ถือเป็นข่าวดีที่อาจช่วยเซฟเงินภาษีของชาติไปได้หลายหมื่นล้านบาท เมื่อที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีมติในวันนี้ (4 มี.ค.2565) ให้รื้อคดีโฮปเวลล์ ที่เดิมรัฐบาลไทยแพ้คดียกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม ต้องควักเงินภาษีไปจ่ายเป็น ‘ค่าโง่’ ให้กับเอกชน 2.4 หมื่นล้านบาท แลกกับเสาตอม่อผุๆ พังๆ ริมถนนวิภาวดี-รังสิต
The MATTER ขอสรุปให้ฟังว่า เรื่องนี้สำคัญอย่างไร โดยจะแบ่งข้อมูลออกเป็น 3 ส่วนที่สำคัญ ให้ติดตามคล้ายๆ ภาพยนตร์ไตรภาค ที่มีไคลแม็กซ์ มีจุดสิ้นหวัง และจุดหักเห จนไม่รู้ว่าบทสรุปจะออกมาอย่างไรกันแน่
PART 1 : ค่าโง่โฮปเวลล์คืออะไร
1.) โฮปเวลล์ มีชื่อเต็มว่า ‘โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร’ ที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ของกอร์ดอน วู นักธุรกิจชาวฮ่องกงได้รับงานไป คนจึงเรียกติดปากว่า โครงการ Hopewell และเมื่อมีปัญหา สร้างไม่เสร็จ แถมยังถูกเรียกค่าโง่อีก ก็ถูกนำไปล้อว่าเป็น hopeless หรือ hope fails
2.) ลักษณะโครงการเดิม คือทำทางยกระดับ 3 ชั้นคร่อมไปบนทางรถไฟเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชั้นบนสุดเป็นทางด่วน ส่วนชั้นกลางเป็นทางรถไฟฟ้าชุมชน มีระยะทาง 60 กิโลเมตร วางงบประมาณคร่าวๆ ในการก่อสร้างไว้ 80,000 ล้านบาท
3.) โครงการ Hopewell เริ่มขึ้นสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีมนตรี พงษ์พานิช เป็น รมว.คมนาคม เซ็นสัญญาช่วงปลายปี 2533 โดยเอกชนจะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างเอกชนทั้งหมด และจะได้รับสัมปทานบริหารโครงการนี้ไปอีก 30 ปี
4.) ความจริงโครงการ Hopewell ไม่ได้มีแค่เส้นที่วิ่งคู่ขนานถนนวิภาวดี-รังสิตเท่านั้น แต่ยังเป็นแบ่งออกเป็น 5 ช่วง ประกอบด้วย
- ช่วงที่ 1 ยมราช-ดอนเมือง ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร (กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2538)
- ช่วงที่ 2 ยมราช-หัวลำโพง-หัวหมาก และ มักกะสัน-แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร (กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2539)
- ช่วงที่ 3 ดอนเมือง-รังสิต ระยะทาง 7 กิโลเมตร (กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2540)
- ช่วงที่ 4 หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ และ ยมราช-บางกอกน้อย ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร (กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2541)
- ช่วงที่ 5 วงเวียนใหญ่-โพธินิมิตร และ ตลิ่งชัน-บางกอกน้อย ระยะทาง 9.1 กิโลเมตร (กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2542)
5.) รายละเอียดโครงการต่างๆ ดูดีบนหน้ากระดาษ ทว่าพอใกล้จะถึงเด๊ดไลน์ ปรากฎว่า การก่อสร้าง Hopewell กลับคืบหน้าไปได้เพียง 13.7% เท่านั้น ทั้งจากปัญหาการเวนคืนที่ดินล่าช้าและปัญหาทางการเงินของ บ.โฮปเวลล์เอง นำไปสู่การยกเลิกสัญญาสัมปทานช่วงต้นปี 2541
6.) ก่อนที่ต่อมา จะพบ ‘จุดตาย’ สำคัญในสัญญาที่รัฐบาลไทยทำไว้กับเอกชน เมื่อระบุว่า เอกชนยกเลิกสัญญาได้ ,,แต่รัฐบาลไทยยกเลิกสัญญาไม่ได้!
7.) นำไปสู่การฟ้องเรียกค่าเสียหาย จนเป็น ‘มหากาพย์’ และถูกสื่อเรียกว่าเป็น ‘ค่าโง่’ ในที่สุด โดยรัฐบาลไทยแพ้คดีทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการ เมื่อปี 2551 และศาลปกครองสูงสุดในปี 2562 จะต้องนำเงินภาษีไปจ่ายค่าโง่ให้กับ บ.โฮปเวลล์กว่า 24,000 ล้านบาท
PART 2 : เหตุผลของการฟื้นคดี
8.) ก่อนจะไปว่ากันด้วยเนื้อหาว่า แล้วคดีที่จบไปแล้วถูกรื้อฟื้นมาพิจารณาใหม่ได้อย่างไร อยากให้จำวันที่สำคัญ 3 วันนี้ไว้ก่อน
- วันที่ 30 ม.ค.2541 บ.โฮปเวลล์ฯ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา
- วันที่ 9 มี.ค.2544 ศาลปกครองเปิดทำการวันแรก
- วันที่ 24 พ.ย.2547 บ.โฮปเวลล์ฯ ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาด ก่อนที่จะฟ้องร้องคดีจนถึงศาลปกครองในเวลาต่อมา
9.) ที่ต้องยกวันที่เป๊ะๆ มาให้ดู ก็เพราะตามกฎหมายแล้วการจะยื่นคำร้องต่ออนุญาโตฯ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้เฉพาะ จะต้องทำ ‘ใน 5 ปี’ นับแต่วันที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา แต่ บ.โฮปเวลล์กลับยื่นคำร้องหลังได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาถึง 6 ปีกับ 10 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเลยกำหนดระยะเวลา หรือหมด ‘อายุความ’ ที่จะสามารถยื่นคำร้องได้ตามกฎหมายหรือไม่
10.) กระทรวงคมนาคมเองก็พยายามหยิบเรื่องนี้มาโต้แย้งตลอด แต่ศาลปกครองก็ไปยกมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ที่ระบุว่า คดีปกครองที่เริ่มก่อนจัดตั้งศาลปกครอง ให้เริ่มนับอายุความจากวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ นั่นคือในวันที่ 9 มี.ค.2544 ทำให้ข้อต่อสู้นี้ถูกตีตกไป จนแพ้คดีในท้ายที่สุด
11.) แต่จุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 ตามคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่ยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ!
12.) ศาลปกครองสูงสุด โดยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2565 จึงมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่ขอให้หยิบคดีนี้มารื้อฟื้นใหม่ ไว้พิจารณาในที่สุด
PART 3 : คดีนี้จะไปต่ออย่างไร
13.) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ใช้ไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่และให้งดการบังคับคดีเดิมทั้งหมด นั่นแปลว่าแปลว่า ‘คำพิพากษาเดิม’ (ให้จ่ายค่าโง่รวม 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งพีระพันธุ์บอกว่า ถ้ารวมดอกเบี้ยด้วยก็ 3 หมื่นล้านบาท) มันจบไปแล้ว
14.) พีระพันธุ์บอกว่า คดีใหม่จะมีประเด็นต้องพิจารณาเรื่องเดียวคือ คดีขาดอายุความแล้วหรือไม่? (ยื่นคำร้องใต้เงื่อนเวลาตามกฎหมายหรือไม่) ซึ่งส่วนตัวมองว่า “มันขาดอายุความไปเรียบร้อยแล้ว”
“วันนี้พอมาถึงปลายอุโมงค์แสงที่ว่าพอมองเห็นมันกลายเป็นแสงสว่างที่เจิดจ้าสำหรับคนไทยที่รักบ้านรักเมืองรักษาพลประโยชน์ชาติอย่างทั่วถึง คิดถึงวันนี้รวมดอกเบี้ยคร่าวๆก็น่าจะราวๆสามหมื่นล้านเป็นอย่างน้อยที่เราช่วยกันปกป้องไว้ครับ” อดีต รมว.ยุติธรรมระบุ
15.) แม้พีระพันธุ์จะมั่นใจ แต่ยังต้องติดตามต่อไปว่า ผลของคดีนี้จะเป็นอย่างไรในชั้นศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด
แต่ก็ถือเป็นข่าวดีไม่น้อย ต่อคดีมหากาพย์ที่อาจทำให้คนไทยต้องเสียเงินค่าภาษีหลายหมื่นล้านบาทไปกับโครงการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จนกลายเป็นหนึ่งในตำนาน ‘ค่าโง่’ มาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://drive.google.com/file/d/1MGObUjxEuwONWKGSaIitfKCH6oNaz92c/view
https://thematter.co/social/what-is-hopewell-project/75680
https://www.prachachat.net/property/news-636866
https://www.facebook.com/Pirapan.T.Salirathavibhaga/posts/506145217550009
#ค่าโง่ #โฮปเวลล์ #TheMATTER