เรือยอร์ชยักษ์ลำแล้วลำเล่าทยอยออกจากท่าเรือในยุโรป มีอย่างน้อย 4 ลำทอดสมอจอดอยู่ที่หมู่เกาะมัลดีฟส์ (ซึ่งไม่ได้ลงนามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับสหรัฐฯ) ลำไหนหนีไม่ทัน ก็ต้องโดนยึดทรัพย์โดยรัฐบาลในยุโรป
นี่คือภาพที่เกิดขึ้น หลังชาติตะวันตกยกระดับมาตรการคว่ำบาตร เพื่อกดดันเศรษฐีรัสเซีย–คนใกล้ชิดของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย (ในภาษาอังกฤษ จะเรียกรวมๆ กันว่า ‘Russian oligarchs’ ซึ่งหมายถึงชนชั้นปกครองแบบคณาธิปไตยที่กินรวบทั้งการเมือง–เศรษฐกิจ)
สหภาพยุโรป (EU) เป็นองค์กรทางการเมืองแรกๆ ที่ออกมาตรการคว่ำบาตรรายบุคคล คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) แถลงเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรของ EU ขณะนี้ครอบคลุมบุคคล 680 คน และหน่วยงานอีก 53 หน่วย ซึ่งจะมีทั้งการอายัดทรัพย์สิน งดปล่อยเงินกู้ และห้ามเดินทางเข้าเขต EU
ในรายชื่อคว่ำบาตร EU ระบุว่ามีทั้งนักธุรกิจและชนชั้นปกครองของรัสเซียที่มีความเกี่ยวข้องในภาคการเงิน–การธนาคาร และธุรกิจน้ำมัน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง และผู้ที่ EU ใช้คำว่า ‘นักโฆษณาชวนเชื่อ’ ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดความคิดเห็นเกี่ยวกับการรุกรานยูเครน
สำหรับสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. เพิ่งประกาศรายชื่อบุคคลใกล้ชิดปูตินที่ถูกคว่ำบาตรเต็มรูปแบบ เพิ่มอีก 8 คน ในรายชื่อนี้ มีบุคคลที่น่าสนใจ เช่น ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน และ อลิเชอร์ อุสมานอฟ เศรษฐีอันดับ 7 ของรัสเซีย (ตามการจัดอันดับของ Forbes ปี 2021) ที่เพิ่งถูกเยอรมนียึดเรือซูเปอร์ยอร์ชไป นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังงดออกวีซ่าให้กับอีก 19 คน รวมถึงครอบครัว–คนใกล้ชิด 47 คนด้วย
ก่อนหน้านี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยังได้ประกาศจัดตั้งคณะทำงานที่ชื่อ ‘KleptoCapture’ (แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ‘จับโจร’) โดยมีภารกิจคือ สอดส่องและดำเนินคดีการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวกับการรุกรานยูเครน รวมถึงที่พยายามหลีกเลี่ยงข้อจำกัดที่บังคับใช้กับสถาบันการเงินรัสเซีย และการใช้คริปโตเคอร์เรนซีเพื่อหลบหลีกการคว่ำบาตรและฟอกเงิน สุดท้ายคือ เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ของบุคคลที่อยู่ในรายชื่อคว่ำบาตร
ขณะที่ในอังกฤษ รัฐบาลได้ประกาศรายชื่อคว่ำบาตรเพิ่มอีก 2 คน รวมทั้งหมดเป็น 17 คน โดยจะเป็นการห้ามเดินทางเข้า–ออก และอายัดทรัพย์สินของบุคคลใกล้ชิดหรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรุกรานยูเครน ในรายชื่อนี้ครอบคลุมถึงปูติน, เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รมต.กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย และนักธุรกิจ–ผู้มีอิทธิพลของรัสเซียอีกหลายคน
และที่เป็นข่าวดังเมื่อวานนี้ (3 มี.ค.) คือการยึดเรือซูเปอร์ยอร์ชหรูของเศรษฐีรัสเซีย ฝรั่งเศสประกาศว่าได้ยึดเรือที่ชื่อ ‘Amore Vero’ มูลค่า 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เป็นทรัพย์สินในบริษัทของ อิกอร์ เซชิน ประธานกลุ่มบริษัทน้ำมัน Rosneft ส่วนเยอรมนี ได้ยึดเรือ ‘Dilbar’ มูลค่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของอุสมานอฟ ซึ่งเป็นการดำเนินตามมาตรการคว่ำบาตรที่ประกาศโดย EU ก่อนหน้านี้
แต่การคว่ำบาตรทั้งหมดนี้ จะส่งแรงกดดันไปถึงปูตินให้หยุดสงครามในยูเครนได้จริงหรือ? แองกัส ร็อกซ์เบิร์กห์ อดีตผู้สื่อข่าว BBC มอสโก และอดีตที่ปรึกษารัฐบาลเครมลิน แสดงความเห็นบนเว็บไซต์ The Guardian ว่า เป็นไปไม่ได้ โครงสร้างของชนชั้นปกครองในรัสเซียคือ เศรษฐีเหล่านี้จะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับปูติน แต่ยังมีเงื่อนไขที่ครอบงำอยู่คือ พวกเขาเหล่านี้ห้ามยุ่งการเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐีรัสเซียกับปูตินเป็น ‘ความสัมพันธ์ทางเดียว’ ตามความเห็นของร็อกซ์เบิร์กห์ เช่นเดียวกับ แม็กซ์ เซ็ดดอน บรรณาธิการข่าวมอสโกของ Financial Times ที่วิเคราะห์ว่า เศรษฐีรัสเซียไม่มีสิทธิออกเสียงใดๆ ในเรื่องนโยบาย ก่อนหน้านี้ ใครที่ออกมาวิจารณ์ก็จะต้องเจอการตอบโต้จากปูติน บางคนก็ต้องถูกจำคุกถึง 10 ปี ขณะที่บางคนก็หนีออกจากประเทศไปแล้ว
ร็อกซ์เบิร์กห์บอกว่า การคว่ำบาตรเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร รังแต่จะทำให้ปูตินเกลียดชังตะวันตกมากขึ้น สิ่งที่ร็อกซ์เบิร์กห์เสนอให้ทำแทนคือ ออกมาตรการคว่ำบาตรชนชั้นนำที่อยู่ในการเมืองจริงๆ เช่น ส.ส. หรือ ส.ว. ที่มีหน้าที่โหวตรับรองการตัดสินใจใดๆ ก็ตามของเครมลิน เพราะเมื่อคนเหล่านี้รู้สึกว่าได้รับผลกระทบ หรือไม่สามารถมีไลฟ์สไตล์หรูๆ ในยุโรปหรือสหรัฐฯ ได้ พวกเขาก็อยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายได้จริงๆ
อ้างอิงจาก