RECAP : ‘ตั๋วช้าง’ คืออะไร? สรุปอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งใน และนอกสภา ของ ส.ส.รังสิมันต์ โรม แบบครบจบรวดเดียว
วันนี้ (19 ก.พ.) เป็นวันที่ 4 ของอภิปรายไม่วางใจนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีอีก 9 คน โดย ส.ส.รังสิมันต์ โรม เป็นตัวแทนจากพรรคก้าวไกลรับหน้าที่อภิปรายเรื่อง ‘ตั๋วช้าง’ แต่ในระหว่างการอภิปรายมีการคัดค้าน และประท้วงหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งหมดเวลา ทำให้รังสิมันต์ตัดสินใจออกมาอภิปรายรายละเอียดของประเด็นตั๋วช้างด้านนอกสภา
ตั๋วช้างคืออะไร ? และเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีประวิตร วงษ์สุวรรณอย่างไร The MATTER จะมาสรุปรายละเอียดการอภิปรายทั้งหมดของ ส.ส.รังสิมันต์ โรม ให้ฟัง
- สืบเนื่องจากกรณีที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรีประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้มีตำแหน่งในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่การในโยกย้าย แต่งตั้ง และจัดสรรข้าราชการตำรวจ เป็นเหตุให้นายกฯ และรองนายกฯ เป็นผู้รับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ภายใน ก.ตร. อย่างอัตโนมัติ
- ส.ส.รังสิมันต์ กล่าวว่า การดำรงตำแหน่งระดับสูงของนายกฯ และรองนายกฯ กลับไม่สามารถกำจัดการแทรกแซงการใช้อำนาจในทางที่ผิดใน ก.ตร. ได้ ยังมีการซื้อขายตำแหน่งหน้าที่อย่างเปิดเผย และไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยเขาเปิดเผยว่า ครั้งหนึ่งพลตำรวจตรี วิสุทธิ์ วานิชบุตร รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการซื้อขายตำแหน่งว่า ถ้าไม่มีผู้ใหญ่คอยหนุน ก็จะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง แต่หากมี ‘ตั๋ว’ ราคาที่ต้องจ่ายก็จะถูกลง
- คำถามที่ตามมาคือ ‘ตั๋ว’ ที่มีการเอ่ยถึงนั้นคืออะไร และมีอำนาจมากแค่ไหน ? รังสิมันต์ยังได้เปิดหนังสือเอกสารชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย โดยมี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 (ผบก.ตร.มหด.รอ.904) ในขณะนั้น เป็นผู้รับผิดชอบการแต่งตั้งครั้งนี้ และเป็นผู้ส่งชื่อไปให้ ผบ.ตร พิจารณาต่อไป นำมาสู่การตั้งขอสังเกตว่า พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ มีอำนาจหน้าที่ใดในการแต่งตั้งข้าราชการนอกกองของตนเอง หากอ้างอิงจาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2554 แนวทางปฏิบัติในการจัดการข้าราชการตำรวจจะต้องจัดการกองใครกองมัน และไม่ก้าวก่ายหน่วยงานอื่น ดังนั้น การใช้อำนาจของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ นั้นถือว่าขัดต่อ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติหรือไม่
- นอกจากประเด็นเรื่องการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ รังสิมันต์ยังพูดถึงความสัมพันธ์ของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ และนายกฯ ประยุทธ์ และรองนายกฯ ที่มีการเอื้อประโยชน์ในการเลื่อนตำแหน่งต่างๆ ซึ่งรังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ มีการเติบโตในเส้นทางอาชีพตำรวจรวดเร็วผิดปกติ
- หากย้อนกลับไป พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ เริ่มต้นอาชีพตำรวจในปี พ.ศ.2541 ในตำแหน่งรอง สว. ซึ่งหลังจากนั้นการเลื่อนตำแหน่งต่างๆ ก็อยู่ในระดับปกติ จนกระทั่งปี พ.ศ.2561 พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ได้ขึ้นเป็น ผบก.ป. ซึ่งได้รับตำแหน่งโดยการยกเว้นหลักเกณฑ์ และหลังจากนั้น พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ได้เลื่อนตำแหน่งอีก 3 ครั้ง โดยมีเงื่อนไขการยกเว้นหลักเกณฑ์อีก 2 ครั้ง เท่ากับว่าพล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ใช้เวลาเพียง 3 ปี 4 เดือนในการเลื่อนตำแหน่งเพิ่ม 3 ตำแหน่ง ประหยัดเวลาจากการยกเว้นหลักเกณฑ์ไปได้ 8 ปี 8 เดือน จากเดิมที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ทำงานเวลากว่า 12 ปี
- การยกเว้นหลักเกณฑ์นั้นสามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขความสามารถ และผลงานจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่รังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ มีคุณสมบัติข้อใดจึงได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์ถึง 3 ครั้ง ในเมื่อที่ผ่านมา พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ มีข่าวว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาตลอด หรือเขามี ‘ตั๋ว’ จากใครที่สามารถสั่งให้นายกฯ และรองนายกฯ เซ็นอนุมัติให้ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษนี้
- นอกจากพล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยังมีข้าราชการตำรวจคนอื่นๆ อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.ต.สำราญ นวลมา รองผบช.น., พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป., สันติ ชัยนิรามัย ผบก.สส.บช.น. รวมถึงพล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. ที่ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์เหล่านี้นำมาซึ่งความไม่โปร่งใสในการแต่งตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมต่อนายตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบการทำงานมาโดยตลอด
- ย้อนกลับไปเรื่องการใช้อำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจของพล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ที่กล่าวถึงในข้อ 3 หากดู ‘เหตุสนับสนุนขอรับการแต่งตั้ง’ แล้ว เหตุผลที่พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ อ้างในการแต่งตั้งกลุ่มตำรวจนอกองบังคับบัญชาคือ ตำราจเหล่านั้นผ่านการอบรมหน่วยจิตอาสา 904 หลักสูตรประจำ และได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยอาสา 904 ได้มอบหมายภารกิจแล้ว เพื่อประโยชน์ตามหน่วยจิตอาสาใหญ่ 904 จึงขอสนับสนุนเข้ารับการแต่งตั้ง
- รังสิมันต์ได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า เพราะเหตุใดการปฏิบัติตามภารกิจจิตอาสา 904 จึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการได้รับการแต่งตั้ง ? ทั้งที่ข้าราชการตำรวจเองก็มีเกณฑ์ ก.ตร. พื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว แล้วทำไมการแจ้งรายชื่อสนับสนุนขอรับการแต่งตั้ง ส่วนนี้จึงเป็นหน้าที่ของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กรักษาพระองค์ ไม่ได้มีหน้าที่ตามข้อกำหนด
- ข้อมูลในการอภิปรายครั้งนี้ ยังชี้ถึง ‘ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา 904’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ซึ่งโครงการนี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อกำหนดนโนยายและภารกิจ โดยมี พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง เป็นประธาน ส่วนรองประธาน คือพล.อ.จักรภพ ภูริเดช รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และหนึ่งในคณะกรรมการ คือ พลตำรวจโท ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ นายทหารราชองครักษ์, รองผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
- หากถามว่าคนกลุ่มนี้มีความข้องเกี่ยวกันอย่างไร? รังสิมันต์ เปิดเผยว่า พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นพี่ชายร่วมสายเลือดของพล.ต.ท.ต่อศักดิ์ และพล.อ.จักรภพ ภูริเดช ก็เป็นพี่ชายของ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการกองปราบปราม และพลตำรวจโท ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ก็มีสักพี่เขยของพล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ทั้งหมดถือเป็นเครือญาติกัน และเมื่อดูจากไทม์ไลน์การแต่งตั้ง และเลื่อนตำแหน่งต่างๆ พบว่ามีความเกี่ยวข้อง และเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนอาสา โดยเอื้อประโยชน์จากตำแหน่งในเครือญาติ เป็นสถานที่ออก ‘ตั๋วตำรวจ’ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ
- สำหรับโรงเรียนจิตอาสา ตามเว็บไซต์ส่วนราชการของพระองค์ระบุว่า ตำรวจนายตั๋วจะต้องผ่านวิชาทหารทั่วไป อบรมความรู้เรื่องอุดมการณ์ มีระยะเวลาฝึก 6 สัปดาห์ เฉลี่ยฝึกวันละ 11 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการเบียดเบียนเวลาการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจธรรมดา หากโรงเรียนจิตอาสา ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์เป็นทางผ่านในการเลื่อนตำแหน่ง จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไหนอยากทำงานตามหน้าที่ อีกทั้งการนำโรงเรียนจิตอาสามาเป็นทางผ่านในการแต่งตั้งตำแหน่ง เท่ากับว่าเอาความจงรักภักดีสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเงื่อนไขในการเลื่อนตำแหน่งหรือไม่
- ไม่เพียงเท่านั้น รังสิมันต์ยังระบุว่า นายกฯ กับรองนายกฯ ยังปล่อยให้คนกลุ่มนี้ มีอำนาจสั่งการให้ ผบ.ตร ‘โอนย้าย’ ตำรวจไปยังหน่วยงานนอกสังกัดคณะกรรมการข้าราชการตํารวจ (ก.ตร.) อีกด้วย โดยเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2562 มีหนังสือจากสำนักงานราชเลขานุการส่วนพระองค์ ลงนามโดยพล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ซึ่งไม่มีอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สั่งให้นำตำรวจมาบรรจุกองบัญชาการมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 ซึ่งอยู่ใต้สังกัด สตช. นำสู่คำถามว่า เหตุใดจึงมีการนำคนนอกหน่วยงานมาทำหนังสือในลักษณะสั่ง ผบ.ตร. ได้.
- แม้คำสั่งจะดำเนินการอย่างไม่ถูกตั้ง แต่ สตช. ไม่ได้ขัดขวางถือทักท้วงแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีการสั่งการให้ตำรวจแต่ละหน่วยคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติดี เข้าร่วมภารกิจพิเศษที่ ส.ตร. จะมอบหมาย พร้อมสั่งว่า หากข้าราชการตำรวจคนไหนไม่เข้าการคัดเลือก ให้ตรวจสอบว่าเป็นเพราะเหตุใด และทำหนังสือส่งไปให้อย่างละเอียด
- หลังจากสั่งการครั้งแรก สตช. ได้มีการคัดเลือกข้าราชการตำรวจรอบที่ 2 โดยระบุว่าคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นหน่วยตำรวจมหาดเล็ก จากนั้นจะส่งไปเป็น ‘ข้าราชบริพาร’ รวมมีเข้าร่วมคัดเลือกมากกว่า 1 พันนาย ซึ่งมีข้าราชการตำรวจ 100 คนที่ไม่สมัครใจเข้าร่วม และโดนคำสั่งธำรงวินัยทำให้มีตำรวจ 3 นายลาออกทันที ขณะที่อีก 97 คนนั้นถูกส่งตัวไปปรับทัศนคติ นอกจากนี้ทาง สตช. ยังตั้งศูนย์ธำรงวินัย เพื่อสั่งให้ทั้ง 97 คนไปปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลา 9 เดือน และหลังจากเวลา 9 เดือนนั้น ทั้งหมดยังถูกดองงาน ไม่ให้เลื่อนขั้นอีกด้วย
การอภิปรายเรื่องนี้นำมาสู่การตั้งข้อสงสัยว่า นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงอำนาจตำรวจ และเพิกเฉยต่อการตรวจสอบ รวมถึงบกพร่องในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรังสิมันต์ มองว่าเป็นเหตุที่ไม่อาจวางใจให้นายกฯ และรองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
“ผมไม่รู้ว่าผลจากการทำหน้าที่ในวันนี้ จะเกิดอะไรขึ้นต่อผมในหลังจากนี้ ผมไม่รู้ว่าในสามวันข้างหน้า มีอะไรรอผมอยู่ ผมไม่รู้ว่าสามเดือนครั้งหน้าจะเกิดอะไรขึ้นต่อผม ผมจะพูดแทนพี่น้องประชาชนได้หรือไม่ แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อตัวผม ผมก็ไม่เสียใจที่ได้ทำหน้าที่ของผมในวันนี้” ส.ส.รังสิมันต์ โรม กล่าวหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา
โดยตอนนี้ #ตั๋วช้าง ก็ได้ติดอันดับ 1 เทรนด์ของทวิตเตอร์ในไทย ที่มีผู้พูดคุยประเด็นนี้มากกว่า 7.5 แสนทวิตแล้วด้วย
ตามไปดูสไลด์อภิปรายไม่ไว้วางใจหัวข้อ ‘ตั๋วช้าง’ ของ ส.ส.รังสิมันต์ โรม ได้ที่ :
https://www.facebook.com/211919486231373/posts/648079919281992/