรรมใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยี การเพิ่มทักษะของแรงงานเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันกับการกระตุ้นกำลังซื้อในระยะสั้น
ดังนั้น การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ก็จะต้องใช้การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยชี้ให้ชัดว่าปัญหาคืออะไร เราแข่งกับประเทศอื่นๆ ไม่ได้เพราะอะไร เป็นเรื่องของเทคโนโลยีหรือเปล่า ถ้าหากเป็นเรื่องของเทคโนโลยี แล้วไทยจะเอาเทคโนโลยีมาจากไหน ต้องใช้การถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transfer) หรือต้องการการลงทุนจากต่างประเทศหรือไม่
รวมถึงปัญหาการขาดแคลนของแรงงานที่มีทักษะ เราจะเอาแรงงานที่มีทักษะมาจากไหน อาจต้องปรับแก้ที่การศึกษา หรือทำนโยบายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน ประเด็นพวกนี้ก็สําคัญมากที่ไม่ควรจะละเลยไป “การกระตุ้นระยะสั้นก็ต้องทำ เพราะเศรษฐกิจมันค่อนข้างแผ่วและมีแรงส่งค่อนข้างจํากัด แต่ว่าอย่าลืมว่าทําไปแล้ว เราก็อย่าละทิ้งนโยบายระยะยาวด้วย เพราะวันนี้ดูเหมือนว่าเราแทบจะไม่ได้เอาทรัพยากรมาลงทุนกับนโยบายระยะยาวเท่าที่ควร” พิพัฒน์กล่าว
‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ นโยบายระยะยาวที่ควรให้ความสำคัญ
พิพัฒน์เห็นว่า สำหรับการทำนโยบายระยะยาวควรจะเน้นเรื่องการลงทุน เพราะประเทศไทยขาดการลงทุนมาเป็นเวลานาน อันมาจากโอกาสในการเติบโตที่ค่อนข้างจํากัด อย่างการเข้าสู่ aging society ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะประชากรวัยทํางานกำลังมีจำนวนลดลง จึงต้องนำการลงทุนมาช่วย ซึ่งถ้าหากการลงทุนในประเทศไม่เพียงพอ ก็จะต้องหาวิธีดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น
การจะทำเช่นนั้นได้ ต้องค้นหาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ต่างชาติไม่มาลงทุนที่ไทยว่าเกิดจากอะไร ข้อจํากัดคืออะไร ไทยแข่งกับประเทศอื่นไม่ได้ตรงไหนและภาครัฐจะจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร
พิพัฒน์เห็นว่าประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตเทคโนโลยีเอง โดยเทคโนโลยีส่วนใหญ่มาจากการลงทุนจากต่างประเทศ และใช้การโอนย้ายเทคโนโลยีเข้ามา ถึงจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้
3 ประเด็นสำคัญที่ทำให้ไทยยังขาด และทำให้ชาวต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน จึงได้แก่
- ขาดแรงงานมีทักษะที่มีคุณภาพเหมาะสมกับงานที่อยากจะทํา เช่น แรงงาน STEM ซึ่งอาจต้องแก้ไขตั้งแต่ระบบการศึกษาที่จะเตรียมคนให้พร้อมสำหรับงานสายนี้ได้ หรืออาจแก้ในนโยบายรับคนเข้าเมือง เพราะถ้าหากไทยผลิตคนไม่ทัน ก็อาจใช้การดึงดูดให้คนจากต่างประเทศเข้ามาทํางานในเมืองไทยได้ง่ายขึ้นได้ เช่น สิงคโปร์ หรือสหรัฐอเมริกา ในสายงานที่คนขาดแคลนก็จะรับคนต่างชาติเข้ามา แต่ในกลุ่มแรงงานที่ไม่ขาดแคลนก็ยังขีดเส้นเอาไว้เฉพาะคนในประเทศเท่านั้น
- ปฏิรูปโครงสร้างเกี่ยวกับรัฐบาล เพราะมีเสียงเรียกร้องว่ารัฐบาลมีกฎระเบียบหรือข้อบังคับทางราชการที่วุ่นวายกว่าความจำเป็น
- หาโอกาสขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยต้องไม่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีโอกาสในการกินรวบจนกระทบกับธุรกิจรายเล็ก จึงจะเป็นการเปิดโอกาสให้ SME ขยายความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่เคยใช้ ‘นโยบายลูกศรสามดอก’ (นโยบายทางการเงินเชิงรุก การผ่อนคลายนโยบายทางการคลัง และยุทธศาสตร์การสนับสนุนการเติบโต หรือการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน) ในปี 2012 ซึ่งใช้เวลากว่า 10 ปีกว่าจะทําสําเร็จ
นโยบายดังกล่าวประกอบด้วยการปฏิรูปหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตลาดแรงงาน ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ การปฏิรูป corporate governance ทําให้คนสนใจอยากลงทุนมากขึ้น ไทยจึงต้องปฏิรูปสิ่งเหล่านี้เช่นกัน เพื่อให้มีความหวังเพิ่มมากขึ้น และไม่ทำให้คนรู้สึกว่าประเทศไทยมีแต่ปัญหา
“ถ้าเราไม่ยอมรับว่าเรามีปัญหาเนี่ยผมว่าเราก็จะไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาพวกนี้ได้”
การเมืองฝั่งนโยบายจำเป็นที่จะต้องตระหนักว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหา และปัญหาที่มีจะแก้อย่างไร ซึ่งไม่ว่าจะทำอะไรก็จะต้องมีคนเสียประโยชน์แน่นอน แต่วิธีที่จะทําให้คนเสียประโยชน์มาร่วมมือได้ จะต้องมีภาพทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง โดยอาจมีการเจรจาต่อรองเพื่อที่จะคลี่คลายข้อขัดแย้ง โดยหาทางออกที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อทุกฝ่ายน้อยที่สุด
โอกาสใหม่ของ SME ไทย
“ต้องหาว่าเราเก่งอะไร และเป็นสิ่งที่เรา (ประเทศไทย) สู้กับเขา (ต่างประเทศ)ได้ เพราะถ้าทำอะไรที่สู้เขาไม่ได้ วันนี้โลกมันก็อยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ” พิพัฒน์เห็นว่า SME ไทย มีหลายอุตสาหกรรมที่เป็นแนวหน้า อย่างในเรื่องเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ การออกแบบชิปสำหรับปัญญาประดิษฐ์
แต่ด้วยโครงสร้างในตอนนี้ที่ทำให้มีต้นทุนแรงงานที่น้อยลง รวมถึงการแข่งขันจากทั่วโลกที่ดุเดือดขึ้น จึงจะต้องหาอุตสาหกรรมเหมาะกับความสามารถของไทย และต้องมี value added ซึ่งอาจจะบอกอย่างเฉพาะเจาะจงได้ยากว่าไทยควรจะไปทําธุรกิจอะไร จึงอยากแนะนำว่าให้ทำในสิ่งที่มี passion และ strenght
สำหรับคนที่พิจารณาจะเริ่มทำธุรกิจ SME ในขณะนี้ พิพัฒน์แนะนำให้ละเอียดรอบคอบกับแผนธุรกิจ และดูสภาพแวดข้องอุตสาหกรรมธุรกิจที่อยากเข้าไป ว่าปัจจุบันมีผู้เล่นเป็นใครบ้าง ความสามารถในแข่งขันเราเป็นยังไง และจะสู้ได้จริงหรือไม่
“ไม่อยากให้หมดความหวัง ผมว่ายังไงมันก็มีโอกาสเสมอ”
ในไทยเอง SME หลายแห่งก็ประสบความสําเร็จ ถึงแม้ว่าภาพใหญ่จะเห็นว่ามีปัญหา แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจจะเห็นโอกาสอย่างไรบ้าง เช่น หลายอุตสาหกรรมต้องทํางานหนักขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการทําธุรกิจให้มากขึ้น จึงจะแข่งกับคนอื่นได้
อ้างอิงจาก