“หาคนจ่ายค่าไฟ 3,229 ให้ 2,929 บาท”
“บิลค่าเน็ตยอด 426.93 ให้ 380 บาท”
ข้อความลักษณะนี้ ที่พูดถึงบริการรับจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เพิ่งถูกเผยแพร่บนไทม์ไลน์เฟซบุ๊กไปไม่นาน ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้คนมากมาย เนื่องจากบางคนไม่เข้าใจว่าบริการนี้ “มันคุ้มยังไง” กับ “บริการนี้มันคืออะไรกันแน่?”
ในเวลาต่อมา MONEY LAB สื่อด้านการเงินของไทย ออกมาอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มันคือบริการที่ผู้ให้บริการต้องการนำเงินสด หรือเงินก้อนมาหมุนด้วยการรับจ่ายบิล ส่วนผู้ใช้บริการหรือผู้ถือบิลต้องการจ่ายค่าสาธารณูปโภคในสัดส่วนที่ถูกกว่าเดิม
เช่น รับยอดจ่ายค่าไฟ 4,300 บาท และได้รับเงินสด 4,000 บาท จากผู้ที่หาคนจ่ายค่าไฟ แต่หลังจากนั้น ฝ่ายที่รับเงินสดจะต้องไปจ่ายค่าไฟยอดเต็ม ด้วยการจ่ายแบบผ่อนในแอปพลิเคชันที่ให้ลูกค้าช้อปสินค้าหรือจ่ายบิล ซึ่งผ่อนได้นานสูงสุดถึง 12 เดือน
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามที่ว่า นอกจากรูปแบบบริการที่แปลกใหม่แล้ว การบริการเช่นนี้มันสะท้อนถึงอะไรในสังคมไทยเราบ้าง จะมีผลเสียระยะยาวเกิดขึ้นหรือไม่?
ดูไม่สมเหตุสมผล แต่ก็มีเงินมาหมุนใช้ก่อน
ขอเริ่มต้นอธิบายปรากฏการณ์ข้างต้นเพิ่มเติมว่า แม้ผู้รับจ่ายค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ต จะได้เงินน้อยลงมาหน่อย แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ยังได้เงินสดมาหมุนใช้ก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ย
ส่วนจำนวนเงินของเงินสดที่หายไป เช่น ค่าไฟ 5,000 ได้รับ 4,500 บาท หรือตีเป็น 10%-20% ก็เปรียบเป็นดอกเบี้ย ที่แลกกับการนำเงินสดมาใช้ก่อนนั่นเอง
ดังนั้น การจ่ายบิลเพื่อแลกเงินสด ไม่ต่างกับการใช้บัตรกดเงินสดสำหรับคนรับจ่ายบิล ที่มีวงเงินตามโปรแกรมใช้ก่อนจ่ายทีหลัง จากแอปพลิเคชันที่มีระบบผ่อนชำระ
เศรษฐกิจไม่ดี คนจึงกล้าเสี่ยง
อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ อธิบายให้ The MATTER ฟังถึงธุรกิจดังกล่าวว่า ไม่ได้แตกต่างกับการที่ธนาคารให้คนกู้ยืมเงิน เพื่อซื้อบ้านและทำการผ่อนบ้านที่ต่อมาจะมีเรื่องดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทำให้ทั้งสองสถานการณ์ไม่ต่างกันเลย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ตามปกติแล้วเวลาเราซื้อบ้าน ซื้อรถ เราจะคาดการณ์ได้ว่าต้องจ่ายเงินทั้งหมดประมาณเท่าไร และในระยะเวลากี่ปี ซึ่งตรงกันข้ามกับธุรกิจรับจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เพื่อแลกกับเงินก้อน
เพราะยิ่งระยะเวลาในการจ่ายคืนสั้นเท่าไร ดอกเบี้ยก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งแพลตฟอร์มใช้ก่อนจ่ายทีหลังมักจะผ่อนได้สูงสุดอยู่ที่ 12 เดือนเท่านั้น เขายกตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยดังนี้
“สมมติรับยอดค่าไฟ 2,500 บาท แล้วเลือกผ่อนสูงสุด 12 เดือน เงินที่ต้องคืนทั้งหมดจะเท่ากับ 3,700 บาท หรือ ดอกเบี้ยคิดเป็น 48%”
ดังนั้น ผู้ที่ทำธุรกิจเชิงนี้บางคนอาจไม่รู้วิธีการคำนวณดอกเบี้ยก็เป็นได้ จนไม่รู้ว่าดอกเบี้ยที่ต้องเสียที่หลังนั้นไม่คุ้มเลย เราถามต่อว่า สมมติพวกเขารู้ถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา แต่ทำไมถึงยังคงทำอยู่? ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไร?
เขาตอบกลับว่า สิ่งที่ผู้คนทำก็เพื่อแลกกับเงินก้อนใหญ่ ที่อาจพูดได้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เขายกตัวอย่างว่า ถ้าให้เราต้องเลือกระหว่าง 1,000 บาท ในวันนี้ กับ 1,500 บาท ในปีหน้า คนก็เลือก 1,000 บาทนะ ซึ่งมันเป็นอคติที่เรียกว่า Present bias หรือ ถ้าให้เลือกระหว่างวันนี้กับปีหน้า คนก็จะเลือกวันนี้ เพราะมนุษย์มักจะให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต
“ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเลือกรับเงินก้อนตอนนี้เลย ถึงแม้มันจะไม่คุ้มกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในอนาคตก็ตาม เพราะเราจะคิดว่าได้เงินวันนี้เลยนะ”
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยังบ่งบอกได้อีกว่า คนต้องการใช้เงินด่วนจริงๆ เนื่องด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่ดี หมุนเงินไม่ทัน และขาดสภาพคล่อง จนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงินสดมาให้ได้ แม้มูลค่าของมันจะน้อยกว่าเงินที่จะต้องจ่ายในอนาคตก็ตาม ดังนั้น ผู้ที่รับเงินก้อนและยอมเสียดอกจำนวนมากๆ อาจคิดว่าไปตายเอาดาบนี้ดีกว่า แม้ในระยะยาวมันจะไม่คุ้มเสียเลย
ระยะยาวไม่คุ้ม แต่ทำไมยังเติบโต
อ.ณัฐวุฒิให้ความเห็นว่า ผู้รับจ่ายบิลบางคนอาจมีความเสี่ยงเป็น ‘สแกมเมอร์’ (scammer) ที่ใช้วิธีการหลอกลวงต่างๆ เพื่อจะได้รับเงินมา ซึ่งอาจจะทำเป็นกระบวนการก็ได้
หรืออีกอย่างอาจจะเป็นคนทั่วไปที่พอได้เงินคนนี้มา ก็ไปจ่ายคนอื่นๆ เพื่อโปะเงินไปเรื่อยๆ แต่คนกลุ่มนี้มักจะอยู่ได้แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่สามารถแบกหนี้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้
เขาพูดว่า ดังนั้นจริงๆ แล้ว มันไม่ต่างกับหนี้นอกระบบอยู่ดี หากเทียบกับธนาคารที่จะมีการดูเครดิต รายได้ ของคนที่จะมากู้เงินก่อน “หนี้แบบนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ซึ่งอาจตกไปถึงลูกหลานเลยก็ได้”
ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า เจ้าของแพลตฟอร์มอาจไม่ออกมารับผิดชอบอะไรเลยก็ได้ เพราะถ้าดูดีๆ แล้วมันถือว่าไม่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ บริษัทเหล่านี้ยังได้ค่าเปอร์เซ็นต์ (commission)
ตรงกันข้ามกับ คนที่กำลังทำธุรกิจแบบนี้ อาจจะเป็นผู้เสียหายจริงๆ เพราะในอนาคตอาจไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ยที่แบกเอาไว้ ดังนั้น ตอนนี้เสียงจากสังคมหรือรัฐบาลจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะหยุดยั้งธุรกิจดังกล่าวได้
เขากล่าวว่า ภาคส่วนที่ต้องรับผิดชอบควรเข้ามาดูว่าใครเป็นผู้เสีย ใครเป็นผู้ได้ ซึ่งในมุมของเขามองว่า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ คือแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง ดังที่กล่าวข้างต้น และผู้ที่เสียหายมากที่สุด คงหนีไม่พ้นลูกค้าที่มีศักยภาพสูง (potential customer) เพราะผู้ที่สามารถรับจ่ายบิลให้ผู้อื่นได้ มักจะมีเครดิตเงินที่ค่อนข้างดีในแพลตฟอร์ม
“แต่ตามจริงแล้ว มันเป็นหน้าที่โดยตรงของแพลตฟอร์มตัวกลางทั้งหลายที่ควรตรวจสอบ เพราะถือเป็นผู้ให้บริการ แม้ว่าจะได้รับกำไรมหาศาลจากธุรกิจประมาณนี้ก็ตาม”
อ.ณัฐวุฒิ เสริมว่า แต่ถ้าพวกเขาไม่รับผิดชอบ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องเข้ามาสอดส่องว่า ทำอย่างไรได้บ้างเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค ด้วยการออกกฎต่างๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์เหล่านี้ เนื่องจากตลาดดังกล่าวมีข้อบกพร่องสูงและยังไร้กฎเกณฑ์ เช่น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินที่เราโอนไป จะถูกนำไปชำระจริงๆ ฉะนั้นควรมีหน่วยงานคอยสอดส่องดูแล
ระยะยาวกระทบหนี้ครัวเรือนประเทศ
“ในแง่ธุรกรรมสามารถทำได้ไม่ผิดหลักเกณฑ์ เพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกหนี้ ที่มีเครดิตกับผู้ให้บริการ (ตัวกลาง) และเจ้าของบิลที่ต้องการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ที่ทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกัน” ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุ
ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังระบุเพิ่มว่า ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปกป้องความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นไปแล้ว เช่น ให้ตรวจสอบว่ามีการทำธุรกรรมหลอกลวงหรือไม่ เพราะเจ้าของบิลบางรายอาจถูกหลอก หลังจากโอนเงินสดไปให้กับผู้รับจ่ายบิล
“ถ้านำเงินสดดังกล่าวมาหมุนจ่ายหนี้ ไม่ใช่เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แสดงว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยกำลังไปในทิศทางที่ไม่ดี และในอนาคตแพลตฟอร์มเหล่านี้จะเจอปัญหากับหนี้เสียมหาศาล หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้” อ.ณัฐวุฒิ กล่าว
อ้างอิงจาก