ถ้ารู้สึกไม่ชัดเจนให้ถือว่าไม่ใช่ไว้ก่อน (interpret all mixed signals as a “No”)
จริงไหมกับคำแนะนำความสัมพันธ์เบื้องต้น การที่เราอยู่ในความสัมพันธ์ไม่ว่าจะคนคุยหรือคนจีบกันก็ตาม ถ้าอีกฝ่ายเริ่มส่ง ‘สัญญาณคลุมเครือ’ คือเราเริ่มรู้สึกแบบเดียวกับเพลงของลีเดียว่า เฮ้ย ฉันเริ่มไม่รู้วบ์แล้วว่าระหว่างเราคืออะไร เราเริ่มพบว่าเรานี่มันเบลอ หรือเธอไม่ชัดเจนกับเรา ไอ้ความรู้สึกไม่ชัดเจนเผลอๆ กวนใจยิ่งกว่าความผิดหวังซะอีก ความรู้สึกที่ทำให้เราสับสนว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้ ควรมีความหวังอยู่ไหม ในความน่าปวดหัวก็มีคำแนะนำข้างต้นที่บอกกับเราไว้ว่า ถ้าไม่ชัดเจนก็ให้นับว่าไม่ใช่ไว้ก่อน เซฟใจตัวเองไว้ก่อน
แล้วคำว่าสัญญาณไม่ชัดเจน หรือ mixed signals คืออะไรกันแน่? ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า คำว่าสัญญาณที่ไม่ชัดเจน จริงๆ การตีความความสัมพันธ์หรือศิลปะในการสานสัมพันธ์ เช่น เราจะจีบหรือคบกับคนอีกคนเป็นเรื่องซับซ้อน การดูท่าที การตอบสนองว่าตกลงแล้วคนที่เราดูใจอยู่นี้เป็นคนที่อาจจะมีอนาคตด้วย ได้ขยับความสัมพันธ์ในระดับต่อๆ ได้ไหม หลายครั้งเราเองต้องอาศัยการอ่านพฤติกรรม หรือท่าทีของอีกฝ่าย เป็นเรื่องของการสื่อสารทำความเข้าใจ ความไม่ชัดเจนในที่นี้ ส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับการแสดงออกที่บางทีก็ไม่แสดงออก จนเริ่มทำให้เรารู้สึกว่าตกลงแล้วการคุยกันนี้มันคืออะไร มีใจไหม จริงจังรึเปล่า หรือจะเอาไงยังไงแน่
ในความซับซ้อนของความสัมพันธ์ สัญญาณจากอีกฝ่ายก็มีความซับซ้อนในตัวเองด้วย ซึ่งหมายความว่าสัญญาณต่างๆ มักเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ เป็นพฤติกรรมหรือความรู้สึกบางอย่างที่เราสัมผัสได้ เป็นการกระทำที่ทำให้เอ๊ะ ว่าเส้นแบ่งของเราไม่เท่ากัน หรืออาจเป็นการสื่อสารที่ไม่ดีพอ บางทีเราเองก็สับสนกับสัญญาณต่างๆ เองด้วย จนเกิดเป็นประเด็นปรับทุกข์กับเพื่อนว่า แก เขาทำแบบนี้ มันหมายถึงอะไรแน่? มันทำได้รึเปล่าแบบนี้? ก่อเกิดเป็นความนอยด์และความว้าวุ่นใจขึ้นไปอีก
ความไม่ชัดเจนเป็นเรื่องแสนจะซับซ้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเจอได้ หลายครั้งเราก็ไม่เข้าใจว่านี่คือความไม่ชัดเจนไหม การมองเห็นว่านี่คือสัญญาณขาดๆ หายๆ อาจเป็นจุดเริ่มหนึ่งของทั้งความเข้าใจ และการหาทางไปทำให้มันชัดเจนซะว่าจะเอายังไง กรณีความไม่ชัดเจนในความสัมพันธ์บางครั้งอาจไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของอีกฝ่าย แต่ตัวเราเองก็อาจทำสิ่งนั้นๆ อยู่ การทำความเข้าใจว่าเราเองต้องการให้ความสัมพันธ์นี้ไปทางไหน และหาจุดพูดคุยสื่อสาร ก็อาจทำให้เราที่เป็นคนไม่ชัดเจนเองนั้นได้ชัดเจนขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ที่ดำเนินอยู่ยังก้าวต่อไป (ไม่ว่าจะพัฒนาต่อหรือถอยห่าง) ทำให้ไม่คาราคาซังและทรมานใจทั้ง 2 ฝ่าย
The MATTER เลยขอชวนไปดูว่า ในความว้าวุ่นใจของเรา หรือเราเองที่อาจทำให้ใครวุ่นวายใจผ่านความเบลอในความสัมพันธ์ของเรา กับ 10 สัญญาณสับสนในความสัมพันธ์ และแนวทางการจัดการคร่าวๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการจัดการในภาพรวมด้วยการทำความเข้าใจทั้งตัวเอง ความสัมพันธ์ และหาทางพูดคุยสื่อสาร หรืออาจจะปรับพฤติกรรมกัน บางทีความเบลออาจจะไม่มีอะไร เพียงแค่แต่ละฝ่ายมีมาตรฐานในความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์ต่างๆ กัน แต่จะว่าไปแบบที่มีก็มีอยู่ เพราะงั้นเราเองก็ต้องเตรียมใจไว้หน่อย
แชตเก่งแต่ไม่ยักจะนัดเจอ
ความเบลอแรกสัมพันธ์กับความสัมพันธ์สมัยใหม่ คือการที่เราอาจจะเจอกันเพียงแวบหนึ่ง หรืออย่างสำคัญคือการคุยกันผ่านแอปฯ ผ่านโลกออนไลน์ แต่คุยไปคุยมา สุดท้ายก็ไม่ยอมนัดเจอ หรือชวนกันไปเจอหน้ากันแบบตัวเป็นๆ กันสักที ความสัมพันธ์เรื่อยๆ แบบนี้ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยากจริงจังก็จะรู้สึกอึดอัด และเริ่มสงสัยว่าตกลงแล้วเราชอบกันแน่รึเปล่า?
ด้วยบริบทออนไลน์ เราอาจอยู่ในความสัมพันธ์แบบไม่เจอหน้าสักทีกันอยู่หลายคน สำหรับใครที่คุยอยู่แล้วคิดว่าจริงจัง แต่อาจจะงานยุ่งหรือเป็นอินโทรเวิร์ด เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วก็ไปเจอตัวกันบ้าง เพราะถือเป็นขั้นตอนการพัฒนาความสัมพันธ์ที่สำคัญอยู่ ส่วนใครที่อยากให้ความสัมพันธ์ชัดเจนก็บอกไปตรงๆ เลยดีกว่า เจอก็เจอ ไม่เจอก็เลิกคุย เสียเวลา
คิดถึงนะแต่เอาเฉพาะที่เขาสะดวกจริงๆ
หนึ่งในสุดยอดสาเหตุความงอนและความน้อยใจ โดยเฉพาะการคุยกับคนที่มีอายุหน่อย งานยุ่ง ทำงานเยอะ กิจกรรมเยอะ เราอาจจะเริ่มพบว่า อ้าว มีเวลาให้กับทุกอย่างยกเว้นเรารึเปล่า การจะมาคุยกันหรือมาเจอกันได้เนี่ย ถ้าไม่สะดวกจริงๆ ก็ไม่ยอมมาเจอหรือมาคุยเลย ถ้าคนมันสำคัญหาเวลาบอกกันสักสิบวินาทีไม่ได้เลยเหรอ หรือสัปดาห์หนึ่งแวะมากินข้าวด้วยกันสักมื้อก็ไม่มีเหรอ
สำหรับท่านที่น้อยใจอยู่ก็อาจต้องบอกอีกฝ่ายไปตรงๆ ว่าน้อยใจนะ บางกรณีคนกิจกรรมเยอะมันก็เยอะจริงๆ บางคนไม่ติดมือถือจริงๆ ก็มี ส่วนท่านที่เป็นอยู่ก็อาจจะต้องคิดบ้างว่า เราชอบเขาไหมในความสัมพันธ์นี้ ถ้าคิดถึงก็พิมพ์ไปหน่อยคงไม่ยาก หาเวลาไปเจอกันหน่อย ทิ้งๆ ขว้างๆ กันไม่ดีหรอกนะ
นัดดิบดีแต่เททิ้งนาทีสุดท้าย
ข้อนี้เกี่ยวพันกับหลายๆ ข้อก่อนหน้า พฤติกรรมการเทและความไม่ชัดเจนที่ปรากฏบ่อย ในบทความว่าด้วยสัญญาณคลุมเครือมักมีข้อนี้ นัดเดต นัดเจออย่างดิบดี แล้วท่านก็จัดการแคนเซิลในวินาทีสุดท้าย การยกเลิกนัดแน่นอนว่าเป็นการทำร้ายความรู้สึกอยู่แล้ว คนที่จริงจังมักจะเตรียมตัวเตรียมใจไปเจอกันเป็นอย่างดี ฝ่ายที่ยกเลิก ถ้าจริงจังอย่างน้อยก็ต้องรับรู้ว่าการเทในวินาทีสุดท้ายเป็นเรื่องร้ายแรง การรอเก้อนั้นเจ็บปวด
ดังนั้น คำแนะนำอาจเป็นการพยายามทำความเข้าใจของทั้ง 2 ฝ่ายว่าเกิดอะไรขึ้น หรืออาจจะทำความเข้าใจหรือชดเชยกันด้วยการแก้ตัวใหม่ในคราวหน้าก็ได้ ในเว็บเช่น marriage.com ถึงขนาดแนะนำว่า ให้เราดูสัญญาณและการจัดการตรงนี้ดีๆ ถ้าเห็นท่าไม่ดี การพิจารณายุติความสัมพันธ์อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง
หึงง่าย งอนเก่ง แต่ไม่เห็นสรุปความสัมพันธ์
อาการหวงอาจพบได้บ่อยในสถานะคนคุย ประเด็นที่พบได้คือในความสัมพันธ์ที่ยังไม่มีการให้สถานะ ไม่มีการบอกว่าเราพิเศษซึ่งกันและกัน มีเฉพาะกันและกันนะ แต่อีกฝ่ายหรือเราเองกลับรู้สึกหึงหวงขึ้นมา ความหึงหวงหรือน้อยใจอาจเกิดขึ้นได้เวลาที่อีกฝ่ายอยู่กับเพื่อนหรือคนอื่น ตรงนี้อาจเป็นสัญญาณของความหวงก้าง จะชัดเจนก็ไม่ แต่ก็เที่ยวได้หึงเหมือนเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ
ในบางความเห็นถึงขนาดอ่านเป็นสัญญาณอันตรายกันเลยทีเดียว (red flag) คือไม่ยอมรับเป็นตัวเป็นตน แต่จะมาควบคุมบงการกันว่าอีกฝ่ายอย่าไปคุยหรือทำอะไรอย่างไร ดังนั้น จะหึงใครก็ต้องยอมรับก่อนว่าคนนี้มีสถานะกันจริงจังอย่างเป็นทางการ
กับแฟนเก่ามันเป็นยังไงไหนพูดซิ
ความสุดยอดว้าวุ่นใจ คือการคุยกับใครแล้วคนนั้นยังดูมีซัมติงกับแฟนเก่า ในระดับอุดมคติ คนเป็นคู่รักเก่าที่เลิกรากันอาจกลายสถานะเป็นเพื่อนกันได้จริงๆ แต่ในสายตาของความสัมพันธ์ที่กำลังก่อตัว หรือสำหรับคนคุยปัจจุบัน การที่อีกฝ่ายอาจจะแสนสบายหรือใกล้ชิดกับคนรักเก่ามากไปสักนิด ก็ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกวุ่นวายใจได้แน่ๆ เป็นเรื่องธรรมดาถ้าอยู่ในความสัมพันธ์ไม่ชัดเจนแล้วใครอีกคนมีร่องรอยต่อคนรักเก่า ก็อาจทำให้คนที่มาทีหลังรู้สึกว่าสำคัญน้อยกว่าไหม หรือระแวงว่าอีกฝ่ายจะรีเทิร์นรึเปล่า
การวางขอบเขตที่ชัดเจนจึงเป็นเรื่องสำคัญ การที่คนในความสัมพันธ์เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ความสำคัญอันดับแรก ยิ่งเป็นคนที่มาทีหลัง เป็นคนที่ยังไม่อยู่ในความสัมพันธ์ที่ชัดเจน ยิ่งเป็นความรู้สึกแย่ๆ จนทำให้ไม่กล้าที่จะสานต่อความสัมพันธ์ หรือเอาใจลงไปในพื้นที่ที่เคยมีใครอีกคนแล้วยังปรากฏตัวอยู่ ดังนั้น กับแฟนเก่าก็อาจจะพิจารณาห่างๆ หน่อย จะก้าวต่อไปก็อาจต้องเลี่ยงความขัดแย้งนิดหนึ่ง
มีเราคนเดียวแต่หลีไปทั่ว
บางคนก็เจ้าเสน่ห์เหลือเกิน อาการไม่ชัดเจนที่กวนใจคืออาการขี้หลี (Flirtly) ถ้าในความสัมพันธ์ยังไม่มีอะไร การคุยการหยอดไปเรื่อยโดยที่ในใจบอกว่าไม่ได้คิดอะไรก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ต้องเข้าใจว่าการหยอดเป็นความพยายามเริ่มต้นของการนำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก หรืออาจนำไปสู่ความสัมพันธ์พิเศษๆ กับคนที่ไปหยอดหรือไปจีบเขา
การเห็นคนที่คุยๆ กันอยู่ไปจีบคนอื่นจึงสามารถตีความได้ว่า อ้าว เธอกำลังหาทางเลือกเสริมรึเปล่า ตรงนี้เลยเริ่มยกธงแดงเหมือนกันถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับไม่ได้ แต่ถ้ารับได้ก็ต้องคุยกันจริงๆ ว่าอีกฝ่ายบริหารเสน่ห์เฉยๆ ไหม หรือบางทีไม่ได้คิดอะไร เราอาจต้องหาเส้นแบ่งของความ ‘ไม่ได้คิดอะไร’ กับการ ‘หลี’ ร่วมกัน อันที่จริงการที่คนคุยหรือคนในความสัมพันธ์เรามีเสน่ห์นั้นอาจช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของเราได้ แบบแฟนฉันฮ็อต แต่ต้องเข้าใจกัน 2 จริงๆ ว่าไม่มีอะไรอย่างแน่ชัด
รักนะแต่ไม่แสดงออกข้างนอก (แสดงบ้าง)
เราอาจเจอความสัมพันธ์ที่เมื่อถึงเวลาก็ชัดเจนดีในพื้นที่ส่วนตัว แต่พอออกไปข้างนอกในพื้นที่สาธารณะกลับไม่ทำตัวเป็นคู่รัก ออกไปข้างนอกไม่เห็นหวานเลย จุดนี้เองอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บปวดว่า อ้าว คบกับเรามันต้องกลัวคนอื่นเห็นเหรอ หรือเรามันไม่ดีหรือยังไง
สิ่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความซับซ้อน บางคนการแสดงความรักไม่เท่ากัน การมีพื้นที่ในพื้นที่สาธารณะ การแสดงความใกล้ชิดแตกต่างกัน บางคนเติบโตในสังคมที่มีพื้นที่ระหว่างบุคคลสูง การเดินจับมือ การแตะเนื้อต้องตัว หรือทำอะไรบางอย่างตามที่เราวาดภาพไว้ในความสัมพันธ์ อาจไม่คิดว่าสำคัญ ไม่ต้องเซอร์ไพรส์ ไม่มีดอกไม้ หรืออะไรต่างๆ
ทว่าถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ อีกฝ่ายหนึ่งก็ควรทำหรือควรแสดงออกบ้าง จริงๆ ก็ทำไปเลย หรือจะลองบอกกันตรงๆ ว่าทำบ้างนะ เพราะการกระทำเหล่านี้อาจแสดงถึงความชัดเจน และแสดงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (commitment)
ระหว่างเราคืออะไร แต่ขอรู้หน่อยเตง
บางครั้งในความสัมพันธ์ การปฏิบัติตามครรลองความสัมพันธ์ เช่น การแสดงความเปลี่ยนผ่าน (transition) อาจเป็นองค์ประกอบที่ยังจำเป็นอยู่ อย่างคุยกันไปนานๆ อาการเหมือนจะใช่ แต่บางทีก็เหมือนไม่ใช่ บางคนอาจบอกว่าความรักไม่ต้องการนิยาม การกระทำสำคัญกว่าการพูด ความสัมพันธ์ดำเนินไปเรื่อยๆ แต่ทั้งคู่อาจจะยังไม่มีการพูดออกมาว่า เอ้อ ตกลงเรา 2 คนนี่คบกันแบบไหนนะ จะมาบอกว่าไม่ต้องรู้ว่าเราคบกันแบบไหน มาอึมครึมคลุมเครือในที่สุดอาจจะไม่ดีเท่าไหร่
ดังนั้น ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองต้องการความชัดเจน เจอกันบ่อยๆ คุยกันทุกวัน และอยากให้อีกฝ่ายนิยามความสัมพันธ์นี้หน่อย เอาคร่าวๆ ก็ได้ว่าเออ นี่เป็นแฟนกันเนอะ คู่รักกันเนอะ จริงจังกัน ถ้าสมัยใหม่หน่อยก็เคลียร์กันไปเลยว่าจะเป็นแบบไหน การวางนิยามแบบพอเข้าใจทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ทำใจได้ถูก และวางแผนจัดการความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น
คุยคนเดียวเก่ง หมายถึงเราเนี่ย
แชตหนักขวาเป็นอีกสุดยอดปัญหาความสัมพันธ์ ตกลงนี่เราคุยกับใครน้า คุยอยู่คนเดียวหรือไม่อยากจะคุยด้วย อันที่จริงการที่เราคุยไป 5 ย่อหน้าแล้วเขาตอบมาว่า ‘อืม’ ฝ่ายที่คุยเยอะหรือรอคำตอบ ก็แทบจะตีความคำว่า ‘อืม’ หรืออีโมจิเป็นคำปฏิเสธโดยปริยาย คุยๆ แล้วหายไปเลย คนที่รอมันก็ทรมานใจใช้ได้
ในกรณีโลกความจริง มันก็มีแหละเช่นที่บอกไปข้างต้นว่า อีกฝ่ายอาจจะยุ่งจริงๆ จับมือถือกดส่งปุ๊บแล้วไปทำอย่างอื่นเลย กดเสร็จไม่จับมือถืออีกเลย หรือบางทีคนที่ลืมก็ลืมจริงๆ แต่ถ้าหลายวันค่อยตอบ แล้วยังตอบสั้นอีก อันนี้ก็อาจจะเตรียมใจหน่อย หรือพฤติกรรมเป็นแบบนั้นก็อาจต้องเข้าใจ เช่น แชตน้อยจริง แต่เจอหน้ากันปกติ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเราว่าในโลกดิจิทัล การสื่อสารด้วยมือถือมันง่ายก็อาจลองหาเวลาสักหน่อย
อยู่ดีๆ ก็หาย ตายยัง
ข้อสุดท้ายก็คือการโดนเท จริงๆ ข้อนี้พัวพันกับข้ออื่นๆ แต่ถ้าเราเจอการหายแบบหายไปนานๆ เราอาจเผชิญกับภาวะผีหลอก หรือ Ghosting ไอ้อาการแบบนี้มันน่าเอาไม้ไปตีนัก เช่น คุยกันดิบดีทั้งอาทิตย์ พอถึงจุดหนึ่งก็หาย แต่คำว่าหายในที่นี้คือหายไปเลยหนึ่งสัปดาห์หรือนานกว่านั้น พอเราทำใจได้ อยู่ๆ ก็ทักมา ดูทรงจะดีอีกแล้ว
ทรงนี้ถ้าเจอบ่อยๆ คิดว่าไม่น่าจะดี ความสัมพันธ์และความรักไม่น่าจะมาๆ หายๆ และแน่นอนว่า ‘ไม่ควรจะเป็นการเล่นเกม’ ใครจะไปหาอ่านสูตรพิสูจน์ความรัก มาๆ ไปๆ ถ้าเจออาการไม่ชัดเจน ลักปิดลักเปิดแบบนี้ แง่หนึ่งการเตรียมตัดใจไว้อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี ความรักที่จะยืนยาวไม่ควรเริ่มจากการอยู่ในเกมของใคร ไม่ควรให้ใครมาพยายามบงการความรู้สึกของกันและกัน มีอะไรบอก ทำอะไรบอก อย่าเล่นเกม จบ
อ้างอิงจาก