ช่วงเที่ยงวันของวันที่ 26 เมษายน ประเทศไทย ‘ไร้เงา’ เหตุจาก ‘ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก’ เหนือศีรษะพอดี – นี่เป็นเหตุการณ์ประจำปีที่ได้รับการยืนยันโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยเป็นการเกิดขึ้นในลักษณะนี้ครั้งแรกของปี 2567 นี้ และจะมีครั้งต่อไปในวันที่ 16 สิงหาคม 2567
และแม้หน่วยงานดังกล่าวจะระบุว่า เหตุการณ์นี้อาจไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าจะเป็นวันที่ร้อนที่สุดของปี แต่ในเชิงสัญลักษณ์ ก็ดูจะยิ่งตอกย้ำถึงสถานการณ์อากาศร้อนสุดขีดในช่วงเดือนเมษายน ที่ชาวไทยกำลังประสบ ณ ขณะนี้
“ร้อนสุดยอด” พ่อค้าคนหนึ่งที่เกาะพหลโยธิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บอกกับ The MATTER
ไม่ต่างจากทุกวัน พยากรณ์อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาประจำวันที่ 26 เมษายน 2567 ระบุว่า ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มีอากาศ ‘ร้อนจัด’ ในบางแห่ง และมีอุณหภูมิสูงสุด 37 ถึง 41 องศาเซลเซียส
ในขณะที่คนทำงานในกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอาคารออฟฟิศที่มีเครื่องปรับอากาศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ใช้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถหลีกเลี่ยงอากาศร้อนระอุเช่นนี้ได้ ด้วยลักษณะงานที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดทั้งวัน
The MATTER ชวนไปฟังเสียงของพวกเขา ในวันที่ต้องเอาชีวิตรอดจากแสงแดดที่แผดเผากัน
ร้อน แต่หนีไม่ได้ ได้แต่ปรับตัว
“ไหวไหม มันไม่มีสิทธิเลือกนี่ครับ ก็ถ้ามันร้อน เราทนไม่ไหวเราก็หาวิธีให้ตัวเอง” อุดม คนขายลอตเตอรี่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บอกกับเรา
“ถามว่าอันตรายไหม ผมก็คิดว่ามันอันตรายนะ แต่ว่า ในความเป็นอยู่ทุกวัน มัน [ก็ต้อง] ปรับตัวให้ได้อยู่แล้ว”
คงไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอากาศร้อน “มันก็ร้อนล่ะลูก ร้อนมาก ต้องทำใจให้นิ่งๆ ไว้แหละ เราต้องคิดว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” น้อง พนักงานวินรถตู้ กล่าว
เมื่อย่างเท้าเข้าสู่ที่กลางแจ้ง ในใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครอย่างบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อากาศที่ร้อนระอุก็เข้ากระแทกหน้า ไม่ต่างจากหลายวันที่ผ่านมา ร้อน ร้อน และ ร้อน แทบจะกลายเป็นคำทักทายแทน สวัสดี ของคนไทยในเดือนเมษายน ที่คนทำงานกลางแจ้งหลายคนบอกเหมือนกันว่า ร้อนกว่าปีก่อนๆ
ด้วยสภาพอากาศที่เหลือทนเช่นนี้ ทำให้ผู้ใช้แรงงานหลายคนต้องหาวิธีในการปรับตัวอยู่กับความร้อน อย่างเช่น รุ่ง คนงานก่อสร้าง ที่บอกว่า ต้องหาอะไรมาโพกหน้าโพกตา บุญมา วินมอเตอร์ไซค์ ที่บอกว่า ต้องหาเวลาล้างหน้า เข้าห้องน้ำ และแวะปั๊ม หรือ แบงค์ ไรเดอร์รับส่งอาหาร ที่บอกว่า ต้องพยายามหาที่ร่มให้ได้มากที่สุด
“ในเสื้อมีแต่เหงื่อ” แบงค์ว่า
นอกเหนือจากในทางกายภาพ ความร้อนยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย มนุษย์ พ่อค้าน้ำที่อนุสาวรีย์ฯ เล่าว่า บรรยากาศการค้าขายก็เงียบเหงา คนเดินขวักไขว่น้อยลง “ต้องทำใจ เศรษฐกิจก็อย่างนี้ก็ต้องทำใจ” เขาว่า “อาชีพเราอยู่แล้ว ก็ต้องทน ไม่ทนก็ต้องทน ไม่รู้ใครจะช่วยเราได้”
ในระหว่างเดินทาง เรายังได้พูดคุยกับ เพลินทิพย์ นาเมืองรักษ์ คนขับแท็กซี่ที่มีพื้นเพจาก อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งไม่ได้ทำงานกลางแจ้ง แต่เล่าให้ฟังว่า มีคนในหมู่บ้านเสียชีวิตจากสาเหตุที่แพทย์คาดว่าเป็นฮีทสโตรก (heat stroke) ถึง 3 คนติดกันในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา
“เกิดมาอายุจะ 60 เพิ่งเห็นคนร้อนตาย บ้านผม จ.สุรินทร์ 3 คน” เขาว่า “เห็นแต่ข่าวเขาว่าอากาศร้อนทำคนตาย ใครจะไปคิดว่าจะเห็นที่บ้านตัวเอง
“ปีนี้ร้อนแปลกๆ ผมไปอยู่บ้าน โหย ทำไมร้อนอย่างนี้ บางทียังคิดอยู่ ทำนาถ้าร้อนขนาดนี้ จะไปทำได้เหรอ ยังคิดอยู่ กลัวเราไปแล้วมันหน้ามืดได้ง่าย” เพลินทิพย์บอกกับเรา และเล่าเพิ่มเติมว่า คนที่หมู่บ้านต้องหลบแดดอยู่ในบ้านอย่างเดียว และต้องมีน้ำแข็งกระติกใหญ่ไว้คลายร้อนให้ลูกหลาน
“ค่าไฟปีนี้แพงทุกเดือนล่ะ คิดว่านะ ยิ่งบ้านไหนหลานเยอะ ค่าไฟมันก็แพง เพราะเราเปิดไม่ปิด ก็ต้องจ่าย มันก็จำเป็น ถ้าเราไม่เปิดลูกหลานมันก็ด่าเรา เด็กๆ ก็ด่าเรา ห้ามไม่ได้แล้ว ร้อนอย่างนี้ ก็เปิดไป”
อันตรายจากความร้อน และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เกษตรกร พนักงานทำความสะอาดถนน พ่อค้าแม่ค้า คนงานก่อสร้าง ฯลฯ เหล่านี้คือ ‘คนทำงานกลางแจ้ง’ ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ก็เคยออกมาเตือนว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก ที่ควรต้องหลีกเลี่ยงหากมีโอกาส หรือเตรียมความพร้อมให้เหมาะสม
ความร้อนสูงอาจนำมาซึ่งอาการเจ็บไข้ได้ อย่างเช่น โรคลมแดด หรือถ้าหนักที่สุดก็ถึงขั้นเสียชีวิต ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เผยว่า ในระหว่างปี 2560-2566 มีผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน จำนวน 24, 18, 57, 12, 7, 8 และ 37 ราย ในแต่ละปีตามลำดับ
ที่รุนแรงสุดในช่วงดังกล่าว ก็คือปี 2566 ที่มีผู้เสียชีวิต 37 ราย ในจำนวนนี้ พบว่า ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 27 มีโรคประจำตัวร่วมด้วย ร้อยละ 31 และเป็นการเสียชีวิตกลางแจ้ง ร้อยละ 62
อันที่จริงแล้ว ประเทศไทยเองก็มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานจากความร้อนด้วย นั่นคือ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดในข้อ 2 ว่า
ให้นายจ้างควบคุมและรักษาระดับความร้อนภายในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างทํางานอยู่มิให้เกินมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
- งานที่ลูกจ้างทําในลักษณะงานเบาต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ 34 องศาเซลเซียส
- งานที่ลูกจ้างทําในลักษณะงานปานกลางต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ 32 องศาเซลเซียส
- งานที่ลูกจ้างทําในลักษณะงานหนักต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ 30 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ดี กฎกระทรวงดังกล่าวจะมีผลบังคับกับ ‘นายจ้าง’ ที่ต้องควบคุมมาตรฐานความร้อนให้กับลูกจ้างให้ได้เป็นหลัก จึงน่าสังเกตต่อไปว่า แล้วงานของผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้มีนายจ้าง เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือเกษตรกร พวกเขาควรจะต้องได้รับการคุ้มครองหรือความช่วยเหลืออย่างไร?
ความร้อน การทำงาน และความเหลื่อมล้ำ
อากาศร้อนจัดยังส่งผลต่อการทำงานและการใช้แรงงานมากกว่าที่เราคิด
ข้อมูลจากรายงานของ The Lancet Countdown ประจำปี 2566 ที่ศึกษาดาต้าในความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) พบว่าในปี 2565 โลกต้องสูญเสียชั่วโมงการทำงานไปถึง 4.9 แสนล้านชั่วโมง จากการต้องเผชิญกับความร้อน
ข้อมูลดังกล่าวครอบคลุม 4 ภาคส่วนการทำงาน คือ เกษตรกรรม ก่อสร้าง การผลิต และการบริการ ซึ่งจากชุดข้อมูลเดียวกันในปีเดียวกัน ก็พบว่า ประเทศไทยต้องสูญเสียชั่วโมงการทำงานไปถึง 1.23 หมื่นล้านชั่วโมง ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าหลายๆ ประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานอีกฉบับที่ชื่อ Working on a warmer planet: The impact of heat stress on labour productivity and decent work โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2562 ก็คาดการณ์ว่า ในปี 2573 หรือ ค.ศ. 2030 ชั่วโมงการทำงานจะต้องหายไป 2.2% ทั่วโลก เพราะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น คิดเป็นงานเต็มเวลา 80 ล้านตำแหน่ง ถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกรรม ที่คาดว่า ชั่วโมงการทำงานจะหายไปถึง 60% ทั่วโลกในปี 2573 เพราะภาวะเครียดจากความร้อน (heat stress)
ILO อธิบายว่า ภาวะเครียดจากความร้อน หรือ heat stress หมายถึง ความร้อนที่ล้นเกินไปจากระดับที่ร่างกายจะรับไหวโดยไม่ต้องมีความเจ็บปวดทางกาย ปกติมักจะหมายถึงอุณหภูมิที่สูงกว่า 35 องศาเซลเซียสในความชื้นที่สูง และถือเป็นความเสี่ยงทางสุขภาพในการทำงาน (occupational health risk) ด้วย ซึ่งกระทบต่อสมรรถภาพในการทำงาน รวมถึงผลิตภาพ (productivity)
และแน่นอน ILO ชี้ว่า ประชาชนในประเทศรายได้ต่ำ (low-income) และรายได้ปานกลางระดับล่าง (lower middle-income) จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีทรัพยากรในการปรับตัวกับความร้อนน้อยที่สุด และความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากความร้อนจะยิ่งตอกย้ำความเสียเปรียบที่มีอยู่แล้วแต่เดิม อาทิ ความยากจน ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
ในวันที่โลกขยับจาก ‘ภาวะโลกร้อน’ (global warming) มาสู่ ‘ภาวะโลกเดือด’ (global boiling) ดูเหมือนว่าผลกระทบจะเป็นที่รู้สึกได้ในหมู่ประชาชนตัวเล็กๆ อย่างถ้วนหน้า – คำถามที่ตามมาคือ นโยบายของทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศถูกผลักดันไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว?