แม้สถานการณ์โรคระบาดเริ่มดีขึ้นในหลายพื้นที่ แต่อีกปัญหาที่น่ากังวลคือการจัดการขยะติดเชื้อทั้งหลาย ล่าสุดนักวิจัยญี่ปุ่นพบหน้ากากอนามัยในอุจจาระของเต่าทะเลบริเวณชายฝั่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือ สร้างความกังวลถึงการปนเปื้อนและทำลายระบบนิเวศทางทะเล
เรามักได้ยินข่าวว่าพบพลาสติกอยู่ในท้องของเต่าทะเลมาหลายครั้ง แต่ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา บริเวณจังหวัดอิวาเตะ ในญี่ปุ่น ไม่เคยมีรายงานการพบหน้ากากอนามัยในท้องเต่าทะเลเลยสักครั้ง อย่างไรก็ตาม สถิติดังกล่าวถูกทำลายลงแล้ว โดยเต่าทะเลตัวดังกล่าวถูกพบติดอยู่กับอวนบริเวณทะเลของจังหวัดอิวาเตะ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และภายหลังการตรวจสอบยืนยันว่าในอุจจาระของมันมีพลาสติกชนิดโพลีโพรพิลีนปนอยู่
ในงานวิจัยร่วมกันของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีแห่งโตเกียว และมหาวิทยาลัยโตเกียวที่ตีพิมพ์ลงในวารสารระบบนิเวศทางทะเล Marine Pollution Bulletin ระบุว่า หน้ากากอนามัยที่ขายอยู่ในท้องตลาดมีส่วนผสมของสารชนิดหนึ่ง ที่ทำให้มันคงตัวแม้ถูกรังสี UV จากดวงอาทิตย์ ซึ่งในทางกลับกัน สารชนิดนี้สามารถเข้าไปในร่างกายเราและส่งผลต่อระบบฮอร์โมนของอวัยวะต่างๆ ได้
ฮิเดชิกะ ทากาดะ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้สะท้อนว่า สิ่งมีชีวิตทางทะเลได้รับสารเคมีในขยะเข้าไปในร่างกาย ผ่านการย่อยสลายขยะพลาสติกโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้น เมื่อเรายังต้องใช้หน้ากากอนามัยอยู่ เขาเสริมว่า “เราต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนระบบการจัดการขยะให้ดีและเหมาะสมขึ้น”
อ้างอิง:
https://www.japantimes.co.jp/news/2022/02/09/national/science-health/turtle-face-mask-covid/
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/35149314/