‘มุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด’ หรือเป็นที่รู้จักกันในตะวันตกในชื่อย่อ ‘MBS’ ที่มาจาก ‘Mohammed bin Salman’ กลายเป็นที่จับตามอง หลังเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการในวันที่ 25-26 ม.ค. 2565 และอนุญาตให้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ เข้าเฝ้า
ไม่แปลกที่จะถูกจับตา เพราะแม้เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน จะมีพระชนมายุเพียง 36 พรรษา แต่ก็ได้รับการกล่าวขานมานานแล้วว่าเป็นผู้ปกครองประเทศตัวจริง พระองค์เป็นโอรสของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด และในปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร, รองนายกรัฐมนตรี, รมว.กลาโหม, ประธานสภาเศรษฐกิจและการพัฒนา และสภาการเมืองและความมั่นคง
ด้วยตำแหน่งสำคัญขนาดนี้ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน จึงมีบทบาทมากในการเมืองซาอุฯ นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองมุฎราชกุมารและรองนายกฯ เมื่อปี 2015 เป็นต้นมา The MATTER ขอรวบรวมผลงานสำคัญๆ ของเจ้าชายแห่งอาณาจักรน้ำมันมาบรรยายให้อ่านกัน
1. ผลักดันแผน ‘Vision 2030’ ลดการพึ่งพาน้ำมัน
แผน ‘Vision 2030’ หรือ ‘วิสัยทัศน์ 2030’ ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ซึ่งมุ่งลดการ ‘เสพติดน้ำมัน’ ของซาอุฯ ด้วยการหันไปพัฒนาการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ แทน ซึ่งแผนดังกล่าวก็ตั้งเป้าไว้ว่า จะหารายได้ที่ไม่ได้มีที่มาจากน้ำมันให้ได้เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านริยาล หรือประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030
แต่การหารายได้ ไม่ใช่เป้าหมายเดียวของวิสัยทัศน์ที่ว่านี้ ‘Vision 2030’ ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก คือ (1) ‘A Vibrant Society’ หรือการสร้างสังคมให้มีชีวิตชีวา เพื่อเป็นพื้นฐานให้กับความมั่งคั่ง (2) ‘A Thriving Economy’ หรือเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต โดยสนับสนุนโอกาสและการจ้างงานให้กับทุกภาคส่วน และ (3) ‘An Ambitious Nation’ หรือการเป็นชาติที่ทะเยอทะยาน ด้วยการสร้างรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้
2. พาซาอุฯ เข้าสู่สงครามในเยเมน
การพากองทัพซาอุฯ เข้าสู่สงครามในเยเมน ถือเป็นผลงานแรกๆ ของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน หลังจากได้รับตำแหน่งสำคัญเมื่อปี 2015 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ขบวนการฮูตีเริ่มบุกโจมตีรัฐบาลเยเมนในช่วงปี 2014 เป็นต้นมา เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ร่วมกับชาติอาหรับอื่นๆ ได้ดำเนินนโยบายทางการทหารอย่างแข็งกร้าว หวังปราบกบฏฮูตี ที่ซาอุฯ มองว่าเป็นตัวแทนของอิหร่าน
อย่างไรก็ดี สงครามในเยเมนไม่ได้มีความคืบหน้ามากนัก ทั้งๆ ที่ใช้เวลาไปหลายปี อีกทั้งยังกลายเป็นหายนะทางมนุษยธรรมครั้งรุนแรง ซึ่งเมื่อปลายปี 2021 สหประชาชาติคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 377,000 ศพ ทั้งจากสาเหตุโดยตรงและโดยอ้อม
3. ยกเลิกกฎห้ามผู้หญิงขับรถ
หลังจากที่ซาอุฯ ยกเลิกกฎห้ามผู้หญิงขับรถ ก็กลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก ขัดกับภาพลักษณ์ของซาอุฯ ในฐานะสังคมที่กดขี่เพศหญิง และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน
อย่างไรก็ดี แม้จะดูเหมือนว่าซาอุฯ ให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีมากขึ้น แต่ก็มีรายงานว่าอาณาจักรน้ำมันแห่งนี้ยังคงมีกฎและมาตรการอีกหลายๆ อย่างที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงอยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ผู้หญิงซาอุฯ ยังคงต้องมีผู้ปกครองที่เป็นเพศชายในการตัดสินใจหลายๆ อย่าง แม้อาจจะผ่อนปรนกฎต่างๆ ไปบ้างแล้วก็ตาม
4. ปฏิรูปประเทศสู่มุสลิมสายกลาง เช่น อนุญาตให้ฉายหนังโรงได้
นอกเหนือจากอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถ ในภาพรวม เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ยังประกาศกร้าวว่าจะปฏิรูปประเทศให้กลับสู่แนวทางของมุสลิมสายกลาง หรือ ‘Moderate Islam’ มากขึ้น
พระองค์อธิบายว่า ต้องการพาประเทศกลับไปเป็นเหมือนสมัยก่อนที่เปิดกว้างกับศาสนาและเชื้อชาติของกลุ่มคนต่างๆ มากขึ้น โดยอยากจะให้ประชาชนซาอุฯ ใช้ชีวิตอย่างปกติ ซึ่งพระองค์มองว่าจะเป็นพื้นฐานให้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป
ภายใต้แผนการปฏิรูปตามแนวทางมุสลิมสายกลาง เราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ เช่น อนุญาตให้ฉายหนังโรงได้ หลังจากที่ถูกสั่งห้ามมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้จัดแสดงมหรสพต่างๆ ได้ เช่น ดนตรีสด และการแสดง stand-up comedy
5. ถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวพัน กรณีสังหาร จามาล คาช็อกกี
ท้ายที่สุด การสังหาร จามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุฯ ของ The Washington Post ที่เกิดขึ้นในสถานกงสุลซาอุฯ กรุงอิสตันบูล ตุรกี เมื่อปี 2018 แน่นอนว่าเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลกที่กระทบชื่อเสียงของซาอุฯ อย่างหนัก
จามาล คาช็อกกี เป็นนักข่าวคนสำคัญของซาอุฯ ที่เขียนคอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุฯ โดยเฉพาะนโยบายของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน เสมอมา นั่นจึงทำให้ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการสังหารคาช็อกกีด้วย
อย่างไรก็ดี ทั้งรัฐบาลซาอุฯ และองค์มกุฎราชกุมารก็ปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวพันกับการฆาตกรรมคาช็อกกี แต่พระองค์ได้เปิดเผยว่า จะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ในฐานะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซาอุฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารครั้งนี้
ข้อมูลอ้างอิง
BBC 1, 2
Vision2030.gov.sa
Al Jazeera
The Guardian
CBS News