เมื่อมีคนแนะนำนิยายแฟนตาซีให้เราสักเรื่องหนึ่งสิ่งแรกที่เรามักต้องทำก่อนจะเปิดอ่านคือการเตรียมตัวเจอกับตัวละครมากมาย การสร้างโลกใบใหม่ที่น่าตื่นเต้น บางเรื่องอาจเป็นภาษาใหม่ๆ ที่ทำให้คิดว่าคนเขียนคิดขนาดนี้ได้ยังไง
เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องที่แย่เลย การได้เข้าไปอยู่ในโลกใหม่ที่ใครสักคนสร้างขึ้นมาเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นตาเสมอ แต่เราพูดถึงมันเพราะการอ่าน Piranesi โดย ซูซานน่า คลาร์ก เป็นประสบการณ์ที่ตรงข้ามกันกับแฟนตาซีเรื่องอื่นเลย เพราะเรื่องของมันโคจรอยู่กับของรอบตัวที่เราอาจไม่สนใจและความรู้สึกผ่อนคลายในสถานการณ์ที่เราพบเจอ
โลกของตัวละครเอกพีราเนซีประกอบด้วยประชากร 15 คน มีเพียงเขาและคนอีกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ สิ่งมีชีวิตอื่นที่เห็นจะมีก็มีเพียงนกที่ผ่านเข้ามายังโลกนี้จากรูบนกำแพง และสาหร่ายทะเลที่ขึ้นอยู่ตามซอกหินทางเดินบนพื้น โลกของเขามีโถงทางเดินไม่รู้จบที่แบ่งออกเป็นห้องๆ ด้วยบานประตูแลบันไดขนาดยัก แต่ละห้องมีรูปปั้นที่แตกต่างกันตั้งอยู่ ภายในโลกแห่งนี้มีฤดูกาลและท้องทะเล มีท้องฟ้าและก้อนเมฆ และพีราเนซีรักมันหมดหัวใจ
เรามองโลกแห่งนี้ผ่านบันทึกของพีราเนซี งานของเขาคือการบันทึกทุกอย่างที่จะบันทึกได้เกี่ยวกับโลกหลังนี้ที่เขาเรียกมันว่า ‘บ้าน’ ในงานเขียนของเขาเต็มไปด้วยดีเทลทั้งน้อยใหญ่ที่บอกกับเราว่าเขารักที่แห่งนี้มากขนาดไหน เขาจำได้ทั้งหมดว่าในทุกห้องที่เขาไปมามีรูปปั้นอะไรตั้งอยู่บ้าง เขาบอกได้ทั้งหมดว่าเขารู้สึกยังไงเมื่อมองรูปปั้นแต่ละตัว เขารักนกทุกตัวที่มาเยี่ยมเยียนโถงทางเดินที่เขาอาศัยอยู่
ดีเทลที่เล็กที่สุดที่แสดงถึงความรักนี้คือวิธีที่เขาเขียน บันทึกของพีราเนซีเขียนคำนามทุกคำนามขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่ราวกับว่ามันเป็นชื่อเฉพาะ แม้ของในโลกแห่งนี้จะน้อยชิ้นและดูไม่สำคัญกับเราขนาดไหน พีราเนซีรักในสิ่งเล็กๆ รอบตัวของเขา
ซูซานน่า คลาร์กเขียน Piranesi หลังจากจบทัวร์โปรโมทหนังสือ Jonathan Strange & Mr. Norrell นิยายเล่มแรกของเธอ แทนที่จะได้พัก เธอตรวจพบอาการอ่อนล้าเรื้อรังที่ทำให้เธอไม่มีแรงในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน “อาการของโรคนี้ทำให้ฉันไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าระหว่างประโยคสองประโยคฉันชอบอันไหนกว่ากัน เช่นเดียวกันกับทิศทางที่เรื่องจะดำเนินไป” คลาร์กกล่าวในบทสัมภาษณ์ของเธอเกี่ยวกับนิยายเรื่องที่สอง
นี่คือจุดที่เธอจำใจยอมกลับไปทำงานเก่าของเธอ ชิ้นที่ตัวละครน้อยที่สุดและเส้นเรื่องไม่ซับซ้อนที่สุด งานชิ้นนั้นกลายเป็น Piranesi
ในนัยหนึ่งหนังสือเล่มนี้คือยารักษาของเธอ มันกลายเป็นหนังสือเล่มเดียวที่เธอเขียนออกมาได้ขณะที่เรื่องอื่นเจอทางตัน “ฉันรู้สึกถูกขัง ทำงานไม่ได้ ไม่สำคัญ ถึงทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเพราะล็อกดาวน์ แต่กว่าจะมาถึงตอนนี้โลกบอกเราว่าคนเราสำคัญขนาดไหนอยู่ที่สิ่งที่เราทำ นั่นแปลว่าถ้าเราไม่สามารถทำอะไรได้เราก็ไม่สำคัญน่ะสิ” เธอพูด
นอกจากในเชิงของอาชีพ ในด้านการใช้ชีวิตคลาร์กบอกว่าหลายๆ ครั้งพีราเนซีสอนให้เธอเป็นตัวของตัวเองและรักในสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น นก และบ้านที่ห่างไกลของเธอ “เขาเป็นตัวละครที่เคยอยู่ผิดที่ผิดทาง และนั่นคือสิ่งที่ฉันขาดหายไปมานาน การเป็นตัวของตัวเองและไม่ผิดที่ผิดทางในสถานการณ์ที่เราแต่ละคนประสบอยู่”
หากถามว่าเนื้อเรื่องของ Piranesi เป็นยังไง เราว่าคำตอบของเราไม่น่าหวือหวาไปกว่านิยายเรื่องอื่นๆ แต่ด้วยสำนวนเขียนที่ทำให้โลกซ้ำๆ เดิมๆ มีชีวิตชีวา งดงาม น่าติดตาม และแมสเสจเรื่องที่ชวนให้เราผ่อนคลายความกดดันในตัวเองทั้งจากงาน ผู้คน และสภาพแวดล้อม ทำให้หนังสือเล่มนี้พิเศษมากๆ สำหรับเรา
การบันทึกโลกไม่รู้จบเป็นงานยาก ระหว่างนั้นอย่าลืมนั่งพักชมความงามเล็กๆ น้อยๆ กันด้วย!
อ้างอิงข้อมูลจาก