“อยากได้อะไรก็ไปซื้อที่สำเพ็ง ของเยอะ ราคาถูก” คำพูดที่ใครหลายๆ คนมักจะได้ยินตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะสำเพ็งถือเป็นศูนย์กลางตลาดค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่มีสินค้าแทบจะทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเขียน ของเล่น กิ๊ฟช็อป
ทว่าภาพบรรยากาศไร้ผู้คนเดินจับจ่ายใช้สอยเริ่มปรากฏออกมาให้เห็นตั้งแต่ 5-6 ปีที่ก่อน จนสื่อหลายเจ้าเข้าไปสำรวจและพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้า โดยพบ 3 สาเหตุหลักๆ คือ การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ วิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้คนไม่มีกำลังซื้อ และการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนที่มีต้นทุนถูกกว่า
แต่ในปัจจุบัน พ่อค้าแม่ค้าสำเพ็งก็ยังออกมาส่งเสียงคล้ายเดิมว่า ตอนนี้ตลาดซบเซายิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือ คนไทยไม่มีพื้นที่ขายของหรือโดนตัดราคาสินค้า จนผู้ประกอบการคนไทยในสำเพ็งหลายเจ้าเริ่มทยอยหายหน้าหายตาไป เพราะการทะลักเข้ามาของชาวจีนและสินค้าจีน
ดังนั้น The MATTER ขอพาทุกคนไปฟังเสียงพ่อค้าแม่ค้าชาวไทย ที่พูดถึงผลกระทบของการเข้ามาของนักลงทุนจีน รวมถึงเราได้คุยกับ ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สภาผู้แทนราษฎร เขต 1 (พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ฯลฯ) พรรคก้าวไกล ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
รายย่อยไทยตายหมดแล้ว ตอนนี้แค่เอาตัวรอดไปวันๆ
เริ่มต้นที่ ป้ากบ (นามสมมติ) แม่ค้าแผงลอยผู้ขายกระเป๋า ยางรัดผม และโบว์ติดผม ช่วงเที่ยงคืนถึงแปดโมงเช้า โดยเธอเล่าว่า เริ่มขายของที่สำเพ็งตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งตอนนั้นขายของดีมาก ตรงกันข้ามกับปัจจุบันที่ขายแทบไม่ได้
อย่างไรก็ดี เธอคาดเดาสาเหตุว่า น่าจะมาจากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ และการเข้ามาของคนจีน ที่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ค้าขาย รวมถึงยังขายของตัดราคา “10 ปีที่ผ่านมา ป้ารู้สึกว่าเป็นช่วงที่คนจีนเข้ามาเยอะที่สุด มาเปิดร้านเองเลย ต่างกับสมัยก่อนที่จะส่งของให้คนไทยขายเท่านั้น”
ป้ากบเสริมว่า ตอนแรกเธอขายเพียงกระเป๋าที่ผลิตเอง จากการจ้างช่างชาวไทยให้ออกแบบและตัดเย็บกระเป๋าให้ แต่ในปัจจุบันเธอต้องหาอย่างอื่นมาขายร่วมด้วย เช่น โบว์ ยางรัดผม เพราะไม่สามารถขายกระเป๋าอย่างเดียวได้เหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนขายกระเป๋าที่มีลักษณะคล้ายกัน ด้วยราคาที่ถูกกว่าหลายเท่า
“สมมติป้าเป็นแม่ค้าที่รับของจีนมาขาย ต้นทุนตกชิ้นละ 35 บาท ป้าก็ซื้อมาขายต่อ 70 บาท แต่สักพักคนจีนกลับขายสินค้าดังกล่าวเองในราคา 35 บาท แล้วเราจะเอากำไรจากไหน พ่อค้าแม่ค้าคนไทยต่างเจ๊งกันระนาว”
เธอเล่าต่อว่า สมัยก่อนยังขายของได้ดีมีเงินพอใช้ แต่ทุกวันนี้เป็นหนี้เป็นสิน ไม่มีปัญญาจะจ่ายแล้ว ทั้งเอาที่ทางไปจำนอง เอารถยนต์ของลูกเข้าไฟแนนซ์ 2 คัน เพื่อหาเงินโปะหนี้ เพราะว่าขายของไม่ได้เลย บางวันขายไม่ได้สักบาท ตอนนี้รู้สึกตันไปหมด ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ไม่ถึงชั่วโมงก็ขายได้ 5,000 บาทแล้ว
อย่างไรก็ตาม ป้ากบแสดงความเห็นว่า สำหรับป้าแล้วสินค้าจีนสามารถเข้ามาได้ แต่อย่าให้พวกเขาเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจเองเลย เพราะคนจีนมีกำลังที่จะเช่าพื้นที่ในราคาที่สูง ต่างกับคนไทยที่ตอนนี้หาที่ขายของแทบไม่ได้
พอเราถามถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐ ว่ามีการเข้ามาตรวจสอบบ้างหรือไม่ ซึ่งป้ากบก็รีบตอบกลับทันทีว่า ไม่มีหน่วยงานไหนลงมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง มีเพียงเจ้าหน้าที่เทศกิจมาเดินเก็บเงินคนจีน ซึ่งชาวจีนเหล่านี้ก็ยอมจ่ายแต่โดยดี เพราะถ้าขัดขืนก็ขายของที่นี่ไม่ได้ ดังนั้นหน่วยงานท้องที่รู้หมดว่า ใครมาถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่แค่ไม่สนใจ
“อยากให้รัฐบาลปราบปรามคนจีนที่เข้ามาค้าขายอย่างผิดกฎหมายเสียที เพราะตอนนี้เข้ามาเยอะเกินไป จนมาแย่งพื้นที่ทำมาหากินของคนไทยในแทบทุกที่เลยก็ว่าได้”
ถัดจากร้านป้ากบไปไม่มาก เราก็เข้าไปสอบถามถึงประเด็นดังกล่าวกับพี่สา (นามสมมติ) ที่กำลังจัดแจงแขวนกระเป๋าบริเวณหน้าร้านของตัวเอง โดยเธอเล่าว่า เริ่มขายของที่นี่ราว 20 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นขายดีมาก จนหาของมาขายแทบไม่ทัน
“เมื่อก่อนขายได้หลักหมื่นหลักแสน ตอนนี้กลับได้แค่หลักพัน แต่โชคดีหน่อยที่เรายังมีหนี้น้อย เพราะยังมีเงินที่สะสมไว้ จึงพอประคับประคองธุรกิจไปได้อยู่ แต่คนอื่นที่เรารู้จักเลิกขายไปเยอะแล้ว”
พอเราถามถึงความเห็นของเธอต่อนักลงทุนจีนที่ทยอยเข้ามาในสำเพ็งว่า ได้สร้างผลกระทบอย่างไรต่อตัวเธอและภาพรวมของสำเพ็งบ้าง เธอตอบกลับว่า ช่วงแรกคนจีนเพียงส่งของให้เรา (คนไทย) นำมาขายต่อเท่านั้น แต่ในปัจจุบันคนจีนนำสินค้าเหล่านั้นเข้ามาขายด้วยตัวเอง จนทุกร้านต้องเผชิญกับการถูกตัดราคา และการมีอำนาจเงินที่หนากว่า ทำให้คนจีนสามารถแย่งชิงพื้นที่ค้าขายจากคนไทยได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ชาวจีนยังมักจ้างลูกจ้างที่เป็นชาวเมียนมาและกัมพูชาเท่านั้น ลูกจ้างคนไทยแทบไม่เห็น
“สมมติราคาค่าเช่าร้านอยู่ที่ 5,000 บาท คนจีนมักจะเสนอค่าเช่าเป็น 50,000 บาท หรือมากกว่าราว 5-10 เท่า คนไทยจึงสู้ไม่ได้ทั้งเรื่องสินค้าและค่าเช่าที่”
อย่างไรก็ดี เธอเปิดเผยว่าตอนนี้เธอเปลี่ยนมาผลิตสินค้าเอง 100% ต่างกับก่อนหน้านี้ที่จะเน้นรับของคนจีนมาขาย เนื่องจากไม่อยากให้สินค้าของตนเองไปซ้ำกับของคนจีน
พี่สายังระบุถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนจีนเข้ามาครอบครองการค้าขายในตลาดสำเพ็งได้มากขนาดนี้ โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ท้องที่เก็บส่วย และหัวคิวที่มีอิทธิพลคอยเก็บเงินแทนเจ้าหน้าที่
เธอเล่ากระบวนการการรีดไถ่ให้ฟังว่า สมมติตำรวจมาจับร้านนี้ แต่เจ้าของร้านระบุชื่อผู้มีอิทธิพลคนดังกล่าว ตำรวจก็มักจะพูดกลับว่างั้นเดี๋ยวรอให้เขาคนนั้นมาเจรจาก่อน แม้ผู้มีอิทธิพลคนนี้ทำเชิงเหมือนเป็นคนต่อรองไกล่เกลี่ยให้ แต่เธอก็ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วอาจจะเป็นพวกเดียวกัน
เธอเสริมว่า การเก็บส่วยมักจะเก็บเป็นรายเดือน โดยผู้มีอิทธิพลคนดังกล่าวมักเดินเก็บตามร้านต่างๆ ในช่วงสิ้นเดือนหรือต้นเดือน ถ้าให้สรุปง่ายๆ คือ หากร้านไหนโดนให้จ่ายเงินก้อนใหญ่ไปแล้ว หลังจากนั้นก็จะถูกเรียกเก็บเป็นรายเดือนแทน
อย่างไรก็ตาม เธอย้ำว่าการกระทำทั้งหมดเหล่านี้ล้วนทำให้คนจีนสามารถอยู่ขายของต่อได้สบาย เพราะว่ามีกำลังที่จะจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่
ถัดมาร้านที่สาม เราได้พูดคุยกับ พี่นุ่น (นามสมมติ) แม่ค้าขายกระเป๋าถักและกระเป๋าผ้า ถึงปัญหาคนจีนในพื้นที่สำเพ็ง ซึ่งเธอกล่าวว่า เริ่มแรกเธอทำกระเป๋าขายเองและขายค่อนข้างดี แต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีนักลงทุนชาวจีนเข้ามาเช่าพื้นที่ขายของแถวหน้าร้านเธอ จากนั้นคนจีนคนดังกล่าวดันนำกระเป๋าที่มีลักษณะเหมือนกับเธอมาขายแข่งด้วยราคาที่ถูกกว่า
“เขาให้ทางบ้าน (จีน) ผลิตตามและก็นำเข้ามาขาย ตั้งแต่นั้นมาพี่ก็ตระหนักได้แล้วว่า จีนเป็นประเทศที่มีกำลังผลิตสินค้าแทบทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วและยังมีต้นทุนที่หนามากๆ อีกด้วย”
เธอกล่าวต่อว่า แต่ผลกระทบที่แย่ไปกว่านั้นคือ แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ก็มีคนจีนจำนวนมากไลฟ์ขายสินค้าให้คนไทยเอง ซึ่งทำให้สินค้าของคนไทยดูมีราคาที่แพงกว่าทันที ทั้งในหน้าร้านและออนไลน์
“ตอนนี้ขายไม่ดีเลย อีก 2-3 วันนี้ก็เลิกขายแบบจริงๆ แล้ว ขายแล้วค่าใช้จ่ายมันเยอะ ทั้งค่าเช่า ค่าเทศกิจ ขายแล้วไม่คุ้ม ตอนนี้ก็มีหนี้ โปะยังไงก็ไม่หมด”
ทุนจีนทะลัก เพราะกฎหมายไทยไม่เข้มงวด
หลังจากเราได้รับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการชาวไทยในสำเพ็ง ถึงความเดือดร้อนที่พวกเขากำลังประสบอยู่ เรายังได้มีการพูดคุยกับ ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สส.เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานะคนที่ต้องดูแลพื้นที่โดยตรง
“ปัญหานี้มีมาสักพักใหญ่แล้ว โดยนักลงทุนจีนหน้าใหม่เริ่มเข้ามาที่ไทยราว 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดคือ ช่วงก่อน COVID-19 ระบาดไม่นานนัก”
ซึ่งเขาระบุเหตุผลที่ชาวจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยว่า เนื่องจากประเทศจีนมีกฎหมายค่อนข้างเข้มงวด โดยเฉพาะนโยบายการปราบปรามคอร์รัปชัน ดังนั้นคนจีนจะดำเนินธุรกิจต่างๆ ยากขึ้น และเศรษฐกิจก็ไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนสมัย 20 กว่าปีที่แล้ว ที่จีนเพิ่งเปิดประเทศใหม่ๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ชาวจีนจะแห่มาลงทุนที่ไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี การเข้ามาของนักลงทุนจีนสร้างผลกระทบในหลายมิติ ซึ่งมิติแรกจะเป็นเรื่องของค่าเช่าที่สูงขึ้น เพราะนักลงทุนจีนสามารถสู้ราคาค่าเช่าที่แพงได้มากกว่าคนไทย และที่สำคัญคือ ไทยเป็นประเทศที่มีการแข่งขันด้านธุรกิจน้อยกว่า ถ้าเทียบกับประเทศจีนที่มีการแข่งขันสูงทั้งในภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ
ขบวนการ ‘รับจบจัดตั้ง’ ดึงดูดนักลงทุนชาวจีน
สส.ปารเมศ ระบุว่า ทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าคนไทย ส่วนใหญ่จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พบกับความยากลำบากจากกลุ่มนายทุนต่างชาติที่เข้ามาแข่งขัน ตัดราคาสินค้า ปั่นราคาค่าเช่าตึกจากหลักหมื่นเป็นหลักแสน และยังมีการนำเข้าสินค้าเลียนแบบเข้ามาขายเต็มไปหมด รวมทั้งของที่ไม่มี อย. ไม่มีฉลากภาษาไทย
เขาพูดเสริมในประเด็นพื้นที่ค้าขายในสำเพ็งว่า การสู้ค่าเช่าพื้นที่ค้าขายของชาวจีนบางทีมีนัยแอบแฝง เช่น มีข่าวลืออ้างว่า ผู้ประกอบการชาวจีนบางเจ้าไม่ได้กังวลเรื่องการขาดทุนหรือไม่ได้ต้องการกำไรจากการขายสินค้าเลย เพียงแค่ขายไปงั้นๆ
จึงเกิดการตั้งข้อสังเกตว่าเงินสำหรับจ่ายค่าเช่าร้าน มาจากการฟอกเงินหรือไม่ เพราะโดยปกติแล้ว ผู้ที่ฟอกเงินต้องการให้เงินที่ฟอกมามีที่มาที่ไป เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำความผิด คนเหล่านี้จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่เช่าร้านขายของหรือเปิดบริการ ซึ่งส่งผลให้ราคาค่าเช่าถูกปั่นสูงยิ่งขึ้น เพราะมีความต้องการสูง
สส.ปารเมศเพิ่งอภิปรายประเด็น ‘กลุ่มทุนต่างชาติสีเทา ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย’ ไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมานี้ ซึ่งเขากล่าวถึงกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่ระบุไว้ว่า มีธุรกิจใดบ้างที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น เช่น อาชีพช่างตัดผม มัคคุเทศก์ หรือบางอาชีพที่ชาวต่างชาติสามารถทำได้แต่ต้องขออนุญาตก่อน ซึ่งการขออนุญาตนั้นก็มีความยุ่งยากอยู่ในระดับหนึ่ง
ดังนั้นจึงมีกรรมวิธีทางกฎหมายเพื่อทำการตรวจสอบ แต่กระบวนการนั้นดันมีช่องโหว่ จึงเป็นที่มาของขบวนการ ‘รับจบจัดตั้ง’ ที่ดำเนินการให้ตั้งแต่ต้นจนจบ แบ่งเป็น 3 เรื่องคือ
- การจัดการวีซ่า เช่น วีซ่านักเรียน ซึ่งบริษัทรับจบเหล่านี้จะจัดหาสถาบันการศึกษา แล้วให้คนต่างชาติสมัครเรียน แต่ไม่มีการเรียนจริง แค่รักษาสถานภาพการศึกษาเอาไว้เฉยๆ หลังจากนั้นก็ออกไปทำธุรกิจหรือทำงาน
- การจัดหาคู่แต่งงาน เป็นการหาคู่แต่งงานชาวไทย เพื่อให้ได้สัญชาติไทย หรือให้คู่แต่งงานคนไทยถือหุ้นหรือที่ดินแทนชาวต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาประกอบธุรกิจ
- การจัดหานอมินี ที่ชาวต่างชาติจ่ายเพียงหลักหมื่น ก็สามารถมีนอมินีหรือตัวแทนในการทำธุรกิจ รวมถึงซื้อและเช่าอสังหาริมทรัพย์
“ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะสารตั้งต้นหรือนิติบุคคลนั้นผิดตั้งแต่แรก เนื่องจากเนื้อแท้ของนักลงทุนจริงๆ แล้วเป็นต่างชาติ ไม่ใช่คนไทย ดังนั้นข้อห้ามต่างๆ ที่กฎหมายเขียนไว้ว่า ชาวต่างชาติห้ามทำหรือต้องขออนุญาตก่อนล้วนไม่มีประโยชน์” แต่อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยอย่างผิดกฎหมายได้ เกิดจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐที่รู้เห็นเป็นใจ แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นปัญหา
แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
สส.ปารเมศ กล่าวว่า เขายังไม่เห็นนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เขาจึงอภิปรายเรื่องนี้ไป อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่ารัฐบาลรู้ปัญหาดังกล่าวนี้อยู่แล้ว เพราะเห็นได้จากนโยบายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ (E-commerce) ที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ที่เพิ่งถูกใช้ได้ไม่กี่เดือน
เขาเสริมว่า นโยบายข้างต้นเกิดขึ้นเพราะขณะนี้นักลงทุนต่างชาติไม่ได้รุกคืบแค่การดำเนินธุรกิจหน้าร้าน แต่ยังรวมถึงการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งตอนนี้นักลงทุนชาวต่างชาติไม่ได้มีแค่จีนอย่างเดียว ยังมีอินเดีย รัสเซีย และเกาหลี ที่ตอนนี้เข้ามาเยอะไม่แพ้กัน
“ถ้ารัฐยังไม่เอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบและลงโทษนักลงทุนต่างชาติ และเจ้าหน้าที่ไทยที่รู้เห็นเป็นใจ ในระยะยาวคนไทยจะเสียประโยชน์ค่อนข้างสาหัส”
เขาระบุว่า ขณะนี้ปัญหาถือว่าอยู่ในระดับกลางแล้ว เพราะชาวต่างชาติสามารถซื้อคอนโด บ้าน และปล่อยให้คนไทยเช่าอีกที ซึ่งนอกจากจะลามไปที่ด้านอสังหาริมทรัพย์แล้ว ในอนาคตอาจจะลามไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ จนท้ายที่สุดเราอาจโดนกินรวบ และ ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ของไทยก็จะทยอยหายไป
ถ้าไม่รีบแก้ปัญหาทุนจีนและทุนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยอย่างผิดกฎหมาย ในท้ายที่สุดแล้วผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจะมีเพียงนายทุนต่างชาติ และกลุ่มชนชั้นนำไทยเท่านั้น
อ้างอิงจาก