ยังจำคดี ‘ร้านลาบลุงยาว’ กันได้ไหม?
.
สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยิน หรืออาจลืมๆ ไปแล้ว อธิบายให้ฟังโดยสรุปว่า ร้านลาบลุงยาว คือร้านขายอาหารอีสาน ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี ที่ถูกฟ้องร้องเอาผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอัตราโทษการทำผิดมาตรานี้ คือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับสูงสุด 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
ล่าสุด คดีนี้น่าจะมาถึงบทสรุปแล้ว โดยทนายความของร้านลาบลุงยาวอ้างว่า อัยการ จ.นนทบุรี มี ‘คำสั่งเด็ดขาด’ ไม่ฟ้องตามที่ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค ยื่นฟ้อง และพนักงานสอบสวนของ สภ.ปากเกร็ด เป็นผู้ส่งสำนวนมา เนื่องจากพฤติการณ์ยังไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิด
.
The MATTER เคยมีโอกาสเห็นหลักฐานที่ทาง สคอ.ใช้กล่าวหาร้านลาบลุงยาว มีทั้งป้ายไฟ เมนูอาหาร ตู้แช่ ที่มีโลโก้เบียร์ยี่ห้อหนึ่ง กับรูปสาวเชียร์เบียร์ในร้าน
.
สำหรับเนื้อหาของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 วรรคแรก ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”
.
จุฑาทิพย์ ลิ้มพงษ์ประเสริฐ ทนายความของร้านลาบลุงยาว บอกกับ The MATTER ว่า อัยการ จ.นนทบุรี ชี้ว่า แม้ในร้านจะมีเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จริง แต่ไม่มีข้อความใดที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม ไม่มีโปรโมชั่น 3 ขวด 100 โดยร้านนี้เน้นขายอาหารเป็นหลัก ส่วนใครมากินแล้วอยากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็สั่งเพิ่มเติมได้ หลักฐานที่มีจึงไม่เข้าองค์ประกอบทั้งหมดของมาตรา 32 วรรคแรก
.
“ส่วนตัวเห็นว่า เนื้อหากฎหมายนี้มีปัญหา สามารถตีความให้กว้างหรือแคบก็ได้ จึงอยากให้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ เช่นร้านลาบลุงยาว ได้รับผลกระทบ” จุฑาทิพย์กล่าว
.
The MATTER ติดต่อไปยังผู้บริหารของ สคอ. ได้รับคำชี้แจงว่า ยังไม่เห็นหนังสือคำสั่งจากอัยการ จ.นนทบุรี อยู่ระหว่างเดินทางไปขอคัดสำนวน ขอรวบรวมข้อเท็จจริงก่อนค่อยมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
.
เดือน มี.ค.2564 มีการรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 1 หมื่นคนไปยื่นขอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในหลายๆ ประเด็น หนึ่งในนั้นคือการห้ามโฆษณา ที่จะขอปรับแก้ให้เป็นโฆษณาได้ แต่ต้องไม่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และปรับลดอัตราโทษปรับสูงสุดลง จาก 500,000 บาท เหลือ 100,000 บาท แต่ยังให้คงโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี ไว้เช่นเดิม
#Brief #TheMATTER