“..นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่..”
คือข้อความในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ที่น่าจะกลายมาเป็นประเด็นร้อนช่วงกลางปี 2565 นี้อย่างแน่นอน
เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งแบบที่ผ่านการรัฐประหารและผ่านการเลือกตั้ง (ที่อาศัยเสียง ส.ว.แต่งตั้งช่วย) มาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 หรือกำลังจะครบ 8 ปี ภายในปีนี้แล้ว
เราจะขอละเรื่องผลงานว่า เป็นผู้นำประเทศมา 8 ปีแล้วได้ทำอะไรดีๆ ให้กับประเทศไว้บ้าง? ไปก่อน เพราะโพสต์นี้อยากชวนคุยเรื่อง ‘วาระการดำรงตำแหน่ง’ เป็นหลักว่า เมื่อถึงวันที่ 24 ส.ค.2565 อดีตหัวหน้า คสช. ผู้ทำรัฐประหารในปี 2557 จะต้องพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหรือไม่?
ความจริงแล้ว ประเด็นนี้เคยมีการถกเถียงกันมาแล้วรอบหนึ่งช่วงปลายปีก่อน ตอนนั้นความเห็นค่อนข้างหลากหลาย แต่สรุปได้ 3 แนวทาง
- ต้องพ้นแน่ๆ ภายในปีนี้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้เช่นนั้น แทบไม่ต้องตีความอะไรเลย – 24 ส.ค.2565 ก็บอกลากันได้เลย
- การนับวาระนี้ต้องเริ่มจากวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เริ่มประกาศใช้ 6 เม.ย.2560 – นั่นคือจะไปสิ้นสุด 6 เม.ย.2568
- การนับวาระต้องเริ่มนับจากการเป็นนายกฯ รอบล่าสุด คือ 9 มิ.ย.2562 ต่างหาก เพราะสมัยเป็นนายกฯ รอบแรก รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังไม่ประกาศใช้เลย – นั่นคือจะไปสิ้นสุด 9 มิ.ย.2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้าโน่น
หนึ่งในเหตุผลที่สนับสนุนแนวทางสุดท้าย ก็คือการอ้างเรื่องหลักการออกกฎหมาย ‘ย้อนหลังเป็นโทษ’ จะใช้ไม่ได้ (แต่ถ้า ‘ย้อนหลังเป็นคุณ’ จะใช้ได้) อย่างไรก็ตาม มีกรณีของสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีวินิจฉัยให้ตกเก้าอี้ ส.ส. เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 98(10) เรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ที่ห้ามผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด..ในคดีฉ้อโกง เป็นผู้สมัคร ส.ส. ที่เป็น ‘บทบัญญัติใหม่’ แต่ใช้ย้อนหลังไปกับคดีของสิระที่เกิดตั้งแต่ปี 2538 ได้
นั่นแปลว่า หากเป็นเรื่องคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญมีแนววินิจฉัยว่า ให้ใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษได้
และเอาเข้าจริง บทบัญญัติที่ห้ามเป็นนายกฯ เกิน 8 ปี ก็มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในมาตรา 171 วรรคสี่ เพียงแต่ครั้งนั้นเขียนไว้ต่างกันนิดหน่อยว่า “..นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้..” คือต้องเป็นติดต่อกันถึงห้าม แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ถึงเป็นไม่ต่อกัน ก็ห้าม
หรือถ้าจะบอกว่า ตอนเป็นนายกฯ ในยุค คสช.ไม่นับ เพราะมีอำนาจรัฐฎาธิปัตย์ มาจากการรัฐประหาร และฉีกรัฐธรรมนูญเดิมทิ้งไปแล้ว แต่แล้วทำไมการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. จึงถูกนับว่าเป็นการยื่นใน ‘ตำแหน่งเดิม’ ซึ่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไม่ได้บังคับให้ต้องยื่น หรือต่อให้ยื่นมาก็เปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบไม่ได้ โดย ป.ป.ช.อ้างว่าไม่มีอำนาจล่ะ?
เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มองว่า วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ต้องเริ่มนับจากปี 2557 เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นอกจากมาตรา 158 วรรคสี่ ต้องไปดูมาตรา 264 ที่กำหนดให้ ครม.ชุด คสช.ถือเป็น ครม.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ด้วย
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกาศว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนี้แน่ หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ลาออกก่อนวันที่ 24 ส.ค.2565
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF
https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=1106&filename=index
https://www.thairath.co.th/news/politic/2277470
https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-front-page/news_6646961
#Brief #TheMATTER