การลงโทษลูกด้วยการตี ยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ รวมถึงในไทยด้วยเช่นกัน ล่าสุด มีงานวิจัยกว่า 69 ชิ้นทั่วโลก ลงความเห็นตรงกันว่า การลงโทษลูกด้วยการตี ไม่ช่วยให้เด็กเป็นคนดี แถมส่งผลลบต่อพฤติกรรมและพัฒนาการด้วย
จากการปริทัศน์งานวิจัยกว่า 69 ฉบับทั่วโลก ทั้งใน สหรัฐฯ แคนาดา จีน โคลอมเบีย กรีซ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และสหราชอาณาจักร พบว่า การลงโทษลูกด้วยวิธีทางกายภาพ เช่น การตี “ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กและความเป็นอยู่ที่ดี” ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า ผู้ปกครองควรยุติการลงโทษเด็ก ด้วยความรุนแรง
“ผู้ปกครองตีลูกของตัวเอง เพราะคิดว่ามันจะช่วยให้เด็กๆ พัฒนาพฤติกรรมของพวกเขาได้” เอลิซาเบธ เกอร์ชอฟฟ์ ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนามนุษย์ และวิทยาศาสตร์ครอบครัว ของมหาวิทยาลัยเท็กซัสในออสติน ผู้ทำการปริทัศน์งานวิจัยทั้ง 69 ฉบับกล่าว “ข่าวร้ายสำหรับผู้ปกครองที่ตีลูก งานวิจัยของพวกเราพบหลักฐานที่ชัดเจนและน่าสนใจว่า การลงโทษทางกายภาพ ไม่ช่วยให้เด็กพัฒนาพฤติกรรม แถมมันยังทำให้ทุกอย่างแย่ลง”
งานวิจัยไม่นับรวมการลงโทษผ่านทางคำพูด และการใช้ความรุนแรงที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดเด็ก โดยทีมวิจัยจะนับเฉพาะการลงโทษ ได้แก่ “การตีเด็กด้วยสิ่งของ, ตีหรือตบบนใบหน้า หัว หรือหู, โยนสิ่งของใส่เด็ก, การทุบตี, การต่อยด้วยหมัด, การชก, การเตะ, การล้างปากเด็กด้วยสบู่, การโยนเด็กลงมาจากที่สูง, การบีบคอ, การรนไฟ, การลวกน้ำร้อน, และการขู่เด็กด้วยมีดหรือปืน”
งานวิจัยทั้งหมด ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การลงโทษเด็กด้วยการใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพ ไม่ได้ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น แต่จะทำให้พวกเขามีความก้าวร้าวมากขึ้น มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมมากขึ้น และมีแนวโน้มจะเป็นพวกก่อกวนผู้อื่นในโรงเรียน โดยบางงานวิจัยระบุอีกว่า การลงโทษส่งผลต่อทักษะทางเชาว์ปัญญาที่ลดน้อยลงของเด็ก
งานวิจัยหลายฉบับยังได้ชี้ตรงกันว่า ยิ่งมีการลงโทษด้วยความรุนแรงที่ถี่ขึ้น ผลลัพธ์ทางพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กก็ยิ่งแย่ลง ซึ่งเลวร้ายได้ถึงพฤติกรรมต่างๆ เช่น การมีความก้าวร้าวและท้าทายผู้อื่น อารมณ์ฉุนเฉียว พฤติกรรมชอบการทะเลาะและโต้แย้ง การปฏิเสธทำตามกฎเกณฑ์ รวมถึงความรู้สึกผูกใจเจ็บ และอาฆาตพยาบาทต่อผู้อื่น
แต่ถ้าหากคุณคิดว่า คุณสามารถเลี้ยงลูกแบบสลับให้ความรัก และลงโทษด้วยความรุนแรงในเวลาเดียวกันได้นั้น งานวิจัยกว่า 4 ใน 5 ยืนยันตรงกันกว่า การเลี้ยงดูด้วยความอบอุ่นและการดูแลเชิงบวก ไม่สามารถขัดขวางหรือทดแทนผลลัพธ์ที่เกิดจากการลงโทษด้วยความรุนแรงได้
โดยนักวิชาการแนะนำการลงโทษอย่างอื่นแทน เช่น การลงโทษเด็กอายุน้อยด้วยการยึดของเล่น การตัดสิทธิพิเศษในการทำกิจกรรมต่างๆ หรือเทคนิคขั้นพื้นฐาน คือ การกักบริเวณ ยืนเข้ามุมห้องในช่วงเวลาที่กำหนด ส่วนเด็กที่มีอายุมากขึ้นนั้น ผู้ปกครองควรปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ ถึงผลลัพธ์ของการกระทำที่ผิดพลาดของพวกเขา และเมื่อถึงเด็กช่วงวัยรุ่น ผู้ปกครองควรสอนถึงการมีความรับผิดชอบ ต่อการกระทำใดๆ ของเด็กเอง โดยไม่จำเป็นจะต้องลงโทษด้วยความรุนแรง
อ้างอิงจาก
https://linkinghub.elsevier.com/retrieve/pii/S0140673621005821
#Brief #TheMATTER