เราเรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวบ้าง? แม้ผู้คนในแวดวงธุรกิจจะรู้จัก อู๊ด—อัญชลิน พรรณนิภา ในฐานะประธานกรรมการแห่ง TQM ที่ประสบความสำเร็จ และผู้ที่อยู่ในแวดวงโบรกเกอร์ประกันภัยมาอย่างยาวนาน แต่เบื้องหลังเส้นทางธุรกิจของเขานั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ความผิดหวัง และความล้มเหลว อยู่คู่กับอัญชลินมาตลอดเส้นทางการเติบโต การพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยในสายศิลปะหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ แม้จะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตมาสายธุรกิจ อัญชลินก็ต้องเจอกับอุปสรรคครั้งใหญ่อย่างวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง—วิกฤตที่ชีวิตของเขาและครอบครัวเต็มไปด้วยหนี้สินก้อนมหาศาล กระทั่งช่วงโควิดที่ธุรกิจซบเซา ที่ต้องปรับตัวกันอย่างรุนแรงเพื่อพาองค์กรอยู่รอดได้ต่อไป
บ่ายวันหนึ่ง อัญชลินเปิดห้องทำงาน ชวนพวกเราคุยกันถึงเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา กับคำถามในใจเราว่า ในช่วงที่เผชิญความล้มเหลว เขารักษาความหวังท่ามกลางพายุที่โหมกระหน่ำเข้ามาได้อย่างไร รวมถึง ที่มาของหนังสือ ‘ความหวังครั้งที่สอง’ ที่รวมบทเรียนชีวิต จากการผิดหวังในการหวังครั้งแรก
ความหวังท่ามกลางวิกฤต (เศรษฐกิจ)
อัญชลินเป็นหนึ่งในผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เขามีหนี้สินก้อนโต เราจึงเริ่มต้นถามผู้บริหารใหญ่แห่ง TQM ว่า ความหวังสำคัญกับชีวิตเขาในช่วงนั้นอย่างไร
“มนุษย์เราถ้าไม่มีชีวิตคือไม่มีลมหายใจ แต่สำหรับผมแล้วถ้ามนุษย์ไม่มีความหวังมันก็เหมือนมีแต่ลมหายใจที่แสนจะแห้งแล้ง” อัญชลิน เกริ่นขึ้นมาอย่างน่าสนใจ สำหรับเขาแล้ว ความหวังคือสิ่งที่ทำหล่อเลี้ยงให้เขาฝ่าฟันอุปสรรคในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาได้
“ตอนที่ผมล้มแล้วผมรีบลุกขึ้นมา อันดับแรกเลยคือเคลียร์หนี้ให้เร็วที่สุด นั่งคำนวณนับรายได้ ขายประกัน ตอนนั้นยังเล็กๆ น่าจะใช้เวลาสักสามปี คำนวณกันกับภรรยาแล้วช่วยกันเคลียร์หนี้ บางส่วนใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง อันนี้เหมือนมันคือความหวังที่เราอยากทำให้ได้ หลังจากนั้นเราก็เหมือนตั้งเป้าไว้ อาชีพคนขายประกันมันก็มีความหวังที่จะต้องขายให้ได้”
เขาขยายความต่อว่า ยิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ความหวังก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม มันไม่ได้เป็นเพียงแค่แรงผลักดันเพื่อความอยู่รอด แต่มันคือการเอาตัวเองออกจากความสิ้นหวังที่กำลังเผชิญอยู่ด้วย
“มันกลับด้านของความท้อแท้หรือสิ้นหวัง บางทีในสถานการณ์เดียวกัน ผมเชื่อว่ามันเป็นแรงผลักดันจากภายใน ถ้าคุณท้อแท้ สิ้นหวัง หรือหมดหวังแล้วเนี่ย คุณแทบจะไม่อยากก้าวเดินไปข้างหน้าเลย เมื่อกลัวแล้วอยู่แต่กับที่ก็อาจจะด่ำดิ่งลึกโดยที่ไม่รู้ตัว”
วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้กิจการที่อัญชลินทำอยู่ล้มครืนลงมา เขายังกลายเป็นคนที่มีฐานะเป็นทั้ง ‘เจ้าหนี้’ และ ‘ลูกหนี้’ ในคราวเดียวกัน แม้การเป็นเจ้าหนี้อาจจะฟังดูพอมีทางรอด แต่มันก็ไม่ง่ายเลยในยุคนั้นที่ทุกคนก็แทบจะเป็นหนี้ด้วยกันทั้งหมด
“ตอนนั้นผมเป็นคนที่มีสองหมวก หมวกนึงคือเจ้าหนี้ เค้าซื้อสินค้าผม และเขาเบี้ยวผม ผมไปตามเงินจากเขา เขาก็บอกว่าเช็คเด้งไม่มีเงินจ่าย เพราะลูกค้าสั่งเขาสร้างบ้านหรืออะไรสักอย่างแล้วมันไปต่อไม่ได้ มันก็ล้มมาเป็นโดมิโน่ ก็เลยล้มมาถึงผม
“หมวกอีกใบนึงผมเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินที่กู้เงินมา มันมีสองหมวก เพราะฉะนั้นหมวกของความหวังเนี่ย เราก็หวังว่าเราจะรอด เราจะตามหนี้ได้ ชดใช้นี้ให้หมดได้ภายในเวลาที่ถูกกำหนดมา ฉะนั้น พอเรามีความหวังมันก็เป็นแรงผลักให้เราตื่นมาทุกเช้าว่าเราต้องเดินหน้าไป”
สิ่งที่ทำให้อัญชลินฝ่าฝันวิกฤตรอบนั้นมาได้ ในเชิงนามธรรมเราอาจเรียกได้ว่ามันคือ ‘การรักษาความหวัง’ ส่วนในเชิงรูปธรรมอัญชลินใช้วิธีเข้มงวดและสร้างวินัยให้กับตัวเองอดทนค่อยๆแก้ปัญหาไปทีละเล็กน้อย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขารอดพ้นช่วงเวลาที่ลำบากมาได้คือความรักจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะจากภรรยาผู้เป็นที่รักอย่าง ตุ๊ก—นภัสนันท์ พรรณนิภา ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ อัญชลินเน้นย้ำถึงความรักและบทบาทของคู่ชีวิตที่ช่วยให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ จนถึงจับมือช่วยกันคิดหาวิธีการเดินต่อในเส้นทางธุรกิจนี้อยู่หลายต่อหลายครั้ง “พอมีคนช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยกันปลอบใจ มันก็ไม่เหงา” อัญชลิน บอก
บอลลูนบนท้องฟ้า และความหวังครั้งที่สอง
อัญชลินเป็นคนชอบคิดชอบเขียนมาแต่ไหนแต่ไร เขามักเขียนเรื่องราวสำคัญในชีวิตลงบนโซเชียลมีเดีย บอกเล่าถึงเส้นทางการต่อสู่กับอุปสรรค การรักษาความหวัง ตลอดจนเบื้องหลังชีวิตในแวดวงประกันภัยที่เขาคลุกคลีมาอย่างยาวนาน จนสุดท้ายเขาก็ได้รับการติดต่อมาจากสำนักพิมพ์ ที่ชักชวนให้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาตีพิมพ์ ด้วยความหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนได้
ปกของหนังสือ ‘ความหวังครั้งที่สอง’ คือรูปของบอลลูนที่กำลังลอยอยู่บนท้องฟ้า ดูผิวเผินในครั้งแรก ก็น่าสนใจไม่น้อยว่า บอลลูน และความหวัง มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร
“เวลาผิดหวังและล้มเหลว เรามักจะมองปัญหาจากพื้นราบ เห็นเพียงแค่ปัญหาตรงหน้าแล้วก็จมกับมัน” อัญชลินเชื่อว่าเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาการมองมันจากมุมที่กว้างขึ้นสูงขึ้นจากปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่จะช่วยให้เราเห็นวิสัยทัศน์และทางออกได้มากขึ้นเช่นกันเช่นเดียวกับคำต่อว่าหรือคำดูถูกหากเราบินสูงขึ้นเราก็จะได้ยินเสียงรบกวนจิตใจเหล่านั้นน้อยลง
หนังสือ ‘ความหวังครั้งที่สอง’ ตั้งใจเล่าเรื่องถึงประสบการณ์ต่างๆที่อัญชลินเก็บเกี่ยวมาตลอดทั้งชีวิตเรื่องราวแบ่งเป็นสองช่วงใหญ่ๆเริ่มจากชีวิตที่เขาถูกวางตัวให้รับช่วงต่อของธุรกิจในครอบครัวแต่เขาเลือกที่จะเดินเส้นทางอื่นนั่นคือธุรกิจค้าเหล็กที่ต้องเจอกับอุปสรรคชิ้นโตอย่างวิกฤตเศรษฐกิจ
อัญชลินบอกว่าชีวิตในช่วงนั้นเป็นเหมือน ‘ความหวังครั้งแรก’ ที่มาพร้อมกับความไฟแรงในตัวเอง แต่ต้องมาเจอกับเรื่องราวที่หนักอึ้งจนธุรกิจที่เขาฝันไว้ไปต่อได้อย่างยากลำบาก นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิต ที่หันมาทำธุรกิจในแวดวงประกันภัย
นี่จึงนำไปสู่เนื้อหาส่วนที่สองของเล่ม ที่บอกเล่าเรื่องราวการเริ่มต้นครั้งใหม่กับธุรกิจแวดวงประกันภัย จากจุดเริ่มต้นที่มีพนักงานเพียงน้อยนิดไม่ถึงสิบคน ก่อนจะค่อยๆ อดทน ใช้ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ จนนำมาสู่ TQM ที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ “ต่อให้ล้มครั้งที่สาม สี่ หรือห้า หรือล้มไม่รู้กี่รอบก็ขอให้สำเร็จสักครั้ง” ผู้บริหารแห่ง TQM พูดถึงความเชื่อที่เขายึดถือไว้ในยามวิกฤต
“หากทุ่มเทอย่างสุดความสามารถและมาพร้อมความหวังที่เต็มเปี่ยม จะไปถึงจุดหมายได้” คือสิ่งที่อัญชลินเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่ผ่านมา และเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้อาจช่วยจุดไฟความหวังครั้งที่สอง และความหวังครั้งต่อๆ ไปของผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย