“รัสเซียอาจยึดครองยูเครนได้ แต่ชาวยูเครนได้แสดงให้เห็นแล้วในช่วงวันที่ผ่านมา ว่าพวกเขาจะไม่ปล่อยให้รัสเซียครอบครองได้อีกต่อไป”
ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เกริ่นไว้ในบทความทื่ชื่อ “Why Vladimir Putin Has Already Lost This War” (“ทำไมวลาดิเมียร์ ปูตินจึงแพ้สงครามนี้ไปแล้ว”) ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ The Guardian เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (28 ก.พ. 2565)
ก่อนหน้านี้ มีนักคิดนักเขียนจากทั่วโลกออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ไม่ว่าจะเป็น ออร์ฮาน ปามุก, ซัลมาน รัชดี หรือมาร์กาเร็ต แอตวูด และอีกมากมาย
แต่ที่น่าสนใจคือข้อคิดของแฮรารี ทำไมปูตินจึงแพ้? The MATTER จะมาสรุปข้อเขียนนี้ให้อ่านกัน
ข้อเท็จจริงที่ปูตินไม่เข้าใจ
ตั้งแต่ขึ้นต้นบทความ แฮรารีก็พุ่งเป้าไปที่ปูติน “เขาอาจจะชนะทุกการสู้รบ แต่ยังแพ้สงครามอยู่ดี” สาเหตุก็คือ แม้ปูตินจะคิดคำนวณบนฐานของข้อเท็จจริงหลายๆ ข้อ ไม่ว่าจะเป็น – กองทัพรัสเซียสามารถบดขยี้ยูเครนได้ง่ายๆ, NATO จะไม่ยอมส่งกองกำลังเข้ามาในยูเครน, หรือการที่ยุโรปต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ทำให้ชาติยุโรปอย่างเยอรมนี ลังเลที่จะออกมาตรการคว่ำบาตรมากกว่าปกติ
แต่ข้อเท็จจริงที่ปูตินไม่เข้าใจ สำหรับแฮรารีก็คือ “มันง่ายที่จะยึดครองประเทศใดประเทศหนึ่ง มากกว่าจะครอบครองมัน” ช่วงวันที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า ชาวยูเครนต่อสู้สุดหัวใจ ซึ่งนอกจากจะ “ชนะใจคนทั้งโลกแล้ว ยังชนะสงครามได้” หากปูตินจะครอบครองยูเครนได้ หนทางเดียวก็คือโน้มน้าวใจชาวยูเครน ซึ่งปูตินไม่มีวันทำได้
ความเกลียดชังคือขุมทรัพย์
“รถถังรัสเซียแต่ละคันที่ถูกทำลายไป และทหารรัสเซียแต่ละคนที่ถูกสังหาร ต่างก็ชุบชูความกล้าหาญให้ชาวยูเครนลุกขึ้นมาต่อต้าน และยิ่งชาวยูเครนถูกสังหารมากเท่าไร ความเกลียดชังผู้บุกรุกของชาวยูเครนก็จะฝังรากลึกมากเท่านั้น” แฮรารีเขียน
สำหรับแฮรารี ความเกลียดชังแม้จะเป็น “อารมณ์ที่น่ารังเกียจที่สุด” แต่ก็เป็นขุมทรัพย์สำหรับชนชาติที่ถูกกดขี่ ซึ่งหากฝังรากลึกแล้ว การต่อสู้อาจได้รับการหล่อเลี้ยงหลายชั่วอายุคน ฉะนั้น ยิ่งปูตินทำให้ชาวยูเครนเสียเลือดเสียเนื้อมากเท่าไร ก็ล้มเลิกความฝันไปได้เลย
แฮรารีเขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า “ไม่ใช่ชื่อของมิคาอิล กอร์บาชอฟ [ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต] ที่จะถูกจารึกไว้ในมรณกรรมของจักรวรรดิรัสเซีย แต่จะเป็นชื่อของปูติน” แทนที่จะสานสัมพันธ์ของสองชาติแบบกอร์บาชอฟ ปูตินกลับจับพวกเขามารบราฆ่าฟันกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ทำให้ชาวยูเครนยอมแพ้ง่ายๆ
เรื่องราวสร้างชาติ
แฮรารีบอกอีกว่า ชนชาติทั้งหลายมีพื้นฐานมาจากเรื่องราวต่างๆ และสำหรับชาวยูเครน ยิ่งนานวัน เราก็ได้เห็นเรื่องราวที่จะสร้างความฮึกเหิมให้กับชาติยูเครนเพิ่มมากขึ้น เราได้เห็นเรื่องราวของประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่ยืนหยัดไม่ยอมลี้ภัยออกนอกประเทศ เรื่องราวของทหารหาญบนเกาะงู ที่บอกเรือรบรัสเซีย “ไปตายซะ” เรื่องราวของพลเรือนที่พยายามหยุดรถถังรัสเซีย
“ในระยะยาว เรื่องราวเหล่านี้สำคัญยิ่งกว่ารถถัง” เขาว่า
ส่งต่อความกล้าหาญ
เรื่องราวเหล่านี้ ยังเป็นสิ่งที่ช่วยส่งต่อความกล้าหาญให้กับทั่วทั้งโลก “ถ้าชาวยูเครนกล้าหยุดรถถังด้วยมือเปล่า รัฐบาลเยอรมันก็ต้องกล้าส่งจรวดยิงรถถัง รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ต้องกล้าตัดรัสเซียออกจาก SWIFT และประชาชนรัสเซียก็ต้องกล้าออกมาต่อต้านสงครามอันโง่เขลาครั้งนี้”
ในบทความนี้ แฮรารีจึงเสนอว่า เมื่อมองดูยูเครนแล้ว เราก็ควรจะต้องกล้าออกมาทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นออกเงินบริจาคหรือรับผู้ลี้ภัย เพื่อหยุดยั้งสงครามที่จะส่งผลกระทบสะเทือนไปทั่วโลก
เขาทิ้งท้ายว่า สงครามครั้งนี้อาจกินระยะเวลายาวนาน แต่เพียงไม่กี่วันก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ชาวยูเครนมีตัวตน มีที่ยืน และเป็นชนชาติที่มีอยู่จริงๆ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดของชาติอื่น คำถามที่แฮรารีทิ้งไว้คือ อีกนานแค่ไหนกว่าปูตินจะเข้าใจข้อเท็จจริงข้อนี้?
อ่านบทความเต็มๆ ของแฮรารีได้ที่: https://www.theguardian.com/commentisfree/2022/feb/28/vladimir-putin-war-russia-ukraine
อนึ่ง ยูวัล โนอาห์ แฮรารี เป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเล็ม และเป็นผู้เขียนหนังสือเบสต์เซลเลอร์อยู่หลายเล่ม อาทิ Sapiens: A Brief History of Humankind, Homo Deus: A Brief History of Tomorrow และ 21 Lessons for the 21st Century