ไม่บ่อยนักที่โลกภาษาอังกฤษจะมีโอกาสได้เสพงานจากปลายปากกาของนักเขียนคนไทย
หนึ่งในโอกาสนั้นคือการตีพิมพ์นวนิยายชื่อเดียวกับเพลงของ เติ้ง ลี่จวิน (Teresa Teng) นามว่า The Moon Represents My Heart นวนิยายเดบิวต์ที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ของ พิม หวังเดชะวัฒน์ เมื่อปีที่ผ่านมา
The Moon Represents My Heart บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวหวัง (Wang) ครอบครัวเชื้อสายจีนในอังกฤษ ที่มีพรสวรรค์ลับๆ คือพวกเขาสามารถเดินทางข้ามเวลาได้ แต่แล้ววันหนึ่ง โจชัว (Joshua) ผู้เป็นพ่อ กับ ลิลี (Lily) ผู้เป็นแม่ ก็อันตรธานหายไปในอดีตกาล ทิ้งให้ลูกฝาแฝด ทอมมี (Tommy) กับ อีวา (Eva) ต้องเรียนรู้ที่จะเผชิญกับความสูญเสีย
ฉากหลังมีทั้งลอนดอนและฮ่องกง สองเมืองใหญ่ที่มีความหมายกับชีวิตผู้เขียน หลายๆ เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ต่างได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของเธอ ผู้มีทั้งเชื้อสายจีน ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากคุณพ่อผู้ถูกอากงส่งไปศึกษาต่อที่ฮ่องกง และตัวเธอเองก็ได้ไปเล่าเรียนระดับ ปริญญาโท ด้านการเขียนที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระเนเปียร์ (Edinburgh Napier University) สก็อตแลนด์
ฟังดูเหมือนนวนิยายไซไฟเมื่อพูดถึงการเดินทางข้ามเวลา แต่น่าจะเหมาะกว่าหากเราบอกว่าเป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยความสูญเสีย บาดแผล ความเศร้าโศก และความทรงจำ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดด้วยท่วงท่าการเขียนที่งดงามกับบทกวี
เราต่างเป็นดวงจันทร์อันโดดเดี่ยว ข้างต้นคือชื่อนวนิยายที่ถูกแปลมาได้อย่างสวยงาม หลังหนังสือเล่มดังกล่าวได้รับการแปลเป็นภาษาไทย โดย อรทัย พันธพงศ์ และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Words publishing
ยามบ่าย ใต้แสงแดดอ่อนที่สอดส่องผ่านร่มไม้ บรรยากาศชวนให้ใคร่ครวญถึงความทรงจำ เราพูดคุยกับ พิม หวังเดชะวัฒน์ ผู้เขียน The Moon Represents My Heart เราต่างเป็นดวงจันทร์อันโดดเดี่ยว
นวนิยายเรื่องนี้ – The Moon Represents My Heart – ถ้าให้นิยาม จะนิยามว่าเป็นหนังสือประเภท (genre) อะไร
เรามักจะเรียกมันว่า literary drama เพราะเราไม่อยากจะเรียกว่าเป็นไซไฟ เพราะองค์ประกอบการเดินทางข้ามเวลา (time travel) ในหนังสือมันไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ เคยดูหนังเรื่อง About Time (2013) ไหม การเดินทางข้ามเวลาในนี้มันจะอ่อนๆ ซอฟต์ๆ มันไม่ได้แรง
เราก็เลยเลือกเน้นไปที่ตัวละคร เน้นที่ภาษามากกว่า ก็เลยเรียกว่าเป็น literary drama ไม่รู้ภาษาไทยเรียกว่าอะไร – วรรณคดีดราม่า?
อีกส่วนหนึ่งที่คนน่าจะพูดถึงกันเยอะคือ สำนวนการเขียน ที่มีความ poetic มีความเป็นบทกวี – ทำไมถึงเลือกที่จะเขียนแบบนี้
เราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Terrible ของ เออร์ซา เดลีย์-วอร์ด (Yrsa Daley-Ward) เขาเป็นนักกวีจากแมนเชสเตอร์ ที่อังกฤษ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือบันทึกความทรงจำ (memoir) เล่าชีวิตของเขา เขาเขียนว่า ชีวิตเขาเติบโตขึ้นมายังไง พ่อแม่เป็นยังไง แต่เขาเขียนในสไตล์กวีหมดเลย เป็นกลอนหมดเลย หรือแม้กระทั่งเขียนเป็นเหมือนบทหนังด้วย
เราอ่านแล้วมันก็ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตปกติเหมือนเป็นนวนิยาย เหมือนเรื่องเล่า เขาเขียนเป็นบทกวี มันทำให้มีจังหวะที่แตกต่างกัน แล้วพอมีจังหวะ มันก็สร้างอารมณ์ที่แตกต่าง มันจะมีความรู้สึก (feeling) ที่เพิ่มมาอีกชั้นหนึ่ง
เราก็อยากใช้ตรงนั้น เล่าในช่วงเวลาที่ตัวละครในเรื่องของเราเดินทางเข้าไปในอดีต เพราะเราอยากเล่นกับความรู้สึกที่ว่า พอเวลาเราระลึกถึงอดีต คิดถึงความทรงจำของเรา หรือเราฝันถึงอดีต ความทรงจำของเรามันจะมัวๆ หน่อย มันจะมีความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริง
เราเป็นคนพูดอันนี้ไหม หรือเขาเป็นคนพูด หรือมีการพูดอันนี้ไหม หรือเราคิดขึ้นมาเอง เหมือนทุกอย่างมันก็จะไหลลื่นเข้าไปด้วยกันหมด ก็จะเห็นพวกบทที่อยู่ในอดีต เราก็จะไม่ใส่เครื่องหมายคำพูด เพราะเราอยากให้มันมีความรู้สึกว่า ทุกอย่างมันไหลรวมกันไปหมด และมันมีจังหวะที่แตกต่างชัดเจน
หลังจากที่เขียนจบทั้งเล่มไปแล้ว คิดว่าการเขียนแบบนี้มันถ่ายทอดอะไรบ้าง
เราว่ามันก็ถ่ายทอดอารมณ์อีกแบบหนึ่งนะ เรารู้สึกว่าเราเป็นนักเขียนที่ค่อนข้างเน้นอารมณ์ (emotion-based) จุดแข็งเราจะอยู่ที่การสร้างบรรยากาศ สร้างตัวละคร สร้างอารมณ์ และการเขียนในแบบทดลอง (experimental) หน่อย มันจะมีจังหวะที่แตกต่าง ซึ่งจังหวะการอ่าน ก็จะผูกโยงไปถึงจังหวะนักอ่านที่ค้นพบแต่ละข้อมูลด้วย
ถ้าเราพูดว่ามันเป็นหนังสือเกี่ยวกับความทรงจำ จะถูกต้องไหม
เกี่ยวเยอะนะ เกี่ยวกับความทรงจำ เกี่ยวกับอดีต
ส่วนตัวคุณมองว่าความทรงจำสำคัญอย่างไร
เราว่ามันสำคัญตรงที่ว่า อดีตหรือความทรงจำ มันกำหนด (inform) ความเป็นเราในทุกวันนี้ เพราะในฐานะคนคนหนึ่ง วิธีที่เรามีปฏิกิริยากับอะไรบางอย่าง วิธีที่เรารู้สึกกับอะไรบางอย่าง หรือวิธีที่เราเลือกตัดสินใจกับอะไรบางอย่าง มันเป็นการตัดสินใจที่ถูกกำหนดมาจากสิ่งที่เราเจอมาจากอดีต เราก็เลยคิดว่ามันสำคัญมาก เพราะการที่เราเข้าใจอดีต หรือเข้าใจความทรงจำของเรา การที่เราผ่านอะไรมา หรือเราเป็นใครในตอนนั้น มันทำให้เราเข้าใจเราในตอนนี้มากขึ้น
อย่างที่ทราบกันดีว่า ตัวละครในเรื่องเป็นครอบครัวที่สามารถเดินทางข้ามเวลาได้ ทำไมถึงเลือกที่จะใช้องค์ประกอบนี้
เราเป็นคนที่ชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เราก็เลยชอบเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลา เพราะมันทำให้เราได้เห็นอดีตอย่างชัดเจนขึ้น และละเอียดมากขึ้น
ต่อมา การเดินทางข้ามเวลาเป็นเครื่องมือเล่าเรื่อง (storytelling tool) ที่ให้ตัวละครใช้เพื่อสำรวจความรู้สึกสูญเสีย ความรู้สึกเสียดาย ความรู้สึกเสียใจ ได้ดีมาก
เพราะเราว่า การเดินทางข้ามเวลามันจัดการกับคำถามที่ว่า ถ้าเรามีเวลาล่ะ มันเป็นคำถามที่มนุษย์เรามีมานานมากแล้วว่า ถ้าเกิดเรามีโอกาสใหม่ เราจะทำอะไร ถ้าเกิดเรามีโอกาสครั้งที่ 2 เราจะทำอะไรแตกต่างจากเดิมไหม
และมันก็เป็นอะไรที่ประหลาดนะ เพราะสมมติว่า ตัวละครเขามีความสามารถในการเดินทางข้ามเวลาได้ แต่เขาก็ยังไม่สามารถหลีกหนีความสูญเสียได้ นึกว่าเราเอาชนะเวลาได้แล้ว แต่ยังไงความสูญเสียมันก็เป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วยังไงต่อ เราทำยังไงต่อ เราว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจ
ฮ่องกงกลายเป็นหนึ่งฉากที่สำคัญมากในเรื่อง ทำไมคุณถึงเลือกที่จะเล่าผ่านฮ่องกง
เพราะว่าตัวละครของคุณพ่อ (โจชัวในหนังสือ) อิงกับคุณพ่อและอากงของเรา
คุณพ่อเราเกิดที่เมืองไทย แต่ตอนที่คุณพ่ออายุ 7 ขวบ อากงส่งไปเรียนที่ฮ่องกงกับญาติๆ เพราะอยากให้พ่อมีการศึกษาแบบจีน ก็เลยส่งไปเรียนที่ฮ่องกง ตอนเด็กๆ เราก็เลยจะไปเยี่ยมฮ่องกงบ่อยๆ ฮ่องกงก็เป็นเรื่องเล่าที่คุณพ่อก็จะพูดให้ฟังบ่อยๆ ว่า โตขึ้นมาในฮ่องกงเป็นยังไงบ้าง เจออะไรบ้าง
ฉากที่อยู่ในเมืองกำแพงเกาลูน (Kowloon Walled City) ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณพ่อเหมือนกัน เพราะตอนที่คุณพ่ออายุ 20 กว่าๆ คุณพ่อทำงานกับมูลนิธิฮ่องกงที่ทำงานช่วยเหลือคนติดยาเสพติด ส่วนมากเขาก็จะอยู่ในเมืองกำแพง คุณพ่อก็เคยเข้าไป ก็จะเล่าเรื่องให้ฟังว่าเป็นยังไงบ้าง โห มันมืดมาก มองไม่เห็นอะไรเลย ต้องเดินตามไกด์อย่างเดียว ก็จะเป็นเรื่องเล่าที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของครอบครัวมาตั้งแต่เด็กเลย
นอกจากนี้ด้วยความที่ตัวเองเคยอยู่อังกฤษด้วย และฮ่องกงก็เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มันก็เลยมีอีกเลเยอร์หนึ่งที่รู้สึกว่าน่าสนใจ
สามารถพูดได้ไหมว่า นวนิยายเรื่องนี้ดึงมาจากเรื่องราวส่วนตัวในชีวิต
ได้มากๆ เลย รู้สึกว่ามันดึงมาจากเรื่องราวส่วนตัวค่อนข้างเยอะ
ก่อนที่เราเริ่มเขียน เราทำรีเสิร์ช หนึ่งในรีเสิร์ชก็คือ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศอังกฤษ ชุมชนคนจีนเป็นยังไง ไชนาทาวน์สมัยก่อนเป็นยังไง และอีกอย่างหนึ่งที่รีเสิร์ชก็คือ ประวัติครอบครัวตัวเอง เราก็สัมภาษณ์คุณพ่อค่อนข้างเยอะเหมือนกันว่า ความสัมพันธ์ของคุณพ่อกับอากงเป็นยังไงบ้าง และตัวเราเองก็เคยเดินทาง เคยอยู่ประเทศอังกฤษ หลายอย่างก็มาจากประสบการณ์ของตัวเองที่อยู่อังกฤษ
จากการสัมภาษณ์คุณพ่อตัวเอง มีองค์ประกอบไหนที่เราหยิบมาใช้ในนวนิยายเรื่องนี้บ้าง
เยอะเหมือนกัน ตอนเด็กๆ เราโตขึ้น เราก็รู้สึกว่า เรากลัวคุณพ่อมาก เพราะคุณพ่อเป็นเหมือนพ่อคนจีน เขาก็จะแข็งๆ แต่มีอารมณ์เยอะหน่อย แล้วพอเราสัมภาษณ์พ่อ เขาก็รู้สึกอย่างนั้นกับอากงเหมือนกัน
ก็รู้สึกว่า อากงก็เป็นไปตามภาษารักของคนรุ่นนั้น จะไม่ได้ออกมาในแนวคำพูด คำอ่อนโยน หรือคำปลอบ แต่จะออกมาในรูปแบบการหาเลี้ยงให้ คุณพ่อเขาก็จะรู้สึกว่า การที่เขาโดนส่งไปที่ฮ่องกงตอน 7 ขวบ เป็นอะไรที่สร้างบาดแผล (traumatic) มาก แต่สำหรับอากง เขาอาจจะมองว่า นั่นคือภาษารัก ก็ส่งให้ลูกได้เรียนดีขึ้น
ตรงนั้นก็ทำให้เราได้เห็นว่า จริงๆ แล้ว หลายอย่างที่เราตัดขาดกับคนรุ่นที่ผ่านมาของเรา มันก็แค่ความเข้าใจชีวิตที่แตกต่างกัน การสู้ชีวิตของเขาที่จำเป็นต้องทำ ฉะนั้น ก็อาจจะทำให้มันออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกับเราในสมัยนี้
การเป็นนักเขียนที่เป็นลูกหลานชาวจีนส่งอิทธิพลให้เขียนเกี่ยวกับความเป็นจีนด้วยหรือเปล่า
ส่วนหนึ่งนะ เพราะเราเริ่มเขียนเล่มนี้ตอนที่คิดถึงความเป็นตัวเองเยอะ ว่าทำไมเราเป็นอย่างนี้ในวันนี้ และมันทำให้คิดถึงคุณพ่อ ว่าคุณพ่อเลี้ยงเรามายังไง แล้วก็คิดต่อว่าอากงเลี้ยงคุณพ่อมายังไง แล้วมันก็ทำให้เห็นว่า มันมีความเป็นพ่อของคนจีนที่มันตกทอดมาถึงเรา ก็เลยทำให้เราคิดถึงว่า ความเป็นพ่อแบบจีน ความเป็นพ่อแบบเอเชีย มันคืออะไร มันมีข้อดีข้อเสียยังไง มันก็เลยมาทางจีนเป็นพิเศษ
อีกฉากหนึ่งที่สำคัญก็คือลอนดอน ลอนดอนของคุณสื่อถึงอะไร
ลอนดอนเราว่าเป็นเมืองที่น่าสนใจอยู่แล้วนะ เพราะมันเป็นเมืองที่อดีตและปัจจุบันอยู่ติดกันมาก
อย่างเช่น ถ้าเดินไป ตึกเก่าๆ แล้วอยู่ดีๆ ก็เป็นตึกใหม่ๆ หรือโซนหรูๆ หราๆ เดินไป 3-4 ก้าว เป็นอาคารเคหะ (council estate) คือมันมีอะไรพวกนี้ ความขัดแย้งในตัวมันเยอะตรงนั้น เราว่ามันน่าสนใจอยู่แล้ว ในเรื่องที่อดีตและปัจจุบันมันปะทะกัน
แต่อีกด้านหนึ่งเรารู้สึกว่า ในฐานะคนเอเชีย ที่อยู่และเติบโตมานอกยุโรป เราก็มักจะมองลอนดอนว่า โรแมนติก เป็นเหมือนกับ Bridgerton หรือ Downton Abbey ดูเป็นเมืองที่แบบว่า โอ้โห เหมือนในหนัง แต่พอเราไปอยู่เองจริงๆ มันแตกต่างจากที่คิด มันก็มีความเหงาที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์สำหรับคนเอเชีย หรือคนผิวสี ที่ในที่นั้นมีสเปซให้เราน้อย
แล้ว เติ้ง ลี่จวิน มีบทบาทอย่างไรในชีวิตคุณ ถึงกับต้องเอาชื่อเพลง The Moon Represents My Heart มาตั้งเป็นชื่อหนังสือ และสอดแทรกอยู่ในการเล่าเรื่อง
เติ้ง ลี่จวิน เป็นนักร้องที่ทุกครอบครัวจีน ทุกรุ่น ก็จะรู้จักหมดเลย อย่างเช่น รุ่นอากงรู้จัก รุ่นพ่อรู้จัก รุ่นลูกก็รู้จัก เป็นเพลงที่ผูกโยงเราเข้าด้วยกัน
เวลาเราไปเจอนักอ่านคนไหนที่มีเชื้อสายจีน เขาก็จะมีความทรงจำทันทีเลยกับชื่อเพลง อย่างเช่น เคยร้องคาราโอเกะเพลงนี้กับคุณแม่ หรือว่าพ่อเขาเสียไปแล้ว แต่นี่เป็นเพลงโปรดของคุณพ่อ
ก็เลยอยากเอามาเป็นชื่อหนังสือ เพราะว่ามันสะท้อนสายใยอันนี้ที่คนเชื้อสายจีนมีด้วยกันทั่วโลก แล้วก็รู้สึกว่า เนื้อเพลงของเพลงนี้มันก็สะท้อนความรักแบบครอบครัวด้วย เหมือนว่า บางครั้งเราไม่เห็น หรือไม่รู้สึก แต่มันก็อยู่ตรงนั้น
การตีพิมพ์ The Moon Represents My Heart ซึ่งถือเป็นเล่มเดบิวต์ของคุณ มีความหมายยังไงกับชีวิต
มีความหมายนะ เพราะอันนี้คือความฝันวัยเด็กมันเป็นจริง ซึ่งบางครั้งก็รู้สึกว่า ก็ใหญ่เหมือนกัน โดยเฉพาะตีพิมพ์ที่ต่างประเทศด้วย ก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างว้าวเหมือนกัน
และกระบวนกการที่นักเขียนคนหนึ่งเขียนกว่าจะจบก็ยากมากแล้ว นี่ไปจนถึงขั้นตอนการตีพิมพ์ มันยากมาก เพราะมีหนังสือดีๆ หลายเล่ม และนักเขียนดีๆ หลายคน ที่แม้แต่เขาเขียนผลงานดีๆ เขาก็ไม่ได้รับการตีพิมพ์
เป็นเพราะว่าหนึ่งอุตสาหกรรมมันไม่ได้แฟร์ขนาดนั้น หรือสองเส้นทางมันไม่ได้แฟร์ เราก็เลยรู้สึกว่า มันเป็นอะไรที่มีความหมายมาก เหมือนความฝันวัยเด็กเป็นจริง ไม่อยากมองเป็นความกดดัน แต่มันก็เป็นก้าวใหญ่
ขอขยายความได้ไหม ที่บอกว่าเส้นทางมันไม่แฟร์
เส้นทางมันไม่แฟร์ ก็อย่างเช่น การที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ มันก็จะเพิ่มกลุ่มผู้อ่านเยอะอยู่แล้ว ตีพิพม์เป็นภาษาอังกฤษมันก็จะทำให้ได้แปลเป็นหลายๆ ภาษา เหมือนอย่างกรณีนี้ เราก็ได้แปลเป็นภาษาไทย เราได้แปลเป็นภาษาตุรกี รัสเซีย อินโดนีเซีย สเปน และด้วยความที่เป็นภาษาอังกฤษ คนเขาก็มองมาทางนี้อยู่แล้ว การจัดจำหน่าย (distribution) มันก็จะใหญ่กว่าอยู่แล้ว
แต่เพื่อที่จะมาถึงจุดนั้นก็ยาก เพื่อที่จะได้รับการตีพิมพ์ในต่างประเทศ อังกฤษ หรืออเมริกา ก็ต้องมี เอเย่นต์ นักเขียนต้องมีเอเย่นต์ และก่อนจะมีเอเย่นต์ แค่หาเอเย่นต์ได้ก็ยากมากแล้ว
วิธีหาเอเย่นต์ก็คือ ส่ง 3 บทแรกของเรา บทสรุปว่าทั้งเรื่องเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจดหมายแนะนำตัว (cover letter) แนะนำตัวเองกับแนะนำหนังสือ ส่งให้เอเย่นต์ และถ้าเกิดเอเย่นต์เขาชอบ เขาก็จะขอต้นฉบับสมบูรณ์ (full manuscript) เราก็ส่งไปให้ แล้วเราก็ต้องรอดูว่าเขาชอบต้นฉบับไหม ถ้าเกิดเขาชอบ เขาก็จะตัดสินใจเป็นตัวแทนเรา
แต่เอเย่นต์หนึ่งคนได้ต้นฉบับบางทีปีละเป็นพัน สมมติที่อังกฤษ มีเอเจนซี่ 20-30 ที่ กว่าเขาจะเลือกแต่ละคน ก็ยากมาก หลายคนส่งไป 3-4 รอบ ไม่ได้ยินอะไรกลับมา ก็มีเยอะแยะมาก แล้วพอได้เอเย่นต์ก็ยังไม่จบ เอเย่นต์เขาก็ต้องไปเอาหนังสือของเรา ไปเสนอให้กับสำนักพิมพ์อีก
และถ้าเกิดสำนักพิมพ์ไม่สนใจ ไม่ซื้อ ก็คือไม่ได้ และแม้แต่เราได้ตีพิมพ์แล้ว ก็ไม่ได้การันตีว่า สำนักพิมพ์เขาจะโปรโมตเรา อย่างเช่น สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เขาก็อาจจะมีนักเขียนใหญ่ๆ ของเขาอยู่แล้ว ที่ทำเงินให้เขาได้เยอะๆ เขาก็จะสนใจโปรโมตตรงนั้นมากกว่า
คือมันมีหลายขั้นตอนมาก แค่ได้เอเย่นต์ก็ยากมาก ตีพิมพ์ก็ยากอีกขั้นหนึ่ง ตีพิมพ์แล้วมีคนอ่าน อีกขั้นหนึ่ง ค่อนข้างเลือดสาดอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ)
หลายคนพูดถึงหนังสือ The Moon Represents My Heart ในฐานะที่กำลังจะได้ไปผลิตเป็นลิมิเต็ดซีรีส์ของ Netflix อยากให้เล่าว่ามันเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างไร
อันนั้นโชคดีมาก เป็นอะไรที่เวอร์มากนะ ต้องพูดจริงๆ
ตอนนี้มันยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน มันยังไม่ได้ไฟเขียว คือตอนนี้เขาต่อลิขสิทธิ์เป็นปีที่สองแล้ว ตอนนี้เราก็มีนักเขียนบท ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นดัดแปลง ตอนนี้เรามีคร่าวๆ แล้วว่า 8 ตอนจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ขั้นตอนต่อไปคือ ถ้าเกิดว่า Netflix ชอบอันนี้ เขาก็จะสร้างทีมนักเขียนเพื่อเขียน 8 ตอนนี้ออกมาเป็นสคริปต์ ขั้นตอนมันยาวนาน แล้วลุ้นมาตลอดมาก
ส่วนมาก คนในอุตสาหกรรมหนังสือ เขาจะบอกว่า การที่ได้ขายลิขสิทธิ์ เป็น cherry on the cake คือเป็นอะไรที่เราไม่ได้คาดฝันอยู่แล้ว การที่ได้รับตีพิมพ์ก็เป็นความฝันสูงสุดแล้ว อันนี้มันเหมือนส่วนขยายที่เราไม่ได้ตั้งใจไว้
ส่วนมากถ้าคนที่ได้ตีพิมพ์ เอเย่นต์ก็จะส่งไปให้เอเย่นต์ภาพยนตร์อยู่แล้ว เผื่อๆ ไว้ แต่ส่วนมากไม่ค่อยมีอะไรเกิดขึ้น หรือบางทีขายลิขสิทธิ์แล้วก็ยังดองได้ โดนดองไว้ 10 ปีก็มี
ก็เลยรู้สึกว่ามันก็เป็นอะไรที่เกินจริงนิดหนึ่ง ก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างสุดยอด แล้วก็เกินจริง เพราะตอนนั้นก็ประมูลด้วย พอมันประมูลก็เวอร์มาก อันนี้ก็รู้สึกเหมือนฝันนิดหนึ่ง ก็ภูมิใจนะ แต่มันก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ความจริง (หัวเราะ) ไม่รู้จะอธิบายยังไง
อีกขั้นต่อมา คือการตีพิมพ์เป็นภาษาไทย อยากชวนคุยว่า มันมีความพิเศษอะไรไหม ในฐานะที่เป็นนักเขียนคนไทยด้วย
พิเศษมากเลยนะคะ จริงๆ อยากเขียนภาษาไทยเก่งกว่านี้เยอะมาก บางทีมันก็มีความรู้สึกผิดนิดหน่อยว่า ทำไมเราไม่เขียนภาษาไทย เขาก็บอกว่า เขียนภาษาอังกฤษมันก็ไปได้ไกลกว่า แต่มันก็รู้สึกว่า ในฐานะคนไทย ก็อยากเชี่ยวชาญในภาษาของเราเอง มันก็เลยมีความรู้สึกผิด สักวันหนึ่งก็อยากเขียนภาษาไทยเล่มของเราเอง
แต่อันนี้ พอมันเป็นภาษาไทยแล้ว มันมีความหมายพิเศษตรงที่ว่า นี่คือบ้านเรา เป็นบ้านเรา เราก็เติบโตที่นี่ มีคนชอบคิดว่าเราเป็นฝรั่ง เติบโตที่ต่างประเทศ แต่เปล่า เราเป็นคนไทย เราเรียนโรงเรียนไทย คนรอบตัวก็เป็นไทย มันก็เลยมีความหมายตรงนี้มาก เพราะรู้สึกว่า มันคือบ้าน และคนสนิทเรา อย่างคุณแม่ เขาไม่ถนัดอ่านภาษาอังกฤษ พอมีภาษาไทยออกมา เขาก็ได้อ่าน
พี่ออ—อรทัย พันธพงศ์ นักแปล เขาก็แปลเพราะมาก เขาแปลดีมาก แล้วมันทำให้บางตอนมีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม เพราะความหมายที่เขาใช้ มันทำให้อารมณ์มีเลเยอร์มากขึ้น เพราะภาษาที่เขาใช้ ก็เลยรู้สึกว่าตรงนั้นเป็นอะไรที่พิเศษมาก
อยากขยับมาชวนคุยถึงประเด็นการส่งออกวรรณกรรมไทยไปสู่ตลาดโลก ที่ก็เคยมีการพูดถึงในสังคม – เห็นด้วยหรือไม่ว่า วรรณกรรมไทยควรจะได้รับการมองเห็นมากขึ้น
เห็นด้วยนะคะ
แต่เราก็รู้สึกแย่ เพราะตัวเราเองขนาดเป็นคนไทย เรายังไม่ค่อยอ่านวรรณกรรมไทยเลย และมันก็ทำให้เราตั้งคำถามว่าทำไม เราว่ามันมีหลายเรื่อง
ส่วนหนึ่ง เราเองก็มองวรรณกรรมไทยไม่ได้ด้อย แต่มันไม่น่าสนใจเท่าวรรณกรรมนอก อาจจะเป็นเพราะว่า สื่อที่เราได้รับมาด้วย อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่แวดวงวรรณกรรมไทยเรามีนักเขียนดีๆ เยอะนะคะ และมีวรรณกรรมที่น่าสนใจเยอะ นักเขียนที่มีประสิทธิภาพเยอะ ที่เขาสามารถต่อยอดได้ ทำอะไรที่มากกว่านี้ได้ ถ้าเกิดเขามีกลุ่มผู้อ่านที่ใหญ่ขึ้น
เราก็เห็นอย่างเช่น ญี่ปุ่น มันก็ได้รับการแปลมาค่อนข้างนาน เช่น Before the Coffee Gets Cold โดย คาวางุจิ โทชิคาซึ (Toshikazu Kawaguchi) ที่เป็นเรื่องเดินทางข้ามเวลาของญี่ปุ่น อันนั้นก็ขายดีมากในภาษาอังกฤษ เราก็รู้สึกว่า มันไม่ได้มีเหตุผลว่าทำไมวรรณกรรมไทยมันจะไปไม่ได้
แต่อันนี้ ก็เคยคุยอยู่ในวงเสวนา ก็มีใครคนหนึ่งเคยบอกว่า หนึ่งเหตุผลที่ยาก ก็เพราะเราไม่ได้มีนักแปลที่เชี่ยวชาญทั้ง 2 ภาษา ขนาดที่จะทำให้ถึงคุณภาพ อันนั้นก็เป็นเหตุผลหนึ่ง
อีกเหตุผลหนึ่งคือ บ้านเมืองเราไม่ได้มีการสนับสนุน หรือให้ความสำคัญทางด้านวรรณกรรม หรือทางด้านศิลปะ อย่างเช่น ตอนที่เราโตมา เรายังไม่เคยรู้จักคนอื่นที่อยากเป็นนักเขียน ไม่รู้เลยว่า เริ่มต้นยังไง ไม่รู้ว่าทำยังไง นอกจากเขียนเล่นๆ คนเดียว ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เขามีทุน มีคลาส มีเวิร์กช็อป เรายังไม่แข็งพอที่จะโอบอุ้มตรงนั้น
หากเทียบกับวรรณกรรมโลก วรรณกรรมไทยควรมีที่ทางอยู่ตรงไหน
จริงๆ วรรณกรรมไทย หรือวรรณกรรมอื่นก็ตาม ในเอเชีย ที่เขียนเป็นอีกภาษาหนึ่งที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ มันไม่ได้ด้อยกว่า แต่เป็นเพราะว่าการรับรู้ (perception) ที่เราได้รับเข้ามา หรือเอกสิทธิ์คนขาว (white privilege) อะไรหลายๆ อย่าง มันทำให้มองว่า เราต้องไต่เต้าเพื่อไปอยู่ตรงนี้ ซึ่งจริงๆ เรารู้สึกว่า ถ้าในโลกอุดมคติ (ideal world) มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น
บางครั้งเรารู้สึกว่า ฝั่งตะวันตกต้องมาตรงนี้ด้วยซ้ำไป การที่เรามองว่าเราจะเข้าไปตรงนั้น บางทีมันเป็นการบอกว่า ตรงนั้นดีกว่า ซึ่งตรงนั้นอาจจะมีโอกาสมากกว่า มีคนมองเห็นมากกว่า แต่มันไม่ได้หมายความว่า คุณภาพมันดีกว่า
แสดงว่าวรรณกรรมไทยมีคุณค่าในตัวมันเองมากๆ อยู่แล้ว?
ใช่ แต่มันก็อาจจะมีสิ่งที่เราขาดหาย คือ ขาดทางฝั่งนั้นด้วยที่เขาไม่มอง ซึ่งอันนั้นก็เป็นปัญหาของเขาเอง อีกอย่างที่เรารู้สึกว่าเราขาด คือฝ่ายเราขาดการสนับสนุนและให้คุณค่ากับมัน
จากที่ได้สัมผัสอุตสาหกรรมหนังสือทั้งไทยและต่างประเทศ มีอะไรบ้างที่ไทยและตะวันตกจะปรับใช้ซึ่งกันและกันได้
เราว่า มีหลายอย่างที่ดีนะ อย่างของเรา มันเล็กกว่า ด้วยความที่เล็กกว่า มันมีความเป็นกันเองมากกว่า มีความรู้จักกันมากกว่า ซึ่งตรงนี้ก็ช่วยนะ และถ้าเกิดเราสามารถใช้ไปในทางที่ดีได้ มันก็ทำให้เราสนับสนุนกันได้มากกว่า
ในต่างประเทศ อย่างที่เราบอก การแข่งขันมันสูงมาก เหมือนเขามองหา the next big thing ตลอดเวลา เราก็ต้องพยายามไม่ตกเชลฟ์ เคยอ่านเรื่อง Yellow Face ไหม ของ อาร์. เอฟ. ควง (R. F. Wang) ก็ค่อนข้างดังอยู่ มีภาษาไทยด้วย เกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนังสือหมือนกัน มันจะมีความแก่งแย่ง ซึ่งตรงนั้นเราก็รู้สึกว่า มันไม่ได้ดีเสมอไป เพราะมันไม่ได้มีที่ให้ทุกคน
ส่วนถ้าเราเรียนรู้จากเขา ก็พวกอีเวนต์ ที่เรารู้สึกว่าบ้านเขาจะมีเยอะ งานพูดคุย เป็นการถกเถียงกัน พบกัน คุยเรื่องวรรณกรรม เอานักเขียนมานั่งคุยกับนักอ่าน ให้นักอ่านได้ทำอะไรแนวๆ นี้ มันเป็นการหล่อหลอมการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) หล่อหลอมการให้คุณค่าวรรณกรรม ซึ่งบ้านเราไม่ค่อยมี บ้านเขาอาทิตย์หนึ่งก็มีแล้ว ไปฟังนักเขียนคุยที่ร้านหนังสือ เป็นอะไรที่ปกติ
จากที่พูดคุยกันมาทั้งหมด และจากที่ใช้ชีวิตและทำอาชีพนักเขียนมา การเขียนมีความหมาย หรือให้ความหมายอย่างไรกับชีวิตคุณ
มันก็ให้เป้าหมายนะ เราเป็นคนต้องมีเป้าหมายเพื่อที่จะใช้ชีวิต เราเป็นคนที่อยู่เรื่อยๆ ไม่ได้ นอกจากนั้น ส่วนตัวเราเอง เราก็เขียนพื่อตัวเราเองด้วย เพราะมันเป็นวิธีการที่เราพยายามเข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์ หรือเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เข้าใจอารมณ์ของเราเอง
และการเขียนก็เป็นวิธีของเราที่สามารถให้อะไรคนอื่นได้
เราพูดมาเสมอว่า เราอยากให้คนอ่านงานเขียนเรารู้สึกว่า เขามีเพื่อน ถ้าเกิดเขาเหงา หรือเขาเศร้า เขาก็มีเพื่อนในความเหงา มีเพื่อนในความเศร้า มีคนที่เข้าใจเขา เราก็รู้สึกว่า อันนั้นเป็นสิ่งที่เราให้ได้ ผ่านงานเขียนของเรา นั่นก็เป็นความหมายอย่างหนึ่ง