บางทีก็รู้สึกเหมือนว่าเรากำลังอยู่ในเส้นเวลาที่สับสน บางครั้งเหมือนตื่นขึ้นมาในศตวรรษที่ 19 หลังจากที่เจอความคิดว่า คนรวยจะอ่านหนังสือแบบหนึ่ง ส่วนคนที่ไม่รวยสักทีชอบอ่านนิยาย นัยหนึ่งของข้อความคิดคือการที่คนจนเอาเวลาไปอ่านหนังสือเพื่อหาความสำราญ แทนที่จะใช้เวลาว่างไปกับการพัฒนาตนเอง
อันที่จริงประเด็นเรื่องการอ่านอะไรแล้วได้ผลเป็นอย่างไรนั้น ค่อนข้างซับซ้อน ด้านหนึ่งเป็นความคิดที่ค่อนข้างเก่า การที่สังคมมองว่าการอ่านเรื่องแต่งโดยเฉพาะนิยายซึ่งเป็นเรื่องประโลมโลก ไม่มีประโยชน์แก่นสาร เรื่องแต่งเป็นเรื่องเสียเวลา แถมยังทำให้ชีวิตอยู่กับที่หรือแย่ลง เป็นความบันเทิงที่เอาเวลาไปอ่านอย่างอื่นดีกว่า ซึ่งความคิดที่มองนิยายเป็นตัวร้ายนั้นถือเป็นความคิดที่ค่อนข้างเก่า
เก่าขนาดที่ว่าเหมือนเราย้อนไปร้อยปีก่อน และอันที่จริงในระยะหลาย 10 ปีที่ผ่านมา โลกวิชาการกระทั่งโลกธุรกิจก็ค่อนข้างสนับสนุนทักษะพิเศษๆ ที่เราเองอาจจะได้โดยอ้อมไปยังการท่องโลกของเรื่องแต่งและตัวละครต่างๆ โดยเป็นทักษะที่ไม่ได้สอนกันได้ตรงๆ เช่น ความเข้าอกเข้าใจ การอ่านสถานการณ์ ศิลปะการใช้ชีวิตในแง่ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจได้จากการทดลองไปใช้ชีวิตในสายตาของคนอื่น หรือในเรื่องราวที่อาจไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ด้วยการกลับมาของความคิดเก่าแก่ว่าด้วยนิยายคือตัวร้าย The MATTER จึงขอชวนย้อนดูว่าในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ‘นิยาย’ อันเป็นงานเขียนที่มักเขียนและอ่านโดยผู้หญิงนั้น ถูกโจมตีว่าเป็นการอ่านที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ในสมัยก่อนไม่ใช่แค่บอกว่าเสียเวลาจนไม่มีเวลาพัฒนาตนเอง แต่ยังเป็นเหตุให้ยากจนและไม่รวยเหมือนคนอ่านเรื่องการพัฒนาตัวเอง ทั้งนี้นิยายในสมัยก่อนยังถูกมองว่าทำให้เกิดเรื่องเสียๆ หายๆ ทำให้ผู้คนหมกมุ่นไปกับเรื่องประโลมโลกที่ส่งผลให้ศีลธรรมถดถอยกันเลยทีเดียว
นิยายคือปีศาจ: ความเชื่อสุดโบราณ
คำว่านิยายในที่นี้คือ Novel หมายถึงคำกว้างๆ ของงานเขียนที่เป็นเรื่องแต่ง ในมิติทางประวัติศาสตร์ถือเป็นงานเขียนร้อยแก้วที่เป็นเรื่องแต่ง โดยความใหม่ของนิยายคือการจำลองเรื่องที่สมจริง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในสังคม ไม่ใช่ตำนานนิทานอย่างสมัยก่อน นิยายจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการรู้หนังสือ ความใหม่อย่างหนึ่งของนิยายคือการอ่านกลายเป็นความบันเทิง และถ้าพูดอย่างละเอียดลงไปเล็กน้อย นิยายมักเป็นการเขียนเพื่อการอ่านของผู้หญิง
ในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นการเกิดขึ้นของนิยายและการอ่านของผู้หญิง นิยายจึงถูกมองว่าเป็นงานเขียนที่ไม่ดีนัก ซึ่งเป็นความคิดที่ค่อนข้างตกทอดเป็นอคติมาถึงปัจจุบัน ว่านิยายมักพาเราไปยังเหตุการณ์หรือโลกอุดมคติ เป็นภาพฝันบางอย่าง นิยายไทยเลยเรียกงานโรแมนซ์ว่าเป็นงานพาฝัน พูดเรื่องความรักที่สุขสมบูรณ์ พูดถึงการพบเจอกับความรักที่ยั่งยืนและแท้จริงในตอนจบของเรื่อง
ร่องรอยที่สำคัญของปีศาจนิยายเพ้อฝัน ซึ่งอยู่ในนิยายเรื่องสำคัญของฝรั่งเศสคือ มาดามโบวารี (Madame Bovary) ตีพิมพ์ในปี 1857 ตัวเรื่องพูดถึงคุณนายโบวารีที่รู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตที่น่าเบื่อหน่ายในชนบท ด้วยความที่เธอชอบอ่านนิยาย เธอก็เพ้อฝันอยากจะมีชีวิตโลดโผน สวยงาม สุดท้ายเรื่องราวจึงกลายโศกนาฏกรรมของเธอ จากสุภาพสตรีผู้เพียบพร้อมสู่การคบชู้และชีวิตพังพินาศ ในเรื่องแม้จะไม่บอกตรงๆ แต่นัยสำคัญคือการพาไปดูตัวเอกของเรื่องที่อ่านนิยายพาฝันมากเกินไป จนทำให้การตัดสินใจเป็นไปในทางหายนะ
ถ้าเรามองย้อนไปกว่านั้น การอ่านเพื่อความบันเทิงและการอ่านเรื่องแต่ง ถือเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของสังคม ซึ่งสังคมได้รับอิทธิพลจากศาสนาค่อนข้างเคร่งครัด ขณะนั้นจึงมองว่านิยายเหล่านี้เป็นเรื่องเสียเวลา ในปี 1930 มีคอลัมน์ใน Sheffield Independent ชื่อว่าอันตรายของการอ่านนิยาย (Novel-Reading Danger) โจมตีว่า การอ่านนิยายเหมือนกับการเสพติดเหล้า ทำให้เสียงาน
การอ่านนิยายกับปัญหาระดับอาชญกรรมของผู้หญิง
นิยายมักเป็นการอ่านที่สัมพันธ์กับผู้หญิง ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนรู้หนังสือกลุ่มใหม่ที่ใช้เวลาว่างในการอ่าน นักเขียนนิยายหญิงก็ถือเป็นอาชีพใหม่ ที่สร้างทั้งงานเขียนและพื้นที่การอ่านผ่านนิยายของพวกเธอขึ้นมา ดังนั้น การโจมตีถึงนิยายจึงมักปรากฏอคติทางเพศและเป็นการโจมตีในฐานะกิจกรรมของผู้หญิง
ตัวอย่างเช่น บทความ ‘ผลของการอ่านนิยาย (Effect of Novel Reading)’ ในหนังสือพิมพ์ปี 1916 บอกว่าผู้หญิงที่อ่านนิยาย ในที่สุดจะทำให้พวกเธอทำหน้าที่แม่และเมียได้ที่ไม่ดี ประเด็นเรื่องปีศาจนิยายยังเป็นเรื่องถึงขนาดเล่าไปถึงเหตุการณ์ของผู้เป็นแม่รายหนึ่ง ซึ่งถูกตำรวจคุมขังเพราะละเลยการเลี้ยงดูลูกๆ และข้อเขียนส่วนใหญ่ยังบอกอีกว่า ผู้หญิงที่ติดนิยายจะเป็นเมียที่แย่ ขี้เกียจ หมกมุ่น ทั้งๆ ผัวตัวเองทำงานอย่างขะมักเขม้น
สิ่งที่น่าสนใจในจุดนี้คือ แม้แต่ตอนที่พิมพ์มาดามโบวารี ซึ่งถือเป็นนิยายแรกๆ ของโลก ประชาชนก็ต่อต้าน เพราะเห็นว่าเป็นการนำเสนอพฤติกรรมผิดศีลธรรม (คบชู้) ทัศนะหนึ่งต่อนิยายในฐานะเรื่องแต่งจึงมองว่ามันคือการเป็นเรื่องแต่ง เช่น การเจอความรักข้ามชนชั้น หรือเรื่องต่างๆ ในนิยายเป็นสิ่งที่ไม่สมจริงในแง่ของโอกาสที่จะเกิดขึ้น และด้วยการเป็นเหมือนโลกความฝันนี้ นิยายจึงอาจทำให้ผู้คนไม่พอใจกับโลกที่ตัวเองอยู่
ทั้งหมดนี้เป็นกระแสต่อการอ่านตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ภายหลังเรื่องแต่งหรือตัวนิยายก็เริ่มมีการยกย่องหรือแยกแยะเรื่องที่ดี อ่านเพื่อประโยชน์ และเรื่องอ่านเล่น ซึ่งภายหลังเรื่องอ่านเล่นอย่างงานแฟนตาซี นิยายภาพ นิทานสำหรับเด็ก กระทั่งนิยายวาย ก็เริ่มมีการศึกษาและชี้ให้เห็นว่า พลังของเรื่องแต่งอาจมีมากกว่าแค่การอ่านเอาเรื่อง หรืออ่านเนื้อหาความรู้เป็นชิ้นๆ
อย่างน้อยที่สุด การอ่านในฐานะกิจกรรมแห่งความรื่มรมย์ และดินแดนที่โลกแห่งความจริงพาไปไม่ถึง อาจส่งอิทธิพลบางอย่างต่อผู้อ่าน ประโยชน์ของสิ่งต่างๆ ถูกส่งต่อได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าแค่การต้องอ่านเรื่องจริง เรื่องความรู้ หรือสูตรความสำเร็จ
สุดท้ายไม่แน่ใจว่าเรายังต้องแจกแจงเรื่องการอ่านนิยาย แก้ไขอคติ หรือกระทั่งความคิดที่เรามองการอ่านในฐานะกิจกรรมของมนุษย์ การเลือกอ่านที่แบ่งแยกว่าอะไรดีไม่ดี อ่านสารคดีดีกว่าเรื่องแต่ง อ่านนิยายได้รางวัลดีกว่านิยายแมสๆ ไหม เพราะภายหลังเราเองก็มีความเข้าใจใหม่ๆ เช่น เด็กๆ ที่โตมากับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็มีงานวิจัยพบว่า เด็กๆ เรียนรู้ที่จะมองเห็นความหลากหลาย มีความเข้าอกเข้าใจคนชายขอบ หรือโลกอันสวยงามเป็นที่พักใจของเด็กๆ หรือทำให้ผู้อ่านให้มีความหวัง นิยายประเภทอื่นๆ เช่น นิยายวายก็เป็นหมุดหมายของความหลากหลายทางเพศ ซึ่งยังเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ส่งอิทธิพลในระดับภูมิภาคกระทั่งในระดับโลกด้วย
บทความสำคัญ เช่นในพื้นที่วิชาการด้านธุรกิจระดับโลกอย่าง Havard Bussiness Review มีบทความชื่อ ‘The Case for Reading Fiction’ เผยแพร่เมื่อปี 2020 พูดถึงทักษะที่มองไม่เห็นซึ่งเราอาจได้จากเหล่าคนที่รักการอ่านเรื่องแต่งหรือนิยายต่างๆ ว่าเป็นคนที่มีจินตนาการ มองเห็นความท้าทาย และยินดีที่จะคิดเรื่องยากๆ หรือรักโจทย์ยากๆ
งานวิจัยสำคัญหนึ่งยังเชื่อมโยงทฤษฎี ‘theory of mind’ ว่าการอ่านเรื่องแต่งและวรรณกรรมอาจทำให้ผู้อ่านมีทักษะในการอ่าน หรือทำความเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ตรงหน้า และทักษะตรงนี้ก็มีข้อแย้งว่าหรือคนที่อ่านคนเก่งๆ อาจจะชอบนิยายอยู่แล้ว พลังของนิยายจึงอาจเป็นที่สงสัยว่า เป็นงานเขียนที่ช่วยเพิ่มไอคิว อีคิว มุมมองต่อโลก และเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากน้อยแค่ไหน
ทว่าแง่หนึ่งของการอ่านในฐานะส่วนหนึ่งของภาษา การอ่านนิยายทั้งการอ่านร่วมกันในชั้นเรียน หรือการอ่านตามลำพัง ยังค่อนข้างมีผลพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการได้รับทักษะทางภาษาโดยเฉพาะทักษะด้านคำศัพท์ต่างๆ
สุดท้ายการอ่านถือเป็นกิจกรรมสันทนาการ งานเขียนก็เป็นศิลปะประเภทหนึ่ง การเสพและใช้เวลาว่างของความเป็นมนุษย์แบบเราๆ อาจไม่จำเป็นต้องถูกกะเกณฑ์ หรือถูกตัดสินตลอดเวลา เช่น เราต้องมีความ ‘โปรดักทีฟ’ ต้องเรียนรู้เพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยจากสูตรต่างๆ ที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน แต่การอ่านเพื่อความบันเทิง คือการอ่านเพราะเราอยากอ่าน ไม่ได้อยากรวย ชีวิตคนเราคงไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ตลอดเวลา
เผลอๆ เรื่องราวในนวนิยายอาจพาเราให้เห็นสิ่งอื่นนอกจากความหมกมุ่นในเรื่องเงินทอง ไปสู่ความน่าสนใจอื่นๆ ในแง่มุมอันมากมายของการเป็นมนุษย์ตัวน้อยๆ คนหนึ่ง
อ้างอิงจาก