เมื่อให้บรรยายถึงคนจีน ไม่ว่าเราจะมองประเทศจีนในแง่ไหน ‘ความขยันของคนจีน’ ก็จะผุดขึ้นมาในห้วงความคิดของพวกเราทุกคนอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลกว่า ความขยันของชาวจีนยืนหนึ่งไม่เป็นรองใคร และหลักฐานที่ชี้ชัดเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ ภาพการเรียนการศึกษาที่มีออกมาให้เราได้ทึ่งอยู่เสมอ
หากเราถามคนจีนว่า “ทำไมพวกคุณถึงขยันขนาดนี้ แถมหลายต่อหลายครั้งยังมีความอดทนอย่างน่ามหัศจรรย์อีกด้วย?” เราคงจะได้คำตอบกลับมาว่า “เพราะพวกเราต้องเอาตัวรอดให้ได้ในประเทศที่มีประชากรหลักพันล้านคน ที่ไม่ว่าจะทำอะไร การแข่งขันย่อมสูงมากกว่าที่จะได้รับโอกาสอันใดอันหนึ่งมา”
ในคติความเชื่อของคนจีน ‘การเรียน’ เป็นหนทางที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนสถานะทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต หรืออย่างน้อยให้พวกเขาสามารถแข่งขันกับคนอื่น เอาตัวรอดในสังคมได้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนจีนไม่ว่าจะยากดีมีจน อยู่ในเมืองใหญ่ หรือเมืองชนบทหลบหลืบในซอกภูเขา ล้วนแต่มีความคิดที่ปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นหลานให้รักและขวนขวายในการศึกษา อย่าง เหมา เจ๋อตุง (หากออกเสียงตามภาษาจีนกลางอย่างถูกต้อง ต้องออกเสียงว่า เหมา เจ๋อตง) อดีตประธานาธิบดีจีน ผู้เปลี่ยนแปลงและสร้างสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ใช้โอกาสขณะที่ประกอบอาชีพบรรณารักษ์ในห้องสมุด เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดการเมืองการปกครองจากหนังสือเล่มน้อยเล่มใหญ่นับไม่ถ้วน จนนำมาสู่การปฏิวัติและปฏิรูปประเทศ
เป้าหมายในการเรียนของคนจีนไม่ต่างจากคนไทยหรือประเทศอื่น คือมุ่งหมายนำความรู้จากการเรียนมาประกอบอาชีพ หวังให้เป็นประตูบานใหญ่ เพื่อก้าวไปสู่โอกาสที่ดีของชีวิต และคนจีนส่วนใหญ่มีความเชื่อเดียวกันว่า ประตูโอกาสบานที่ดีที่สุดอยู่ในสถาบันที่มีชื่อเสียง จึงกลายเป็นที่มาของสมญานาม ‘การสอบเข้าเรียนที่ยากที่สุดในโลก’ ของ ‘เกาเข่า’ (高考) หรือการสอบระดับสูงตามความหมายไทย ซึ่งการสอบระดับสูงที่ว่านี้หมายถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีโอกาสสอบแค่ปีละครั้ง เทียบได้กับเอนทรานซ์บ้านเราในสมัยก่อน
‘เกาเข่า’ ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของเด็กจีนผู้ตามล่าหาฝัน และแบกความหวังของครอบครัว
สอบเกาเข่าไม่มีพื้นที่ให้พลาด หากในปีนี้สอบไม่ผ่าน ได้คะแนนไม่ดีจะต้องรอสอบใหม่ในปีต่อไป และถ้าใครมีฐานะทางครอบครัวไม่ค่อยดีนัก มักต้องไปหางานทำ โดยมีวุฒิเพียงมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้น ทุกครอบครัวจึงมีความกดดันอย่างมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ถ้าฐานะทางครอบครัวค่อนข้างดี ความกดดันจะลดน้อยลง เพราะแม้สอบไม่ผ่าน โอกาสในการเรียนมหาวิทยาลัยยังไม่ปิดลง ยังสามารถไปสร้างโอกาสใหม่ ไปเรียนต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย ที่ในตอนนี้มหาวิทยาลัยจำนวนมากเปิดรับนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของจีนมีความหมายต่อเด็กจีนและครอบครัว ญาติพี่น้อง รวมถึงเพื่อนบ้าน คนในหมู่บ้านด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่แถบต่างจังหวัด พื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล หากสอบได้ถือเป็นความภาคภูมิใจเยี่ยงวีรบุรุษวีรสตรี
ภาพที่เห็นได้ชินตาช่วงสอบเกาเข่าคือภาพของผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ประชาชนนับหมื่นคน กระทั่งตามเมืองต่างจังหวัดต่างพร้อมใจกันมาส่งนักเรียน ไปสอบเกาเข่า ซึ่งต้องใช้รถบัสหลายสิบคัน ถึงขั้นมีรถตำรวจขับนำขบวนด้วย
ในปี 2019 นี้ นักเรียนจีนสมัครสอบเกาเข่าทะลุ 10 ล้านคน เพิ่มจาก 9.75 ล้านคน เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ปกติการสอบจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยแต่ละพื้นที่วันเวลาอาจแตกต่างกัน แต่โดยพื้นฐานแบ่งเป็น 2 วัน สอบทั้งหมด 4 วิชา ได้แก่ ภาษาจีน (语文) 150 คะแนน , เลข (数学) 150 คะแนน, ภาษาอังกฤษ (英语) 150 คะแนน และส่วนสุดท้าย 300 คะแนน ซึ่งจะแยกระหว่างสายศิลป์ (文科) สอบเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมือง กับสายวิทย์ (理科) แบ่งเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ถ้าปีไหนมีผู้บกพร่องทางสายตาสมัครเข้าสอบ ทางการจีนจะจัดข้อสอบเป็นอักษรเบลล์เตรียมไว้ให้โดยเฉพาะ
ในการเลือกมหาวิทยาลัย เด็กจีนมีสิทธิเลือกว่าจะยื่นคะแนนเข้ามหาวิทยาลัยไหน ตามหลักแบ่งเป็นมหาวิทยาลัย 3 ระดับ คือ ชั้น 1 ชั้น 2 และชั้น 3 ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหากคะแนนไม่ถึงทั้ง 3 ระดับก็ยังมีวิทยาลัยสายอาชีพรองรับอีก โดยคะแนนและโควตาเข้ามหาวิทยาลัยจะแตกต่างกันไปตามแต่ภูมิลำเนาและสถานที่สอบ พื้นที่ชนบทที่มีจำนวนประชากรน้อยจะมีอัตราการแข่งขันต่ำ โอกาสได้คะแนนสูงจึงค่อนข้างมีมากกว่าในเมืองใหญ่ และหลายมหาวิทยาลัยชื่อดังของจีนมีคะแนนเพิ่มให้กับนักเรียนเขตชนบทอีกด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำ
ด้วยเหตุนี้ 20-30% ของจำนวนผู้เข้าสอบเกาเข่าทั้งหมดในแต่ละปี จึงเป็นเด็กซิ่ว หรือเรียนซ้ำระดับมัธยมปลายที่มาสอบใหม่เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีกว่าเดิม (เพราะปีที่แล้วยังไม่พอใจกับมหาวิทยาลัยที่สอบได้ เช่น อาจจะไม่ติดมหาวิทยาลัยในกลุ่มชั้นที่ 1) รวมถึงคนที่ปีที่แล้วสอบไม่ผ่าน และเก็บตัวอ่านหนังสือ เรียนใหม่มา 1 ปีเต็ม เพื่อว่าปีนี้ต้องสอบให้ได้
การสอบเกาเข่า มากกว่า 1 ครั้ง ถือเป็นเรื่องปกติในจีน อย่างเช่น แจ็กหม่า เจ้าของอาณาจักรอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีน ต้องสอบเกาเข่าถึง 3 ครั้ง กว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยครูหังโจว เนื่องจาก 2 ครั้งก่อนหน้านั้น เขาสอบเกาเข่า ‘ไม่ผ่าน’
“เมื่อปี 2017 มีข่าวดังก่อนสอบเกาเข่าในปีนั้น เป็นเรื่องราวของคุณลุงชาวจีน วัย 50 ปี ชาวเมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) เพียรพยายามสอบเกาเข่าถึง 21 ครั้ง ได้รับการยกย่องเป็นผู้ที่มีความตั้งใจและมานะพากเพียรต่อการสอบเกาเข่ามากที่สุดในจีน เรื่องราวของคุณลุงท่านนี้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนจีนไม่ให้ท้อถอยและล้มเลิกต่อความฝัน ดังคำคมของแจ็กหม่าที่เคยกล่าวไว้ว่า หากเราไม่ล้มเลิก โอกาสก็ยังมี แต่ถ้าเราล้มเลิก มันจะเป็นความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”
การสอบเกาเข่าไม่ได้มีแค่แรงกดดันจากตัวเราเองที่ต้องทุ่มเทสุดตัวเพื่อให้สอบเข้าให้ได้ และจากครอบครัวที่ฝากความหวังไว้กับเราเท่านั้น แต่ยังมีแรงกดดันจากสภาพสังคมในจีน เพราะแม้ว่าคนจีนจำนวนไม่น้อยจะสอบเกาเข่าผ่าน สามารถเลือกเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยได้ แต่ก็ไม่ใช่มหาวิทยาลัยชั้น 1 ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องวนกลับมาสอบใหม่
เนื่องจากคติความเชื่อในสังคมที่ตัวบริษัทหรือสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยเลือกรับนักศึกษาที่จบมาจากมหาวิทยาลัยในกลุ่มชั้น 1 ก่อน ในปัจจุบันเองก็ยังมีการเลือกพนักงานจากการดูชื่อมหาวิทยาลัยที่จบโดยไม่ได้ดูแค่ความสามารถอยู่ หรือบางครั้งก็ไม่ได้ดูความสามารถด้วยซ้ำ นี่คือความจริงอันเจ็บปวดในอีกมุมหนึ่งของสังคมจีน
ยังมีด้านมืดที่ซ่อนเอาไว้ในการสอบเกาเข่าอีกเช่นกัน ทั้งกลเม็ดกลโกงในสนามสอบและนอกสนามสอบ
กลโกงนอกสนามสอบคืออะไร? แอบเอาข้อสอบมาดูก่อน? หรือมีการยัดเงินผู้มีอำนาจในการสอบ? ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง กลโกงนอกสนามสอบในจีนที่โด่งดังที่สุด และจีนกำลังกวาดล้างอย่างจริงจังในช่วงสองสามปีนี้ คือ การทำสำมะโนครัวและใบจบการศึกษาจากโรงเรียนระดับมัธยมปลอมขึ้นมา
การทำปลอมในที่นี้คือปลอมว่า เรามีทะเบียนบ้านและจบการศึกษาจากโรงเรียนในเมืองที่มีการแข่งขันน้อย เช่น เมืองเขตพื้นที่ห่างไกลในมณฑลกุ้ยโจว มณฑลที่มีประชากรน้อยที่สุดและยากจนที่สุดในจีน หากเราเป็นเด็กที่เรียนอยู่ในเมืองใหญ่ มีการเตรียมตัวมาอย่างดี แต่กลัวว่าการแข่งขันในเมืองใหญ่จะสูงเกินไป ขอเลือกไปอยู่ในเขตที่เราจะฉายแสงเจิดจรัสได้เต็มที่ โอกาสที่เราจะได้คะแนนสูงก็มีมากกว่า จึงเกิดการปลอมสำมะโนครัวขึ้นมา ในปี 2018 ทางการจีนได้ลงโทษและไล่นักศึกษาจีนออก 3 คน ทั้งที่ตอนนั้นได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของจีนอย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น และมหาวิทยาลัยชิงหัว เนื่องจากถูกจับได้ว่า ‘ปลอมแปลงเอกสาร’ เพื่อเข้าสอบในสนามสอบมณฑลกุ้ยโจว
เหตุผลที่นักเรียนจีนใช้กลโกงย้ายพื้นที่สอบของตนเองไปในเขตชนบท นอกจากอัตราการแข่งขันที่ต่ำ ยังมีเหตุผลของคะแนนเสริมที่หลายมหาวิทยาลัยของจีนมีให้กับนักเรียนจีนเขตชนบทและเมืองห่างไกล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและคุณภาพการศึกษาในจีน ที่ส่วนใหญ่ล้วนไปอยู่ในเขตเมืองใหญ่
ตัวอย่างเช่น ปี 2017 มีดราม่าการสอบเกาเข่าและคุณภาพการศึกษาระหว่างเมืองใหญ่-เมืองชนบท เมื่อ “สวง ซวนอ๋าง” นักเรียนในกรุงปักกิ่งผู้พิชิตคะแนนสูงสุดในการสอบเกาเข่าสายศิลป์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนที่ว่า สำหรับเด็กจีนที่มาจากเขตชนบทคงจะเป็นเรื่องยากมากที่จะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ อย่างตัวเขาเองที่มาจากชนชั้นกลาง พ่อแม่มีการศึกษา อาศัยในเมืองใหญ่อย่างกรุงปักกิ่ง ไม่ต้องมาวิตกกังวลกับสภาพการใช้ชีวิต ทำให้ได้ใช้เวลาเต็มที่กับการเรียน ซึ่งมีโอกาสทางการศึกษามากมายที่เราได้รับ ในขณะที่เด็กในชนบทจะไม่มีโอกาสตรงนี้เหมือนเด็กในเมืองใหญ่ ซึ่งคนที่ได้คะแนนสูงสุดและคะแนนดีในการสอบเกาเข่า ล้วนมาจากคนที่มีพื้นหลังครอบครัวดี โดยครอบครัวของเขาพ่อแม่เป็นนักการทูต จึงหยิบยื่นโอกาสดีๆ ให้เสมอ
นอกจากกลเม็ดการโกง ‘โรงเรียนกวดวิชาและติวสอบ’ ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าพูดถึง เพราะเป็นทางเลือกที่ทั้งตัวเด็กและพ่อแม่นิยม โดยมีข้อมูลว่า ณ ปัจจุบัน มูลค่าของธุรกิจติวเตอร์ในจีนพุ่งสูงถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ท่ามกลางความเข้มงวดของรัฐบาลจีนที่เริ่มจับตามองบรรดาสถาบันติวเตอร์เหล่านี้ว่ามีการทำผิดกฎหมาย มีการเผยกลโกงใดๆ ให้นักเรียนเพื่อสอบได้คะแนนดีหรือไม่ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการติวที่ไม่ให้สูงเกินไป
จากสอบเกาเข่าเข้ามหาวิทยาลัยจีน สู่การสอบเกาเข่าเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาและยุโรป
การสอบเก่าเข่ายังไปไกลกว่าแค่การสอบภายในประเทศ เพราะตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปเริ่มมีนโยบายรับนักศึกษาจากประเทศจีนเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีด้วยคะแนนสอบเกาเข่า โดยจะใช้คะแนนสอบเกาเข่าพิจารณาร่วมกับการสัมภาษณ์ด้วย
แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในคุณภาพของการสอบเกาเข่าของจีน
มหาวิทยาลัยอเมริกาบางแห่งที่มีนโยบายนี้จัดสัมภาษณ์ขึ้นในหลายเมืองใหญ่ของจีนเลยด้วยซ้ำ เช่น มหาวิทยาลัย University of New Hampshire มหาวิทยาลัยชื่อดังของอเมริกา จัดการสัมภาษณ์ขึ้นที่ ปักกิ่ง กว่างโจว เฉิงตู และฉงชิ่ง และยังมีหลายมหาวิทยาลัยในยุโรปที่มีโนบายรับนักศึกษาจีนด้วยวิธีนี้อีกเช่นกัน เช่น มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมของประเทศอังกฤษ
อ่าน อ่าน อ่าน เพราะหนังสือคือหนทางของความสำเร็จ
ภาพของเด็กจีนอ่านหนังสือหามรุ่งหามค่ำทั้งที่บ้านและโรงเรียน ล้วนเป็นภาพที่เราเห็นอยู่บ่อยครั้งทั้งจากหน้าสื่อ และการได้มาสัมผัส ได้มาเห็นด้วยตาเนื้อโดยตรงที่แดนมังกร โรงเรียนบางแห่งถึงขั้นมจัดแคมป์ติวเข้มก่อนสอบเกาเข่า นักเรียนกินนอนที่โรงเรียน เพราะคนจีนทุกคนมีความเชื่อว่า เราสามารถหาความรู้ได้จากหนังสือ คนจีนผูกพันธ์กับหนังสือตั้งแต่จำความได้ ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย หนังสือยังคงอยู่คู่คนจีน ประเทศจีนจึงเป็นประเทศเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังคงมีการเติบโตของอุตสาหกรรมหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจเหล่านี้ในประเทศส่วนใหญ่ของโลก รวมถึงประเทศไทยได้เริ่มล้มหาย โดนแทนที่ด้วยเทคโนโลยี
การเรียนรู้ที่ดีควรเริ่มตั้งแต่เด็ก คืออีกแนวคิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการเลี้ยงลูก พ่อแม่ชาวจีนนิยมพาลูกหลานไปเรียนพิเศษหรือทำกิจกรรมเสริมตั้งแต่ยังเล็ก รวมถึงการพาเข้าร้านหนังสือทุกวันหยุด ข้อมูลนี้สอดคล้องกับสถิติรายงานตลาดค้าปลีกหนังสือประเทศจีนในปี 2017-2018 ระบุว่า ตลาดหนังสือเด็กกินพื้นที่ของหนังสือที่วางขายทั้งหมดในปี 2017 มีทั้งหมดกว่า 40,000 หัวเรื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 24.64% หรือราว 8 หมื่นล้านหยวน โดยมีแนวโน้มเติบโตประมาณ 10-15% ทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นตลาดหนังสือเด็กในจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน
จากการสัมภาษณ์คนจีนในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 พบว่า คนส่วนใหญ่ชอบอ่านหนังสือเวลาเครียด ต้องการผ่อนคลาย โดยเฉพาะการอ่านหนังสือที่มาพร้อมกับการจิบชากาแฟ เราจะเห็นมุมหนังสือที่มีหนังสือจำนวนมากในร้านกาแฟ บางร้านก็เป็นกึ่งร้านกาแฟร้านขายหนังสือ ไปจนถึงร้านหนังสือใหญ่ๆ หลายร้าน ที่มีมุมร้านกาแฟ มีโต๊ะให้นั่งอ่านนั่งกินกาแฟอยู่ภายในร้าน ไม่ได้เป็นเพียงแค่ร้านหนังสือ
หากพูดถึงการศึกษาและความขยัน การอ่านหนังสือของคนจีนจึงไม่ใช่การอ่านเพื่อการเรียนหรือเตรียมตัวสอบเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการผ่อนคลาย (relax) เป็นกิจกรรมที่คนจีนนิยมทำในทุกๆ วัน