ประเทศสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ร่วมใจกันลงมติรับร่างมติประณามรัสเซียในการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนครั้งที่ 11 (Eleventh Emergency Special Session) เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 ด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ประกอบด้วยมติเห็นด้วย 141 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง และงดออกเสียง 35 เสียง จากทั้งหมด 193 ประเทศ
การลงมติในสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งนี้ ใช้หลักการออกเสียง 2 ใน 3 และไม่มีประเทศใดมีสิทธิยับยั้งหรือ ‘วีโต้’ (veto) ทำให้ร่างมติดังกล่าวถือว่าได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ขณะที่ประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 141 เสียงที่ออกเสียงเห็นด้วย ส่วน 5 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยนั้น ประกอบไปด้วย เบลารุส เกาหลีเหนือ ซีเรีย เอริเทรีย และรัสเซีย
ภายหลังการออกเสียงเสร็จสิ้น สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของไทยประจำ UN แถลงต่อที่ประชุมว่า ไทยได้พิจารณาร่างมติอย่างถี่ถ้วน และตัดสินใจโหวตรับร่าง เนื่องจากไทยให้ความสำคัญกับหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดนและการไม่ใช้กำลังต่อรัฐ
นอกจากนี้ ไทยยังแสดงความกังวลถึงพลเรือนที่ได้รับผลกระทบ และผลที่ตามมาในด้านมนุษยธรรมจากความรุนแรงในพื้นที่ โดยไทยได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อผูกมัดของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้การเจรจาเพื่อยุติสถานการณ์อย่างสันติ
ร่างมติที่เพิ่งผ่านมติเห็นชอบไปนั้น คือร่างมติที่ A/ES-11/L.1 มีเนื้อหาสำคัญๆ สรุปได้ดังนี้
สมัชชาใหญ่ฯ ยืนยันถึงอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนภายในพรมแดนยูเครน และตำหนิการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียอย่างรุนแรงที่สุด โดยเรียกร้องให้รัสเซียหยุดใช้กำลัง และถอนกองกำลังออกจากยูเครนโดยทันที นอกจากนี้ ยังมีมติตำหนิเบลารุสด้วยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังในยูเครน
สมัชชาใหญ่ฯ ยังตำหนิการรับรองการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ดอแนตสก์และลูฮันสก์โดยรัสเซีย และเรียกร้องให้ยกเลิกการรับรองสถานะ พร้อมระบุให้รัสเซียปฏิบัติตามหลักการกฎบัตรสหประชาชาติ รวมถึงข้อตกลงกรุงมินสก์
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน สมัชชาใหญ่ฯ ระบุให้ทุกฝ่ายอำนวยความสะดวกแก่ชาวยูเครนในการเคลื่อนย้าย และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับพลเรือนในยูเครน พร้อมทั้งประณามการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั้งหมด และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ
สุดท้าย สมัชชาใหญ่ฯ มีมติเรียกร้องให้ดำเนินการระงับความขัดแย้งอย่างสันติโดยทันทีระหว่างรัสเซียกับยูเครน ไม่ว่าจะใช้วิธีการเจรจา การไกล่เกลี่ยผ่านรัฐที่ 3 หรือวิธีอื่นๆ
สำหรับการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนครั้งที่ 11 มีขึ้นตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (28 ก.พ.) ซึ่งเป็นผลจากข้อมติ 2623 (2022) ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อวันที่ 27 ก.พ. หลังจากที่ UNSC ไม่สามารถผ่านร่างมติประณามรัสเซียได้ เนื่องจากรัสเซียใช้สิทธิวีโต้ในฐานะหนึ่งในสมาชิกถาวรของ UNSC
อ้างอิงจาก
https://www.theguardian.com/world/2022/mar/02/united-nations-russia-ukraine-vote
https://documents-dds-ny.un.org/doc/UNDOC/LTD/N22/272/27/PDF/N2227227.pdf
https://www.youtube.com/watch?v=vafkMAwcn44