ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564 มีมติเห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ก่อนจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทาน แล้วค่อยส่งให้รัฐสภาพิจารณาออกมาใช้เป็นกฎหมายต่อไป (เนื่องจากผู้เสนอตีความว่าร่างกฎหมายนี้เป็น ‘กฎหมายปฏิรูปประเทศ’ จึงสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ทันที ไม่ต้องผ่าน ส.ส.และ ส.ว.ตามขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายปกติ)
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวกับ The MATTER ว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มีเนื้อหาทั้งสิ้น 39 มาตรา มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
- ให้นายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ร่วมกันรักษาการตามกฎหมายนี้ จากเดิมให้เฉพาะ รมว.สาธารณสุขเป็นผู้รักษาการ (มาตรา 5)
- ให้อำนาจนายกฯ โดยความแห็นชอบของ ครม. สามารถประกาศ ‘สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข’ ได้ทั่วประเทศหรือบางท้องที่ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่อาจกระทบกับความสงบเรียบร้อย สวัสดิการ หรือความปลอดภัยของประชาชน (หมวด 6/1 สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข)
- เมื่อนายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จะได้รับอำนาจคล้ายๆ กับการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโรคระบาด โดยระยะเวลาการประกาศจะไม่เกิน 3 เดือน แต่สามารถต่อระยะเวลาได้หากมีความจำเป็น (มาตรา 44/2)
- ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมาตรการต่างๆ ที่ออกโดยผู้เกี่ยวข้อง เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขแล้ว จะไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ (มาตรา 44/11)
- ให้ยกเว้นการชดเชยความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลใด ที่เสียหายจากการเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรค (มาตรา 48 วรรคสาม)
เป็นต้น
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า เหตุผลที่ ครม.เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เพื่อที่ในอนาคต หากมีภาวะฉุกเฉินด้านโรคระบาดจะได้ไม่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเป็นมาตรการคุ้มครองบุคลากรทางสาธารณสุขด่านหน้า และอาสาสมัครที่ทำงานไปตามปกติ.
ก่อนหน้านี้ คนจำนวนไม่น้อยในสังคมพยายามจับตาว่ารัฐบาลจะออก ‘พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ….’ ซึ่งมีสาระสำคัญในการนิรโทษกรรมบุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้องกับการควบคุม COVID-19 หรือไม่
โดยประเด็นที่หลายๆ ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็คือการนิรโทษกรรมให้กับผู้จัดหาวัคซีน COVID-19 ซึ่งถูกมองว่าทำงานผิดพลาด จนกระทบกับชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาล
แต่ที่ประชุม ครม.ก็เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ออกมาเสียก่อน
#Brief #TheMATTER