จีนยังคงมุ่งมั่นจะปฏิรูปรูปแบบการศึกษา โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศแบนการเรียนพิเศษนอกเวลา เพื่อให้เด็กไม่ใช้เวลากับการศึกษามากเกินไป และล่าสุด จีนออกมาตรการยกเลิกการสอบข้อเขียนสำหรับเด็กอายุ 6-7 ขวบ (ป.1-2) เพื่อลดความกดดันทั้งกับตัวเด็กและผู้ปกครอง
อย่างที่หลายคนคงพอเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า ระบบการศึกษาของจีนมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง นักเรียนต้องสอบแข่งขันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อปูทางไปสู่การสอบ “เกาเข่า” หรือการสอบแข่งขันเข้ามาหาวิทยาลัยของจีนเมื่อนักเรียนอายุครบ 18 ปี ซึ่งเกาเข่านี้เป็นที่รู้จักกันในฐานะ หนึ่งในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ยากที่สุดในโลก คะแนนสอบครั้งเดียว สามารถกำหนดชีวิตของเด็กได้ และในการสอบครั้งนี้ ไม่ได้มีที่ให้สำหรับคนที่พลาดมากนัก
(อ่านเกี่ยวกับระบบการสอบเกาเข่าเพิ่มเติมได้ที่ : https://thematter.co/thinkers/one-of-hardest-admission-in-the-world/78349 )
ด้วยระบบการศึกษาที่มีการแข่งขันสูง กดดันให้ผู้ปกครองต้องเคี่ยวเข็ญให้ลูกเรียนหนังสืออย่างหนักตั้งแต่เด็ก แนวทางปฏิบัติเช่นนี้เป็นมาอย่างยาวนาน แม้ท้ายที่สุด จีนจะสามารถผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถได้อย่างมหาศาลในแต่ละปี แต่ก็มีเด็กอีกหลายคนที่ตัดสินใจยอมแพ้ความกดดัน และเลือกทิ้งชีวิตไว้เบื้องหลัง
กระทรวงศึกษาธิการของจีนจึงมุ่งมั่นจะปฏิรูปการศึกษาใหม่ โดยยกเลิกการสอบข้อเขียนสำหรับเด็ก 6-7 ขวบ โดยระบุว่า การสอบที่มากเกินไป ทำให้นักเรียนต้องแบกภาระอย่างหนัก และตกอยู่ภายใต้ความกดดันจากการสอบมากเกินควร โดยเฉพาะเด็กเล็ก การสร้างแรกกดดันให้นักเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ และร่างกายของพวกเขา
“นักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 1 และ 2 ไม่ต้องทำข้อสอบข้อเขียน ส่วนชั้นอื่นๆ โรงเรียนสามารถจัดการสอบปลายภาคได้ แต่การสอบกลางภาคให้จัดสอบได้เฉพาะมัธยมศึกษาตอนต้น และห้ามท้องถิ่นจัดสอบระดับภูมิภาค หรือระหว่างโรงเรียนสำหรับชั้นประถมศึกษาทั้งหมด”
“ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ยังไม่จบการศึกษา ห้ามโรงเรียนจัดสอบย่อยรายสัปดาห์ สอบย่อยรายวิชา รวมถึงสอบรายเดือน และห้ามเลี่ยงไปเปิดการสอบในชื่ออื่นๆ ด้วย” กระทรวงศึกษาธิการกล่าว
อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมและความเชื่อนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เพียงเพราะมีกฎระเบียบออกมา ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมองว่าการศึกษาคือส่วนสำคัญสูงสุดในชีวิตของลูกๆ และการสอบเกาเข่า ก็เป็นหนึ่งในไม่มีวิธีที่จะช่วยให้กลุ่มนักเรียนยากจนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีขึ้น ไปจนถึงการได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำ และโอกาสทำงานในบริษัทมั่นคงในอนาคต
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER