สัปดาห์ที่แล้วมีกระแสเรื่องการกลับมาของการ์ตูนเรื่อง The Land Before Time ซึ่งยังไม่ได้กลับมาในเน็ตฟลิกซ์ไทย พลังของเรื่องนี้คือ แม้ว่าเราจะไม่ได้ดูมาเป็นสิบปี แต่คนส่วนใหญ่ก็คงเคยได้เจอกับเรื่องราวการเดินทางไกลของไดโนเสาร์น้อย ที่เปิดเรื่องมาไม่ทันไรก็ต้องเจอกับความสูญเสีย และสุดท้ายเราอาจจำรายละเอียดของเรื่องไม่ค่อยได้ แต่ความรู้สึกแสนเศร้านั้นกลับยังฝังแน่นจนเราโตถึงทุกวันนี้
ไม่ใช่แค่เรื่องราวของไดโนเสาร์คอยาวอย่างเจ้าลิตเติ้ลฟุตเท่านั้น แต่สารพัดการ์ตูนและเรื่องอ่านสนุกที่พ่อแม่หรือโรงเรียนหามาให้เราอ่าน ในนามของงานเขียนหรือการ์ตูนสำหรับเด็ก ยังมีอีกหลายเรื่องที่ฝากแผลใจไว้ไม่มากก็น้อย แมงมุมแสนดีที่สุดท้ายก็ตายตามอายุขัยจากแมงมุมเพื่อนรัก ดัมโบ้ที่ถูกพรากออกจากพ่อแม่ หรือแบมบี้ที่แม่ก็ถูกฆ่าตายไม่ต่างกัน
ทว่าถ้าเราสปอยเลย ในเรื่องราวของนิทานและการ์ตูนทั้งหมด จุดสำคัญของเรื่องคือการดำเนินเรื่องราวจนถึงตอนจบ โดยเรื่องราวจะนำไปสู่จุดจบที่ดีเสมอ ดังนั้น เวลาเราคิดถึงเรื่องราวเก่าๆ ที่เราเคยดู เราอาจคิดถึงจุดสะดุดของเรื่อง เช่น ตัวละครสำคัญในครอบครัวที่ตายไป หรืออื่นๆ แต่ในภาพรวม เราก็มักสามารถย้อนไปถึงเรื่องเหล่านั้นในฐานะเรื่องดีๆ เรื่องหนึ่งที่เราจดจำได้ แม้จะรู้สึกเศร้าแค่ไหน แต่เราก็พูดได้ว่าเราชอบการ์ตูนเรื่องนี้
ทำไมวรรณกรรมเด็กถึงใจร้ายกับเด็กนัก และการที่เราย้อนกลับไปดูหรืออ่านเรื่องราวเหล่านั้นอีกครั้งในสายตาของผู้ใหญ่ เมื่อเราผ่านเรื่องราวเหมือนกับการเติบโตของตัวละครในเรื่อง เช่น การผ่านความสูญเสียไป การกลับไปดูเรื่องราวที่มีรอยแผลสมัยเด็กนั้นจะทำให้เราเข้าใจหรือเจ็บปวดมากขึ้นไหม?
ความตายในเรื่องสำหรับเด็ก
เงื่อนไขแรกที่เรามักคิดถึงคือ เด็กเป็นช่วงวัยที่เปราะบาง การปกป้องเด็กๆ ออกจากโลกที่ไม่สะอาด ไม่สวยงาม จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่แบบเราๆ ซึ่งในระยะหลังเราเองก็เริ่มเข้าใจว่า การจับให้เด็กๆ อยู่ในสุญญากาศไปตลอดชีวิต เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เรื่องเล่าและวรรณกรรมเองก็เช่นกัน ในเรื่องเล่ามักเป็นอุปมาหรือเป็นภาพจำลองของการมีชีวิต การดำเนินไปของชีวิตปกติของเราก็เลยต้องมีความตาย การสูญเสีย และความขุ่นข้องหมองใจ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการเรียนรู้เพื่อเติบโตขึ้นของตัวละครนั้นๆ ถ้าเรื่องราวของตัวละครไม่มีความขรุขระของชีวิต ไม่มีปม หรือเหตุพลิกผันต่างๆ เราจะมีความรู้สึกร่วม หรือมองเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนของตัวละครนั้นๆ ได้ยาก
ทว่าความตายก็ไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ถูกนำเสนอในเรื่องเล่าสำหรับเด็ก สิ่งที่มาควบคู่กับความตายคือความโศกเศร้าหรือความเจ็บปวด ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทั้งโดยตรง คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในเรื่อง และเป็นผลจากความรู้สึกที่ตัวเองมีต่อความตายในจินตนาการ ต่อความตายและสายสัมพันธ์ของตัวละคร ที่เราในฐานะผู้ชมเข้าไปสานสัมพันธ์ด้วย
ในแง่นี้จึงมีหลายความคิดที่ชี้ให้เห็นว่า งานเขียนสำหรับเด็กจงใจเล่าเรื่องความตายอันเป็นสิ่งสามัญที่เด็กๆ ต้องเผชิญ จากความตายของสัตว์เลี้ยง ไปจนถึงการจากไปของเพื่อนที่รัก กระทั่งการจากลาของสมาชิกสำคัญของครอบครัว โดยเฉพาะการจากไปของพ่อหรือแม่
ศิลปะของการแสดงเรื่องเศร้า
ทีนี้กลับมาที่เรื่องเช่น The Land Before Time เมื่อเราโตขึ้นแล้วมองย้อนกลับไป กระทั่งกลับไปลองดูเรื่องราวที่เคยเป็นแผลใจวัยเด็กอีกครั้ง อันที่จริงเรื่องของลิตเติ้ลฟุต แม้จะมาดูซ้ำเมื่ออายุ 30 แล้ว ก็ยังอยากบอกว่าเปิดเรื่องมา 10 นาที ไดโนเสาร์จากครอบครัวอบอุ่นต้องสูญเสียแม่ตั้งแต่ช่วงต้นของการเดินทางเลย มันก็ออกจะเกินไปอยู่ ซึ่งในใจเราจะพบว่า การเดินทางทั้งหมดไดโนเสาร์น้อยต้องเดินทางตามลำพัง
ในฉากการตายนั้นอาจชวนให้เรากลับไปย้อนดูวิธีการที่เรื่องต่างๆ ให้ภาพความตายและการสูญเสีย ไปจนถึงให้แนวทางการรับมือการสูญเสียนั้นๆ ด้วยพลังของโลกจินตนาการ ความตายถูกนำเสนอในมุมมองที่เป็นรูปธรรม โดยค่อยๆ ให้เด็กหรือเราเข้าใจความตายและการสูญเสีย เจอกับความเศร้าโศก และก้าวผ่านความเศร้าโศกนั้นๆ
เช่นฉากที่แม่ของลิตเติ้ลฟุตตาย ในเรื่องจะให้ภาพของแม่ที่ทรุดนอนลงไปกับพื้น และลิตเติ้ลฟุตก็ไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ถึงลุกไม่ขึ้น ลิตเติ้ลฟุตก็เหมือนกับเด็กๆ ที่กำลังดูเรื่องราวในครั้งแรก โดยไม่รู้ว่านี่คือสัญญาณของความตาย คำพูดของแม่ที่พูดว่า “แม่จะอยู่กับลูกเสมอ แม้ว่าลูกจะมองไม่เห็นแม่แล้วก็ตาม” ซึ่งลิตเติ้ลฟุตก็ตอบว่า “หมายความว่ายังไงที่ว่ามองไม่เห็น ผมก็มองเห็นแม่อยู่นี่ไง”
ตรงนี้เองนำไปสู่สุดยอดฉากขยี้ใจอีกหลายรอบ เช่น การที่ลิตเติ้ลฟุตเอาตัวเองไปอยู่ในรอยเท้า ใช้ร่างกายของตัวเองทำเป็นเงาต่างเงาของแม่ และฉากสำคัญที่ทั้งเศร้าทั้งเยียวยาหัวใจ นั่นคือการปรากฏตัวของแม่ในรูปร่างของเมฆ และพาลิตเติ้ลฟุตไปยังหุบเขาที่ตามหา
ในเทคนิคการเล่าถึงความตายและการเติบโตของลิตเติ้ลฟุต สอดคล้องกับคำพูดของแม่ที่ว่า วันหนึ่งคนที่เป็นร่มเงา เป็นสิ่งที่รัก สุดท้ายไม่ว่าจะมองเห็นหรือไม่ แต่ตัวตนของคนคนนั้นจะผสานเข้าสู่ชีวิตของเรา ความตายจะทำให้เราพาใครอีกคนไปทุกหนแห่ง หลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของเราไปตลอดกาล
ดังนั้น ในความไร้เดียงสาของลิตเติ้ลฟุตที่ค่อยๆ เรียนรู้การตายของแม่ ในที่สุดการกลับไปย้อนดูอีกครั้งของตัวเราในปัจจุบัน เราอาจยิ่งสัมผัสมิติทางอารมณ์ และการเรียนรู้ที่ชัดเจนขึ้น เช่น คำพูดอ้อมๆ ของแม่เป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้ในทันทีว่า ไดโนเสาร์น้อยกำลังเผชิญอยู่กับอะไร ไปจนถึงหลายถ้อยคำที่คมคายและเข้าใจโลก ซึ่งทำให้เราย้อนกลับไปเข้าใจความรู้สึกและความจริงของโลกอีกครั้ง เช่น การเจอกับไดโนเสาร์เฒ่าที่ลิตเติ้ลฟุตบอกว่า ตนเองร้องไห้จนเจ็บท้อง ก่อนที่ไดโนเสาร์เฒ่าจะตอบอย่างเรียบเฉยว่า “ความเจ็บปวดจะหายไปเอง แต่มันต้องใช้เวลา”
สัจธรรมที่ใครๆ ก็เข้าใจ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับและปล่อยให้ความเจ็บปวดเลือนรางไป
เงื่อนไขเรียบๆ ที่เราเข้าใจแต่แสนเจ็บปวด คือในความสำเร็จ ในการเติบโต ในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต เราหวังใจจะให้คนที่เรารักอยู่รับรู้และมองเห็นไปด้วยกัน อาจเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เสมอไป การดำรงอยู่ของคนเหล่านั้นเป็นเราที่เข้าใจดีว่า แม้ความตายจะพาเนื้อหนังร่างกายไป ทว่าคนที่จากเราไป สุดท้ายแล้วต่างก็ยังยืนอยู่เคียงข้างเรา ชี้ชวนหรือกระทั่งชี้นำให้กับเรา แม้ว่าจะไม่ได้ยืนอยู่เคียงข้างอย่างที่เคยอีกต่อไป
ถ้าเราย้อนคิดถึงเรื่องเศร้าและการเติบโต การผจญภัยที่สวยงามที่เราทั้งหัวเราะและร้องไห้ไปกับเรื่องราวของเจ้าไดโนเสาร์ หากไม่นับว่าเรารู้ว่านั่นเป็นเรื่องแต่งขึ้น การเลือกชื่อเรื่องที่เรียกว่า ‘ดินแดนก่อนกาล’ ก็มีนัยที่น่าสนใจ เพราะเรื่องราวทั้งหมดเป็นเรื่องที่เก่าแก่ยิ่งกว่าเรื่องไหนๆ ความทุกข์ ความตาย หรือความสุข เป็นสิ่งที่เผ่าพันธุ์ซึ่งถูกเล่าถึงนั้นล้วนตายจากโลกไปหมดแล้ว
สำหรับความยอกย้อนของบทเรียนเรื่องความตาย และการสูญเสียในงานสำหรับเด็ก ในที่สุดเราแทบไม่มีเส้นแบ่งของความเป็นเด็กกับความเป็นผู้ใหญ่ในบทเรียนต่างๆ เมื่อกลับไปย้อนดูการเรียนรู้ความตายของลิตเติ้ลฟุต ย่อมให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไปจากเมื่อหลายสิบปีก่อน ทั้งภาพการมองท้องฟ้า และจ้องมองไปยังเงาและผิวน้ำ ประสบการณ์ของการสูญเสีย การจากลา และการรักษาคนสำคัญของเราไว้ในความทรงจำ
ภายใต้ร่มเงาของการสูญเสีย การใช้ชีวิตที่ดี การเดินทางตามหาความฝันอันทุลักทุเล และการก้าวไปสู่ตอนจบของสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่จะก้าวไปสู่ปปลายทาง สู่การมีชีวิตที่ดีพอที่จะบอกกับใครสักคนที่อยู่ในสายลมว่า เราใช้ชีวิตได้ดีพอไหม ไม่มีอะไรให้ต้องเป็นห่วงหรือต้องเสียใจ ซึ่งในชีวิตชุลมุนของเจ้าไดโนเสาร์ทั้งหลายก็อาจไม่ต่างจากเราทุกคน
จนกว่าจะถึงวันที่เราเดินทางถึงหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์
อ้างอิงจาก