ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เผชิญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่ส่งผลให้อากาศร้อนเหมือนนรกขนาดนี้ แต่จริงๆ แล้วทั้ง ‘เอเชีย’ ของเรากำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ
รายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ‘เอเชีย’ ยังคงเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ (ส่วนใหญ่เป็นพายุและน้ำท่วม) มากที่สุดในโลกในปี 2023 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และอันตรายที่เกี่ยวข้องกับน้ำ
รายงานสภาพภูมิอากาศในเอเชียปี 2023 เน้นย้ำถึงอัตราการเร่งตัวของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจากตัวชี้วัดต่างๆ เช่น อุณหภูมิพื้นผิว การเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอื่นๆ อีกมากมาย
เซเลสต์ เซาโล (Celeste Saulo) เลขาธิการ WMO บอกว่า หลายประเทศในภูมิภาคนี้เผชิญกับปี 2023 ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับสภาพอากาศที่รุนแรง ตั้งแต่ภัยแล้ง คลื่นความร้อนไปจนถึงน้ำท่วมและพายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์ดังกล่าวรุนแรงขึ้น ซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือชีวิตมนุษย์
เอเชียร้อนเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
ด้วยแนวโน้มภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่านับตั้งแต่ช่วงปี 1960-1990 เอเชียจึงร้อนเร็วขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยมีทั้งผู้เสียชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วม พายุ และคลื่นความร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้น
ในปี 2023 อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้แต่มหาสมุทรอาร์กติกก็ประสบปัญหาคลื่นความร้อนในทะเล ในหลายพื้นที่ของภูมิภาค รวมถึงทะเลอาหรับ ทะเลคาราทางตอนใต้ และทะเลลาปเตฟทางตะวันออกเฉียงใต้ พื้นผิวทะเลกำลังอุ่นขึ้นเร็วกว่าทั่วโลกถึง 3 เท่า
ขณะที่แรงหนุนจากการความร้อนและการละลายของธารน้ำแข็งทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในเอเชีย อัตราดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในช่วงปี 1993-2023
ตามฐานข้อมูลเหตุการณ์ฉุกเฉินระบุว่า ในปี 2023 เอเชียพบภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับน้ำ 79 ครั้ง กว่า 80% เป็นอุทกภัยและพายุ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย และส่งผลกระทบโดยตรงถึงผู้คนอีกกว่า 9 ล้านคน
รายงานระบุว่าตั้งแต่ปี 1970 – 2021 มีภัยพิบัติ 3,612 ครั้งที่เกิดจากสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และน้ำสุดขั้ว โดยมีผู้เสียชีวิต 984,263 ราย และความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภูมิภาคเอเชียคิดเป็น 47% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่มีการรายงานว่าเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก โดยมีพายุหมุนเขตร้อนเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต
อุณหภูมิสูงขึ้น แต่ฝนลดลง
หลายพื้นที่ของภูมิภาคเผชิญกับความร้อนจัดในปี 2023 ขณะที่ระดับฝนยังต่ำกว่าปกติในพื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มทูราน (เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน) เทือกเขาฮินดูกูช (อัฟกานิสถาน ปากีสถาน) และเทือกเขาหิมาลัย รวมถึงบริเวณรอบๆ แม่น้ำคงคาและทางตอนล่างของแม่น้ำพรหมบุตร ( อินเดียและบังคลาเทศ)
เทือกเขาอาระกันในเมียนมาและทางตอนล่างของแม่น้ำโขงก็มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ในขณะที่จีนตะวันตกเฉียงใต้ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยมีระดับฝนตกต่ำกว่าปกติเกือบทุกเดือนของปี 2023
แม้ว่าฝนโดยรวมจะลดลง แต่ก็มีเหตุการณ์รุนแรงหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น ฝนตกหนักในเมียนมาช่วงเดือนพฤษภาคม น้ำท่วมและพายุทั่วอินเดีย ปากีสถาน และเนปาลในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม และอื่นๆ อีกมากมาย
ขณะทั่วโลกกำลังร่วมหาทางออกร่วมกันเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในตอนนี้และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต การประชุมหารือของผู้นำประเทศเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง นโยบายถูกคิดค้นออกมามากมาย เหลือเพียงแต่คำถามที่ว่าแล้วสิ่งเหล่านี้มันเพียงพอหรือยัง?
อ้างอิงจาก