การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ+ ในปัจจุบัน อาจดูเป็นเรื่องปกติ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน คงไม่ใช่เรื่องที่คนยุคนั้นจิตนาการได้ออก ว่าจะมีผู้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ แต่มันเกิดขึ้นกับชายที่มีชื่อว่า ฮาร์วีย์ มิลค์ (Harvey Milk)
มิลค์เกิดในครอบครัวที่มีรากฐานเป็นชาวยิว ในนิวยอร์ก ก่อนที่ใน ค.ศ.1972 จะย้ายมาอยู่ในเขตคาสโตร ในซานฟรานซิสโก สถานที่ที่เกย์และไบเซ็กชวลหลายคน ย้ายที่พำนักมาอยู่อาศัย จากการถูกกดดันและการเลือกปฏิบัติทางสังคม บนฐานทางเพศสภาพ มิลค์เปิดร้านขายกล้องเล็กๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพในช่วงแรก
มิลค์เป็นผู้ที่มีหัวจิตหัวใจกับเรื่องการเมือง และการรณรงค์เชิงกิจกรรมเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ ในช่วงทศวรรษที่ 1960 หลังจากเกิดเหตุจลาจลสโตนวอลล์ เหตุการณ์ประท้วงรุนแรงของกลุ่มชุมชน LGBTQ+ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกปฏิบัติ หลังจากที่พวกเขาถูกกดขี่จากกฎหมาย และลัทธิเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษที่ 1950-1960
กว่า 3 ครั้ง ที่มิลค์แพ้การเลือกตั้งการเป็นคณะกรรมการบริหารจากเขต 5 ของซานฟรานซิสโก ก่อนที่เขาจะชนะการเลือกตั้งตามใจหวัง ใน ค.ศ.1977 มิลค์ไม่ได้หาเสียงแค่บนฐานของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่เขายังเข้าหากลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในสังคม ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน คนพิการ คนผิวสี คนเอเชีย ผู้ที่ถูกสังคมมองข้ามไป
เขตคาสโตรเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1970 ไม่ใช่ย่านที่คึกคัก และประดับประดาไปด้วยธง Pride สีรุ้งอย่างในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่านแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ที่ชาว LGBTQ+ และคนอื่นๆ อยากไปเหยียบสักครั้งในชีวิต ก็ด้วยการอุทิศตัวของมิลค์ จนกลายเป็นที่รัก จากความเชื่อที่ว่าเขาสามารถทำให้ซานฟรานซิสโก เป็นมากกว่าเมืองที่ดี แต่คือเมืองของความเท่าเทียมของคนทุกคน
“เราจะไม่ยอมให้พวกมีรสนิยมผิดเพี้ยนเป็นครูสอนหนังสือให้ลูกหลานของเรา” จอห์น บริกกส์ (John Briggs) สมาชิกวุฒิสภาของแคลิฟอร์เนีย พยายามเสนอกฎหมายแบนคนรักเพศเดียวกัน ในการประกอบอาชีพครู ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกมิลค์รณรงค์ต่อต้านอย่างหนัก จนได้รับการสนับสนุน ในการต่อต้านกฎหมายฉบับดังกล่าว จาก จิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ประธานาธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น
มิลค์ยังเป็นผู้ผลักดันร่างกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติทางเพศ ในบริการสาธารณะ ที่อยู่อาศัย และการจ้างงาน คณะกรรมการบริหารอนุมัติกฎหมายฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนน 11-1 ก่อนที่จะถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย เขายังเป็นนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งคนแรกของประเทศ ที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์
มิลค์เข้าทำงานในตำแหน่งคณะกรรมการบริหารเมืองได้เพียง 11 เดือน ในวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1978 เขาถูกคู่แข่งทางการเมือง ที่มีแนวคิดเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันลอบสังหาร ในศาลาว่าการของเมือง พร้อมกับ จอร์จ มอสโคน (George Moscone) นายกเทศมนตรีซานฟรานซิสโก ที่มีแนวนโยบายเปิดรับคนรักเพศเดียวกัน
ใน ค.ศ.2009 มิลค์ได้รับเหรียญอิสรภาพประธานาธิบดี โดยบารัก โอบามา (Barack Obama) เป็นผู้มอบรางวัลดังกล่าว ให้แก่หลานชายของมิลค์ ซึ่งปัจจุบันยังคงทำงานรณรงค์ด้านสิทธิ LGBTQ+ ต่อจากผู้เป็นลุงของเขา จนเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.2018 ได้มีการเปลี่ยนชื่อถนนจาก ถนนสตาร์ก ไปเป็น ถนนฮาร์วีย์ มิลค์ เพื่อเป็นเกียรติแก่สิ่งที่มิลค์อุทิศชีวิตตนเอง ต่อชุมชนชาว LGBTQ+ ชีวิตของมิลค์ยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์รางวัลออสการ์อย่าง Milk ใน ค.ศ.2008 เขายังถูกรำลึกถึงอยู่เสมอมา ในฐานะมรณสักขีของชุมชนชาว LGBTQ+
อ้างอิงจาก
https://milkfoundation.org/about/harvey-milk-biography/
https://www.britannica.com/biography/Harvey-Milk
https://www.nytimes.com/2009/08/13/us/politics/13obama.html
https://www.opb.org/news/article/harvey-milk-street-portland-stark-rename/
#Brief #TheMATTER