พูดถึง ผีน้อยเกาหลีใต้ แล้ว ก็เป็นที่รู้กันว่า หมายถึงแรงงานที่เข้าไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในภาพจำของคนไทยแล้ว อาจจะเป็นภาพแรงงานที่ส่วนใหญ่ทำงานสวน เก็บสตอเบอร์รี่ และต้องคอยหนี ตม. หรือตรวจคนเข้าเมืองเวลาที่ถูกบุกจับ
แต่นอกจากภาพจำเหล่านี้ จริงๆ แล้วผีน้อย มีชีวิตอย่างไรในเกาหลีใต้? ในเมื่อเป็นคนลักลอบ และอยู่อย่างผิดกฎหมายแล้ว พวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร? มีบริการอะไรที่คอยซัพพอร์ตให้เขาใช้ชีวิตในเกาหลีบ้าง?
เรื่องของ ผีน้อยเกาหลี ไม่ใช่ประเด็นใหม่ในสังคมไทย รวมถึงยังมีงานวิจัย และวิทยานิพนธ์มากมาย ที่พูดถึงทั้งเหตุผลที่เลือกไปเป็นผีน้อย กระบวนลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย บทสัมภาษณ์การสนทนากับผีน้อย แต่ถึงอย่างนั้นประเด็นนี้ ก็ยังคงถูกนำมาพูดถึงอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ไข และแม้จะมีข่าวมากมาย แต่ก็ยังคงมีคนเลือกเดินทาง ผ่าน ตม. และกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายหน้าใหม่เพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน
**บทความชิ้นนี้ เขียนขึ้นจากประสบการณ์การทำงานเข้าใจสำรวจชีวิตของเหล่านี้ผีน้อย การพูดคุยกับพวกเขาผ่านการทำงานในช่วงระยะเวลาหลายเดือน รวมถึงเข้าไปสิงอยู่ในกลุ่มคอมมูนิตี้ของผีน้อย
เครื่องบินลงจอด แปลว่าลูกฮอดประเทศเกาหลี สิเสี่ยงดวงนำเพิ่นจักที ตม. คนดี กะอย่าสิใจดำหลาย
เนื้อเพลงด้านบน เป็นเพลงที่โด่งดังในแอพพลิเคชั่น Tiktok ที่มีเนื้อหาการพูดถึงผีน้อย ที่หวังบินเข้ามาทำงานที่เกาหลี แต่ถูก ตรวจคนเข้าเมืองจับได้ และต้องถูกส่งกลับประเทศไทย
คนที่เลือกบินมาทำงานที่เกาหลีใต้ อาจจะมีวิธีการเข้ามาที่หลากหลายกัน บางคนอาจจะเลือกเดินทางมาด้วยตัวเอง แล้วค่อยมาหางานเอาดาบหน้าที่นี่ แต่วิธีการหนึ่ง ที่ครอบคลุมตั้งแต่การเริ่มบิน ไปถึงถึงการหาบ้าน และหางาน คือการบินกับแทก หรือแม่แทก กระบวนการนี้ อาจจะเรียกได้ว่า เหมือนกับเอเจนท์ที่เป็นนายหน้าจัดหางาน ที่มีตั้งแต่บริการในการลงทะเบียน K-ETA, หาไฟล์ทตั๋วเครื่องบิน ไปจนถึงการหางาน และที่พัก
โดยคำว่าแทกนี้ ย่อมาจาก Contract หรือสัญญา ที่อาจมีการตกลงกันว่า จะทำงานด้วยเป็นเวลากี่เดือน หรือมีการหักค่านายหน้าจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งบางครั้งจะมีการยึดพาสปอร์ตไว้ เพื่อไม่ให้หนีจากงานเดิมได้ จนกว่าจะครบสัญญาที่กำหนดได้
เมื่อบินมาถึงเกาหลีใต้แล้ว นอกจากงานกับแม่แทกแล้วนั้น ยังมีกลุ่ม และช่องทางคอมมูนิตี้ โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก ที่มีทั้งการโพสต์หาคน และคนที่โพสต์หางาน ซึ่งงานเหล่านี้มีทั้งงานสวน งานโรงงาน งานนวด และงานร้านอาหาร โดยส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง และชนบท ทั้งงานเหล่านี้ยังมีรูปแบบที่เรียกว่า อาระไบท์ หรือหมายถึงงานพาร์ทไทม์ ที่มีทั้งรายวัน และรายเดือน ไปถึงงานสัญญาจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่งานของผีน้อยนั้น จะเป็นไปในรูปแบบแรกมากกว่า
จากการเข้าไปสิงในคอมมูนิตี้ของผีน้อย พบการโพสต์หางาน และคนอยู่เรื่อยๆ แบบไม่ขาด โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่พ้นช่วงหน้าหนาว และกำลังจะเข้าช่วงหน้าร้อน จึงเรียกได้ว่าเป็นซีซั่นของการกลับมาทำงานสวน แต่ก็พบงานแรงงานอื่นๆ อย่างโรงงานพลาสติก โรงงานแพ็กไข่ หรือโรงซักผ้าบ้าง ไปถึงงานร้านนวด
รูปแบบการหาคนนั้น จะเห็นได้ว่า มักมีการหาคนงานเป็นคู่ผัว-เมีย มากกว่าแค่การจ้างงานเดี่ยวๆ ด้วย ‘หนึ่ง’ แรงงานที่มาอย่างถูกกฎหมายกับกรมแรงงาน หรือ EPS เล่าให้เราฟัง ในช่วงที่เขาหางานใหม่ว่า จริงๆ แล้วไม่ว่าจะมาอย่างถูกกฎหมาย หรือเป็นคนผี เวลาหางานในเกาหลีนั้น ก็คืองานเดียวๆ กัน และหลายๆ ที่ก็ทำงานร่วม และคละกัน ไปถึงบางแห่งที่จ้างเพียงแค่คนผีด้วย เขาเล่าให้เราฟังว่า ปัจจุบัน แรงงานผี มักมาด้วยกันเป็นคู่ และเถ้าแก่เองก็นิยมจ้างงานเป็นคู่ด้วยโดยเฉพาะช่วงหลังโควิด “ที่เขาจ้างเป็นคู่เพราะว่า พออยู่กันเป็นคู่ผัวเมียแล้ว คนงานเหล่านี้มักจะอยู่นานกว่า มาทำงานเดี่ยวๆ แล้วคู่คนงานแบบนี้ เถ้าแก่ชอบจ่ายแบบเหมาจ่ายเป็นคู่เลย หรือบางทีก็จ่ายค่าแรงผู้ชายมากกว่าผู้หญิง”
หนึ่งอธิบายเพิ่มว่า งานของผัว และเมีย ก็จะแตกต่างกันไปด้วย โดยผู้ชายมักจะทำงานที่ใช้แรงมากกว่า ขณะที่ผู้หญิงก็จะมีหน้าที่อย่างการทำอาหาร หรืองานซัพพอร์ตอื่นๆ แต่สำหรับแรงงานถูกกฎหมาย EPS นั้น การจ้างงานเป็นคู่นั้น เป็นไปได้ยากกว่าจ้างคู่ผัวเมียผีน้อย
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่หนึ่งเรียกว่า เป็นคู่ผสม คือฝ่ายชายเป็นแรงงานถูกกฎหมาย ขณะที่ฝ่ายหญิงเป็นผีน้อยด้วย “บางครั้งถ้าฝ่ายชายทำงานดี ที่ทำงานดี เงินเดือนดี เถ้าแก่ใจดี บางครั้งก็มีการขอเถ้าแก่ให้เมียตามมาทำงานที่เดียวกันด้วย” หนึ่งเล่า
บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก ช่องทางใช้ชีวิตของผีน้อยไทยในเกาหลี
เมื่อมาถึงเกาหลี นอกจากหาบ้าน หางานแล้ว สิ่งที่คนผีส่วนใหญ่ต้องหาคือ การหาเบอร์โทรศัพท์ แต่การเปิดเบอร์ในเกาหลีได้นั้น ก็ต้องมีวีซ่าเกาหลี และมีการยืนยันตัวคนกับระบบ แต่ถึงอย่างนั้น ในเกาหลีก็มีร้านโทรศัพท์ที่เปิดโดยคนไทย ที่ขายซิมที่เรียกว่า ซิมผีน้อยด้วย โดยจะเป็นซิมที่เปิดในชื่อของคนอื่น และเป็นซิมเติมเงินรายเดือน ซึ่งจะไม่สามารถเอาไปใช้เวลายืนยันตัวตนกับแอพฯ ต่าง ที่ต้องกรอกข้อมูลใบกาม่าได้ (Alien Registration card) และบางเจ้าอาจจะมีการสุ่มตัดได้ด้วย
ต่อมา เมื่อทำงานแล้ว ก็ต้องรับเงินเดือน ตามปกติแล้ว ชาวต่างชาติในเกาหลี ที่เข้ามาอย่างมีวีซ่า สามารถเปิดบัญชีธนาคาร และมีบัตรเดบิต หรือเครดิตได้ แต่สำหรับผีน้อยนั้น แม้ไม่สามารถทำได้ แต่ก็มีบริการของบริษัทเกาหลี ที่ทำแอพฯ ออนไลน์แบงค์กิ้ง เปิดบัญชีออนไลน์ ที่มีหมายเลขบัญชีเสมือนให้สามารถรับและโอนเงินในเกาหลี รวมไปถึงโอนเงินกลับไปยังประเทศไทยได้ ทั้งบางเจ้ายังมีบริการบัตรเดบิตใช้รูดจ่าย ซื้อของได้ด้วย
บริการของแอพฯ เหล่านี้ แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละแอพฯ โดยจะต้องมีเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งแม้จะเป็นเบอร์จากซิมผี ก็สมัครได้ แต่บางแอพฯ พาสปอร์ตต้องไม่หมดอายุ ถึงจะสมัคร และโอนกลับไทยได้ แต่บางแอพฯ แม้พาสปอร์ตจะหมดอายุ ก็ใช้งานบริการต่างๆ ได้ปกติ แต่เนื่องด้วยเป็นบัญชีเสมือน ทำให้ลิมิตการเก็บเงินในบัญชีนั้น เป็นไปอย่างจำกัด คนงานที่ใช้แอพฯ เหล่านี้ ต่างต้องคอยโอนกลับไทยออก เพื่อให้บัญชียังโอนเงินเข้ามาได้อีกด้วย
เอ คนไทยในเกาหลีที่ทำงานพาร์ทไทม์ในบริษัทการเงินนี้เล่าว่า เธอมาเกาหลีด้วยวีซ่านักเรียน ก่อนมาทำงานที่นี่ เธอไม่เคยรับรู้การมีอยู่ของแอพฯ เหล่านี้มาก่อน เพราะเป้าหมายคือมาเรียน จึงไม่จำเป็นต้องส่งเงินกลับไทย รวมทั้งยังมีวีซ่า ทำให้เปิดบัญชีธนาคารเกาหลีได้ปกติ ซึ่งเมื่อเธอได้ทำงาน และได้พูดคุยกับลูกค้า ที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นคนผี
“บางคนเคยมีบัญชีธนาคาร แต่พอวีซ่าหมด กลายเป็นผีน้อย บางธนาคารก็มีนโยบายถูกสุ่มตัดบัญชี ลูกค้าส่วนใหญ่สมัครหลายแอพฯ บางทีพอพาสปอร์ตหมดอายุ ทำให้ใช้บางแอพฯ ไม่ได้แล้ว ก็จะเปลี่ยนมาใช้อีกแอพฯ หรือช่วงไหนแอพฯ ไหนเรทดี หรืออันไหนล่ม ก็จะเปลี่ยนมาใช้อีกอัน ลูกค้ามีหลากหลายวัย หลากหลายอาชีพ เจอเหวี่ยงๆ วีนๆ ใส่ก็มี หรือบางคนก็บ่นคิดถึงบ้านให้ฟัง หรือบางครั้งก็มีขอบคุณที่คอยบริการ เพราะถ้าไม่มีแอพฯ นี้ ก็ไม่รู้จะส่งเงินกลับบ้านยังไง ก็มี” โดยเอยังบอกว่า วันเงินเดือนออกของที่นี่ จะเป็นไปตามวันที่ 5, 10, 15, 20, 25, 30 แตกต่างกันไป ดังนั้นวันเงินเดือนออกโดยเฉพาะวันที่ 15 และ 30 นั้น ทรานเซคชั่นโอนกลับไทยนั้นจะสูงกว่าปกติมาก
นอกจากบริการทางการเงินแล้ว เรายังพบว่ามีบริการอื่นๆ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นบริการตัวแทน ของคนที่มีวีซ่าในเกาหลี ดำเนินการบางอย่างแทน เช่นการรับจองคิวพาสปอร์ต ทำเอกสารต่างๆ ส่งของให้ ตม. กรณีโดนจับ ไปถึงบริการที่เรียกว่า แท็กซี่ผีน้อย ซึ่งเป็นบริการเหมือนแท็กซี่ คือการขับรถไปส่งผีน้อยตามที่ต่างๆ โดยส่วนใหญ่เป็นลักษณะการย้ายบ้าน ย้ายงาน ซึ่งสำหรับคนผีนั้น การขึ้นรถไฟ หรือรถทัวร์ อาจจะเสี่ยงโดนจับ จาก ตม.ที่สุ่มตรวจตามสถานีได้ ทั้งบริการแท็กซี่เหล่านี้ ยังพูด และสื่อสารภาษาไทยได้ง่ายด้วย ทำให้เป็นที่นิยม และมีหลายเจ้า ที่มาทำธุรกิจนี้
นอกจากนี้ ยังมีไปถึงการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ เพราะแอพฯ สั่งอาหารของเกาหลีนั้น ต้องยืนยันตัวตนด้วยใบกาม่า (Alien Registration card) และเบอร์โทรศัพท์มือถือ คนผีจึงไม่สามารถใช้บริการ แต่ก็มีบริการนี้ขึ้นมา โดยให้ลูกค้า มาสั่งอาหาร พร้อมแจ้งที่อยู่ โอนค่าบริการ ซึ่งทางผู้รับบริการ ก็จะกดสั่งจากแอพฯ อีกที และให้ไปส่งปลายทางให้ลูกค้าแทน นอกจากอาหารแล้ว ยังมีบริการสั่งของในแอพฯ ช้อปปิ้งออนไลน์ด้วยเช่นกัน
ไลฟ์สไตล์ของคนผี กับการทำเกาหลีให้เป็นไทยได้
นอกจากอากาศที่มีสี่ฤดู และภาษาราชการที่เป็นภาษาเกาหลีแล้ว คนผีสามารถสร้างไลฟ์สไตล์ให้เหมือนยังอยู่ประเทศไทยได้ด้วย โดยจากวิทยานิพนธ์ของดนย์ ทาเจริญศักดิ์ เรื่อง A Study of Thai ‘Illegal Workers’ in South Korea ได้พูดถึงคอมมูนิตี้ของผู้อพยพในเกาหลีว่า ทั้งคนผี และคนที่อยู่อย่างถูกกฎหมาย ต่างก็มีชุมชนเดียวกัน ทั้งเมื่อมีผู้อพยพคนไทยเข้ามาเกาหลีใต้ และทำธุรกิจในท้องถิ่นมากขึ้น โดยธุจกิจเหล่านี้มาจากคนไทย ที่แต่งงาน ทำให้มีสถานะที่ถูกกฎหมาย จึงมาธุรกิจใหม่ๆ และสมาคมวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนงาน เช่น “ร้านอาหารไทย” “ร้านขายของชำไทย” “ไนท์คลับไทย” และ “วัดไทย” ซึ่งสถานที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่ให้พวกคนงานได้เข้าร่วมเทศกาล วัฒนธรรมต่างๆ ของไทย ไปถึงร้านอาหาร หรือคลับ ยังทำให้คนงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูล อย่างเรื่องงาน หรือชีวิตกันได้ด้วย
สำหรับผับไทยในเกาหลีนั้น มีหลากหลายแห่ง โดยบรรยากาศข้างในนั้น ไม่ต่างจากประเทศไทยเลย เพราะมีการเล่นเพลงไทย เพลงอีสาน เพลงลูกทุ่ง และล้วนมีแต่คนไทย และยังเป็นไปอย่างที่ดนย์ว่าไว้ว่า เป็นสถานที่ให้คนไทยแลกเปลี่ยน พูดคุย พบปะ สังสรรค์ หลังการทำงานหนักในแต่ละสัปดาห์
สิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับการใช้ชีวิตในต่างแดน คือ ‘อาหารไทย’ ในวันหนึ่งที่เราไปเยี่ยม หนึ่ง และพี่ๆ คนอื่นในที่พักแรงงาน พวกเขากำลังทำอาหารไทย พร้อมเล่าให้ฟังว่า ปกติแล้วก็ทำอาหารไทย ทำกินกันเองแบบนี้แหละ นานๆ ทีถึงจะกินอาหารเกาหลีกัน โดยร้านขายของเหล่านี้ ไม่ว่าจะร้านไทย หรือร้านมาร์ทเอเชีย ก็คือสถานที่ที่พวกเขาจับจ่ายวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร
ในระยะหลังโควิด ร้านมาร์ทเหล่านี้ มีการปรับมาเป็นรูบแบบออนไลน์มากขึ้น มีการโพสต์วัตถุดิบไม่ว่าจะเนื้อสัตว์ หรือผักตามกลุ่มเฟซบุ๊กให้ลูกค้าสั่งซื้อ หรือพวกเครื่องปรุง มาม่า ของจากไทยต่างๆ มีการทำเพจคอยอัพเดท และส่งสินค้าในรูปแบบไปรษณีย์ด้วย โดยแม้ว่าราคาจะแพงกว่าของไทย แต่ก็ทำให้สามารถสั่งมาทำอาหารกิน ลดความคิดถึงเมืองไทยไปได้บ้าง รวมไปถึงร้านอาหารไทยเอง ในบางครั้งยังมีการขายของอย่างหวยไทย ไปถึงทองให้ลูกค้า
แม้การเป็นผีน้อย ทำให้เข้าถึงบริการต่างๆ ในเกาหลีไม่ได้ แต่ก็มีบริการรูปแบบอื่นๆ ที่ทดแทน และอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้คนผี เป็นช่องทางที่พวกเขาเข้าถึงได้ อาศัย ทำงาน และใช้ชีวิตได้เหมือนอยู่ประเทศไทยเลย แต่ถึงจะมีช่องทางที่สะดวกสบาย แต่ก็ยังเป็นคนที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย ดังนั้นกรณีมีการโดนโกง การโดนเบี้ยวค่าแรง หรือเจอมิจฉาชีพ ก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะแจ้งความ หรือดำเนินการตามกฎหมายได้ และยังต้องคอยหลบหนี ตม. และเฝ้าระวังตามข่าวต่างๆ โดยเฉพาะในรัฐบาลนี้ ที่เข้มงวด และมีการกวาดจับผู้อยู่อาศัยผิดกฎหมายมากกว่ารัฐบาลก่อน
จนพบเห็นเสียงโอดครวญของเหล่าผีน้อยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ชุดนี้ดุเดือดที่สุดแล้ว
Graphic Designer: Krittaporn Tochan
Editor: Thanyawat Ippoodom