หลังจากที่วัคซีนทางเลือกของ Sinopharm ได้ถูกจัดส่งมายังประเทศไทยแล้วเมื่อไม่กี่วันก่อน นำมาซึ่งคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่วัคซีนของ Moderna ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนในไทยเลือกใช้ จะถูกจัดส่งมาสักที
โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตอบคำถามนักข่าว ถึงความกังวลว่า การนำเข้าวัคซีนทางเลือกของ Moderna มีความล่าช้า ทั้งๆ ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนรับรองคุณภาพแล้ว ยืนยันว่าไม่ล่าช้า เพราะมีการตกลงกันแต่แรกแล้ว ว่าจะมีการจัดส่งวัคซีนของ Moderna มาในไตรมาสที่ 4
“ต้องชี้แจงว่าไม่ได้ล่าช้า คาดว่าทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะต้องมีการชี้แจงอีกครั้งหนึ่งในเร็วๆ นี้ จากการเป็นตัวกลาง เราไปเร่งอะไรไม่ได้ทั้งนั้น โรงพยาบาลเอกชน ต้องสั่งเข้ามา ว่ามีจำนวนความต้องการเท่าไหร่” อนุทินกล่าว พร้อมระบุว่า ทาง Moderna จะสามารถจัดส่งวัคซีนมาได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยรัฐบาลไม่สามารถไปเร่งคิวได้
นอกจากนี้ อนุทินยังระบุถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ ต่อการนำเข้าวัคซีน Sinovac เพิ่มเติม 28 ล้านโดส อีกว่า “ทุกคนเขามีกำหนดการส่งอยู่แล้ว ที่ส่งได้เลยคือ Sinovac รัฐบาลก็จัดการทันที พอไปเอา Sinovac มา ก็หาว่าทำไมถึงไปเอา Sinovac มา เหมือนพายเรือในอ่าง”
อนุทินกล่าวย้ำว่า สำหรับวัคซีนทางเลือกนั้น โรงพยาบาลเอกชนต้องเป็นผู้เจรจาเอง แต่ถ้าหากจะให้องค์การเภสัชกรรมช่วยก็ยินดี โดยโรงพยาบาลเอกชนต้องส่งรายการสั่งซื้อ และผสานมายังองค์การเภสัชกรรมเอง เนื่องจากทางหน่วยงานไม่สามารถเก็บวัคซีนเอาไว้ แล้วนำมาขายเองได้ โรงพยาบาลเอกชนจึงต้องส่งคำสั่งซื้อ Moderna พร้อมเงินมาจ่าย ส่วนวัคซีนที่เกี่ยวข้องกับรัฐอย่าง Pfizer, Johnson & Johnson, AstraZeneca ฯลฯ ทางรัฐก็พยายามจะเร่งเท่าที่ทำได้
อย่างไรก็ดี อนุทินกล่าวว่า การจัดส่งวัคซีน Pfizer มายังไทย ถูกเลื่อนออกไปเป็นไตรมาสที่ 4 เช่นกัน จากเดิมที่เคยตกลงไว้กับไทยว่า จะจัดส่งมาในช่วงไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ อนุทินให้เหตุผลว่าเพราะไทยไม่ใช่เจ้าของโรงงาน เราเองจึงทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากแต่ละโรงงานก็มีสัญญาผูกมัดกับประเทศที่ตั้งนั้นๆ ทั้งนี้ ไทยไม่ได้ขาดวัคซีน และขอให้มองในภาพองค์รวม
ในขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการฉีดวัคซีน Sinovac ให้ประชาชน มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chai Siris โพสต์ระบุว่า หลังจากที่ตนได้รับวัคซีน Sinovac ครบโดสแล้ว และได้ไปตรวจหาภูมิคุ้มกัน พบว่ามีภูมิคุ้มกันในร่างกายเพียงแค่ 23.01 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าค่าต่ำสุดที่ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าภูมิคุ้มกันต่ำสุด ซึ่งไม่สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ที่กำลังเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลได้
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการฉีด Sinovac เข็มที่ 3 จะทำให้ผู้ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์เดลต้าได้ โดยจะทำให้มีภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้น 10 เท่า ในขณะที่มีรายงานพบชาวไทย ที่ฉีด Sinovac ครบโดส แต่ก็ยังติดเชื้อ COVID-19 อยู่ดี โดยเมื่อเทียบกับบุคลากรด่านหน้าของมาเลเซีย ที่ได้รับวัคซีนของ Pfizer กลับปลอดภัยจาก COVID-19 อย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ดี ชุดข้อมูลดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ทั้งนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยเฉพาะการฉีดข้ามบริษัทผู้ผลิต ยังต้องรอผลการศึกษาทางวิชาการก่อน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามประเมินสถานการณ์ที่ดีที่สุด
อ้างอิงจาก
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2790721
https://thematter.co/brief/146626/146626
https://www.thairath.co.th/news/local/2120477
https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_437267
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6465537
https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_437263
#Brief #TheMATTER